เยือนหนองบัวลำภูไปดูแหล่งเรียนรู้คู่เมือง

หนองบัวลำภู แม้จะเป็นเพียงจังหวัดเล็ก ๆ ของภาคอีสาน แต่ร่ำรวยด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมะ ธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งวัดวาอาราม แหล่งน้ำ และภูเขา แถมยังมีประวัติความเป็นมายาวนาน ไม่ใช่แค่นับตอนแรกตั้งจังหวัดเมื่อวันที่ 1  ธันวาคม 2536 หรือเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์ของหนองบัวลำภูที่เชื่อมโยงกับเมืองโบราณที่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย ดังที่ ผศ.ดร.ธีระวัฒน์ แสนคำ ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่และความน่าสนใจของเมืองนี้ยิ่งนัก

แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู

โดยในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีร่องรอยมนุษย์เข้ามาอาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังปรากฏหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย และบ้านกุดคอเมย อำเภอโนนสัง พบโครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด เครื่องประดับที่ทำจากหินและกระดูกสัตว์ ภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะสำริดและเหล็ก รวมทั้งมีการพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระจายอยู่ตามผนังถ้ำและเพิงผาหลายแห่งในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ  อำเภอโนนสัง เช่น ถ้ำอาจารย์สิม ถ้ำมึ้ม ถ้ำเสือตก ถ้ำจันได และภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีภูผายา อำเภอสุวรรณคูหา

ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีภูผายา อำเภอสุวรรณคูหา

          ต่อมาชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็มีพัฒนาการเป็นชุมชนหมู่บ้านตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ ในวัฒนธรรมทวารวดี  สืบเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยการรับเอาคติความเชื่อทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาจากดินแดนภายนอก มีการพบใบเสมาหินทรายแกะสลักในวัฒนธรรมทวารวดีกระจายอยู่หลายพื้นที่ เช่น วัดป่าศรีวิไล วัดสว่างอารมณ์ อำเภอศรีบุญเรือง วัดสันติธรรมบรรพต ดอนตาปู่บ้านนาหนองทุ่ม อำเภอนากลาง วัดโพธิ์ทอง ศาลหลักบ้านบ้านเซิน กลางทุ่งนาบ้านหนองเหลือง อำเภอสุวรรณคูหา และวัดศรีคูณเมือง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู เป็นต้น

วัดศรีคูณเมือง

          ชุมชนโบราณในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๔ โดยมีเมืองหนองบัวหรือเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งมีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ของราชอาณาจักรล้านช้างเป็นชุมชนโบราณที่มีความสำคัญที่สุด ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ได้ยกพลตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ ทรงพักทัพที่ตำบลหนองบัวและทรงประชวรไข้ทรพิษ จนต้องได้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันทางราชการและชาวเมืองหนองบัวลำภูจึงได้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งหนองบัวทางทิศตะวันออก  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๑ และกลายเป็นที่สักการะของชาวหนองบัวลำภูมาจนถึงปัจจุบัน

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่พัฒนาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอีกหลายแห่ง ควรค่าแก่การถ่ายทอดให้แก่เด็กเยาวชน ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และเป็นแรงผลักดันให้คนในชุมชนท้องถิ่น เล็งเห็นความสำคัญในศิลปวัฒนธรรมของตน ตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านงานจักสาน งานทอ งานช่าง และแม้แต่งานศิลปะ

ใครที่เคยมาเมืองหนองบัวลำภูแห่งนี้ คงหลงเสน่ห์ทั้งความเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ของดีของฝากที่นี่ไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะเมื่อ พัชนี สภา วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู  ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้หลายแห่งในจังหวัด ให้น่าศึกษาเรียนรู้ จัดมุมให้สวยงาม จัดวางผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ รวมไปถึงให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานผู้สนใจ สืบสานเพื่อต่อยอดฝึกทักษะเป็นอาชีพสร้างเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีอยู่มากมายอีกด้วย

เริ่มต้นกันที่มรดกภูมิปัญญางานฝีมือของชาวหนองบัวลำภูในด้านการจักสาน ที่มีการนำเอาต้นคล้าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มาแปรรูปจนสร้างเงินสร้างรายได้ของชาวบ้านที่ชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู   ที่นี่ปลูกต้นคล้าเอาไว้ตามทุ่งนา ก่อนจะมาสอยเอาเฉพาะเปลือกด้านนอก นำไปตากแดด ย้อมสีธรรมชาติ และนำมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้มากมาย ทั้งกระเป๋า  ที่ใส่กระบอกน้ำ โดยเฉพาะกระติบข้าวที่ถือเป็นสินค้าส่งออกของชุมชนแห่งนี้

