ไทยกับลาวหากสืบสาวรากเหง้าจะพบว่า เรามีสร้อยสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี

หลักฐานที่ยืนยันสร้อยสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวอย่างหนึ่ง คือพระธาตุศรีสองรัก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2103 เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ.2106 รวมเวลาการก่อสร้างถึง 3 ปี

มูลเหตุการสร้างมีอยู่ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยากับพระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้กระทำพิธีสัตยาธิษฐานต่อกัน ท่ามกลางสักขีพยานได้แก่ มหาอุบาลีมหาเถรวิริยาธิกมุนี มหาอุปราช เสนาอามาตย์และไพร่ฟ้าประชากรของทั้งสองอาณาจักรมาร่วมเป็นสักขีพยาน การทำสัตยาธิษฐานครานั้น ได้มีการทำจารึกไว้เป็นหลักฐานของถ้อยคำ และสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย เจดีย์เรียกว่าพระธาตุศรีสองรัก ส่วนจารึกนั้นเราเรียกว่าจารึกศรีสองรัก

เนื้อหาของคำสัตยาธิษฐานความสำคัญคือ เป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างไทยกับลาว

 เจดีย์ศรีสองรักยังโดดเด่นอยู่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอด่านซ้ายไปประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอชายแดนระหว่างไทยกับลาว เราคงได้ยินเพลงชื่อ สุดทางที่ด่านซ้าย ประพันธ์โดยชลธี ธารทอง นักร้องเสียงแหบมหาเสน่ห์ สายัณห์ สัญญา เขย่าลูกคอร้องเพลงนี้ท่อนหนึ่งว่า “ผมอยู่ชายแดน  มันแสนเดียวดาย อำเภอด่านซ้าย ไกลลิบสุดตา มองไปทางไหนใจเศร้า เห็นแต่ภูเขาขอบฟ้า เสียงนกกากู่ร้องก้องไพร…” ฟังแล้วเงียบเหงาวังเวงเหลือใจ   

พระธาตุศรีสองรักรูปแบบศิลปกรรมเป็นแบบล้านช้าง องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนองค์สูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง ภาพโดยรวมคล้ายพระธาตุพนมและพระธาตุหลวง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ รายรอบองค์พระธาตุเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น แต่ละวันมีพุทธศาสนิกชนทั้งไทย ลาว และนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ถือดอกไม้เดินวนรอบองค์พระธาตุกราบนมัสการอยู่เนือง ๆ

สถานที่แห่งนี้แปลกว่าที่อื่น ๆ คือ คนที่เข้าไปกราบนมัสการต้องไม่ใส่เสื้อสีแดง กล่าวกันว่าเป็นความเชื่อมาแต่โบราณการว่า สีแดงนั้นเป็นสีของเลือด แต่พุทธสถานแห่งนี้เป็นสถานที่ศานติสุข เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคี ดังนั้นพุทธสถานแห่งนี้ต้องไม่มีสัญลักษณ์ของสงครามหรือการหลั่งเลือด  

จารึกศรีสองรักนั้น ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้เดินทางไปสำรวจเอกสารโบราณในจังหวัดภาคอีสาน จึงทราบว่าจารึกพระธาตุศรีสองรัก หลักจริงอยู่ที่หอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติ และวิวัฒนาการของอักษร ภาษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของเอกสารโบราณชิ้นนี้เป็นอย่างดี จึงได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหนังสือขอให้จัดทำสำเนาหรือถ่ายภาพ และต่อมากระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีหนังสือ นำส่งสำเนาภาพถ่ายจารึกจำนวน 2 ชุด รวม 4 แผ่น โดยกรมศิลปากร ต้องจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาจารึกนั้นเป็นเงิน 1,688 กีบ คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้น 3,444.20 บาท สำเนาจารึกดังกล่าว

เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รับไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2523 เมื่อได้จารึกมาทำให้เราทราบว่า อักษรในจารึกพระธาตุศรีสองรัก ด้านที่ 1 ใช้อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย เหลือเพียง 28 บรรทัด ส่วนด้านที่ 2 ใช้อักษรขอม ภาษาไทยเหลือเพียง 26 บรรทัด อักษรข้อความในจารึกตรงกันทั้ง 2 ด้าน

เนื้อหาของจารึกนั้น เป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับ พระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ซึ่งได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรักและสนิทสนมกันตามนามของพระเจดีย์

การใช้อักษรมีนัยสำคัญ ซึ่งนักอักษรโบราณให้ความรู้ว่า ด้านที่ใช้อักษรธรรมอีสานเป็นของฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่วนด้านที่ใช้อักษรขอมเป็นของฝ่ายกรุงศรีอยุธยา อักษรทั้งสองรูปแบบสามารถนำมารวมไว้ในจารึกหลักเดียวกันได้ โดยมีภาษาไทยเป็นสื่อกลาง อีกทั้งจารึกข้อความตรงกันทั้งสองรูปแบบอักษร ลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในโลกเท่านั้น ยังบ่งบอกถึงอารยธรรม ความนิยมในการใช้รูปอักษรของอาณาจักรนั้นอีกด้วย

จารึกศรีสองรักเป็นบันทึกความรักความสามัคคีระหว่างไทย-ลาว ส่วนพระธาตุศรีสองรักเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคีของไทย-ลาวอยู่ยั้งยืนยงมายาวนาน ปัจจุบันมีการจัดเทศกาลงานบุญในวันวิสาขบูชา ชาวบ้านเรียกว่า งานสมโภชพระธาตุศรีสองรัก จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 งานนี้ชาวบ้านจะนำ “ต้นผึ้ง” เครื่องสักการบูชาที่ทำจากโครงไม้ไผ่เป็นทรงสามเหลี่ยม ลักษณะคล้ายปราสาท ประดับด้วยดอกไม้สวยงาม นำมาบูชาถวายแด่องค์พระธาตุ

จารึกศรีสองรักและพระธาตุศรีสองรัก ล้วนเป็นมรดกความรักสามัคคีระหว่างไทย-ลาว บนแผ่นดินอีสาน

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com