เมื่อสมัยเมืองเวียงจันทน์แยกจากหลวงพระบางเป็นสองอาณาจักร พ.ศ.๒๒๓๘ นั้น อาณาเขตเวียงจันทน์ทางทิศตะวันออกตั้งแต่แก่งหลี่ผีขึ้นไป ซึ่งเมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี ก็อยู่ในเขตแคว้นของเวียงจันทน์ด้วย
ครั้งพญาเมืองแสน๑ คิดกบฏปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ซึ่งเวลานั้นมารดาของเจ้าองค์หล่อชายาเจ้าชมพูมีครรภ์แก่ พญาเมืองแสนจะครองเอาเป็นชายาด้วย แต่พระนางไม่ยอม จึงได้หลบภัยไปอยู่กับพระมหาเถระรูปหนึ่ง เป็นพระครูเจ้าวัด (ไม่ปรากฏนามเดิม) แต่สามัญชนเรียก พระครูโพนสะเม็ก บ้าง มหาราชครูเจ้าโพนสะเม็ก บ้าง หรือ เจ้าราชครูโพนสะเม็ก บ้าง (ดูบทที่ ๗ หน้า ๔๑, ๔๒) คำ โพนสะเม็ก นั้นเป็นนามวัดที่ท่านสำนักอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ นัยว่าเป็นผู้สำเร็จญานว่าสิ่งใดแม่นยำนัก ประชาชนพากันเคารพนับถือมาก เพื่อให้สมกับความเคารพอย่างสูงของตนและคุณความดีของท่าน จึงเรียกชื่อท่านอีกชื่อหนึ่งโดยเนมิตกนามว่าท่านพระครูขี้หอม ก็มี คือไม่หอมแต่คุณธรรมและศีลาจารวัตรอย่างเดียว แม้อันใดที่มีในท่านก็พากันเทอดขึ้นว่าเป็นของหอมทั้งนั้น
(๑ นาม พญาเมืองแสนนั้น เป็นตำแหน่งของเมืองฝ่ายขวา ไม่ใช่นามเดิม โปรดดูคำอธิบายความละเอียดบทที่ ๒๔ หน้า…)
ประวัติของท่านผู้นี้ตำนานอ้างว่า เดิมท่านเป็นศิษย์พระครูลึมบอง อยู่กะลึมเมืองพองพลาน ได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับ พระครูยอดแก้ว๒ เมืองเวียงจันทน์ เมื่ออายุ ๑๔ ปี ราว พ.ศ.๒๑๘๖ ท่านพระครูยอดแก้วให้สามเณรสวดปาติโมกข์ก็สวดได้หมด ค้นพระคัมภีร์พระไตรปิฎกทั้งบั้นต้นบั้นปลายให้เล่าเรียน และไม่ว่าพระคำภีร์ใด ๆ ก็รอบรู้หมดสิ้นหาผู้เปรียบมิได้ ข่าวลือไปถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (พญาสุริยวงศา) ทรงมีความโสมนัสเลื่อมใส ได้ทรงจัดผ้าไตรมาถวายและทรงตั้งให้เป็นราชาจัว (สามเณร) ตั้งแต่นั้นมาข่าวราชาจัวก็เล่าลือไปทั่วเขตแคว้นเวียงจันทน์ พออายุครบ ๒๑ ปีก็พร้อมกันนิมนต์อุปสมบทเป็นภิกษุ ในการอุปสมบทนี้ราชาจัวขอร้องให้สร้างโบถส์น้ำขึ้น ณ ที่ท่าน้ำเวียงจันทน์ให้มีพระสงฆ์อันดับนั่งหัตถบาส ๕๐๐ รูปจึงจะอุปสมบท ท่านพระครูยอดแก้วผู้เป็นครูบาใหญ่ แลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็อนุวัตตาม พอขอนิสสัยเสร็จแล้ว กรรมวาจาจะให้อนุศาสน์แพน้ำก็จมลง พระภิกษุรูปอื่นเปียกน้ำหมดสิ้น แต่พระบวชใหม่ไม่เปียก เห็นเป็นมหัศจรรย์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงโสมนัสยิ่งนัก ครั้นได้พรรษาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็ทรงจัดไตรอัฏฐะบริขารครบถ้วน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ตั้งให้มีฐานันดรเป็นพระครูแต่เมื่อยังหนุ่ม อาราธนาท่านไปอยู่วัดโพนสะเม็ก ประชาชนทั้งหลายจึงได้พากันเรียกว่า พระครูโพนสะเม็ก สืบแต่นั้นมาดังกล่าวแล้ว
(๒ เข้าใจว่าจะเป็นตำแหน่งพระสังฆราช หรือสังฆนายกเวลานั้น)
