นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
บทบรรณาธิการ : เรียนรู้อดีต สร้างสรรค์อนาคต
โดย : ปรีดา ข้าวบ่อ
มนุษย์มีต้นกำเนิดที่ทวีปอัฟริกา แล้วเคลื่อนย้ายไปทั่วทีปทั่วแดน ทำนองคล้ายคลึงกับมะละกอที่เกิดจากอเมริกากลาง จากนั้นแพร่พันธุ์ไปไกล ที่อัศจรรย์ใจกว่านั้นคือ มะละกอมาผสมลงตัวกับ“ปลาเแดก” จนทำให้ “ตำบักหุ่ง”กลายเป็นอาหารหลักของคนไทยภาคอีสาน
มนุษย์ในทวีปเอเชียตะวันออกพัฒนามากว่าสองหมื่นปี จำเพาะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือดินแดนสุวรรณภูมิของเรา ก็มีมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในภาคอีสานมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์วรรณนา หาอยู่หากิน ร่วมรังสรรค์วัฒนธรรม มาจนเป็นคุ้มบ้านคุ้มเมืองและสหพันธ์นครรัฐ จนก้าวกระโดดใหญ่เมื่อผสานพัฒนาวัฒนธรรมจากเบื้องบูรพา (ไป่เยวี่ย) สร้างสรรค์การผลิตเกลือและหลอมโลหะ แล้วผสานพัฒนาวัฒนธรรมจากเบื้องประจิม (ชมภูทวีป) สร้างสรรค์อักษร ระบอบสังคมและศาสนา
บริเวณที่ราบสูงภาคอีสานและผืนดินน้ำป่าภูเขารอบด้าน มีหลักฐานปรากฏอารยธรรมมาตั้งแต่ยุคบ้านเชียง ฟูนัน เจนละ จามปา ขอม มอญ ละโว้ ล้านนา ล้านช้าง ฯลฯ ซึ่งผ่านการก่อเกิด แผ่ขยาย รุ่งเรือง หลอมรวม กลืนกลาย สลายสูญ สลับทับซ้อนไปมาจนยังสภาพแห่งยุคสมัยที่พวกเราเกิดมาลืมตาเห็นขณะนี้
“หลายชาติสูญสิ้นไปอย่างไร้ร่องรอย และประวัติศาสตร์แสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพียงประการเดียวสำหรับทุก ๆ กรณี นั่นคือ ชาติเหล่านั้นสูญหายเพราะประชาชนไม่เข้มแข็ง” นักปราชญ์โบราณ – รัดยาด คิปลิ่ง กล่าวไว้
มนุษย์ที่เป็นคนผู้อาศัยบนที่ราบสูงภาคอีสานของราชอาณาจักรไทย ได้ต่อสู้ปรับแปงพัฒนาตนมาแล้วในทุกด้าน พวกเรามีทัศนะการมองโลกเข้าใจชีวิต มีวิถีวัฒนธรรม ที่บ่มสร้างมาอย่างอุดมสมบูรณ์
มีคนสรุปนิยามว่า “ตำบักหุ่ง” คือ จิตวิญญาณคนภาคอีสาน จิตวิญญาณแห่งความเรียบง่าย ประหยัด อดออม นอบน้อมแต่ไม่จำนน
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและวิวัฒน์ไปของมวลมนุษย์ คนภาคอีสานและคนไททุกหนแห่งผู้เข้มแข็ง จึงยังยืนหยัดต่อสู้ ศึกษาและส่งทอดอารยธรรมของตน และรังสรรค์สังคมอนาคตอันดีงามได้สืบไป.