เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: ถนนสายอนาคต
Column: Road to the Future
ผู้เขียน: อภิชาติ ญัคค์

Due to the current economic situation of the farmers, the government will have to work out a new mechanism of funding to support the farm production process that is in accordance with the production system and to provide insurance for the products of those groups infl icted by various disasters; so that the farmers can sell their product rightly according to the quality. A new system of management must be designed to deal continuously and effectively with all the problems. Thus the revival of the farmers as a major economic power in the modern socio-economic structure can be realized.


ระบบนิเวศเศรษฐกิจของชาวนานั้นพึ่งพา “ฤดูกาล” เป็นสำคัญ ชีวิตการดำรงชีพในท้องทุ่ง นั้นฤดูกาลสำคัญต่อความอยู่รอดของชีวิตอย่างยิ่ง ในการช่วยสร้างสรรค์ความมั่งคั่งล้นเหลือหรือไม่ก็ทำให้เกิดความทุกข์จนแร้นแค้น / ล้มเหลวในการผลิต แม้เกษตรกรรมของเราวันนี้มีความก้าวหน้าไปมากด้วยการพัฒนาเทคนิควิธีการใหม่ / มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น / มีการปรับระบบการปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้งไม้ดอกและไม้ผลก็ตามแต่ชีวิตชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นอยู่ตามจารีตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่คนรุ่นก่อน ซึ่งยังปลูกข้าวทำนาด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ตลอดมา สภาพชีวิตวันนี้ของชาวนาจึงไม่ต่างไปจากศตวรรษที่ ๑๙ แม้ปัจจุบันสังคมได้เคลื่อนเปลี่ยนเป็นโลกแห่งศตวรรษที่ ๒๑ แล้วก็ตาม

สภาพสังคมเศรษฐกิจครอบครัวชาวนาที่เป็นอยู่เช่นนี้ ได้ส่งผลให้เกิดความต่าง / ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจระหว่าง “ชาวนา” กับ “การดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่” อย่างมาก ซึ่งเป็นสภาพปัญหาสังคม-เศรษฐกิจที่รัฐบาลและทุกกลุ่มชนในสังคมต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไข ไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระของผู้บริหารประเทศแต่กลุ่มเดียวหรือไม่ปล่อยให้ชาวนาเผชิญชะตากรรมกันไปเองตามลำพัง

การจัดการแก้ปัญหาชาวนาและข้าวที่ผ่านมานั้น มักจะวนเวียนกันอยู่แค่ริมขอบของ “ระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าว” ไม่สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นตรง มีผลให้ “ชาวนา” และ “ข้าว”กลายเป็นเพียงองค์ประกอบในการแสวงประโยชน์จากทั้งการเมืองและการค้าไปในที่สุด สภาพชาวนาและปัญหาเรื่องข้าวจึงวนซ้ำซากอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการแสวงประโยชน์ตลอดมา จนดูเหมือนว่าไม่มีใครจริงใจที่จะจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง หรือไม่ก็แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองนี้จนตรอกจนปัญญาที่จะบริหารจัดการปัญหานี้ !

ในสภาพที่เป็นจริงทางปฏิบัติแล้ว กล่าวได้ว่าการสร้างความเข้มแข็งให้ “เศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา” “การพัฒนาระบบการผลิต” และ “การจัดการปัญหาโดยรวมในเรื่องข้าวและชาวนา” นั้นไม่อาจแก้ไขที่ “ปลายน้ำ” ของปัญหาแต่โดด ๆ โดยละเลย “ต้นน้ำของปัญหา” เพราะในกระบวนระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวนั้นมีการ “พึ่งพา” และ “ขึ้นต่อ” กันและกัน ระหว่าง ชาวนา กับ ข้าว (ที่เป็นผลผลิตของชาวนา) อย่างแนบแน่นในเกือบทุกมิติ ซึ่งสังคมเศรษฐกิจข้าวไทยมีชาวนากระจายตัวอยู่ใน “จุดตั้งทางภูมิศาสตร์” มีการผลิตที่มีกระบวนระบบแตกต่างกัน และมี “ชีวพันธุ์ย่อย” ที่แตกต่างกันไป อันนับเป็น “ความหลากหลาย” ที่สร้างโอกาสและข้อได้เปรียบสำคัญในการมีตำแหน่งแห่งที่ของ “ข้าวไทย” ในระบบตลาด

การพิจารณาแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการปัญหาทั้งระบบ ต้องจัดการพร้อม ๆ กันในทุกระดับจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เรียกว่าเป็นการ “ถอดรื้อ” และ “ปรับสร้าง” ทั้งระบบของ “เศรษฐกิจข้าว” ให้รับกับความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ ที่สามารถยกระดับการผลิตและคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีความก้าวหน้าแน่นอนว่า “โลกของชาวนา” นั้นต่างไปจาก “โลกของสังคมยุคใหม่” ในเกือบทุกแง่มุม ความแตกต่างนี้มีผลต่อปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ / ความยุติธรรม” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่สารพัดปัญหาหลากหลายมิติในการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

วิธีคิดทางการเมืองหรือการค้าหยาบ ๆ ที่คิดเพียงว่าถ้าใคร “ให้” หรือ “ซื้อ” ชาวนาได้ คนนั้น / กลุ่มนั้น / พรรคการเมืองนั้นจะได้รับชัยชนะทางการเมือง น่าจะเป็นความคิดที่ “ตื้นเขิน / คับแคบ” ของพวกบ้าอำนาจหรือพวกที่ไม่มีความคิดงอกเงยในเรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริง กลุ่มความคิด / วิธีมองโลกในมิตินี้จะไม่สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาของชาวนาได้เลย แม้จะมีทุนและอำนาจมากมายเพียงใดก็ตาม เพราะเป็นหลุมพรางความคิดที่วนเวียนอยู่กับการแสวงประโยชน์ทางการเมืองและการค้าแบบเดิม ๆ ในวงจรอุบาทว์ที่ไม่เคยช่วยให้สังคมดีขึ้น / ไม่ช่วยให้แก้ไขปัญหาใดได้เลย

ความต้องการสำคัญที่สุดของ “ชาวนา” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้นคือเรื่อง “ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม” ที่มีความเสมอภาคเป็นธรรม ส่วนการพัฒนาระบบการผลิตใหม่ชาวนาก็ต้องการความรู้ ต้องการผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพมากขึ้นและต้องการนวัตกรรมในการบริหารจัดการ ซึ่งเรื่องนี้รัฐได้ละเลยมานานแล้ว ส่วนใหญ่มักลากจูงชาวนาให้เป็นเหยื่อพ่อค้าขายปุ๋ย-ขายปัจจัยการผลิต / นายทุนท้องถิ่น / ตลอดจนถึงเอ็นจีโอนักเพ้อเจ้อทั้งหลาย ฯลฯ หรือไม่ก็ทำให้ชาวนากลายเป็นหนูทดลองในไร่นาไปจนถึงในระบบตลาด ขณะที่ “การจัดการทุน” และ “การปลดหนี้” ก็ไม่มีการจัดปรับระบบดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับระบบการผลิต ที่สัมพันธ์กับราคาข้าวซึ่งเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดแต่ละปี

ด้วยเหตุผลและปัจจัยที่กำกับสภาพชีวิตเศรษฐกิจชาวนาอยู่นี้ รัฐจะต้องสร้างกลไกใหม่ในการจัดการทุนขึ้นรองรับกระบวนการผลิตของชาวนาให้สอดคล้องกับระบบการผลิต และต้องประกันผลผลิตสำหรับกลุ่มที่เผชิญพิบัติภัยต่าง ๆ อย่างมีหลักประกัน เพื่อให้ชาวนาขายผลผลิตได้ตามคุณภาพอย่างเป็นธรรม โดยต้องออกแบบการบริหารจัดการกับปัญหาใหม่ทั้งหมดอย่างต่อเนื่องจนมีสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม อนาคตของชาวนาจึงจะพลิกฟื้นเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคมในโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเป็นจริง.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com