(ซ้าย) รูปหล่อพระครูโพนสะเม็ก (ขวา) บริเวณวัดที่จำปาสัก ที่เชื่อกันว่าบรรจุอัฐิของ “หลวงพ่อขี้หอม”
ฝ่ายชายาเจ้าชมพูหนีภัยหวังจะมาพึ่งท่านพระครูดังกล่าวแล้วนั้น ท่านพระครูเกรงไปว่าจะถูกครหาจึงให้พระนางพร้อมด้วยบ่าวไพร่ผู้ไว้ใจไปอยู่ที่ ภูสะง้อหอคำ๓ ครั้นถ้วนกำหนดพระนางก็ประสูติกุมาร คนทั้งหลายพากันเรียกว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ส่วน เจ้าองค์หล่อ นั้น ข้าราชบริพารผู้ที่ซื่อสัตย์ตามมา ได้พาไปอาศัยเกลี้ยกล่อมผู้คนอยู่ที่เมืองญวน ญวนก็รับไว้ด้วยอัธยาศัยอันดี
(๓ อยู่ลึกจากเวียงจันทน์เข้าไปทางทิศเหนือ)
ครั้นมาในสมัยพญาเมืองแสนตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินเวียงจันทน์ เห็นว่าท่านพระครูโพนสะเม็กมีคนเคารพนับถือมาก เกรงว่าจะเป็นภัยแก่ราชสมบัติต่อไปภายหน้า จึงคิดจะจำกัดเสีย ฝ่ายท่านพระครูรู้เท่าทันจึงหาหนทางปลอดภัยแก่ท่านเองและศิษย์โยมทั้งหลาย จึงได้ให้ศิษย์ผู้ไว้ใจไปเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ พร้อมทั้งพระมารดาที่ภูสะง้อหอคำ เป็นทางลับปะปนด้วยครัวศิษย์โยมประมาณ ๓,๐๐๐ คน และก่อนที่จะไป ท่านพระครูได้ทูลลาพระเจ้าเวียงจันทน์ (พญาเมืองแสน) ว่าจะลงไปทำบุญปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมซึ่งอยู่ใต้นครศรีโคตบูร เพื่อสืบอายุพระศาสนา๔ พระเจ้าเวียงจันทน์ก็มิได้ทรงระแวงและขัดขวาง เมื่อท่านได้ล่องเรือมาถึงที่ใด ก็มีผู้เลื่อมใสสมัครเป็นศิษย์โยมมากขึ้นโดยลำดับ ครั้นมาถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก๕ ท่านพระครูได้แบ่งครอบครัวส่วนหนึ่งให้พักอยู่ที่นั่น พร้อมกับเจ้าหน่อกษัตริย์และพระมารดา ส่วนท่านพระครูและครัวญาติโยมทั้งหลายได้ล่องเรือมาถึงธาตุพนม แล้วลงมือบูรณะพระธาตุพนม คือต่อยอด ตามตำนานเดิมว่าทำด้วยเหล็กเปียก (ไทยใต้เรียกเหล็กไหล) ตอนเชิงหีบขึ้นไปจนถึงสุดยอดแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๒๓๕ รวม ๓ ปีบริบูรณ์
(๔ข้อนี้ท่านเจ้าคุณพระพนมเจติยานุรักษ์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ขณะนั้น-ทางอีศาน) ได้กล่าวไว้ในตำนานเถระประวัติว่า มีเหตุสมจริงกับตำนานพระธาตุพนมว่า ศักราช ๑๐๕๒ (พ.ศ.๒๒๓๓) เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กได้มาสร้างยอดพระธาตุพนมแต่ภูมิถ้วนสองขึ้นเมื่อเสีย ตั้งยอดสุดสามปีจึงแล้วบริบูรณ์)
(๕ในพงศาวดารมิได้กล่าวไว้ว่า ตำบลงิ้วพันลำโสมสนุกนี้ ตั้งอยู่เขตแขวงเมืองใด แต่ปัจจุบันในลำแม่น้ำโขงจากเวียงจันทน์ถึงอำเภอธาตุพนมมีหมู่บ้านที่มีชื่อคล้ายกับที่กล่าวถึงในพงศาวดารอยู่สองแห่ง คือบ้านพันลำขึ้นอำเภอบึงกาฬแห่งหนึ่ง กับอีกแห่งหนึ่งอยู่ใต้ปากน้ำกระดิงลงมาเล็กน้อยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ขึ้นกับแขวงท่าแขก เรียกว่าบ้านโสมสนุก หรือสมสนุก อยู่ห่างไกลกันมาก จะใช้ตำบลทั้งสองนี้หรืออย่างไรไม่มีหลักฐานจะอ้างอิง โปรดท่านผู้รู้ไว้วิจารณ์)