ชาวบ้านที่นี่เกือบทุกหลังคาเรือน ใช้เวลาว่างในการจักสานต้นคล้าให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ ด้วยฝีมือที่ประณีต และอาศัยความชำนาญ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด แล้วนำมารวมกันเพื่อจำหน่ายส่งออกในนามกลุ่ม   โดยแต่ละเดือนที่นี่มีเม็ดเงินเข้ากลุ่มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3-5  หมื่นบาท และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพให้กับผู้สนใจอีกด้วย เรียกว่ามาที่นี่แล้วจะเห็นทั้งวิถีชีวิต เห็นทั้งงานฝีมือและสัมผัสวิถีชุมชนที่ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม

ว่ากันว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่นี่ไม่มีที่ดินทำการเกษตรมากนัก เลยอยากมีอาชีพเสริม ปลูกต้นคล้า หรือต้นแหย่ง เอาไว้เพื่อมาจักสานหารายได้ช่วงว่างจากทำนา แต่พอขายไปขายมากลับขายได้ดีจนทำให้ต้องเร่งมือผลิตออกมาจนออร์เดอล้นหลาม ทำกันไม่หวาดไม่ไหว ที่สำคัญใครมีแบบไหนมาให้ลองทำก็ทำได้หมด ฝีมือเชี่ยวชาญจริง ๆ โดย ธิษณามดี ศรีหนองเม็ก ประธานกลุ่ม บอกด้วยความภูมิใจว่า ทุกวันนี้แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ก็สานกระติบข้าวได้ เพราะในหมู่บ้านทำกันแบทุกครัวเรือนจริง ๆ

          ถัดจากอำเภอศรีบุญเรืองเข้ามาในเมืองหนองบัวลำภู มีแหล่งเรียนรู้ด้านผ้าคือ ขวัญตาผ้าไทย ของ สุมามาลย์ เต๋จ๊ะ ดีไซเนอร์และเจ้าของธุรกิจ เธอบอกว่าแรงบันดาลใจเกิดจากแม่ที่ตัดเย็บข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเอง ทำให้เธอสนใจและไปเรียนรู้เรื่องผ้า แรกเริ่มทำเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งมีคนชื่นชอบจึงต่อยอดเป็นธุรกิจ 

จุดเด่นสินค้าของเธอคือใช้วัตถุดิบผ้าฝ้ายทอมือที่มีความเป็นธรรมชาติ เย็บ และประดับตกแต่งด้วยวิธีด้นมือ ขณะที่ดีไซน์ร่วมสมัย ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำกับใคร เธอเริ่มทำธุรกิจจริงจังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อแม่ คือ “ขวัญตา” มาเป็นชื่อแบรนด์  นอกจากได้ทำอาชีพที่รักแล้ว ยังได้ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง และที่นี่ยังมีโรงย้อมผ้า โรงทอผ้าและตัดเย็บเองทั้งหมด จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทอผ้าให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้  นอกจากนั้นแหล่งเรียนรู้ขวัญตาผ้าไทย ยังเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวตามโครงการ เที่ยวชุมชนยลวิถี ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยทั่วประเทศมีเพียง 20 แห่งเท่านั้น ใครมาจังหวัดหนองบัวลำภูต้องมาจุดนี้ให้ได้

          ใกล้ ๆ กันกับขวัญตาผ้าไทย ที่บ้านนาคำไฮ อำเภอเมือง มีแหล่งเรียนรู้ หอศิลป์ เพลิง วัตสาร ของศิลปินหนุ่มชื่อดังของเมืองนี้ ที่ใช้บ้านตัวเองเป็นหอศิลป์ ใช้ทั้งผลิตงานและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจด้วย เพลิง วัตสาร เป็นจิตกรหนุ่มที่มีฝีมือและมีอัตลักษณ์โดดเด่นในการผลิตชิ้นงานของตนเอง โดยผลงานของเขาแทบทุกชิ้นจะถูกจองและมีเจ้าของแทบทั้งหมด

