เรื่องจากปก ทางอีศาน ๑๕ : กำเนิดข้าวไทย
ภาพปก : ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์
นัยทางวิทยาศาสตร์
มนุษย์เราอาจมองข้ามไปว่า “หญ้า” เป็นพืชพันธุ์ที่มีประโยชน์มหาศาล เป็นอาหารสำคัญในโลกนี้ “ข้าว” เป็นพืชพันธุ์เดียวกับหญ้า และนับเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
“ข้าว” เป็นธัญญาหารหลักของชาวโลกเป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว จัดอยู่ในวงศ์หญ้าสกุลข้าวออไรซา (Oryza) พันธุ์ข้าวที่มนุษย์เพาะปลูกในปัจจุบันพัฒนามาจากข้าวป่าในตระกูล Oryza gramineae สันนิษฐานว่า พืชสกุล Oryza มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland ก่อนผืนดินจะเคลื่อนตัวและเคลื่อนออกจากกันเป็นทวีปต่าง ๆ เมื่อ ๒๓๐ – ๖๐๐ ล้านปีมาแล้วจากนั้นกระจายจากเขตร้อนชื้นของแอฟริกาไปเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ออสเตรเลีย อเมริกากลางและใต้
ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและอบอุ่น มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ ๕๐ องศาเหนือ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึง ๔๐ องศาใต้ในอาร์เจนตินา และสามารถเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลถึง๒,๕๐๐ เมตร หรือมากกว่า และเป็นพืชชนิดเดียวที่เติบโตในบริเวณที่ไม่มีน้ำขัง จนถึงมีน้ำขังลึก ๔ เมตร ปัจจุบันมีข้าวปลูกแพร่กระจายทั่วโลกอย่างน้อย ๒ ชนิด คือ ข้าวปลูกเอเชีย (O. sativa) และข้าวปลูกแอฟริกา (O. glaberrima) ที่เหลืออีก๒๑ ชนิดเป็นข้าวป่า ในจำนวนนี้พบแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย ๕ ชนิด โดยเฉพาะข้าวป่าอายุข้ามปี (O. rufipogon) และข้าวป่าอายุปีเดียว (O.nivara) จัดเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูกเอเชีย
พื้นที่บางส่วนของจีนตอนใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นถิ่นกำเนิด การเจริญพันธุ์ของข้าว และพัฒนาการของการนำข้าวป่ามาเป็นข้าวปลูกได้ดียิ่งกว่าพื้นที่อื่น
หลักฐานโบราณคดีการเพาะปลูกข้าวเก่าแก่ที่สุด บริเวณดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี อายุ ๘,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ปี จากนั้นทางเหนือกระจายขึ้นไปทางเกาหลีและญี่ปุ่น ทางตะวันออกกระจายไปทางไต้หวันแล้วลงสู่หมู่เกาะในแปซิฟิก ทางใต้กระจายลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้าวเอเชียแบ่งออกเป็น ๓ สายพันธุ์
“- ข้าวสายพันธุ์แรก เรียกว่า สายพันธุ์ Senica หรือ Japonica ปลูกบริเวณแม่น้ำเหลืองของจีน แพร่ไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น เป็นข้าวเมล็ดป้อม
– ข้าวสายพันธุ์ที่สอง เรียกว่า Indica เป็นข้าวเมล็ดยาว ปลูกในเขตร้อน แพร่สู่ตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา แหลมมลายู หมู่เกาะต่าง ๆ
– ข้าวสายพันธุ์ที่สาม คือ ข้าวชวา (Javanica) ปลูกในอินโดนีเชีย จากนั้นแพร่ไปยังฟิลิปปินส์
ข้าวเอเชียแพร่เข้าไปในยุโรปและแอฟริกา สู่อเมริกาใต้ อเมริกากลาง เข้าสู่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ โดยนำเมล็ดพันธุ์ไปจากหมู่เกาะมาดากัสกา”
นัยทางโบราณคดี
