[๑๒] คนพิมาย : คนท้องถิ่นหรือผู้บุกรุก

[๑๒] คนพิมาย : คนท้องถิ่นหรือผู้บุกรุก

ภาพที่ ๑ หนังสือแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตโบราณสถานเมืองพิมาย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างทางกรมศิลปากรและชาวเมืองพิมาย เรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย ได้มาถึงจุดที่คนพิมายรวมตัวกันถือป้ายประท้วงภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง  ทนงศักดิ์ หาญวงษ์  อดีตนักโบราณคดีกรมศิลปากร และปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ ได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

สืบเนื่องจาก กรมศิลปากรได้มีหนังสือเรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย ถึงผู้ครอบครองที่ดินในเขตโบราณสถานเมืองพิมาย โดยหากมีข้อโต้แย้งให้แจ้งไปยังกรมศิลปากรภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจว่ากรมศิลปากรจะมาไล่รื้อถอนบ้านเรือนที่ตนอยู่อาศัยในเมืองพิมายนานนับร้อยปี

ดังข้อความในแผ่นป้ายชี้แจงจัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา (ภาพที่ ๒)

(ภาพที่ ๒) แผ่นป้ายประกาศชี้แจงผลกระทบจากการประกาศเขตโบราณสถานเมืองพิมาย

เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย. ๕๙ เวลา ๑๒.๓๐ น. นายจรูญ คงสัตย์ อายุ ๗๓ ปี บ้านเลขที่ ๑๕๓ หมู่ที่ ๒ ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ประธานชมรมผู้สูงอายุ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พร้อมชาวบ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า ๘๐ คน ได้ออกมาถือป้ายประท้วงคัดค้านกรมศิลปากรจะเวนคืนที่ดิน รื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เกิดความวิตก กังวล ได้ออกมาถือป้ายคัดค้านประท้วงกันที่บริเวณถนนจอมสุดาเสด็จ อยู่ด้านหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย  หลังจากที่ทางกรมศิลปากร ได้มีหนังสือส่งถึงผู้ครอบครองที่ดินในเขตโบราณสถานเมืองพิมาย จำนวน ๑,๖๖๕ ราย ว่าเมืองพิมาย เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงสมัยประวัติศาสตร์ และพัฒนาจนเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองสมัยโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีโบราณสถานเมืองพิมาย กรมศิลปากรได้จัดทำรายงานการสำรวจ กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน และจัดทำผังบริเวณและแนวเขตโบราณสถานเมืองพิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ ๒,๖๕๘ ไร่ ๒๕ ตารางวา (๔,๒๕๒,๙๐๐ ตารางเมตร) เพื่อเตรียมการประกาศ กรมศิลปากรจะเวนคืนที่ดิน รื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย ชาวบ้านที่ได้รับหนังสือได้รับความเดือดร้อน (มติชนออนไลน์. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙. http://www.matichon.co.th/news/363334)

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่ชี้แจงกรอบแนวทางและรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขตเมืองพิมาย ที่บริเวณลานพรหมทัต อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังกว่า ๑,๕๐๐ คน โดยนายขจร มุกมีค่า รองอธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงให้กับประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังว่า ทางกรมศิลปากรเพียงแค่ประกาศแจ้งให้ทราบถึงแนวเขตโบราณสถาน และแจ้งเขตควบคุมการก่อสร้างอาคารเท่านั้น ไม่ได้จะมีการเวนคืนไล่ที่ หรือสั่งรื้อถอนอาคารที่มีความสูงเกิน ๒ ชั้น ก็จะรอให้หมดสภาพไปเอง จะไม่มีการสั่งรื้อถอนเกิดขึ้นแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนที่อยู่ในเขตโบราณสถานเมืองพิมายสบายใจได้ ส่วนผู้ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณบาราย หรือสระน้ำโบราณนั้น อาจจะมีการถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์เพราะถือว่าบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน (NEW 26. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙. http://www.now26.tv/view/93526)

