[๑๓ – บทส่งท้าย] เส้นทางตามหาปาจิต และการมุ่งสู่มาตุภูมิ

[๑๓ – บทส่งท้าย] เส้นทางตามหาปาจิต และการมุ่งสู่มาตุภูมิ

ภาพเณรพาปาจิตและนางอรพิมข้ามฝั่งน้ำ นางอรพิมหลอกเณรขึ้นต้นมะเดื่อ
ที่วัดบ้างยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

เรื่องราวการเดินทางของปาจิตและอรพิม ได้ดำเนินมาถึงบทส่งท้าย เป็นเส้นทางที่อรพิมตามหาปาจิตหลังจากที่พลัดพรากโดยอุบายของเณร ที่พาปาจิตข้ามฝั่งน้ำไปฝั่งหนึ่งแล้วพานางอรพิมหนีไปตามลำน้ำ ซึ่งนางอรพิมต้องออกอุบายให้เณรขึ้นต้นมะเดื่อไปหาอาหารให้ และนำกองหนามมาสุมไม่ให้เณรลงมาได้  บางตำนานเล่าว่านางอรพิมจุดไฟเผาจนทำให้เณรตายไป ด้วยบาปที่ทำต่อปาจิตและอรพิม เณรจึงไปเกิดเป็นแมงหวี่ตอมผลมะเดื่อและผลไม้อื่น ๆ  การเดินทางนั้นจึงเริ่มตั้งแต่บริเวณหนองกี่ หนองบุนนาค (มาก) บ้านจังหัน ไปจนถึงเมืองจัมปากนคร หรือเมืองจำปาสัก

ตำนานแถบนี้เป็นการเล่าเรื่องว่านางอรพิมต้องเดินตามหาปาจิตอย่างยากลำบาก เสื้อผ้าหลุดลุ่ย จนชาวบ้านสงสารยกกี่ทอผ้าให้นางอรพิมทอผ้าใส่ ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณถนนสาย ๒๔ นครราชสีมา – อุบลราชธานี คงจะได้ผ่านบริเวณอำเภอหนองกี่เป็นประจำ หากไม่เคยได้รับทราบเรื่องราวของตำนานก็อาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ”หนองกี่” เมื่อได้เข้าไปสำรวจบริเวณที่เรียกว่าหนองกี่ก็จะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น

บริเวณศาลเจ้าแม่อรพิม อําเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้เขียนก็มีประสบการณ์นี้เช่นเดียวกัน ได้ผ่านไปมาบริเวณนี้ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่สามารถหาคำอธิบายคำว่าหนองกี่ได้ จนกระทั่งได้ทำวิจัยเรื่องเส้นทางปาจิต อรพิม และได้เข้าไปสำรวจในบริเวณนี้จึงทำให้พบกับศาลเจ้าแม่อรพิม และหนองน้ำในบริเวณนั้น ที่ชาวบ้านแถวนั้นชื่อว่า วันดีคืนดีก็จะได้เห็นกี่ลอยขึ้นมาจากน้ำ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องนางอรพิมอย่างจริงจัง

การเดินทางที่ยากลำบากทำให้นางอรพิมต้องแปลงตัวเป็นชาย โดยสละสัญลักษณ์เพศหญิงของตนไว้ตามต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น สละผมไว้กับต้นช้องนางคลี่ นมไว้กับต้นงิ้ว และอวัยวะเพศหญิง ไว้กับต้นสำโรง ซึ่งมีผลที่มีกลิ่นเหม็น เป็นต้นไม้พื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป บ้างก็บอกว่าเหมือนผลของต้นมะกอกโคก ที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศหญิง มะกอกโคกนี้มักจะพบบริเวณดินเขตภูเขาไฟ ต้นที่มีชื่อเสียงนี้เห็นได้ที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งผู้ที่ดูแลคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานภูเขาไฟกระโดง ได้จัดทำป้ายเกี่ยวกับตำนานเรื่องปาจิต อรพิม เอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นตำนานที่เกิดใหม่ เนื่องจากบันทึกในใบลานและสมุดไทย ส่วนชาวพิมายนั้นก็จะพูดถึงต้นสำโรงทั้งสิ้น การอธิบายความของชาวบ้านเช่นนี้ เป็นการหาเหตุผลที่จะมาอธิบาย ในขณะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ในเวลาหลายร้อยปีก่อน แต่เป็นบทบันทึกทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม ธรรมชาติแวดล้อมในสมัยนั้น

ต้นงิ้ว
ผลของมะกอกโคก
ลูกสําโรง

แต่เดิม มะกอกโคก นี้มีชื่อว่า “หีผี” ต่อมาได้รับการพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเปลี่ยนชื่อเป็น ”โยนีปีศาจ” ซึ่งตรงกับภาษาเขมรว่า “กนุยขมอจ”

