เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถี (ตอน 2 ) รักษาวิถีเพื่อประเพณีอันดีงาม
เสน่ห์อีสานบ้านสาวะถีตอนแรกได้ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้ว โดยได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นชุมชนโบราณผ่านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของคนในชุมชน โดยมีบุคคลสำคัญคือพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ที่เป็นผู้มองเห็นปัญหาและนำเอาฮีตคองประเพณีอีสานมาใช้ในการพัฒนา และหล่อหลอมหัวใจคนในชุมชนให้รักกัน สามัคคีกัน จนนำไปสู่ชุมชนวิถีวัฒนธรรมที่ฟื้นฟูงานประเพณีตามฮีต 12 มาสานต่อจนเป็นที่สนใจและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในเมืองทั้งเมืองขอนแก่นและใกล้เคียง รวมถึงให้คนในมอ คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้มาเรียนรู้ไม่ขาดสาย
สำหรับตอนที่ 2 นี้ขอเล่าเสน่ห์ของหมู่บ้านนี้ในมิติของการ “รักษา” ที่คนในชุมชนร่วมใจกันในการรักษาสิ่งดี ๆ เอาไว้ให้ลูกหลานและผู้สนใจได้เข้าไปเรียนรู้ โดยเฉพาะประเพณีที่ทำให้กลายเป็นจุดสนใจและเป็นที่รู้จักกันนั่นคือ ประเพณีบุญเดือน 3 และบุญเดือน 5 ที่กลายเป็นหัวใจของคนที่นี่
ประเพณีเดือน 3 บุญข้าวจี่หลายพื้นที่หดหายจากไปนานแล้ว มีให้เห็นอยู่บางหมู่บ้านเท่านั้น แต่ที่หมู่บ้านสาวะถีแห่งนี้ยังรักษาเอาไว้ โดยก่อนโควิด-19 จะมาเยือน บุญข้าวจี่ของวัดไชยศรี คือหมุดหมายที่นักศึกษาและเหล่านักวิชาการ ได้มาเรียนรู้ โดยเริ่มต้นเมื่อ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสมัยนั้น ได้นำพานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาเรียนรู้ประเพณีบุญข้าวจี่ที่เริ่มจะไม่มีให้เห็น ด้วยการพามานอนค้างคืนที่วัดไชยศรี ก่อนจะตื่นเช้าตี 4 เพื่อจี่ข้าวใส่บาตรพระ โดยการจี่ข้าวนั้นชาวชุมชนจะเข็นรถสาลี่หรือรถเข็นน้ำ นำเอาเตาไฟ ถ่าน ข้าวเหนียว ไข่ไก่ และอุปกรณ์สำหรับการจี่ข้าวเดินทางมารวมตัวกันที่ลานในวัด โดยจัดเรียงเป็นแถวสวยงาม จากนั้นบรรดานักศึกษาที่นอนค้างคืนรอร่วมบรรยากาศการจี่ข้าวก็จะตื่นขึ้นมาและร่วมการจี่ข้าวกับชาวชุมชน
ในระหว่างจี่ข้าวก็จะมีการขับกล่อมสร้างความเพลิดเพลินบันเทิงใจด้วยการฟังหมอลำและการแสดงของชุมชน โดยหมู่บ้านนี้ถือเป็นหมู่บ้านหมอลำตั้งแต่สมัยก่อน และมีหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนี้คือหมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์
โดยหากพูดถึงหมอลำแล้วละก็ หมู่บ้านสาวะถีแห่งนี้เป็นหมู่บ้านต้นกำเนิดหมอลำ รู้จักกันตั้งแต่สมัยกบฏผีบุญ หรือกบฏผู้มีบุญ นั่นคือ หมอลำโสภา พลตรี ตามประวัติบอกว่า นายโสภา พลตรี หรือ หมอลำโสภา พลตรี เกิดเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ที่บ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หมอลำโสภาเป็นลูกชาวนา เรียนหนังสือจากวัด ซึ่งสอนโดยพระภิกษุ สามารถอ่านตัวธรรม ตัวขอมได้ หมอลำโสภาเป็นคนที่มีความจำดี สามารถจดจำคัมภีร์ต่าง ๆ ได้มากมาย รู้พิธีกรรมบวงสรวงต่าง ๆ เรียนวิชาหมอลำ จนเป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงในแถบตำบลสาวะถีและตำบลใกล้เคียง
หมอลำโสภา พลตรี เป็นบุคคลสำคัญของบ้านสาวะถี เพราะเคยเป็นแกนนำของกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็น กบฏ หมอลำโสภาไม่ได้เป็นกบฏที่ต้องการล้มการปกครองของรัฐบาลหรือผู้ใด แต่เหตุที่ท่านต้องโทษในข้อหากบฏเพียงเพราะท่านปราศรัย และมักจะต่อต้านการขูดรีดภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายการห้ามตัดไม้ รวมถึงการยกเลิกการเรียนการสอนในวัดและสอนภาษาไทยแทนอักษรธรรม หมอลำโสภามักจะปราศรัยผ่านการร้องหมอลำ ซึ่งชาวบ้านก็ชื่นชมในความกล้า และสนับสนุนอยู่ไม่น้อย
แม้ว่าหมอลำโสภาจะเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่ชาวบ้านในตำบลสาวะถีและตำบลใกล้เคียง ก็ยังนับถือและเล่าถึงด้วยความศรัทธา หมอลำโสภาเป็นนักพยากรณ์ ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้อง ตอนทำนายชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคำทำนายก็ค่อย ๆ เป็นจริง เช่น
“ม้าซิโป่งเขา” คือรถจักรยานยนต์ “เสาซิออกดอก” คือเสาไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า “โบกกุมภัณฑ์” คือสลากกินแบ่งรัฐบาล “กระดาษน้อยสองนิ้วใครก็ซื้อได้” คือหวยเถื่อน เป็นต้น
และทุกวันนี้ หมู่บ้าน “สาวะถี” ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหมอลำของจังหวัดขอนแก่น เพราะมีหมอลำและคณะหมอลำเกิดขึ้นที่นี่หลายคนหลายคณะ มีพ่อครูแม่ครูหมอลำที่ได้ชื่อว่าเป็นรากฐานของหมอลำพื้นเมืองของแก่นหลายท่าน อาทิ หมอลำแซ่ง นามคันที (แสงอรุณ) หมอลำประสงค์ เหลาหา หมอลำปั่น (ไม่ทราบนามสกุล) หมอลำบัว คำมี (แก้ววิเศษ) และมีรุ่นลูกศิษย์อย่าง หมอลำสมจิตร ศรีกวนชา หมอลำคำนาง เจ็กมา รวมถึงหมอลำระเบียบ – ดวงจันทร์ พลล้ำ โดยเฉพาะหมอลำระเบียบ พลล้ำ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคณะหมอลำ “ระเบียบวาทะศิลป์” ให้กลายเป็นคณะหมอลำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ ซึ่งก็มีรากฐานมาจากฐานสังคมวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชุมชนบ้านสาวะถี (อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือถิ่นฐานบ้านสาวะถี ในงานบุญกฐิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
เพื่อฟื้นฟูมรดกหมอลำแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ พระครูบุญชยากรได้มีดำริให้มีการสืบสานหมอลำแบบดั้งเดิมให้คงอยู่คู่สาวะถี จึงได้นำหมอลำยุคเก่าที่ปลดเกษียณแล้วมารวมตัวตั้งเป็นคณะ “หมอลำพันปี” เพื่อการอนุรักษ์ และเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ หมอลำพันปี เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ จากการที่ นายวิรัตน์ ศรศักดา ได้นำเครื่องเสียงไปเปิดในงานบุญแจกข้าว (บุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ) ในหมู่บ้าน ได้เห็นคุณพ่อ – คุณแม่ซึ่งเป็นผู้สูงวัย ที่เคยเป็นหมอลำในอดีต ออกมาร้องลำเล่นกัน เกิดความรู้สึกว่าไพเราะและสนุกสนานมาก และสังเกตเห็นว่าแต่ละท่านล้วนมีความสุขเมื่อได้มาร้องมาลำร่วมกัน ซึ่งท่านเหล่านี้หลังจากเลิกร้างจากการเป็นหมอลำแล้วก็มาใช้ชีวิตปกติอยู่กับบ้าน บางคนก็ดูแลลูกหลาน ไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถดังแต่ก่อน
ในขณะเดียวกัน โรงเรียนบ้านสาวะถียังได้นำกิจกรรมหมอลำเข้าไปบรรจุเป็นกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยการตั้งคณะ “หมอลำสินไซน้อยร้อยปี” เพื่อการสืบสานและต่อยอดให้หมอลำสาวะถีได้เชื่อมโยงสู่จิตใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ ชุมชนสาวะถีจึงยังคงความเป็นพื้นที่หมอลำที่ยังมีชีวิต มีลมหายใจ สมดังคำกล่าวที่ว่า สาวะถีดินแดนหมอลำเมืองขอนแก่น อย่างแท้จริง
หมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปี เป็นกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยร่วมกับเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสานได้เข้ามาหนุนเสริม ให้การอบรมผ่านโครงการสินไซโมเดล และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ได้ให้งบสนับสนุนชุมชนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หมู่ที่ ๘ วัดไชยศรี จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ในเงินจำนวนนี้ ทางวัดไชยศรี โดยท่านพระครูบุญชญากร เจ้าอาวาส ได้มอบให้กับทางโรงเรียนเพื่อนำมาพัฒนาหมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปี รูปแบบการแสดงหมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปี ได้มีการประยุกต์เอาการเชิดหุ่นกระติบข้าว มาผนวกกับการลำทำนองสินไซ โดยมีผู้ฝึกสอนในตอนแรกคือครูเซียง หรือ ปรีชา การุณ ศิลปินอีสานผู้นำเอามรดกภูมิปัญญามาต่อยอดจนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ เพื่อจะได้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมมากขึ้น และยังเป็นการนำของเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นหุ่น เข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหนุนเสริมโดยนายวรศิลป์ นิลเขต ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบหมอลำหุ่นคือ นางนงนุช ศิริภูมิ
การจี่ข้าวที่มีหมอลำมาขับกล่อมช่างเป็นความสุขอย่างยิ่ง ข้าวจี่ส่วนใหญ่จะเน้นวิถีเดิมคือไม่ใส่น้ำตาล บางคนเอาน้ำอ้อยยัดไส้ บางคนเอาปลาร้าบองยัดไส้เพื่อเพิ่มความอร่อย พอจี่ข้าวเสร็จก็เป็นเวลารุ่งสางทุกคนเตรียมพร้อมนำข้าวจี่ตัวเองไว้ใส่บาตรให้พระ ในการใส่บาตรทุกคนจะยืนพร้อมเพรียงเป็นแถวยาวเหยียดเพื่อรอใส่บาตร หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส การรักษาประเพณีบุญข้าวจี่ของหมู่บ้านนี้ทำให้หลายคนหลงเสน่ห์และรอเวลามาเยือนอย่างใจจดใจจ่อ
จากประเพณีบุญเดือน 3 ข้าวจี่ก็สู่ประเพณีบุญเดือน 4 บุญผะเหวด ซึ่งก็ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ มีการไปอัญเชิญผะเหวดหรือผ้าผะเหวดนอกชุมชนก่อนจะแห่เข้ามาในชุมชน แม้จะไม่ได้จัดยิ่งใหญ่เหมือนหลายที่แต่ก็ยังรักษาประเพณีเอาไว้ มีชาวชุมชนมาร่วมอย่างคับคั่ง
ส่วนประเพณีที่เป็นที่รู้จักและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุเอาไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของภาคอีสาน นั่นคือประเพณีบุญเดือน 5 บุญสงกรานต์ที่ชาวชุมชนสาวะถีได้รักษาเอาไว้ด้วยเป็นงานสงกรานต์แบบดั้งเดิม ที่ไม่เน้นสนุกสนาน แต่เน้นกิจกรรมแบบเก่าที่มีการขนทรายเข้าวัด และการเสียเคราะห์ ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยออกไป จนกลายเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวปักหมุดมาเยือนเพื่อหวังไล่โรคเคราะห์ร้ายออกไป และปีนี้ก็เช่นกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 13-15 เมษายน ที่วัดไชยศรีมีกิจกรรม ประเพณีสงกรานต์แบบย้อนยุคที่หลายคนมาเยือนและมาร่วม เพื่อหวังเป็นการเริ่มต้นปีใหม่แบบไทย ๆ ทั้งการขนทรายเข้าวัด การก่อเจดีย์ทราย การทำกระทงเสียเคราะห์ ที่มีนักท่องเที่ยวโดยการเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ที่ประชาสัมพันธ์ให้คนมาร่วมกิจกรรม โดยมีชาวชุมชนให้การต้อนรับ ทั้งการทำกระทงเสียเคราะห์ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมพิธี และในวันที่ 14 เมษายน ก็มีการตักบาตรหน้าสิมอิ่มบุญ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมฉลองสักราชใหม่แบบไทยเดิม ซึ่งชาวชุมชนยังรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี
และนี่เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อีสานแบบบ้านสาวะถี ที่ทำให้มีคนสนใจมาเยือนอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวชุมชนได้ร่วมรักษาประเพณีอันดีงามเอาไว้ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นคอยผลักดันร่วมด้วยอีกแรงหนึ่ง