เสียงจิ้งหรีด กลิ่นข้าวปุ้น และกรุ่นควันปืน

เสียงจิ้งหรีด กลิ่นข้าวปุ้น และกรุ่นควันปืน

ทางอีศาน ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: เฮาอยู่ยะลา
Column: Esan natives in Yala
ผู้เขียน: สฤษดิ์ ผาอาจ : เรื่องและภาพ

หากพิจารณาถึงลักษณะพิเศษของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าพวกเขามีสถานภาพเป็นชนกลุ่มน้อยที่ดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยซ้อนทับกันสามชั้น นั่นคือในระดับพื้นที่ ชาวมลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นชนกลุ่มใหญ่ชาวไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย ชั้นที่สอง ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทยและในชั้นที่สาม ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์ ลักษณะเช่นนี้ นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์อย่าง เกษียร เตชะพีระ(๒๕๕๐) ชี้ว่า ทำให้สถานการณ์ความเป็นชนกลุ่มน้อยโดดเด่นขึ้นมา และกดดันให้ทุกคนต้องคิดเผื่อคนอื่น แต่หากจะมองในมุมของนักวิชาการทางด้านมนุษยวิทยาก็ชวนให้คิดถึงแนวคิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ที่ว่าด้วยการปรับตัว การผสมกลมกลืน การบูรณาการ และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

“เฮาอยู่ยะลา” ฉบับนี้เริ่มต้นด้วยมาดแบบขรึม ๆ ใส่สูท ผูกเนคไท ใส่แว่นสายตามาบรรยายอย่ากระนั้นเลย ถอดสูท ใส่ยีนส์ เสื้อยืด มานั่งเว้าให้ฟังคือเก่าดีกั่วเนาะ

เลยใจกลางเมืองยะลาออกไปนอกเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางสู่อำเภอรามันและอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี สองข้างทางจะเรียงรายไปด้วยโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยางโรงงานน้ำยางอัดแท่ง โรงงานเหล่านี้มีพี่น้องหมู่เฮาชาวอีสานกระจัดกระจายขายแรงอยู่ทุกโรง

ฟ้าหมาดฝนหม่นแดดก่อนเที่ยงวันนั้นผมเลี้ยวรถเข้าไปใน “โรงงานอุตสาหกรรมน้ำยาง ยะลา จำกัด” ผมเคยมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนก่อน ครั้งนี้จึงเปิดกระจกยิ้มบอกยามที่เฝ้าประตูโรงงานเพื่อความสะดวกโยธินว่า “สิเข้าไปหาซื้อจิ๊หรีดเด้อ”

ยามหน้าตาซีดเซียวเหมือนคนขวัญเสียมาหมาด ๆ พยักหน้าหงึก ๆ แล้วยกคันกั้นให้รถผมเคลื่อนเข้าไป

โรงงานแห่งนี้รับซื้อน้ำยางมาอัดแท่งแล้วส่งออกต่างประเทศ อาคารโรงงานหลังโอ่โถงขนาบด้วยบ้านพักคนงาน สวนยางพารา และสวนผลไม้ผมขับรถอ้อมอาคารโรงงานไปจอดไว้ที่ด้านหลังแล้วเดินเข้าไปภายในอาคาร เครื่องยนต์กลไกเพื่อเร่งบ่มน้ำยาง บีบ อัด และตัดแต่งแท่งยางครางดังกระหึ่ม คนงานกำลังลำเลียงยางอัดแท่งจากสายพานบรรจุลงในลังใบใหญ่ ผมยิ้มให้พี่น้องหมู่เฮาแล้วกดชัตเตอร์เก็บบรรยากาศ พลางเดินไป “เว้าลาว” กับพวกเขา ช่วงนี้หน้าฝน วัตถุดิบคือน้ำยางที่จะป้อนเข้าโรงงานจึงมีน้อย และเมื่อเวลาประมาณสิบนาฬิกาครึ่งทุกอย่างก็เงียบลง และเป็นเวลาที่พวกเราได้นั่งล้อมวงคุยกัน

