๑๒ เดือนของไทมาว

“ไทมาว” คือชื่อคนไทที่อาศัยอยู่แถบเมืองมาวหลวง อำเภอเต๋อหง อำเภอญุ่ยลี่ ในมณฑลยูนนาน

คำว่า “เต๋อหง” 德宏 เสียงกลายไปจากคำไทมาว ว่า “เต๋อ = ใต้, หง = คง คือแม่น้ำคง หรือสาละวิน หรือนู่เจียงในภาษาจีน) ส่วน “ญุ่ยลี่” นั้นเป็นคำจีน

“มาว” เป็นชื่อแม่น้ำ คือแม่น้ำมาว คนไทแถบนั้นก่อตั้งรัฐเมืองมาวหลวงขึ้น มีตำนานว่าก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ ๕๘๖ (ยุคโน้น ยังถูกครอบงำด้วยอำนาจของอาณาจักรหนานเจาหรือน่านเจ้า) ภายหลังจึงมีเอกราช (ตำนานขุนลู ขุนไล ในช่วงประมาณ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐)

รัฐไทมาวหลวงนี้ เป็นต้นเค้าของ “รัฐไทใหญ่” และ “รัฐไทอาหม” เป็นเรื่อง “ไท” หัวข้อใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจให้แจ่มชัด

 

 

อักษรไทมาว

ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ “ทุนจิ่งดาว” “ดาว” (ดาว, ดารา) เป็นนามสกุล ไพเราะดีจัง “ทุนจิ่ง” เป็นชื่อ

“ทุน” มีความหมายตรงกับภาษาไทย “จิ่ง” แปลว่า เพชรพลอย พบกันเมื่อสามสิบปีก่อน ขณะเขาทำปริญญาโทอยู่ที่คุนหมิง ต่อมาเขามาเรียนปริญญาจนจบที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จึงสนิทสนมกันมาก ได้พาเขาไปเที่ยวที่ต่างๆ ในประเทศไทยหลายแห่ง

ครั้งหนึ่งพาไปกาญจนบุรี คุณทุนจิ่งดาว ชอบเขียนบทกวี คืนที่ผมพาไปค้างบ้าน คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เราจึงคุยกันเรื่องเกี่ยวกับภาษาและกวีกันมาก

บทกวีฉันทลักษณ์ ภาษาไทยมาว เขาเรียกว่า “ควมกับถูก” (ความกับถูก) “ควม” คือ ความ “กับ” หมายถึง สัมผัสคล้องจองกัน “ถูก” คือถูกต้องเหมาะสม

“ควมกับถูก” บทกวีที่มีฉันทลักษณ์นั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่ในใต้คงไม่ค่อยนิยมกันแล้ว หันไปแต่งคำประพันธ์ปนคำจีนเพื่อแสดงว่าตนเก่งภาษาจีน คุณทุนจิ่งดาวเป็นห่วงเสียดายความรู้ อันเป็นมรดกทางภาษาของคนไทมาวจะหมดไป

เขาได้ยกตัวอย่าง คำสอนเด็กให้นับหนึ่งถึงสิบสองในภาษาไทมาวให้พวกเราฟัง ซึ่ง 12 ข้อความนี้ก็ได้แสดงถึงสภาพของภูมิอากาศในช่วง 12 เดือนด้วย ถ้อยคำเหล่านี้ไพเราะและสื่อความหมายชัดแจ้งดีมาก

เดือนทั้งสิบสองนี้เป็นปฏิทินหนไท (ปฏิทินล้านนา) ซึ่งตรงกับระบบปฏิทินในยุคราชวงศ์ซางของจีน (จีนปรับเปลี่ยนระบบปฏิทินใหญ่ในยุคราชวงศ์ฮั่น ปฏิทินจีนจึงไม่ตรงกับปฏิทินหนไท)

หนึ่ง – ปาตึงเลิ่ง = ปลาถึงลุ่มถึงวังน้ำ
สอง – ปาหลองแห้ง = ปลาหนองแห้ง
สาม – หมักขามสุกเหลือต้น = มะขามสุกเหนือต้น
สี่ – สามขึ้นกี่ตอลาย = สาวขึ้นกี่ทอลาย
ห้า – มอกญ่ากี่เหลือผา = ดอกหญ้าคลี่เหนือผา
หก – ล่ำตกคองสีโม่ = น้ำตกคลอเสียงดัง
เจ็ด – สาวป่อยเปดล่องล่ำ = สาวปล่อยเป็ดล่องน้ำ
แปด – ถ้าตายแดดเหนือเมอ = ต้นกล้าตายแดดเหนือมือ
เก้า – เข้าปั่นก็ขิวจิ้ม = ข้าวปั้นกอเขียวขจี
สิบ – ลกจับจิบจ่ำปาย = นกจับเกาะติดปลายไม้
สิบเอ็ด – ลกเก็ดเข้ากางลา = นกเก็บข้าวกลางนา
สิบสอง – ลกป้าอิ่มป้าอ่องอิ่มเข้า = นกอิ่มข้าวจนบินไม่ไหว

 

งานแต่งงานไทมาวขันหมากไทมาว

ขอบคุณภาพจาก http://tieba.baidu.com/p/2948733563

***

คอลัมน์ ล้านนาคดี นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ | พฤษภาคม ๒๕๕๘

Related Posts

บุญบั้งไฟ : ไร้รากเหง้า แต่จะเอาดอกผล
ดอกมะเดื่อเป็นของหายาก…จริงหรือ?
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com