แถลงการณ์จากผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด ฉบับที่ ๒
จากการที่มีหน่วยงานราชการบางแห่งทำการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงว่านามร้อยเอ็ดมาจากคำว่าสิบเอ็ดประตู ทั้งยังมีการใช้อำนาจทำการผลิตซ้ำข้อสันนิษฐานอันล้าหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายทางวิชาการแล้วยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จแก่สาธารณชนในวงกว้าง ในนามของผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด จึงขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้ นามเมืองร้อยเอ็ด เป็นชื่อที่มาจากตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงเมืองสาเกตนครที่มีอำนาจมากจนท้าวพญาร้อยเอ็ดหัวเมืองต่างอ่อนน้อมในอำนาจเมืองแห่งนี้จึงได้สมญานามว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู (หมายความว่ามีอำนาจแผ่ไปทุกทิศไม่ได้หมายความว่ามีประตูเป็นจำนวนร้อยเอ็ดประตูจริง ๆ) อันมีความหมายสอดคล้องกับคำว่าทวารวดี แปลว่าเมืองที่ประกอบด้วยประตูและรั้ว อย่างไรก็ดี หลายสิบปีที่ผ่านมากลับมีการเผยแพร่แนวคิดเรื่องสิบเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการผ่านงบประมาณจากภาษีประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปลี่ยนคำขวัญจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าสิบเอ็ดประตู และการจัดงานประเพณีประดิษฐ์ใหม่เพื่อจัดขบวนตอกย้ำเรื่องสิบเอ็ดหัวเมืองโดยเฉพาะ เป็นต้น ด้วยหน้าที่ ในฐานะผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด จึงขอแถลงการณ์เพื่อลำดับอธิบายข้อมูลเรื่องสิบเอ็ด ดังนี้
๑. พงศาวดารภาคอีสาน ฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) เอกสารชั้นต้นจากเจ้าเมืองคนสุดท้าย เรียกเมืองร้อยเอ็ด และไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสิบเอ็ดประตู พงศาวดารภาคอีสาน ฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) เอกสารชั้นต้นจากเจ้าเมืองคนสุดท้าย เขียนขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๓ ถือเป็นเอกสารทางการฉบับแรกของงานเขียนประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด ในเอกสารนี้เรียกเมืองร้อยเอ็ด ว่าเมืองร้อยเอ็ด (บางครั้งร้อยเอ็จ) และไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสิบเอ็ดประตู
๒. การศึกษาราชกิจจานุเบกษาเมืองร้อยเอ็ด จาก พ.ศ.๒๔๙๘ – ๒๕๑๖ จำนวน ๒๕๐ ฉบับ เขียนร้อยเอ็ด (บางครั้งร้อยเอ็จ) และไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสิบเอ็ดประตู งานวิจัยใน พ.ศ.๒๕๖๒ ของปริญ รสจันทร์ ศึกษาราชกิจจานุเบกษาเมืองร้อยเอ็ด จาก พ.ศ.๒๔๙๘ – ๒๕๑๖ จำนวน ๒๕๐ ฉบับ เขียนร้อยเอ็ด (บางครั้งร้อยเอ็จ) และไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสิบเอ็ดประตู แสดงให้เห็นว่าเรื่องสิบเอ็ดประตูไม่เคยเป็นเรื่องเก่า และไม่เคยเป็นที่รับรู้ของทางการมาก่อน