พี่น้องหมู่เฮาส่วนใหญ่มาจากอำเภอโนนคูณจังหวัดศรีสะเกษ คนอีสานพลัดถิ่นที่ไปรวมกันเป็นกลุ่มก้อนประกอบอาชีพ ณ มุมใดมุมหนึ่งของประเทศไทยมักจะมาจากหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอเดียวกันเสมอ หากพูดถึงคนขับแท็กซี่ในกทม. แล้วผมจะนึกถึงคนร้อยเอ็ด หากถามคนขายบะหมี่เกี๊ยวป๊อก ๆ แถวหมู่บ้านเสนานิเวศน์ กทม.ว่ามาจากกันทรารมย์ ศรีสะเกษแม่นบ่ เพิ่นก็จะตอบว่าแม่นแล้ว หลีกหนีความจำเจไปนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเที่ยวแถวพัทยาหรือชลบุรี ก็จะเจอแต่คนอุดรธานีบ้านผม หากจะพูดตามสำนวนของ “นิ้งหน่อง” ดาวตลกชื่อดังของวงดนตรี “เพชรพิณทอง” ก็จะออกมาในแนวนี้

“อยู่เป็นซุมคือยาฮากไม้นั่นล่ะ”

นอกจากพี่น้องหมู่เฮาแล้ว คนงานของโรงงานยังประกอบด้วยคนพื้นถิ่นปักษ์ใต้ทั้งพุทธและมุสลิม แต่ว่าถ้าพวกเขาหรือเธอไม่บอกว่าเป็นคนใต้ผมเองก็ไม่เชื่อหรอเพราะว่าเวลาที่พวกเธอนั่งล้อมวงคุยกันก็จะได้ยินแต่สำเนียงเสียงอีสาน

“น้องเป็นคนตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นไทยพุทธ แต่ว่าแฟนเป็นคนสุวรรณคูหาหนองบัวลำภู ตั่วล่ะอ้าย กะเลยเว้าอีสานเป็น มาอยู่โรงงานนี้กะมีแต่คนอีสาน เว้านำกันทุกมื่อ”

วิมลศรี ไชยภักดิ์ สาวยะลาสะใภ้อีสาน “เว้าลาว” กับผม

“สองคนนั้นกะเว้าอีสานได้ เก่งคือหยังนี่ เพิ่นเป็นแขก แขกเว้าลาว” ว่าแล้วเธอก็หัวเราะ พลอยให้ผมได้ฮ่า ๆ ตามไปด้วย สองคนที่เธอว่า คนหนึ่งชื่อ พนิดา ดอมะ ชื่อเล่นว่า ณี อีกคนชื่อปราณีนุ้ยชาวนา ชื่อเล่นคือ จุ๋ม คนหลังนี้สามีเธอเป็นหนุ่มไทยพุทธที่รับอิสลามหลังจากแต่งงานกันแล้ว

“ไปว่าเพิ่นเป็นแขก เพิ่นบ่เคียดติ”

“เคียดโลด เคียดก็บ่ต้องมาคบกัน” ศรีว่า ในขณะที่ณีกำลังอมยิ้มถอนหงอกให้เธออยู่

“เป็นหยังคือพากันเว้าอีสานได้” ผมหันไปคุยกับจุ๋ม เธอคนนี้เป็นมุสลิมมาจากตำบลท่าธงอำเภอรามัน ปัจจุบันมาอยู่กับสามีที่หมู่บ้านปรามะ ห่างจากโรงงานนี้ประมาณสองกิโลเมตร