เมื่อซ่อมพระธาตุพนมเสร็จแล้ว ท่านได้แบ่งครัวจำนวนหนึ่งให้อยู่อุปัฏฐากพระบรมธาตุ นอกนั้นท่านได้พาอพยพลงมาทางทิศใต้ตามลำแม่น้ำโขงฝั่งซ้าย สร้างบ้านสร้างเมืองพระเจดีย์ พระพุทธรูปไว้คู่บ้านคู่เมืองตามรายทางที่เห็นว่าเหมาะสม ตามโอกาสที่จะอำนวยหลายแห่ง จนเลยเข้าไปแคว้นกัมพูชา จนถึงหางตรุยจังวะ (แหลม) ซึ่งบัดนี้เขมรเรียก จะโรยจังวะ โดยเห็นว่ามีชัยภูมิกว้างขวางมีเขาน้อยใหญ่เรียงราย ได้สร้างพระปฏิมากรองค์หนึ่ง พระเจดีย์องค์หนึ่งบนเขานี้ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เลื่อนลอยมาบนพื้นน้ำ ซึ่ง ยายเปญ เอาขันรองรับไว้ได้แล้วนำมาถวายท่านพระครูฯ เพื่อให้ต้องตามนามนี้ท่านพระครูฯ จึงขนานนามว่า พระเจดีย์พนมเปญ เพราะกอปรด้วยยายเปญได้พระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุ ส่วนคำว่า พนม นั้น เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขา ครั้นต่อมาพระเจ้าแผ่นดินเขมรในสมัยสมเด็จพระอุทัยราชา พ.ศ.๒๓๕๕ ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองดงมีชัย บันทายเพชร์ มาตั้งที่เจดีย์พนมเปญ เลยขนานนามเมืองหลวงเขมรใหม่ว่า เมืองพนมเปญ มาเท่าทุกวันนี้
ขั้นต้นท่านพระครูหวังจะฝังรกรากที่เมืองพนมเปญ แต่ถูกเจ้าเมืองเขมรจะเก็บภาษีครัวเรือนละ ๘ บาท ท่านพระครูฯ เห็นจะเป็นการเดือดร้อนแก่บริวารจึงได้อพยพกลับคืนไปตามลำแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งอยู่ที่เมืองสมบูรณ์๖ พระเจ้ากรุงกัมพูชาทราบเรื่องก็ให้พระยาเขมรตามมาขับไล่ออกไป เพราะเมืองนี้ยังอยู่ในดินแดนเขมร ท่านพระครูฯ ก็พาบริวารอพยพครอบครัวคืนมา ครั้นได้มาถึงบ้านหางโศ๗ เห็นเป็นชัยภูมิดีจึงตั้งอยู่ ณ ที่นี่หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ถวายพระนามว่า พระแสน๘ ครั้นเสร็จแล้วเดินทางต่อมาจนถึงแก่งหลี่ผีพ้นแดนเขมร แล้วสร้างเมืองสร้างเจดีย์ให้ จารย์ฮวด ศิษย์คู่ใจอยู่รักษาบ้านคอนในแก่งหลี่ผี ส่วนท่านพระครูเดินทางไปถึงเกาะชัย แต่เห็นว่าจะตั้งเมืองไม่ได้เพราะเป็นเกาะเล็ก จึงได้เลือกชัยภูมิที่ เกาะแดง และเมื่อถึงเกาะนี้ฝันว่าถ้าจะตั้งเมืองที่นี่จะเป็นศรีนคร แต่จะมีปรปักษ์ในทางศาสนา แม้พี่น้องท้องเดียวกันมาปกครองนครนี้ ก็จะไม่ถูกต้องปรองดองกัน ตลอดจนประชาชนก็จะอยู่ไม่เป็นสุข ในตอนนี้เป็นเวลาที่ท่านพระครูฯ กำลังหาที่ตั้งเมืองอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ยังไม่แน่ว่าจะตั้งลงแห่งใดดี
(๖ ปัจจุบันเขมรเรียก เมืองกระแจะ)
(๗ คือเมืองเชียงแตงปัจจุบัน ดูบทที่ ๘ หน้า ๔๗)
(๘ พระพุทธรูปนี้หล่อด้วยทองเหลือง ทองแดง มีน้ำหนัก ๑ แสน (๑๐ ชั่ง = หมื่น, ๑๐ หมื่น = ๑ แสน) จึงถวายพระนามว่า “พระแสน” จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้มีท้องตราให้ข้าหลวงไปอาราธนาเชิญลงไปไว้ที่วัดหงส์รัตนาราม ฝั่งธนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒)