๓. ราว ๒๕๐๔ สภาพอีสาน คือเอกสารแรกสุดที่กล่าวถึง ๑๐ กับ ๑ เรียกว่าสิบเอ็ด สภาพอีสาน ของฟรานซิส คริปส์ คือเอกสารแรกสุดที่กล่าวถึง ๑๐ กับ ๑ เรียกว่าสิบเอ็ด อันเป็นวิธีการเขียนของคนสมัยก่อน ดังนี้ “…ร้อยเอ็ดเป็นเมืองกว้างใหญ่ คงจะเคยเป็นเมืองชายแดนของ ราชอาณาจักรขอม ใครเป็นผู้สร้างตั้งแต่โบราณกาลครั้งไหนก็เป็นเรื่องที่สันนิษฐานกันอยู่ ชาวบ้านชอบเล่ากันว่าครั้งกระโน้นเคยมี ๑๑ เมือง อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองคนเดียว คนสมัยก่อนเขียนเลข สิบเอ็ดว่า ๑๐ กับ ๑ ต่อมาก็เลยเรียกว่าร้อยเอ็ด…” บันทึกของฟรานซิส คริปส์ แสดงให้เห็นถึงเรื่องเล่าแบบนิทานชาวบ้าน ซึ่งมีหน้าที่ในการตีความโลกรอบตัวตามโลกทัศน์ของตน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่าแม้เรื่องเล่าจะให้เค้าของเรื่องราวบางอย่าง แต่จะยึดถือเป็นข้อสรุปว่าเป็นความจริงทันทีไม่ได้
๔. พ.ศ. ๒๕๑๐ รายงานการค้นคว้า ๑๐ ชุมชนโบราณในร้อยเอ็ด” หัวเชื้อแนวคิดสิบเอ็ดประตู พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีคณะนักวิจัยในโครงการสำรวจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำ “รายงานการค้นคว้าเรื่องชุมชนโบราณในจังหวัดร้อยเอ็ด” ซึ่ง ในรายงานนั้นมีรายชื่อเมืองอยู่ ๑๐ เมือง ประกอบด้วย เมืองร้อยเอ็ด, บ้านสีแก้ว บ้านเมืองทอง, บ้านเมืองหงส์, บ้านดอนแคน, บ้านดงเมืองจอก, บ้านกู่กาโดน, บ้านน้ำอ้อม, บ้านขี้เหล็ก และบ้านเมืองบัว การค้นพบเมืองโบราณ ๑๐ เมือง เมื่อรวมกับเมืองร้อยเอ็ดที่เป็นเมืองโบราณด้วยจึงได้ ๑๑ เมือง สอดคล้องกับนิทานของฟรานซิส คริปส์ และอาจใช้เป็นหลักฐานเพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องสิบเอ็ดประตู อย่างไรก็ดี สุจิตต์ วงษ์เทศผู้เคยเป็นหนึ่งในคณะสำรวจโครงการนี้ เคยเล่าว่าโครงการดังกล่าวทำหลายปีต่อเนื่องตามงบประมาณที่มีในแต่ละปี ตอนแรกสามารถขุดได้ ๑๐ เมืองก็ทำเท่านั้นไปก่อน ไม่ได้หมายความว่ามีจำนวนเมืองโบราณ ๑๐ เมืองเท่านั้น เพราะช่วงหลังพบว่าร้อยเอ็ดมีชุมชนโบราณอีกเป็นร้อยแห่ง แต่กลายเป็นว่าอยู่นอกเหนือเรื่องเล่าสิบเอ็ดประตูไปแล้ว
๕. ราว ๒๕๒๑ ข้อเสนอเรื่อง ๑๐๑ อ่านเพี้ยนว่าร้อยเอ็ด ถูกนำเสนอในเวทีวิชาการ ราว ๒๕๒๑ จารุบุตร เรืองสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอีสาน ได้เขียนบทความเรื่องประวัติบางเรื่องเกี่ยวกับภาคอีสาน เพื่อประกอบในงานการละเล่นพื้นบ้านอีสาน ณ โรงละครแห่งชาติ ๖ กุมภาพันธ์ และประกอบการสัมนาประวัติศาสตร์อีสาน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ๑๖ – ๑๘ พฤษจิกายนปีเดียวกัน จารุบุตร เรืองสุวรรณ มีข้อเสนอเรื่อง ๑๐๑ คนภาคกลางอ่านว่าเพี้ยนว่าร้อยเอ็ด ดังนี้ “…การเขียนและการอ่านภาษาอีสานโบราณนั้นสิบเอ็ด ต้องเขียน ๑๐ – เสียก่อน แล้วจึงจะเขียนเลข ๑ ต่อท้าย เมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองคงจะอ่านตาม ภาษาเขียนของทางภาคกลางจึงเพี้ยนไปเป็น ๑๐๑ อ่านว่า ร้อยเอ็ด อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้ถูกกรมศิลปากรหักล้างไปเป็นที่เรียบร้อยมาราว ๑๐ ปีมาแล้วจากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณของกรมศิลปากรไม่พบว่าในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น ข้อมูลจากกรมศิลปากร สอดคล้องกับการศึกษาของยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณทำการศึกษาปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เรื่อง ตำนานอุรังคธาตุ : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง โดยปริวรรตใบลานตำนานอุรังคธาตุจำนาน ๑๐ ฉบับ ทั้งในไทยและลาว แล้วพบว่าชื่อร้อยเอ็ดในตำนานอุรังคธาตุที่ทำการศึกษาล้วนแต่จารเป็นคำว่า