*

พระเต้าถันนมของฉันอันเต่งตั้ง                                           

ดูเปล่งปลั่งตั้งตูมเป็นภูมิฐาน

ฉันขอฝากให้พฤกษาพยาบาล                                             

จงเป็นภารพาธุระช่วยบำรุง

อธิษฐานมิได้นานในเดี๋ยวนั้น                                               

เต้านมถันขึ้นไปติดต้นงิ้วสูง

เป็นปุ่มตาติดที่ต้นดูโตตุง                                                     

บุญบำรุงอุปถัมภ์เหมือนคำนาง

รูปจริตของสตรีโยนีนาง                                                       

แม่จอมปรางค์ฝากไว้บนต้นสำโรง

นางนงคราญอธิษฐานแล้วกราบไหว้                                   

บันดาลหายที่ในกายหมดโขยง

โยนีหายที่ในการนางนิ่มนาฏ                                               

องคชาติก็บังเกิดแทนอิตถี

กลายเป็นชายหายรูปจากนารี                                             

นางยินดีสมเหมือนใจที่หมายปอง

(กรมศิลปากร 2533  :126)

*

นอกจากนั้นบริเวณใกล้ ๆ กันชาวบ้านก็เล่าเพิ่มเติมว่า ที่อำเภอหนองบุนนาค หรือปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหนองบุญมาก ไปแล้วนั้น ก็มีกำเนิดจากตำนานเรื่องนางอรพิม หลังจากแปลงร่างเป็นชายแล้วจึงบวชเป็นนาคบริเวณนี้ และได้เดินทางไปฉันจังหันที่บ้านจังหัน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน

เมืองจำปาสักและเมืองพระนครนั้น กวีที่บรรยายน่าจะจำมาจากการบอกเล่าของผู้ที่เคยไปมา ซึ่งคนที่เดินทางในสมัยนั้นไม่ใช่เป็นนักท่องเที่ยวอย่างในปัจจุบัน แต่เป็นคนที่ไปกับกองคาราวานเกวียน นำเกลือจากพิมาย หรือนำวัวควายไปค้าชาย แลกเป็นปลาจากฝั่งโตนเลสาบของเขมร ซึ่งมักจะใช้เกลือที่นำติดไปค้าขายหมักปลาแปรรูปเป็นปลาร้า โดยใช้ไหปลาร้าแถบเขมรหรือบ้านกรวด สำรับหมักปลา จากนั้นก็เดินทางต่อไปภาคกลางเพื่อนำปลาร้าและปลาแห้งไปขาย นำสินค้าอุปโภคบริโภคจากภาคกลางกลับมาขายให้กับคนในท้องถิ่นพิมายต่อไป

การเรียนรู้เรื่องที่มาของชื่อบ้านนามเมือง นั้นเป็นการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ เรื่องราวในท้องถิ่น ภูมิทัศน์วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้เกิดความเข้าใจที่มาของการตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ การใช้งานเส้นทางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในหลาย ๆ เส้นทาง ที่ดูเหมือนจะเป็นเส้นทางสมัยใหม่เพราะพัฒนาจากถนนดิน กลายเป็นถนนคอนกรีต แต่เมื่อได้เรียนรู้ความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ของสถานที่แล้ว ทำให้เห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ถูกซ้อนทับโดยอารยธรรมสมัยใหม่ เรียนรู้ว่าชาวโคราช พิมาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชาวอีสานนั้น ได้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปมาหาสู่กันมาเนิ่นนาน ความสัมพันธ์ของเมืองต่อเมือง ชุมชนต่อชุมชน โดยปราศจากการแบ่งเขตแดนของประเทศที่ถูกกำหนดขึ้นในสมัยหลัง โดยวัฒนธรรมของชาติตะวันตกที่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสยามและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การติดต่อระหว่างญาติพี่น้อง ระหว่างชุมชนมีอุปสรรค

ผู้เขียนหวังว่าการเข้าใจเรื่องเส้นทางปาจิต อรพิม จะก่อเกิดแรงบันดาลใจกับผู้อ่าน ในการทำความเข้าใจในท้องถิ่นที่อยู่ของตนเอง เพื่อให้เกิดความรักถิ่นฐานให้มากขึ้น โดยผู้เขียนหวังว่านอกจากจะเกิดการพัฒนาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นยังจะสามารถพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจให้กับชุมชนตนเองด้วย เรื่องเล่าเหล่านี้ที่ชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของได้อีกด้วย

****

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

[๑๒] คนพิมาย : คนท้องถิ่นหรือผู้บุกรุก

***

คอลัมน์   ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม   นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ | กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com