อย่างไรก็ดีคำชี้แจงต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้ชาวเมืองพิมายพึงพอใจ เนื่องจากการกระทำของกรมศิลปากรไม่ได้เป็นอย่างที่ได้ชี้แจงแต่อย่างใด ชาวเมืองพิมายเห็นว่ากรมศิลปากรเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดด้วยการเข้าแจ้งความข้อหาบุกรุกโบราณสถานผู้เข้าครอบครองบาราย (สระขุดโบราณ) ทั้งที่เขาเหล่านั้นมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยชอบ ชาวเมืองพิมายมองว่า กรมศิลปากรเองยอมรับว่าแต่เดิมยังไม่รู้จักบารายเพราะตกสำรวจ เมื่อมาทราบภายหลังจึงได้จัดทำแผนพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำของเมือง เมื่อได้รับงบประมาณในการพัฒนาจึงมีความจำเป็นต้องเพิกถอนสิทธิ์ หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับบารายเพื่อต้องการพัฒนาเมืองพิมายตามเขตที่ดินซึ่งกรมศิลปากรได้ชี้แจงในแผนป้าย แน่นอนว่ามีการย้ายชุมชนออกจากพื้นที่โบราณสถานด้วยบางส่วน แล้วเขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ถูกรื้อย้าย คำชี้แจงที่ชาวเมืองพิมายได้รับคือ ในขณะนี้คงไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน แต่หากเปลี่ยนอธิบดีก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของอธิบดีแต่ละคน จึงไม่สามารถบอกได้ เสียงโห่ต่อต้านจึงดังออกมาเป็นระยะ หลายคนเดินออกจากที่ประชุมก่อนที่จะสิ้นสุดการชี้แจง เนื่องจากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใด

หากย้อนกลับมาดูปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองพิมายตามลำดับความเป็นจริง (ภาพที่ ๓) พบว่า “ตามทะเบียนฯที่ประกาศในราชกิจจาฯ เล่ม ๕๓ ตอนที่  ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ ได้แยกทะเบียนออกเป็นแห่ง ๆ จึงนำมารวมกันอยู่ในทะเบียนเมืองพิมาย …ทั้งนี้เนื่องจากโบราณสถานเหล่านี้เป็นองค์ประกอบซึ่งกันและกัน ในการเป็นเมืองพิมายโบราณขึ้นมา” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๙ หน้า ๙๓-๙๕) แม้ว่าทะเบียนเมืองพิมายที่กรมศิลปากรจะจัดรวมกันขึ้นใหม่ใน พ.ศ.๒๕๒๙ แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศขอบเขตโบราณสถานเมืองพิมายให้ครอบคลุมทั้งเมือง (ภาพที่ ๔) เมื่อยังไม่ได้ประกาศเขตที่ดินหากมีการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเจ้าหน้าที่จากอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย หรือจากหน่วยศิลปากรที่ ๖ (ก่อนเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย สถานนะปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา) ต้องมาทำการชี้หรือตรวจสอบแนวเขตว่าห่างจากโบราณสถานภายในเมืองแต่ละจุดหรือไม่ หากไม่มีผลกระทบกับโบราณสถานก็ให้ก่อสร้างได้ แนวทางปฏิบัติดังกล่าวนี้ถูกใช้มาจนเป็นที่ยอมรับของชาวเมืองพิมายดี ดังปรากฏในหนังสือชี้แจงและขอความร่วมมือเรื่องการระวังชี้แนวเขตที่ดินไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาพิมาย

(ภาพที่ ๓) เมืองพิมาย ขึ้นทะเบียน พ.ศ.๒๕๗๙ ยังไม่ประกาศเขตที่ดิน และเขตที่ดินนอกเมืองพิมายที่ประกาศเขตที่ดินของกุฏิฤาษี, ท่านางสระผม ในพ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๖  รวมถึงที่เตรียมประกาศเขตที่ดินในปี ๒๕๕๙
(ภาพที่ ๔) เมืองพิมายเมื่อครั้งขึ้นทะเบียน พ.ศ.๒๔๗๙ ยังไม่ได้ประกาศเขตที่ดินโบราณสถาน