เมืองร้อยเอ็ดปักตู หรือ เมืองร้อยเอ็ดประตู ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏว่ามีการเขียนเป็นตัวเลข ๑๐๑ ในฉบับใบลานฉบับใดเลย นอกจากนี้คำว่า ร้อยเอ็ด ที่เป็นจำนวนนับ เช่น พญาร้อยเอ็ดเมือง เจาะกำแพงเป็นร้อยเอ็ดช่องประตูล้วนแต่เขียนเป็นตัวหนังสือ ไม่มีที่ใดใช้ตัวเลข ๑๐๑ เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอที่ว่า ๑๐ – ๑ อ่านว่าเพี้ยนว่าร้อยเอ็ด จึงเป็นเพียงข้อเสนอที่ขาดหลักฐานรองรับ จึงมีสภาพเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น
๖. ราว ๒๕๓๐ มีข้อเสนอเรื่อง สิบเอ็ดประตูเมืองมาจาก จำนวนประตูจากแผนที่ทหาร หลังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีเอกสารตำนานอุรังคธาตุที่เขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข ราว พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงมีข้อเสนอเรื่อง สิบเอ็ดประตูเมืองมาจาก จำนวนประตูจากแผนที่ทหาร จึงมีการอธิบายจากพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรในบทความ เมืองร้อยเอ็ด (ประตู) หรือ -ทวารวดี แปลภาษาแขกเป็นลาว ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบทความนี้มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงคำขวัญของ จ.ร้อยเอ็ด ปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙ ดังความบางตอนว่า “…อันที่จริง คูกำแพงเมืองร้อยเอ็ดโบราณที่เห็นอยู่นี้ ก็ไม่เคยมีใครไปนับเป็นหลักฐานว่ามี ๑๑ ประตู หรือ ๑๐๑ ประตูกันแน่ เนื่องจากความเก่าแก่ของคูเมืองกำแพงเมืองย่อมลบเลือนหายไปบ้าง จนหาประตูไม่เจอว่ามีช่องอยู่ตรงที่ใดกันแน่ และชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู เท่าที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอกสารโบราณ ก็ไม่เคยที่จะเขียนเป็นตัวเลขว่า “เมือง ๑๐๑ ประตู” แต่จะเขียนเป็นตัวอักษรว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู หรือเมืองร้อยเอ็จประตู ทั้งสิ้น…” อันที่จริง มีการเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาเรื่องร้อยเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่อง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ดที่ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้หลายครั้ง และมีการเผยแพร่ผ่านงานเขียนของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จนมีการจัดการเรียนการสอนวิชาร้อยเอ็ดศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ซึ่งเมืองร้อยเอ็ดปัจจุบันนั้นตั้งทับซ้อนอยู่บนเมืองร้าง ผู้คนมาอยู่ใหม่จึงปรับทางออกตามความสะดวกของคนที่มาอยู่ใหม่ จะถือแผนที่ทหารที่มีขึ้นภายหลังไม่ได้
๗. พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๒ “ฟูมฟักตำนานเมือง” เมื่อเรื่องไม่นานถูกยกเป็นตำนาน หนังสือพิมพ์พิราบข่าวรายเดือน ฉบับมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ หน้าที่ ๖ เล่าเรื่องการเผยแพร่ความเชื่อ “สิบเอ็ดประตู” และ “สิบเอ็ดหัวเมืองบริวาร” ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๒ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีนโยบาย “ฟูมฟักตำนานเมือง” เพื่อเป็นฟื้นฟูประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ให้เป็นความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น จึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูลประวัติเมืองร้อยเอ็ด คือ เมืองสิบเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่องหลายปี และถ่ายทอดเรื่องราว ของสิบเอ็ดหัวเมือง สิบเอ็ดประตู ด้วยการจัดขบวนแห่ในงานสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป ด้วยเหตุนี้ เทศกาลดังกล่าว จึงเป็นเพียงประเพณีประดิษฐ์ใหม่ เพื่อสร้างเรื่องสิบเอ็ดหัวเมืองบริวารให้สอดรับกับเรื่องสิบเอ็ดประตู เท่ากับว่าสิ่งที่เป็นตำนานในสายตาของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กลับกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นไม่นานเท่านั้นเอง
๘. พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙ เปลี่ยนแปลงคำขวัญของ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙ เปลี่ยนแปลงคำขวัญของ จ.ร้อยเอ็ด จุดเริ่มต้นเผยแพร่ความเท็จสิบเอ็ดประตู ผ่านคำว่าสิบเอ็ดประตูเมืองงาม ให้กลายเป็นที่ต้องยอมรับทั้งจังหวัด เพราะถูกประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานต่าง ๆ และในโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้เด็กเยาวชนเกิดความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น
๙. พ.ศ.๒๕๕๒ ปราชญ์ผู้รู้ท้องถิ่นโต้แย้งคำขวัญใหม่ หน่วยงานรัฐไม่สนใจแก้ไขให้ถูกต้อง พ.ศ.๒๕๕๒ ปราชญ์ผู้รู้ท้องถิ่นโต้แย้งคำขวัญใหม่ จังหวัดร้อยเอ็ดจึงจัดสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และในงานนี้มีข้อสรุปว่าเมืองร้อยเอ็ดไม่ใช่เมืองสิบเอ็ดประตู อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อสรุปจากการสัมมนาว่าเมืองร้อยเอ็ดไม่ใช่เมืองสิบเอ็ดประตู แต่หน่วยงานรัฐหลายแห่งยังเดินหน้าเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสิบเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยังมีการเผยแพร่คำขวัญ และการจัดงานประเพณีประดิษฐ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
๑๐. พ.ศ. ๒๕๕๔ ชำระประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด อ้างหลักฐานไม่พอ พ.ศ. ๒๕๕๔ เมื่อมีกระแสวิจารณ์จากสังคม และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ดขึ้น และมีความเห็นจากคณะกรรมการให้แก้ไขคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขคำขวัญเพราะบางครั้งความผิดพลาดสามารถเป็นจุดเด่นได้
๑๑. พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อเสนอสิบเอ็ดประตูมาจากหอสูงกลางเมือง คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด มีข้อเสนอเรื่องข้อเสนอสิบเอ็ดประตูมาจากจำนวนประตูของหอสูงกลางเมือง โดยกล่าวถึงบทผญาโบราณว่า “เมืองสิบเอ็ดฝักตู สิบแปดป่องเยี่ยม ซาวเก้าแม่ขั้นใด” แต่เรื่องนี้นั้นไม่มีหลักฐานว่ามีหอสูงอยู่กลางเมืองร้อยเอ็ดแต่ประการใด อย่างไรก็ดี ผญาบทนี้ได้รับการนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยจารุบุตร เรืองสุวรรณ ในพ.ศ.