ในระยะแรกยุคที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตด้วยการเก็บและล่า ข้าวเป็นเพียงอาหารตามฤดูกาล เมื่อข้าวป่าสุกจึงเก็บมาบริโภค เพราะข้าวป่าเมล็ดร่วงง่าย พอลงดินก็กลายเป็นต้นข้าวในฤดูต่อไป ต่อมามนุษย์เฝ้าสังเกตและเรียนรู้ธรรมชาติ จนถึงในยุคหินใหม่มนุษย์จึงเรียนรู้การปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ แทนที่การหาเก็บ ต่อมาเมื่อมนุษย์อยู่รวมเป็นกลุ่ม จึงคิดวิธีปลูกข้าวแบบนาหว่าน แต่ได้ผลผลิตไม่ดีนักเพราะการหว่านไม่สม่ำเสมอ จึงประดิษฐ์ “ไถ” เพื่อแทง หรือไถดินให้ลึก ก่อนจะหว่านเมล็ดข้าวลงไป และต่อจากนั้นก็ทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง
ต้นข้าวป่านั้นมีก้านและใบเดี่ยว แต่ในแหล่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์ที่มีการปลูกข้าว พบว่าข้าวที่ปลูกมีถึง ๕ ก้าน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่มนุษย์มีความเข้าใจต่อข้าวเพิ่มมากขึ้นว่า ถ้ามนุษย์ปลูกข้าวเองจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง ๕ เท่า
เริ่มแรกมนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมหลงชาน ประเทศจีน และวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาจึงเริ่มทำนาหว่านจากหลักฐานในวัฒนธรรมหยางสาว บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง วัฒนธรรมหลงชานประเทศจีน และวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ในปี ๒๕๓๙ S. Toyama แห่งมหาวิทยาลัย Kogakukan ในประเทศญี่ปุ่น ได้พบเมล็ดข้าวโบราณอันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ชนพื้นเมืองจีนภาคใต้แม่น้ำแยงซีเกียง (กลุ่มชนไป่เยวี่ย) เป็นชนกลุ่มแรกที่รู้จักทำนาปลูกข้าวตามบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนกลาง คือ ในมณฑล Hunan และ Hubei เมื่อ ๑๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาวัฒนธรรมข้าวได้แพร่สู่ดินแดนต่าง ๆ ของโลก เช่น ปากีสถานเมื่อ ๔,๒๐๐ ปีก่อน อินเดียเมื่อ ๓,๒๐๐ ปีก่อน ดินแดนญี่ปุ่นเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว และดินแดนไทย (สุวรรณภูมิ) เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปี
แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมข้าวที่มีหลักฐานชัดแจ้งที่สุด อายุไม่ต่ำกว่า ๗,๐๐๐ ปีคือ “แหล่งวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้” ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน หลักฐานที่พบ คือการทับถมของแกลบข้าว เมล็ดข้าว ฟางข้าว ใบข้าว และการนำแกลบข้าวมาเป็นส่วนผสมในเครื่องปั้น ดินเผา และยังพบหลักฐานว่า ชุมชนที่เพาะปลูกข้าวในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ เป็นชาวนาที่อาศัยในบ้านไม้รูปสี่เหลี่ยม เลี้ยงหมู ควาย และสุนัข ปลูกพืชพันธุ์อื่นที่ใช้เป็นอาหารด้วย เช่นน้ำเต้า จากนั้น วัฒนธรรมการปลูกข้าวจึงแพร่กระจายลงสู่จีนตอนใต้ เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ ที่มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) มณฑลกวางตุ้ง เกาะไต้หวัน และเกาะฮ่องกง
การแพร่กระจายของวัฒนธรรมการปลูกข้าวจากตอนใต้ของประเทศจีน มาสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะ ไม่ได้มีเพียงเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือความรู้เรื่องการเพาะปลูกข้าวเท่านั้นแต่ยังให้อิทธิพลต่อรูปแบบของการทำเครื่องไม้เครื่องมือในการเพาะปลูกข้าว และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นภาชนะหุงต้มข้าวอีกด้วย