          ทุกวันเพลิงบอกว่า จะทำงานที่นี่ไม่ได้ไปไหน นอกจากไปทำบุญหรือไปงานข้างนอก ชีวิตส่วนใหญ่ทำงานอยู่หอศิลป์ มีออกไปให้สอนเด็กบ้าง หรือใช้หอศิลป์เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนในพื้นที่มาเรียนรู้ด้วย  เขาบอกว่าให้เรียกตัวเขาว่าเป็นศิลปินในสาขาจิตรกรรม  งานที่ทำเป็นศิลปะในแนวจิตรกรรม จะเน้นในส่วนของจิตรกรรมไทย ที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย และงานจิตรกรรมร่วมสมัยด้วย  เพราะถ้าเป็นงานจิตรกรรมไทยส่วนมากจะเป็นงานที่เขียนอยู่ตามผนังวัด รูปทรงก็จะเป็นมิติแบน ๆ ไม่มีความลึกความไกลอะไรแบบนี้  พอมาถึงยุคนี้ก็มีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย ในส่วนของเนื้อหางานที่ทำก็ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติ หรือเรื่องเล่าในชาดกอะไรมากนัก แต่จะเป็นงานที่เรียกว่า อุปมาอุปมัยมากกว่า

ออกจากบ้านเพลิง วัตสาร แหล่งเรียนรู้สุดท้ายอยู่ไม่ไกลนัก ข้ามไปที่อำเภอสุวรรณคูหา นั่นคือ โฮงคำสุวรรณเชษฐา ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นสุวรรณ โดยมีช่างทองหนุ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อช่างรอน หรือ พสิษฐ์ แสงโสดา ซึ่งร่ำเรียนมาจากวิทยาลัยช่างทองหลวง ในพระบรมมหาราชวัง เคยทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่โครงการวิทยาลัยช่างทองหลวงเป็นเวลานานถึง 5 ปี  จากนั้น มีแนวคิดในการในการกลับมาสร้างอาชีพในท้องถิ่น โดยได้นำวิชาความรู้มาถ่ายทอดให้ญาติพี่น้องจนกลายเป็นอาชีพ และสร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่าแสนบาท

นอกจากนั้นยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจ เด็ก เยาวชนคนในพื้นที่มาศึกษาเรียนรู้เพื่อต่อยอดเป็นช่างทองตามที่ต้องการ โดยใช้เทคนิคในการทำลวดลายของแต่ละชิ้นงาน แบบสลักดุน คร่ำทอง และถมทอง เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีลวดลายประณีตสวยงาม  

           อาจารย์รอน มีแนวคิดในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ถ่ายทอดไปยังเยาวชนคนรุ่นหลังเพื่อสืบสอดฝีมือช่างทองน้อง ๆ ในชุมชน ตำบลนาสี อำเภอสุวรรณคูหา  ผลงานที่ผ่านมาด้านฝีมือช่างทอง ราคาทั้งแต่หลัก 1,000 ถึง 400,000  บาท แต่ละชิ้นงานมีความโดดเด่นด้านการออกแบบและลวดลายโดยเฉพาะ โดยใช้เทคนิคในการทำลวดลายของแต่ละชิ้นงานให้มีลวดลายประณีตสวยงาม  ชิ้นงานที่มีความต้องการของตลาด คือ แหวนนพรัตน์ ทับทรวง จี้สร้อย ทรงเครื่องพระ ครอบเศียรพระ เช่น ผ้าสะบัก ที่ใช้ห่มทับผ้าสไบผืนนี้ ที่ใช้เทคนิค ปักสะดึง กึงไหม ลงบนผืนผ้าไหมคำ ขนาดความยาว 2.70 เมตร กว้างขนาด 70 เซนติเมตร โดยการเลื่อมผ้าไหมด้วยแผ่นทองเหลือง และตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ใช้เวลาในการปักสะดึง 3 เดือน และมีมูลค่าราคา 300,000  บาท

โดยปัจจุบันได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ ในครอบครัว จนทุกวันนี้แม้แต่หลานก็ยังสามารถทำทองได้ และมีฝีมือเยี่ยมยอด  ปัจจุบัน อาจารย์รอนได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายทั่วประเทศ กว่า 200 คน และผลิตชิ้นงานออกสู่ตลาดทั่วประเทศ จนได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย (cultural produc of Thailand หรือ CPOT) จังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปีงบประมาณ 2564 ของกระทรวงวัฒนธรรม และได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้โฮงคำสุวรรณเชษฐา ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นสุวรรณ เป็น บ้านโฮงคำสุวรรณเชษฐา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในการสอนและสร้างต้นกล้าช่างทองโบราณ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนรุ่นหลัง เพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นหลังรู้สึกหวงแหนและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืนอีกด้วย

โดยแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ เปิดต้อนรับสำหรับผู้สนใจ เพื่อเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ฝึกทักษะ ทดลองทำเพื่อ หาความชอบ ความสนใจของตนเอง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้ความรู้ ได้ประโยชน์ และได้รู้จักศิลปวัฒนธรรมในชุมชนก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ใครสนใจอยากจะเข้าไปเยี่ยมชม หรือศึกษาดูงาน ติดต่อผ่านสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ในวันและเวลาราชการค่ะ         

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com