เมืองพิมายทั้งจากหนังสือทะเบียนโบราณสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.๒๕๒๙ และหนังสือติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินจึงจำกัดความหมายของเมืองพิมายเพียงแค่คูเมืองกำแพงเมืองเท่านั้น ในการอธิบายความสำคัญของเมืองไม่ได้กล่าวถึง กุฏิฤาษีน้อย และท่านางสระผม ที่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและประกาศเขตที่ดินไว้แล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๖ ทั้งที่ท่านางสระผม คือท่าน้ำของคันดินดินบารายด้านทิศเหนือ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงเมืองพิมายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ได้รวมบาราย (สระคนขุด) วัดโคก เนื่องจากยังไม่รู้จักบารายวัดโคก เพราะความคิดของแนวถนนโบราณผ่านวัดโคกมาสิ้นสุดที่ท่านางสระผม ต่อเมื่อได้ขุดแต่งโบราณสถานวัดโคก ราว พ.ศ.๒๕๕๒ จึงทราบว่าไม่มีถนนโบราณเข้าสู่วัดโคก และวัดโคกคือ ปราสาทกลางน้ำในแบบวัฒนธรรมเขมร เช่นปราสาทบารายตะวันตก กลางบารายตะวันตก จ.เสียมเรียบ กัมพูชา การเข้าสู่ปราสาทจึงใช้ทางเรือเท่านั้น (ภาพที่ ๕) และกรมศิลปากรกล่าวว่าบารายเป็นองค์ประกอบของเมืองจึงตีความหมายของเมืองพิมายใหม่ว่า ควรรวมอยู่ในเขตเมืองพิมายโบราณด้วย จึงเสนอให้ประกาศขอบเขตเมืองพิมาย ออกไปจนถึงบารายวัดโคก (ภาพที่ ๓)

เรื่องเขตเมืองพิมายจึงเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากความคิดของคนพิมายที่เคยยึดแต่คูเมืองกำแพงเมือง และโบราณสถานภายในเมืองพิมาย เป็นหลักฐานในการอยู่ร่วมกันกับโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรได้กันแนวเขตโบราณสถานที่สำคัญไว้ภายในเมืองหมดแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ได้บุกรุกเพิ่มเติมแต่อย่างใด

(ภาพที่ ๕) บารายวัดโคก และแนวถนนโบราณตรงไปยังท่านางสระผม

หากประกาศเขตที่ดินตามที่กรมศิลปากรเตรียมประกาศขอบเขตโบราณสถานปี ๒๕๕๙ พื้นที่ของโบราณสถานเมืองพิมายย่อมส่งผลกระทบกับสิทธิ์การครอบครองที่ดินและสิ่งปลุกสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากทุกคนต้องอาศัยอยู่ในเขตโบราณสถาน การกระทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะซื้อขาย โอนสิทธิ์ ซ่อมแซม ต่อเติมบ้านเรือนในเขตโบราณสถานจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเท่านั้น กฎหมายที่ใช้ดูแลเมืองจะเป็นของกรมศิลปากรเท่านั้นที่สำคัญที่สุด เช่น หากจะสร้างอาคาร ต้องสูงไม่เกิน ๘ เมตร (ผังเมืองรวมพิมายกำหนด ๙ เมตร) หากบ้านหลังใดพังหรือตึกหลังใดถล่มลงมา จะสร้างใหม่ต้องขอกรมศิลปากร และต้องสร้างได้สูงไม่เกิน ๘ เมตร กรมศิลปากรต้องชี้แจงเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๓๕ ให้ชัดว่าการอยู่ร่วมกับโบราณสถานเมืองพิมายต่อจากนี้ไปจะแตกต่างอย่างไรกับความคุ้นชินที่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากรมาโดยตลอด

รายละเอียดดังกล่าวข้างต้น น่าจะช่วยทุกคนที่สนใจเกี่ยวกับเมืองพิมาย ได้รับคำตอบว่า สาเหตุและที่มา รวมทั้งภาวการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งทางกรมศิลปากร และคนพิมาย ที่ต่างก็เป็นคนที่รักเมืองพิมายด้วยกันทั้งสิ้น จึงน่าจะมีหนทางที่จะช่วยกันหาทางออกได้อย่างสันติวิธี ด้วยการรับฟังความเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

****

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

***

คอลัมน์   ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม   นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗ | มกราคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ยกอ้อ ยอคาย ไหว้ครู บูชาคุณ
ตำนานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง
ชื่อท่าฟ้อนแม่บทอีสาน (๑)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com