ฝ่ายข้างเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรี จำเดิมแต่บิดาของนางเภาถึงแก่อสัญกรรม พญาคำหยาด และ พญาสองฮาด พร้อมด้วยแสนท้าวพญาของบิดานางเภา ได้ช่วยกันทะนุบำรุงรักษาบ้านเมืองต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๑๘๗ เจ้าปางคำ บุตรเจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภูมาควาญช้าง และมาได้กับนางเภาเป็นภรรยา และเมื่อเจ้าปางคำกลับไปเยี่ยมบ้านแล้ว นางเภาก็คลอดบุตรเป็นหญิงให้ชื่อว่า นางแพง, ต่อมานางเภาถึงอสัญกรรม นางแพงผู้บุตรกับเจ้าปางคำผู้เป็นบิดาพร้อมด้วยแสนท้าวพญาก็พากันช่วยว่าการบ้านเมืองต่อมา เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระครูโพนสะเม็กพำนักอยู่ที่เกาะแดงมีผู้เคารพนับถือมาก ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส แล้วไปอาราธนามาอยู่ที่ห้วยสระหัว สร้างวัดถวายเรียกว่า วัดหลวง๙ นางแพงพร้อมด้วยบิดาตลอดมุขมนตรีก็ทวีความนับถือยิ่งขึ้น จึงพร้อมกันมอบหมายการปกครองบ้านเมืองตลอดสั่งสอนศาสนาธรรมแก่ประชาชนให้ท่านพระครูฯ ปกครองทั้งสิ้น นครจำบากนาคบุรีศรีเลยกลายเป็นพระปกครอง
(๙ บัดนี้เรียกวัดหลวงเก่า)
ครั้นต่อมาใน พ.ศ.๒๒๕๒ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระครองกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี มักเกิดมีเรื่องทะเลาะวิวาทและโจรผู้ร้ายกำเริบ ท่านพระครูโพนสะเม็กได้ใช้วิธีปกครองโดยทางธรรม แต่ไม่สำเร็จเรียบร้อยเหมือนกาลก่อน ครั้นจะชำระว่ากล่าวตามอาญาก็กลัวผิดวินัย ครั้นจะนิ่งเสียก็เกิดเดือดร้อนยิ่งขึ้น จึงเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ เป็นโอรสมีเชื้อสายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต๑๐ (เวียงจันทน์) จะปกครองราษฎรได้ จึงปรึกษาตกลงกับแสนท้าวพญาให้ จารย์แก้ว จารย์เสียงช้าง กับท้าวเพีย พร้อมด้วยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ (พระมารดาถึงแก่อสัญกรรม) ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกลงมายังนครกาละจำบากนาคบุรีศรี จัดตั้งราชาภิเษกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นครองนครกาละจำบากนาคบุรีศรี ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร เมื่อ พ.ศ.๒๒๕๖ เป็นเจ้าเอกราชในมาลาประเทศแล้วขนานนามใหม่ว่า นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี๑๑ แล้วจัดตั้งตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพญา เมืองแสน เมืองจันทร์ขวาซ้ายแลตำแหน่งจตุสดมภ์ กรมอาษาหกเหล่าสี่เท้าช้าง ตำรวจ มหาดเล็ก ชาวที่ กรมแสงฯ ตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุตครบทุกตำแหน่ง นครจำปาศักดิ์จึงได้มีเจ้านายเชื้อสายเวียงจันทน์ปกครองแต่กาลก่อน แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรสร้างอารามใหม่ขึ้นในเมืองเรียกว่า วัดหลวงใหม่ ได้อาราธนาท่านพระครูโพนสะเม็กกับอันดับสงฆ์มาพำนัก ณ วัดหลวงใหม่นั้น
(๑๐ ดูบทที่ ๗ หน้า ๔๑,๔๒)
(๑๑ ชาวเมืองเรียกสั้น ๆ ว่า “เมืองปาศักดิ์” ฝรั่งเขียนว่า “Bassac”)