“อยู่กับคนอีสานในโรงงานนี้มาเกือบสิบปีแล้วสิบ่ให้เว้าเป็นได้จั่งใด๋ อีกอย่างหนูพูดไทยกับเพิ่นเพิ่นก็บ่พูดไทยตอบ มีแต่เว้าอีสานใส่” จุ๋มตอบพลางยิ้ม เธอกำลังฉีกฝักกระถินเพื่อแกะเอาเมล็ดไปขาย คนงานโรงงานแห่งนี้มีอาชีพเสริมหลายอย่าง เช่น เก็บผักบุ้ง กระถิน ผักแพว ผักชีน้ำ (ปักษ์ใต้เรียกผักชีล้อม) ขายส่งให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อถึงโรงงาน และที่เป็นล่ำเป็นสันสำหรับพี่น้องหมู่เฮาในโรงงานแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือการ “เลี้ยงจิ้งหรีด” ขาย

จิ้งหรีดที่ว่าไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อส่งไปกัดในสังเวียนไหนเหมือนปลากัด หรือทะนุถนอมฟูมฟักไว้เพื่อไปตีกับจิ้งหรีดค่ายใดเหมือนไก่ชน แต่เลี้ยงไปส่งลงกระเพาะของบรรดาเรา ๆ ท่าน ๆ ที่นิยมรับประทานอาหารหรือกับแกล้มประเภทแมง ๆนั่นแหละครับ

จิ้งหรีดคั่วหอม ๆ นี่อร่อย ตำป่นก็นัว แกงใส่หน่อไม้ส้มกะแซบ อ่อมใส่หวายแฮงคือขณะที่พวกเราหกเจ็ดคนนั่งล้อมวงคุยกันอยู่ต่างได้ยินเสียงตะโกนมาจากห้องพักที่อยู่ติดโรงงานว่า “ออกข่าวแล้ว ๆ มาเบิ่งเร็ว” ทุกคนลุกฮือสาวเท้าตึบตับไปยังต้นเสียง ผมตามไปอย่าง งง ๆ

ทุกคนนั่งเฝ้าหน้าจอฟัง สรยุทธ สุทัศนะจินดาเล่าข่าวเสาร์อาทิตย์ วันนั้นตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๕ และ “เหตุร้ายรายวัน” ของวันนี้ คือ ผู้ก่อความไม่สงบลอบซุ่มยิงทหารพรานและแม่ครัวของกรมทหารพรานที่ ๔๑ เสียชีวิตแล้วจุดไฟเผา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเส้นทางสายยะลา?รามัน ระหว่างโรงเรียนบ้านธารน้ำผึ้งและบ้านปรามะ อยู่ห่างจากโรงงานไม่ถึงสองกิโลเมตร เสียงปืนที่รัวระงมเมื่อเช้าอยู่แค่ปลายจมูกของพวกเขานี่เองมิน่าล่ะ ถึงกรูกันมาดูอย่างพลาดไม่ได้ และเมื่อคุณสรยุทธเล่ามาถึงคำกล่าวของผู้นำทางทหารที่บอกว่ารู้ตัวแล้วว่าคนร้ายเป็นใคร สังกัดกลุ่มไหน เสียงสบถก็ดังขึ้นอย่างมีอารมณ์ว่า

“รู้ทั้งนั้นว่าเป็นใคร แต่กูไม่เห็นมันจับหมาที่ไหนได้สักตัว”

ผมหัวเราะหึ ๆ แล้วเดินออกมาหน้าห้องพักรอให้พี่น้องหมู่เฮาดูข่าวให้จบก่อนค่อยขอคุยกับพวกเขาต่อ พวกเขารู้แล้วว่าจุดประสงค์หลักของผมในครั้งนี้ก็เพื่อพูดคุยเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีด ผมมาทำความรู้จักและนัดหมายกับพี่น้องหมู่เฮาไว้ตั้งแต่เดือนก่อน