ข้าวพบที่เหอหมู่ตู้หลิงหลิงโอ พบที่ดอนตาเพชร เป็นสัญลักษณ์ที่พัฒนาสืบทอดจากวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ (ดูภาพล่าง)เครื่องมือหิน พบที่เหอหมู่ตู้ลวดลายบนเครื่องหินดังกล่าว
ตำนานข้าวของคนตระกูลภาษาไท-กะได
ในกวางสี ชนชาติจ้วง (ตระกูลภาษาไท-กะได) และอีกบางชนชาติ เช่นลีซอ มีนิทานว่าหมาเก้าหางเป็นผู้นำเมล็ดข้าวมาให้คน
ทองแถม นาถจำนง แปลนิทานเรื่อง หมาเก้าหาง จากหนังสือ “เสินกงเป่าเจี้ยน – ธนูเทพกระบี่วิเศษ” (รวมนิทานของชาวจ้วง) สำนักพิมพ์ “จงกั๋วหมินเจียนเหวินอี้ชูป่านเส้อ” นครปักกิ่ง ค.ศ.๑๙๘๕ ไว้ดังนี้
ภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม จ.นครราชสีมา ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีรูปหมาประกอบอยู่กับคนใน ภาพที่วาดขึ้นเนื่องในพิธีกรรมยุคโบราณ
หมาเก้าหาง
เมื่อผู้คนมี “ไฟ” ใช้หุงต้มอาหาร สุขภาพร่างกายจึงแข็งแรงขึ้นมาก และเมื่อละเลิกขนบการกินเนื้อคนแก่แล้ว สัตว์ที่จะกินเป็นอาหารก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่พอจะกินกัน ผู้คนจึงไปปรึกษา ‘ผู้หลวกทั่ว’ (ปู้ลัวทัว) อีก
ผู้หลวกทั่วจึงสั่งให้หมาเก้าหางขึ้นไปขโมยพันธุ์ข้าวบนฟ้า
หมาเก้าหางขึ้นไปถึงฟ้าเห็นตัวเปี๊ยะหรือเทพแห่งฟ้าผ่า (ภาษาจ้วงเขียนว่า duzbyaj ตูเปี๊ยะ ตัว z กับ j เป็นตัวบอกเสียงวรรณยุกต์) กำลังเก็บเกี่ยวข้าว กองเมล็ดข้าวไว้เป็นกองใหญ่ ๆ หลายกอง หมาเก้าหางจึงเข้าไปกลิ้งเกลือกตัวบนกองข้าวนั้น เมล็ดข้าวติดกับขนและหางของหมามาจำนวนมาก
คนบนฟ้าเห็นหมาเก้าหางจึงแจ้งแก่ตัวเปี๊ยะ ตัวเปี๊ยะวิ่งมาจะฆ่าหมาเก้าหาง หมาเก้าหางกระโดดหนี รีบวิ่งไป ๆ เมล็ดข้าวที่ติดขนตามตัวมาร่วงหล่นไปหมด เหลือแต่เมล็ดข้าวที่ติดอยู่กับหาง แต่ตัวเปี๊ยะก็ไม่ยอมละลดยังไล่ติดตามต่อไป ตัวเปี๊ยะวิ่งตามไม่ทันจึงใช้ขวานขว้างใส่หมาเก้าหาง ขว้างไปครั้งแรกถูกหางหมาเก้าหางขาดไปหางหนึ่ง ตัวฟ้าขว้างขวานไปแปดครั้ง ถูกหางหมาเก้าหางขาดไปแปดหาง แต่หมาเก้าหางก็รอดตายมาได้ โดยเหลือหางเพียงหนึ่งหาง และมีเมล็ดข้าวติดหางนั้นมาด้วย ผู้หลวกทั่วนำเอาเมล็ดข้าวนั้นเพาะลงในโคลน แล้วให้หมากับหมูไปไถนา
หมูใช้ปากไถดินอย่างขยันขันแข็ง ส่วนหมานึกว่าตนได้นำเอาเมล็ดข้าวมาให้คน มีความดีความชอบมากแล้วจึงไม่ยอมไปไถดิน หมูไถดินจนเสร็จแล้วก็ไปพักผ่อน หมาจึงไปวิ่งวนทิ้งรอยเท้าไว้ในแปลงที่ไถนั้น
เมื่อผู้หลวกทั่วไปตรวจแปลงไถ ถามว่าใครเป็นผู้ไถดิน หมูบอกว่า ข้าเป็นผู้ไถ หมาก็ว่า หมาเป็นผู้ไถ ผู้หลวกทั่วบอกให้พูดความจริง แต่ทั้งหมูและหมาต่างยืนยันว่ามันเป็นผู้ไถ ผู้หลวกทั่วถามว่ามีอะไรเป็นพยานหลักฐานไหม หมาบอกว่ามีรอยเท้า ผู้คนไปดูก็เห็นรอยเท้าหมาจริง ๆ
ฝ่ายหมูไม่ยอม ยื่นจมูกไปให้ผู้หลวกทั่วดู เห็นมีเศษดินโคลนติดจมูกจริง ๆ ฝ่ายหมาจึงโกรธ ใช้อุ้งเท้าตบปากหมูไปหนึ่งฉาด เดิมทีปลายปากหมูนั้นแหลม เมื่อถูกหมาตบจึงบี้แบน
ผู้หลวกทั่วเห็นหมูซื่อตรง จึงดุด่าหมาว่า ต่อไปนี้เมื่อมีข้าวไว้กินแล้ว ให้ผู้คนแบ่งให้หมูกินได้ส่วนหมาขี้โกง อย่าให้มันกินข้าว ให้มันกินแต่ขี้คนนับแต่นั้นหมาจึงกินแต่ขี้ หางทั้งแปดที่ถูกขวานตัดขาดก็ไม่งอกออกมาอีก
ส่วนข้าวนั้น ติดมากับหางหมา รวงข้าวที่ออกมาจึงรูปร่างเหมือนหางหมา