ครั้นต่อมาเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรได้ปรึกษากับท้าวพระยาทั้งปวงว่า เมื่อครั้งท่านพระครูโพนสะเม็กไปกรุงกัมพูชานั้น เจ้ากรุงกัมพูชาคิดก่อการวิวาทกับฝ่ายลาวและขับไล่ท่านพระครูฯ กับบริวารมิให้อยู่ในแดนเขมร เกรงไปว่าจะเกิดสงครามขึ้นได้ ควรจะแต่งเครื่องราชบรรณาการไปขอเป็นไมตรีกับเขมรตามโบราณราชประเพณี เมื่อตกลงพร้อมกันแล้วได้มีราชสาสน์ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ณ เมืองบันทายเพชรมาเป็นบาทบริจาริกาด้วย เจ้ากรุงกัมพูชาก็ตกลงกระทำตอบและถวายพระราชธิดาองค์หนึ่ง พร้อมด้วยบ่าวไพร่ชายหญิง มาอยู่ได้ ๓ เดือนก็ทรงครรภ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทไม่ทรงทราบแล้วพระนางก็ลาไปเยี่ยมพระราชบิดา เมื่อครรภ์แก่พระราชบิดาก็ส่งคืนมา เจ้าสร้อยศรีสมุทฯสงสัยก็เสี่ยงสัตยาธิษฐานว่า ถ้าเป็นบุตรแล้วขอให้คลอดออกมาเสียอวัยวะส่วนหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ขอให้บริบูรณ์ครบถ้วน เมื่อคลอดออกมาก็เสียเนตรข้างหนึ่ง เจริญวัยขึ้นให้นามว่า เจ้าโพธิสาร
ในตอนนี้เจ้าสร้อยศรีสมุทฯ ได้จัดให้เจ้านายและศิษย์คู่ใจของท่านพระครูโพนสะเม็กไปปกครองเมืองต่าง ๆ คือ
๑. ให้ท้าวสุด เป็นพระไชยเชษฐ ไปปกครองบ้านหางโค ปากเซของ (หรือเซโขง) ฝั่งโขงตะวันออก คือเมืองเชียงแตงปัจจุบัน
๒. ให้จารย์แก้ว ไปรักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง คือเมืองสุวรรณภูมิเดี๋ยวนี้
๓. ให้จารย์ฮวด ไปรักษาบ้านดอนโขง ในลำแม่น้ำโขง คือเมืองโขงเดี๋ยวนี้ ดอน นี้ต่อมาเรียก “สี่พันดอน” คือมีดอนมีเกาะในลำแม่น้ำโขงตอนนี้มากมายตั้งสี่พัน แล้วต่อมาในปัจจุบันเรียกว่า สีทันดร
๔. ให้จารย์เสียงช้าง ไปรักษาบ้านกุดหวาย (ต่อมาทรงตั้งเป็นเมืองรัตนบุรี)
๕. ให้ท้าวมั่น เป็นหลวงเอก ข้าหลวงเดิมของนางแพง ไปรักษาบ้านโพน ภายหลังเรียก “เมืองมั่น” ตามชื่อท้าวมั่น คือ เมืองสาลวันเดี๋ยวนี้
๖. ให้จารย์โสม ไปรักษาเมืองอิดกระบือ ซึ่งเป็นทำเลเมืองร้างมาก่อน เรียกว่า “เมืองโสก, เมืองซุง” หรือเมืองพะเนียด ซึ่งแต่ก่อนพวกเวียงจันทน์ฝึกช้างเถื่อนที่นี่ คือ “เมืองอัตบือ” เดี๋ยวนี้
๗. ให้จันทร์สุริวงศ์ ไปรักษาเมืองโพนสิม ต่อมาคือเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง
๘. ให้ท้าวพรหม เป็นซาบุดโคต ไปรักษาบ้านแก้วอาเฮิม ซึ่งมีเจดีย์หรือธาตุกำเดาทึกอยู่ที่นั่น คือ “เมืองคำทองใหญ่” ณ บัดนี้
๙. ให้ท้าวหลวง บุตรพระละงุม เป็นขุนนักเฒ่า ไปรักษาบ้านโขงเจียง คือ อำเภอโขงเจียม๑๒ ปัจจุบัน
๑๐. ให้เจ้าโพธิสาร ไปครองเมืองศรีจำบังเซ ลำเภา คือ “เมืองมโนไพร” เดี๋ยวนี้
หากผู้ครองเมืองดังกล่าว ถ้าผู้ใดล่วงลับไปแล้ว เจ้านครจำปาศักดิ์มักจะแต่งตั้งให้บุตรหลานของผู้นั้นสืบทายาทแทนต่อ ๆ กันไป
(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)
(๑๒ ที่ถูกควรเป็นโขลงเจียง ตามความหมายเดิม เจียงภาษาส่วยแปลว่าช้าง, โขลงเจียง, ก็คือโขลงช้างนั่นเอง)