แกงขี้เหล็กสูตรกวย (เขมร)
เรื่องและภาพ: วีระ สุดสังข์
วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘
กว่าจะได้กินแกงขี้เหล็กสูตรกวย/เขมร
ได้ยอดขี้เหล็กอ่อนมาแล้วก็ต้มจนกว่ารสขมจะจางลง ขี้เหล็กฤดูร้อนไม่ขมมากเพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยง ขี้เหล็กฤดูฝนขมมาก ขมปี๋เลย เพราะน้ำหล่อเลี้ยงมาก จึงต้องต้มนาน ต้มสองน้ำ สามน้ำ จนกว่าจะกินได้ไม่ขมเกินไป แล้วนำมาโขลกจนละเอียดไม่เหลือร่องรอยของก้านใบ ถ้ามีเครื่องปั่นก็ปั่นเอาเลย แตกต่างจากลาวเขาโขลกๆพอแหลกเท่านั้น บางใบยังเหลือเป็นใบ บางก้านยังเหลือเป็นก้าน
ระหว่างต้มใบขี้เหล็กต้องแช่ข้าวสารจ้าวสักครึ่งถ้วยจนข้าวแตกพอง นุ่มน้ำ เรียกว่า “ข้าวเบือ” แล้วเอาข้าวเบือมาตำรวมกับใบย่านาง ตำให้แหลก ตำให้ละเอียด เข้ากันอย่างดี ถ้ามีเครื่องปั่นก็ใส่น้ำปั่นเอาเลย ตำแหลกละเอียดแล้วก็นำมาละลายในน้ำ กวนๆคนๆแล้วกรองเอาแต่น้ำไปใส่หม้อขี้เหล็กที่ตำแล้ว, ตำพริกสด/แห้งกับกระเทียม, ตำกระชายจนแหลกละเอียด, ฝานหอมแดงเป็นแผ่นๆใส่รวมลงไป แล้วเติมด้วยกะทิมะพร้าวสด ไม่ใส่กะทิกล่องเด็ดขาด หากมีกากหมู, หมูสามชั้น,หรือปาทูเค็มก็ใส่ไป ยกหม้อขึ้นตั้งไฟ กวนให้แตกจนทั่ว กวนเรื่อยๆจนกว่าจะสุก ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลาร้า น้ำปลา จบเสร็จกระบวนการ
หากจะกินแกงขี้เหล็กต้องมีคนไปเก็บยอดขี้เหล็กนำมาต้มจนจืด, มีคนไปหาเก็บย่านาง, มีคนผ่ามะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิมะพร้าว, มีคนตำข้าวเบือกับย่านาง, มีคนตำพริกกับกระเทียม, มีคนหั่นหรือฝานหัวหอมแดง นับว่าเป็นแกงสามัคคีในครอบครัว ใครจะนั่งรอกินไม่ได้ อย่างวันนี้เป็นต้น น้องๆและน้าสาวแยกย้ายกันทำหน้าที่ ส่วนผมทำหน้าที่เขียนบันทึกไว้
ผมงดกินกะทิมะพร้าวมานานแล้ว วันนี้ขอสักมื้อแล้วจะงดต่อไป…