พระพุทธรูปนั่ง ทวารวดียุคเก่า ที่บุรีรัมย์

พระพุทธรูปหินทราย ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน สูง ๑.๐๔ เมตร อายุคริสต์ ศตวรรษที่ ๘ (จัดอยู่ในยุคที่ ๒)

ในบทความสองตอนที่แล้ว ฉันเขียนแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเรื่องเกี่ยวกับ พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปทวารวดี สามยุค ได้ยกตัวอย่าง  พระยืนทวารวดี ที่ยอมรับกันว่ามีอายุเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ พระพุทธรูปยืนหินสลัก ศิลปะแบบคุปตะ พบที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเดือนนี้จะเล่าถึงพระพุทธรูปนั่งแบบทวารวดีในภาคอีศาน ที่มีอายุเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย  คือพระพุทธรูปนั่งหินสลัก  พบที่พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา)

ผู้อ่านบางท่านคงจะสงสัยว่า ทำไมพบหลักฐานพระพุทธรูปแบบทวารวดี ยุคที่หนึ่ง ในภาคอีศาน

แน่นอนว่าท่านผู้อ่านจะเคยอ่านพบเรื่อง   หลักฐานพระพุทธรูปทวารวดีในอีสาน เรื่องเมืองโบราณที่มีผังเมืองแบบทวารวดีในอีสาน กระทั่งเรื่องพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปแบบทวารวดีในพื้นที่ “เวียงคำ” เหนือนครเวียงจัน

บางท่านจึงอาจจะสงสัยว่า ภาคอีสานเป็น “อาณาจักรทวารวดี” ด้วยหรือ ?

ผู้ที่สงสัยประเด็นนี้  คงจะเนื่องจากท่านยึดติดกับ “ประวัติศาสตร์ทัศน์” แบบ “ราชอาณาจักร” Kingdom ที่ต้องมีราชธานีคุมอำนาจรวมศูนย์ส่วนกลาง แล้วส่งขุนนางไปปกครองหัวเมืองทุกเมือง

“ทวารวดี”  ไม่ใช่ “ราชอาณาจักร” แบบนั้นนะขอรับ

แม้ว่าจะมีหลักฐาน  เงินเหรียญ มีตัวอักษรคำว่า “ศรีทวารวดี…”   แสดงว่า  ควรจะมีเมืองที่ใช้ชื่อว่า “ทวารวดี” รวมทั้งมีจดมายเหตุประวัติศาสตร์ของชาวจีนเรียกทวารวดีว่าเป็น “ก๊ก” ซึ่งก็น่าจะมีประมุข (กษัตริย์) ปกครองเมืองทวารวดีด้วย     

ข้าน้อยก็ยอมรับว่า  อาจจะมีเมืองท่าใหญ่เมืองหนึ่ง (ในภาคกลางของประเทศไทย)  เคยมีชื่อเมืองว่า “ทวารวดี”  และเป็นเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่ ร่ำรวย แต่มิได้ครองอำนาจรวมศูนย์แบบอาณาจักร

ข้าน้อยอยากเรียกว่า  ในยุคทวารวดี (มองกว้าง ๆ คือ จากพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๑๕) นั้น   ดินแดนภาคกลางของไทย ภาคใต้ของไทย   ภาคอีสานตอนเหนือ  มีลักษณะเป็นสหพันธ์นครรัฐ   ที่ผูกพันเป็นเครือข่ายกันอย่างหลวม ๆ นักวิชาการตะวันตกเรียกว่า ระบบมัณฑะละ (Mandala มณฑล)  


พระพุทธรูปนาคปรก ที่เคยประดิษฐานที่บ้านฝ้าย จ.บุรีรัมย์

ชุมชนในสุวรรณภูมิ ที่เริ่มสัมพันธ์กับอินเดีย (ในทุก ๆ ด้าน) เริ่มจาก “เมืองเดี่ยว” (เมืองท่าที่เหมาะสมสำหรับการค้า) ขยายไปเป็นกลุ่มเมืองที่เป็นเครือญาติกัน กลายเป็นสหพันธ์นครรัฐ  เช่น  สหพันธ์นครรัฐสุพรรณภูมิ  แถบลุ่มแม่น้ำท่าจีนและราชบุรี   สหพันธ์นครรัฐศรีเทพ-ละโว้ แถบลุ่มแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง แล้ววัฒนธรรมพุทธเถรวาท (แก่นของวัฒนธรรมทวารวดี) แพร่ขยายต่อจาก ศรีเทพ ผ่านทางชัยภูมิ  ด้านหนึ่งขยายต่อไปทางบ้านผือ อุดรธานี เวียงจัน   อีกด้านหนึ่งขยายต่อไปทางแม่น้ำปาว แม่น้ำชี  ไปมีศูนย์กลางอยู่ที่ฟ้าแดด   อีกด้านหนึ่งขยายต่อไปทางเมืองเสมา สูงเนิน นครราชสีมา  ลงไปชนกับวัฒนธรรมฮินดูของ “เจนละ” แถบอำเภอประโคนชัย  