เสียงจิ้งหรีดร้องแข่งกันระงม ผมเปิดคอนโดพวกมัน (เรียกซะโก้) เจ้าของได้แยกรุ่นไว้เป็นชั้น ๆ ล่างสุดเป็นชั้นที่ไข่กำลังฟัก ชั้นที่สองตัวเท่ามดกำลังวิ่งเล่นบนรังไข่กันพล่าน ชั้นที่สามกำลังเอ๊าะ ๆ เหมือนสาวรุ่นวัยใสใส่เสื้อคลุมหลังครึ่งตัวชั้นนี้อายุประมาณห้าสัปดาห์และจะเริ่มวางไข่ซึ่งสังเกตจากเสียงร้องของตัวผู้ หากได้ยินเสียงร้องจิ้ด ๆ ติดต่อกันสี่ครั้ง นั่นหมายความว่าได้เวลาใส่ถาดที่บรรจุขี้เถ้าเข้าไป เพื่อให้ตัวเมียวางไข่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป ชั้นที่สี่เติบโตเต็มที่มีไข่เต็มท้องพร้อมออกสู่ตลาดและกระเพาะของคนเมา ชั้นนี้เป็นที่มาของเสียงระงมแข่งกับเสียงปืนเมื่อเช้า

“ต้องฉีดน้ำใส่วันละครั้ง พอให้มันชุ่ม ใส่หลายก็บ่ได้ ไข่มันสิเน่า” อิ๋ว หรือ มาลา ค้ำจุนเล่าให้ผมฟัง พลางพรมน้ำลงบนถาดไข่จิ้งหรีดด้วยการฉีดจากขวดสเปรย์ เธอเป็นเจ้าของห้องพักที่พวกเรากรูกันเข้าไปดูข่าว หน้าห้องพักของคนงานในโรงงานแห่งนี้จะมีคอนโดจิ้งหรีดมุงด้วยมุ้งหรือผ้าม่านเก่า ๆ แทบทุกห้อง

“คืออยู่บ้านเฮานั่นล่ะอ้าย ปีใด๋ฝนแล้ง จิ๊หรีดสิหลาย ปีใด๋ฝนดีบ่มีฮอดสิป่น”

“แมน” ผมพยักหน้าเห็นพ้องด้วย

เธอเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า มีรายได้เสริมจากการขายจิ้งหรีดพวกนี้เฉลี่ยเดือนละห้าพันบาท ผู้ที่นำจิ้งหรีดมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ในโรงงานนี้คนแรกคือแม่สามีของเธอเองคือ นางยอย ไชยภักดิ์

“เพิ่นได้พันธุ์มาจากบ้านเฮา เพิ่นกะเอามาลองเลี้ยง ก็พากันเฮ็ดมาหลายปีแล้วล่ะ ขายได้ราคาดีอยู่ กิโลละสามร้อย เอาไปขายเองในตลาดบ้าง และที่มาซื้อถึงโรงงานเลยก็มี”

อิ๋วเล่าว่าเธอมาอยู่ที่โรงงานแห่งนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ มากันทั้งครอบครัว มี พ่อ แม่ และพี่น้องของเธออีกสามคน อยู่มาตั้งแต่ค่าแรง ๘๕ บาทจนถึงปัจจุบันที่ค่าแรงเป็น ๒๔๐ บาทต่อวัน ก่อนมารับจ้างที่นี่ ครอบครัวเธอไม่มีสมบัติพัสถานอะไร แต่ตอนนี้มีเงินเก็บไปซื้อนาไว้ที่อีสานแล้วสิบสามไร่ ยังเหลือแต่ที่ปลูกบ้านที่กำลังเก็บเงินเก็บทองกันอยู่

“ถ้าบ่เฮ็ดอาชีพเสริมก็บ่พอกินดอกอ้าย เงินเก็บกะคือสิบ่มี นี่น้องกะตื่นตั้งแต่ตีสี่ มาจัดผักไว้ให้แม่ไปขายตลาด ราว ๆ ตีห้ากว่า ๆ ก็ไปหาเก็บผักบุ้ง… ผักบุ้งก็อยู่แถวนี้ล่ะ แถวทุ่งนาเลยโรงงานออกไปทางเขายิงกันเมื่อเช้านั่นล่ะ วันนี้น้องเป็นหยังบ่ฮู้จึงบ่ได้ไปทางนั้น ไปอีกทาง ก็ถือว่าโชคดีที่บ่ได้ไปพบไปพ้อ”