เว็บไซต์ “สุวรรณภูมิสโมสร” มีเรื่อง “‘หมา’ ในตำนาน นิทาน ความเชื่อ” ดังต่อไปนี้
ภาพพิธีกรรม บนผาลาย กวางสีภาพหมาแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏบนผาลาย กวางสีภาพมโหระทึกแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏบนผาลาย กวางสี
‘หมา’ ในตำนาน นิทาน ความเชื่อ
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับหมาไว้ในบทความและหนังสือมากมาย ว่าได้รับการยกย่องเป็นสัตว์บูชายัญและนับถือกันตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เรื่องดังกล่าวเป็นเพราะมีภาพเขียนสียุคโบราณบนผนัง หรือเพิงผาแถบอีสานของประเทศไทย ไปจนถึงมณฑลกวางสีในจีน ที่สงสัยกันว่ารูปหมาที่เขียนแสดงปะปนอยู่กับภาพมนุษย์นั้นสะท้อนทัศนะความเชื่อของกลุ่มชนเจ้าของภาพนั้นว่าอย่างไร
ในหนังสือ ‘คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์’ ของคุณสุจิตต์ กล่าวว่า มีหลายชนชาติในสมัยโบราณที่บูชาหมา ทั้งการฝังศพหมาพร้อมกับคนที่พบในสมัยราชวงศ์ซางทางภาคกลางของจีน การเซ่นสังเวยหมา และการเคารพยกย่องหมาของชาวเยวี่ยโบราณ รวมทั้งการกินเนื้อหมาเพราะยกย่องและเพิ่มพลัง
ชาว “จ้วง” ทางตอนใต้ของจีน แถบยูนนานกวางตุ้ง กวางสี ที่ในเอกสารจีนเรียกว่า “ไป่เยวี่ย” หมายถึง เยวี่ยร้อยจำพวก พี่น้องเครือญาติคนไทในสุวรรณภูมิ ที่สืบเสาะเอาได้จากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง “หมา” ที่ว่านี้ด้วยเรื่องความเชื่อถือเกี่ยวกับหมาของกลุ่มชนชาวจ้วง เป็นต้นว่า
ในการเผาหินปูนเพื่อเอามาเป็นปุ๋ยของชาวจ้วง ก่อนจะเริ่มงานต้องฆ่าหมาไหว้เจ้าภูเขา เพื่อขอให้งานสำเร็จ อย่าให้มีอุปสรรค พอเสร็จพิธีไหว้ก็จะจัดงานกินอาหารร่วมกันที่ข้างเตาเผาเป็นประเพณีชาวปู้ไย่ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของจ้วง ในมณฑลยูนนาน ก็พลีกรรมแก่ผี ด้วยเครื่องเซ่นตามที่ผีต้องการ อาจเป็นไก่ หมู รวมทั้ง “หมา” ด้วยเช่นกัน
ชาวจ้วงแถบหลงโจว ในมณฑลกวางสี ไทใต้คง ปู้ยี (ในจีน) ชาวเขาเผ่ามูเซอ (ที่จังหวัดตาก) ชาวเขาเผ่าลีซอ มีนิทานที่เล่าถึงหมาเป็นผู้นำข้าวมาให้มนุษย์ ซึ่งมีโครงเรื่องหลักคล้ายคลึงกันว่าบนโลกมนุษย์เดิมไม่มีข้าว มีหมา ๙ หางตัวหนึ่งไปขโมยพันธุ์ข้าวบนฟ้า โดยเอาหางไปจุ่มเมล็ดข้าวมนุษย์ได้พันธุ์ข้าวที่ติดมากับหาง หรือขนหมา มาปลูกกิน หมาจึงมีบุญคุณแก่มนุษย์
เรื่องดังกล่าวนี้คงเป็นที่เชื่อถือกันในชาวจ้วงหลายกลุ่ม เพราะในพิธีกินข้าวใหม่ทุกปีของชาวลีซอ หลังจากไหว้ผีแล้ว จะเอาข้าวใหม่และเนื้อที่ปรุงในพิธี ส่งให้หมากินก่อน เช่นเดียวกับชาวไทใต้คง ในยูนนานก็ให้หมากินข้าวใหม่ ในวันสุนัข เดือนอ้าย ส่วนชาวปู้ไต่ ในจังหวัดเหวินซาน มณฑลยูนนาน พอถึงเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีประเพณีหุงข้าวให้หมากินเพราะเชื่อกันว่าหมาเป็นผู้นำพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์
ชาวจ้วงแถบอำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสียังมีผู้คนกราบไหว้สุนัขมาจนทุกวันนี้ ตามถนนเข้าหมู่บ้านหรือปากทางเข้าหมู่บ้านมักตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ ในช่วงเทศกาลผู้คนก็จะไปปักธูปวางกระดาษเงินทองที่หมาหินนี้ เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งเลวร้าย และดูแลความร่มเย็นของหมู่บ้าน