๒๕๒๑ และคณะกรรมการได้สอบถามผู้สูงอายุในจังหวัด ได้ความว่าเคยได้ยินผญาบทนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นจำนวนประตูของอะไร ข้อเสนอนี้จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานว่าเมืองร้อยเอ็ดคือเมืองสิบเอ็ดประตู เอกสารนี้ยังระบุอีกว่า พระธรรมฐิติญาณ แห่งวัดบึงพระลานชัย ได้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผญาบทนี้ว่า หากภาษาโบราณ เขียนไว้ว่า ๑๐๐ คือ สิบเอ็ดจริง ข้อความที่ว่า “สิบแปดป่องเอี้ยม” ก็น่าจะ ต้องเขียนเป็น ๑๐๘ และ “ซาวเก้าแม่คั่นได” ก็ต้องเขียนเป็น ๒๐๙ เช่นกัน ” ซึ่งหลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีใครให้ความสนใจกับข้อสังเกตนี้เท่าใดนัก เนื่องจากยังไม่มีใครเคยเห็นบทผญาบทนี้ ซึ่งเขียนเป็นอักษรโบราณมาก่อน อีกทั้งตำนานอุรังคธาตุทุกสำนวน ก็มิได้มีการจารึกตามข้อความในผญาบทดังกล่าว
๑๒. พ.ศ. ๒๕๕๘ ชำระประวัติศาสตร์อีกครั้งแต่ยังเหมือนเดิม พ.ศ. 2558 สมัยที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มีการตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ดอีกครั้ง โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นผู้ประสานงาน ครั้งนั้นมีคณะกรรมการทำรายงานข้อมูล ความหมายของคำว่าร้อยเอ็ด โดยย้ำว่าเรื่องสิบเอ็ดประตูเป็นข้อเสนอที่ไม่มีหลักฐาน แต่ความรู้นี้ก็ไม่ถูกเผยแพร่แต่ประการใด
๑๓. มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ความเท็จสิบเอ็ดประตูเข้าสู่สถานศึกษา พ.ศ.๒๕๖๖ ความเท็จสิบเอ็ดประตูเข้าสู่สถานศึกษา และทำให้ผู้คนหลงเชื่อเพราะมีคำขวัญ และงานประเพณีประดิษฐ์ใหม่เป็นเครื่องมือสนับสนุน เช่นโครงการวิจัย การพัฒนากลไกการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการ พัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ดเพื่อพาเด็กเยาวชนเรียนรู้พื้นที่เมืองร้อยเอ็ดมีการหลงใช้ข้อมูลที่ปราศจากหลักฐานว่า “…ทำให้รู้ว่าเมืองร้อยเอ็ดไม่ใช่เมืองที่มีเมืองบริวารมากถึง ๑๐๑ เมือง อย่างที่เคยเรียนมา แต่คือจังหวัดที่เขียนเป็นเลข ๑๑ แต่โบราณ การเขียนเลขเขียนเป็นเลข ๑๐ และเลข ๑ ทำให้พอเอามาเขียนเรียงกัน เลยเขียนเป็น ๑๐๑ (โบราณอ่านสิบเอ็ด) และคนในยุคต่อมาอ่านว่าร้อยเอ็ด ทำให้จังหวัดนี้ถูกเรียกชื่อว่าจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งที่ความจริงคือ จังหวัดสิบเอ็ด หรือเมืองสิบเอ็ดประตู…” (จากบทความเรื่อง “ร้อยเอ็ด เมืองโบราณทวารวดีที่ไม่มี คำว่าบังเอิญ” โดย สุมาลี สุวรรณกร ใน นิตยสาร ทางอีศาน เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ หน้า ๑๑๒-๑๑๘)
๑๔. ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เผยแพร่แถลงการณ์ ในฐานะผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด กรณี ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลทางวิชาการของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร แต่กลับยังคงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน
๑๕. ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เกิดวาทกรรมบ้านเมืองไม่อาเพศ ๑๐๑ หรือ ๑๑ ประตูก็ไม่สำคัญ พ.ศ.๒๕๖๖ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ให้ข้อมูลว่า “คำขวัญที่มีคำว่า ๑๑ ประตู เมื่อไม่ทำให้คนทุกข์ร้อน ไม่ทำให้เกิดเหตุอาเพศ ประชาชนอยู่ดี บ้านเมืองก็มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ เรื่องอื่นก็ไม่จำเป็น เพราะไม่ว่าจะเป็น ๑๐๑ หรือ ๑๑ ประตู เมื่อไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คน ของภูมิบ้านภูมิเมืองเลวร้าย ก็ควรที่จะใช้กันไป เพราะไม่ใช่สิ่งเสียหาย อยากให้ทุกคนหันกลับมาสมัครสมานสามัคคี ร่วมกันสร้างสิ่งดีๆให้กับเมืองร้อยเอ็ดของเราด้วยความภาคภูมิใจน่าจะดีกว่า”