ผักบุ้งที่เธอเก็บมาจะเลือกตัดเอายอดสวยไว้ขาย ส่วนที่เหลือก็กลายเป็นอาหารจิ้งหรีด

“ฟักเป็นตัวได้สองวันก็ใส่ผักบุ้งลงไปให้มันกินได้แล้ว” อาหารจิ้งหรีด นอกจากผักบุ้งแล้วก็มีรำข้าวผสมกับหัวอาหารไก่น้อย อัตราส่วนอาหารต่อรำคือหนึ่งต่อห้ากิโลกรัม

“ผู้จัดการโรงงานเพิ่นก็ใจดี บ่ว่าหยังเฮาดอกเพียงแต่ว่าเฮาต้องช่วยกันรักษาความสะอาด” อิ๋วเล่าปิดท้ายขณะเที่ยงกว่าแล้ว ขณะที่ณีสาวมุสลิมเดินมาเว้ากับเธอว่า

“เจ้าถืกกินข้าวปุ้นบ่ ซุมเฮาสิไปแล้วเด้อ”

“ถืกอยู่ เดี๋ยวคอยแฟนก่อน จั่งสิตามไปดอก”

เพื่อนคนงานที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งจะไปเมกกะในเร็ว ๆ นี้ จึงแจกซองบอกบุญกับเพื่อน ๆ ในโรงงานทั้งไทยพุทธและมุสลิมให้ไปกินขนมจีนที่บ้านของเขาในหมู่บ้านปรามะ พี่น้องหมู่เฮาทั้งชายหญิงหลายคนกำลังเตรียมตัวไปกินข้าวปุ้นกันอย่างคึกคัก ทางไปบ้านปรามะมีอีกเส้นทางหนึ่งที่ไม่ใช่เส้นทางที่ทหารพรานถูกฆ่าแล้วเผาเมื่อเช้า พวกเขาและเธอจะไปบ้านปรามะด้วยเส้นทางสายนั้น

ผมขับรถออกจากโรงงานเมื่อประมาณบ่ายโมง ยามหน้าประตูยังหน้าตาซีดเซียว ผมรู้แล้วว่าเพราะอะไร ก่อนทหารพรานจะถูกซุ่มยิงแล้วเผามีเสียงปืนดังขึ้นหน้าโรงงานสามนัดเหมือนเป็นการให้สัญญาณอะไรบางอย่าง “จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ กำลังวางไข่ในถาดขี้เถ้าเป็นรุ่นต่อไป บรรพบุรุษพวกมันเดินทางมาจากอีสานบ้านเฮา

ผมหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายไปทางยะลา แล้วยูเทิร์นกลับไปทางรามัน เส้นทางสายนี้ผมเคยพานักศึกษามาดูงานที่โรงงานกำจัดขยะของเทศบาลนครยะลาที่อยู่ไม่ไกลจากนี้ ใช้เวลาไม่ถึงสองนาทีเลยโรงเรียนบ้านธารน้ำผึ้งไปไม่ไกลยังไม่ถึงบ้านปรามะก็ยูเทิร์นกลับ รถรายังวิ่งกันขวักไขว่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมชะลอมองหาจุดที่ทหารพรานถูกฆ่าแล้วเผา นั่นไง… คราบน้ำมันสีดำยังเป็นรอยบนพื้นติดกับเกาะกลางถนน ผมกดชัดเตอร์จากโทรศัพท์มือถือได้สองแชะแล้วเร่งเครื่องกลับ

ผ่านหน้าโรงงานที่ผมเพิ่งออกมา มองลึกลงไปในสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใน มันช่างสะท้อนภาพอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com