อาจารย์มรภ.ร้อยเอ็ด จี้ อย่าล้มโต๊ะถกปมแก้คำขวัญด้วยวาทะ ‘เกิดไม่ทัน’ ด้อยค่าวิชาการ

ผ.ศ.ปริญ กล่าวว่า เรื่องสิบเอ็ดประตูมาจาก 11 ช่องทาง เป็นเรื่องเก่าที่ได้มีการศึกษาอธิบายมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนคำขวัญแล้วว่าไม่เป็นจริง คือการศึกษาของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร มีการเผยแพร่ในบทความ เมืองร้อยเอ็ด (ประตู) หรือ -ทวารวดี แปลภาษาแขกเป็นลาว  ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบทความนี้มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงคำขวัญของ จ.ร้อยเอ็ด ปี พ.ศ.2547-2549 คำถามคือบทความของนักวิชาการระดับนี้  ในนิตยสารที่ไม่ได้หายากแบบนี้ไม่ได้ผ่านหูผ่านตามาบ้างหรือไรเมื่อ พ.ศ.2552 มีเมื่อการทักท้วงจนจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาบรรยาย ซึ่งทุกคนในห้อง ประชุมในงานวันนั้น ก็รับทราบดี ว่า ร้อยเอ็ด มิใช่ 11 และได้มีการเดินหน้าสะสางความถูกต้องของเรื่องนี้
จนถึงต้นปี 2554 ได้มีการตั้งกรรมการ ชำระประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และมีความเห็นร่วมกันให้แก้ไขคำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ยังคงเพิกเฉย และเผยแพร่ข้อมูลเพียงด้านเดียวอย่างต่อเนื่อง ผ่านคำขวัญจังหวัด และงานประจำปี 11 หัวเมืองบริวารให้เข้ากันกับ 11 ประตู อันที่จริง มีการเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาเรื่องร้อยเอ็ดประตูอย่างต่อเนื่อง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ดที่ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้หลายครั้ง และมีการเผยแพร่ผ่านงานเขียนของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จนมีการจัดการเรียนการสอนวิชาร้อยเอ็ดศึกษามาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเมืองร้อยเอ็ดปัจจุบันนั้นตั้งทับซ้อนอยู่บนเมืองร้าง ผู้คนมาอยู่ใหม่จึงปรับทางออกตามความสะดวกของคนที่มาอยู่ใหม่ จะถือแผนที่ทหารที่มีขึ้นภายหลังไม่ได้

อย่างไรก็ดี ถ้าให้ความยุติธรรมกับเรื่องสิบเอ็ดประตูบ้างก็ต้องไปดูว่ามีเอกสารหลังการตั้งเมืองร้อยเอ็ดที่กล่าวถึงสิบเอ็ดประตูหรือไม่ ซึ่งเอกสารที่น่าเชื่อว่าเป็นต้นฉบับของพงศาวดารที่เกี่ยวกับร้อยเอ็ดอื่น ๆ คือ พงศาวดารภาคอีสาน ฉบับพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) นั้นไม่เคยเรียกเมืองร้อยเอ็ดว่าสิบเอ็ด

“เรื่องสิบเอ็ดประตูจึงเป็นเรื่องที่สร้างใหม่ จากความเชื่อพยายามให้เป็นความรู้ เพราะต่อมามีการนำไปสู่สถานศึกษาในรูปแบบของคำขวัญ และหลักสูตรต่าง ๆ จนมีผู้หลงเชื่อว่าความเท็จเหล่านี้เป็นความจริงเนื่องจากมีหน่วยงานรัฐเผยแพร่ผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ติดต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยความเท็จที่หน้าสนามบินก็มีให้เห็นมานานหลายปี” ผศ.ปริญ อธิบาย

ผศ.ปริญกล่าวต่อไปอีกว่า หากจะมองเรื่องสิบเอ็ดประตูเป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะไม่ต้องอิงกับหลักฐานและหลักวิชาการ แต่เสียดายงบประมาณจากภาษีที่หน่วยงานจากภาครัฐต้องนำมารักษาความเท็จด้วยการเผยแพร่และผลิตซ้ำซึ่งส่งผลไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องตกกระไดพลอยโจนด้วยสำคัญว่าได้ข้อมูลจริงจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนั้นความเสียหายเรื่องนี้จึงมีมากไม่ใช่ไม่มีอะไรเสียหาย

“เมื่อมีคนทักท้วงก็มักจบลงด้วยการเตะถ่วงที่เรียกว่าการชำระประวัติศาสตร์ร้อยเอ็ด ซึ่งก็จบลงแบบเดิม ๆ ว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอจะตัดสินใจว่าอะไรถูกระหว่างร้อยเอ็ดประตูกับสิบเอ็ดประตู ทั้งที่จริงแล้วมีข้อมูลการศึกษาที่เผยแพร่มาแล้วทั้งก่อนและหลังที่จะเกิดคำขวัญนี้ขึ้น คือมีการอธิบายเอาหลักฐานมาแสดงอย่างต่อเนื่องแต่คงไม่รับฟัง ข้ออ้างที่ว่าไม่มีหลักฐานสรุปไม่ได้ไม่มีใครเกิดทันจึงฟังไม่ขึ้นและเป็นที่มึนงงมาก” ผศ.ปริญ กล่าว

ขอขอบคุณบทความและภาพ จาก มิติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/education/news_4055387

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com