๑๖. ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๖ นักวิชาการ รับไม่ได้ ‘ร้อยเอ็ดสิบเอ็ดประตู’ ทำความเท็จเป็นความรู้ ผศ.ปริญ รสจันทร์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ไม่ได้เรียกร้องให้ต้องชำระประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพราะมีการชำระมาแล้วหลายครั้ง เบื้องต้นเป็นที่ยุติมานานกว่า ๑๐ ปีแล้วว่า ไม่มีหลักฐานเรื่อง เมืองสิบเอ็ดประตูตามที่มีผู้อ้างถึงเอกสารซึ่งยังไม่พบว่ามีอยู่จริง สิ่งที่สามารถทำได้เลย คือ หยุดการเผยแพร่วาทกรรมร้อยเอ็ด เมืองสิบเอ็ดประตู ซึ่งกำลังกลายเป็นความเท็จที่สร้างความเสียหายแก่คนที่หลงเชื่อ
๑๗. ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๖ เกิดวาทกรรมคำขวัญก็พิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบุคคลที่อยู่ในสมัยก่อน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่าลังจากที่ได้คำขวัญใหม่แล้ว ผู้ว่าฯ นพพร จึงได้นำคำขวัญดังกล่าวมาประกาศใช้ให้เป็นคำขวัญประจำ จ.ร้อยเอ็ด มาเรื่อยๆ จนถึงสมัยผู้ว่าฯ สมศักดิ์ ขำทวีพรหม มีผู้ที่เกิดข้อกังขาถึงคำขวัญที่ใช้อยู่ โดยต้องการให้จัดการชำระล้างคำขวัญดังกล่าว แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จ.ร้อยเอ็ด จึงได้ส่งข้อมูลของทั้ง ๒ ฝ่าย ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) พิจารณาข้อมูลความถูกต้อง โดยอาจารย์ มมส สรุปในที่ประชุมว่าทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีใครถูก และไม่มีใครผิด เพราะคำขวัญก็พิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบุคคลที่อยู่ในสมัยก่อน ผู้ว่าฯ สมศักดิ์ จึงบอกทั้ง ๒ ฝ่าย ให้ใช้ได้ทั้ง ๒ แนวทาง ทั้งนี้ ยืนยันว่า จ.ร้อยเอ็ด ไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนที่มีการกล่าวอ้าง
๑๘. ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๖ อาจารย์มรภ.ร้อยเอ็ด จี้ อย่าล้มโต๊ะถกปมแก้คำขวัญด้วยวาทะ ‘เกิดไม่ทัน’ ด้อยค่าวิชาการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า การอ้างถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วสรุปว่า “ไม่มีใครผิด เพราะคำขวัญก็พิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบุคคลที่อยู่ในสมัยก่อน” ส่วนตัวแล้วไม่ทราบในบริบทของคำกล่าวนี้ว่าในขณะนั้นหมายความว่าอย่างไรแน่ แต่ที่ชัดเจนคือคำกล่าวนี้ถูกยกมาใช้เป็นวาทกรรมแบบล้มโต๊ะให้หยุดถกเถียงในทำนองว่า “เกิดไม่ทันไม่มีใครรู้” ซึ่งเป็นการด้อยค่าวิชาประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวของผู้คนในอดีตบนหลักฐานและเหตุผล “ถ้าอะไรที่เราเกิดไม่ทันแล้วศึกษาทำความเข้าใจไม่ได้ ทั้งโลกนี้คงไม่ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันอีกแล้ว แต่ในตอนนี้ประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นวิชาสำคัญสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องจัดการเรียนการสอนกันอย่างเข้มข้น วาทกรรมเช่นนี้ จึงสวนทางกับยุคสมัยจนไม่อาจก้าวไปในโลกที่ไม่เหมือนเดิม”
ขอขอบคุณ คุณปริญ รสจันทร์