บทบาทของ “หมา” ในยุคโบราณจึงไม่ใช่แค่เพื่อนเล่นแก้เหงาอย่างในปัจจุบัน แต่มีความสำคัญต่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งในฐานะเป็นผู้นำข้าวมาให้รู้จักปลูกกิน และมีพลังหรือความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะยกย่องเป็นเครื่องสังเวยบูชา ที่สะท้อนออกมาในงานศิลปกรรม และพิธีกรรมในทัศนะความเชื่อร่วมกันของกลุ่มชนที่เป็นเครือญาติเดียวกันนั่นเอง”
สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังเขียนไว้ในเรื่อง “หมา ปีจอ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ของคนในสุวรรณภูมิ เมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว” มติชน วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙” ว่า
“คนในสุวรรณภูมิเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ยกย่องหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มี ๙ หาง เอาพันธุ์ข้าวจากเมืองฟ้า ลงมาให้มนุษย์ปลูกกินเป็นอาหารมีคำบอกเล่าของชาวจ้วง อำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี มีความว่า แต่ก่อนคนเรายังโง่ ยังไม่มีข้าวกิน เพราะไม่รู้จักและไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ครั้งนั้นมีหมา ๙ หางตัวหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์แล้วเอาหางทั้ง ๙ จุ่มลงไปในกองข้าวของสวรรค์เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ พันธุ์ข้าวสวรรค์ก็ติดที่หางทั้ง ๙ แล้วหนีมา แต่เทวดาเห็นก่อนจึงไล่ตาม แล้วใช้เทพอาวุธฟาดฟันหมาที่ขโมยพันธุ์ข้าวเทพอาวุธฟาดถูกหางขาดไป ๘ หาง หมาจึงเหลือหางเดียว พร้อมพันธุ์ข้าวที่ติดหางมาให้มนุษย์
นับแต่นั้นมามนุษย์ก็ปลูกข้าวกิน แล้วยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษที่ทำคุณแก่มนุษย์ ทุกวันนี้ชาวจ้วงบางกลุ่มยังตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ตรงทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อวันตรุษ – วันสารทก็พากันมาตั้งเครื่องเซ่นสรวงสังเวย “หมาหิน” เพื่อขอให้เป็นผู้คุ้มครองชุมชน และขอให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย กลุ่มชนบางพวกบนที่สูงยกย่องหมาเป็นสัตว์บูชายัญใช้หมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเรือน แล้วตัวเองก็กินหมาเป็นอาหารด้วย ปัจจุบันชาวจ้วงส่วนมากกินหมาเป็นอาหาร ถือเป็นอาหารดีวิเศษสุดทีเดียว เมื่อมีแขกไปใครมาเยี่ยมเยือนก็ต้องปรุงหมาขึ้นโต๊ะไว้ต้อนรับขับสู้ คำบอกเล่าเรื่องหมาเก้าหางของชาวจ้วงที่กวางสี เมื่อเทียบกับรูปเขียนที่ผาลาย มีรูปหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย แสดงว่าความเชื่อนี้มีอายุไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากนั้นก็แพร่กระจายมาถึงบริเวณสองฝั่งโขง จนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เพราะมีลายเส้นรูปหมาบนเพิงผาและผนังถ้ำหลายแห่ง เช่น ที่อำเภอสีคิ้ว (นครราชสีมา) ที่อำเภอลานสัก (อุทัยธานี) นอกจากนั้นยังมีชื่อเทือกเขาว่าภูเก้า หลายแห่งซึ่งหมายถึง (หมา) เก้าหาง ที่ลงมาจากฟ้า (สวรรค์) นั่นเอง”
หลักฐานทางโบราณคดี ในกวางสีเกี่ยวกับการบูชานับถือหมานั้นชัดเจนมาก ในภาพวาดบนหน้าผา ที่ฮัวซาน (ภาษาจ้วงเรียก “ผาลาย”) กวางสี เป็นภาพการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนทำนา
องค์ประกอบหลักในภาพที่ขาดไม่ได้คือหมอผีหรือหัวหน้าเผ่าผู้ประกอบพิธี (สื่อสารกับโลกวิญญาณ) คาดกระบี่ (ด้ามจับส่วนปลายสุดเป็นรูปวงกลม), กลองมโหระทึก, คนหมอบไหว้ในท่าเหมือนกบ และหมาหนึ่งตัว
สำหรับการนับถือบูชาหมาในสุวรรณภูมิเลือนจางและถูกแปลงสาส์นไปมากแล้ว
ที่ว่าแปลงสาส์นก็คือการถูกบวชให้เป็นเรื่องของแขกทางพุทธทางพราหมณ์ไปหมด ตำนานกำเนิดข้าวก็กลายเป็นเรื่องแม่โพสพ โยงกับพระพุทธเจ้าในอดีต เรื่องคุณูปการของหมาเก้าหาง ก็ถูกแปลงเป็น “สิงมอม”
“หมา” ดูไม่มีฤทธิ์น่าเคารพ จึงแปลงเป็นสิงห์ + หมา บวกกับลักษณะสัตว์อื่น ๆ อีกสามชนิด กลายเป็นสัตว์พาหนะของเทวบุตรผู้ควบคุมฝน เรียกว่า ‘ตัวมอม’
หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ให้แห่ “ตัวมอม” (มีหลักฐานที่พิพิธภัณฑ์เชียงแสน) และสวดคาถาปลาค่อ (ปลาช่อน) ขอฝน
มอมในภาษาจ้วง แปลว่า หนวด
คำว่า มอม คนไทยนึกถึง “มอมแมม” (สกปรก) กับ “มอม”- หมา
เรื่องของ “ตัวมอม”, ลวดลาย “สิงมอม” (ขุนเจืองใส่เสื้อลาย “สิงมอม”), ลายสักเหนือหัวเข่าของคนไทใหญ่ (กุลา) ไทเมืองน่าน (รูปปู่ม่านย่าม่านกระซิบรัก) ไทอีสาน (ปรากฏว่าช่างสักมักเป็นคนกุลา), ตัวมอมตามฐานบันไดเข้าโบสถ์ ฯลฯ
เป็นเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง “ทางอีศาน” จะนำเสนอในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
ประวัติข้าวไทย
ข้าวในสมัยโบราณนั้น คำว่า “ข้าว” เรียกว่า “เข้า” บางสำเนียงท้องถิ่นชาวอีสานก็ออกเสียงว่า “เค้า” หรือ “เข่า” ตามหลักฐานทางวัฒนธรรมนั้น ข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่ง เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเก่าแก่ของคนไทย แต่ข้าวเจ้าเป็นพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศ ที่ชนชั้นสูงรับเข้ามาเพื่อปลูกบริโภคในภายหลัง จนเป็นที่นิยมมากกว่าข้าวเหนียวในปัจจุบัน
ข้าวของไทยเป็นพืชอาหารประจำชาติที่มีตำนานประวัติศาสตร์มายาวนาน ปรากฏเป็นร่องรอยพร้อมกับอารยธรรมไทยมาไม่น้อยกว่า ๕,๕๐๐ ปี มีหลักฐานจากแกลบข้าวที่เป็นส่วนผสมของดิน ใช้เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง อำเภอโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง อันสันนิษฐานได้ว่าเป็นเมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทยรวมทั้งยังพบหลักฐานเมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยแกลบข้าวที่พบนี้มีลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามในที่สูง
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบข้าวบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบชายฝั่งทะเล
รวมทั้งยังพบหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ ๒,๘๐๐ ปี ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น
ภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุประมาณ ๖,๐๐๐ ปี ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะคล้ายบันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนข้าว ภาพควาย แปลงพืชคล้ายข้าว แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้รู้จักการเพาะปลูกข้าวเป็นอย่างดีแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นสามคน คือ Tayada Natabe, Tomoya Akihama และ Osamu Kinosgita แห่งมหาวิทยาลัย Tottri และกระทรวงเกษตรและกรมป่าไม้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทย ดูแกลบจากแผ่นอิฐโบราณจากโบราณสถาน ๑๐๘ แห่งใน ๓๙ จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การปลูกข้าวในไทยมีมานานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ โดยข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเหนียวนาสวนเมล็ดป้อมและข้าวเหนียวไร่เมล็ดใหญ่ ต่อมาการปลูกข้าวเหนียวไร่น้อยลง แล้วเริ่มมีการปลูกข้าวนาสวนเมล็ดเรียวเพิ่มขึ้น การศึกษาวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๒๐ มีข้าวชนิดต่าง ๆ จำนวน ๓ ขนาด คือ ข้าวเมล็ดใหญ่ ได้แก่ ข้าวเหนียวที่งอกงามในที่สูง ข้าวเมล็ดป้อม ได้แก่ ข้าวเหนียวที่งอกงามในที่ลุ่ม (ทั้งสองชนิดมีการเพาะปลูกก่อนสมัยทวารวดี – พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๖) และเมล็ดข้าวเรียว ได้แก่ ข้าวเจ้า พบในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘) ซึ่งข้าวแต่ละชนิดพบมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามระยะเวลาประมาณ พ.ศ. ๕๔๐ – ๕๗๐ ไทยได้รับอิทธิพลด้านกสิกรรมและการค้าจากจีน ซึ่งคาดว่ามาตามลำน้ำโขง สู่ดินแดนอีสานตอนล่าง ที่นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่กันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับภาคกลางในยุคทวารวดี ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวขึ้นแล้ว สันนิษฐานว่านำมาจากอาณาจักรขอมซึ่งในยุคนั้นถือว่า เป็นชนชั้นปกครอง
ข้าวที่มีในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มี ๓ ชนิด คือ เมล็ดป้อม เมล็ดใหญ่ และเมล็ดเรียว โดยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์มีการปลูกข้าว ดังนี้
๑. สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) มีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่
๒. สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคใต้ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และข้าวเจ้า
๓. สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมปลูกข้าวเจ้า ข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ ในภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและข้าวเจ้า
๔. สมัยเชียงแสนและล้านนา (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๒๓) อาณาจักรมีความรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณภาคเหนือ นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาว ปลูกข้าวเจ้าน้อยกว่าข้าวเหนียว
๕. สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐) อาณาจักรมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม ข้าวเหนียวเมล็ดยาวบ้าง และเริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น
๖. สมัยอยุธยา ระยะแรกปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก ซึ่งน่าจะเป็นข้าวเหนียวที่ปลูกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากในช่วงปลายสมัยอยุธยา
๗. สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวอย่างที่ปลูกในปัจจุบัน ส่วนข้าวเหนียวเมล็ดป้อมพบว่าปลูกกันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