ตามเส้นทางดังกล่าวนี้  เราจึงพบเห็นวัฒนธรรมทวารวดีมากมาย 

เรื่องพระพุทธรูปนั่งแบบทวารวดีที่เก่าแก่ที่สุดนี้ ขออนุญาตคัดลอกมาจากเรื่อง “พระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่เก่าที่สุดในประเทศไทย”  ของคุณวิสุทธิ์  ภิญโญพาณิชกะ www.wisut.net/bureerum-article/ 

เส้นทางการแพร่กระจายของวัฒนธรรมทวารวดี จากภาคกลางสู่ภาคอีสาน

ทั้งบทเลย  ดังนี้ครับ  

“สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์อีกสิ่งหนึ่งนอกจากปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ แหล่งเตาเผาบ้านกรวด และชุมชนโบราณเป็นร้อย ๆ แห่ง ก็คือ พระพุทธรูปศิลาปางสมาธินาคปรก สมัยทวารวดี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  พบที่บ้านเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์

พระพุทธรูปศิลาที่บ้านเมืองฝ้าย ได้ถูกโจรกรรมไปจากบ้านเมืองฝ้าย ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถติดตามคืนมาได้ที่บ้านหินดาด ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นไม่ได้นำกลับคืนมาไว้ที่เดิม คงประดิษฐานไว้ที่มณฑป วัดอุทัยมัคคาราม ตำบลหินดาดจนถึงปัจจุบัน

พระพุทธรูปจากบ้านเมืองฝ้าย  มีขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๗  เมตร สูง ๑.๖๕   เมตร (รวมทั้งฐานและเดือย) แกะสลักแบบนูนสูงด้วยหินทราย คือแกะสลักให้องค์พระนูนสูงเด่นชัดขึ้นมาจากพื้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก นั่งขัดสมาธิราบ เหนือขนดนาคสามชั้น ส่วนที่เป็นเศียรนาคชำรุดหักหายไปเหลือเพียงบางส่วน มีพระพุทธลักษณะโดยรวม ดังนี้

พระวรกายอวบ ห่มจีวรแบบเฉียงบางแนบพระองค์ ไม่มีริ้ว ขอบจีวรเป็นเส้นพาดผ่านพระอุระ ทิ้งชายพาดไปเบื้องหลัง จึงไม่ปรากฏชายจีวรเหนือพระอังสาซ้ายทางด้านหน้า มีขอบจีวรพาดเหนือพระเพลาซ้ายย้อยลงมาเป็นวงโค้งรอบรอยพับด้านในขอบพระชงฆ์ ส่วนขอบสบงด้านบนเป็นเส้นนอน มองเห็นได้ที่บั้นพระองค์ ขอบล่างปรากฏอยู่บนพระชงฆ์เหนือข้อพระบาทเล็กน้อย

พระพุทธรูปมีพระพักต์รูปไข่ พระเกศมาลาเป็นรูปครึ่งวงกลม ไม่มีพระรัศมี ขมวดพระเกศาเวียนขวาเรียงเป็นแนวนอน พระขนงเป็นวงโค้งมาจรดกันเหนือพระนาสิก พระเนตรโปน เปลือกพระเนตรบนสลักเป็นเส้นตรง เปลือกพระเนตรล่างสลักเป็นวงโค้ง ส่วนล่างของพระนาสิกใหญ่ พระโอษฐหนา

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (2512:2532) ได้ทรงศึกษาพระพุทธรูปองค์นี้อย่างละเอียด และทรงสรุปว่า เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย ปรากฏอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบอมราวดี อันเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปนาคปรก มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 1213

จากที่กล่าวมาคงจะเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธรูปจากบ้านเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดีได้เป็นอย่างดี

ส่วนความศักดิ์สิทธิ์นั้น คงบอกกันไม่ได้ว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนอย่างไร  ลองไปกราบนมัสการดูซิครับที่วัดอุทัยมัคคาราม ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ตามทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-ลำปลายมาศ -บุรีรัมย์ เพียง 66 กิโลเมตรเท่านั้น วัดหินดาดหรือวัดอุทัยมัคคาราม ตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ ก่อนถึงทางแยกไปอำเภอพิมาย ครับ”

 

หนังสืออ้างอิง  : สรเชต วรคามวิชัย การเริ่มต้นของวัฒนธรรมอินเดียในอีสานใต้ 15 ปี

พระพุทธรูปยืน หินสลัก ทวารวดีที่เก่าที่สุดในไทย พบที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑

พระพุทธรูปทวารวดี เก่าแก่อีกองค์หนึ่ง (องค์กลาง) บ้านท่าวัด ริมหนองหาร จ.สกลนคร

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com