มื่อเขียนเรื่องข้าว ทำให้คิดถึงคำโบราณที่เคยได้ยินได้ฟังจากผู้ใหญ่ว่า

“ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร”

สมัยเด็กได้ยินแล้วก็สงสัยว่า

ทำไมผู้ชายจึงเป็นข้าวเปลือก แล้วทำไมผู้หญิงจะต้องเป็นข้าวสาร อะไรที่ทำให้คนสองเพศนี้มีความแตกต่างกัน

ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้น ได้แต่พูดแต่ไม่มีคำอธิบาย

กว่าจะรู้กว่าจะเข้าใจ หมดข้าวเปลือกเป็นเกวียน หมดข้าวสารเป็นกระสอบ จึงพอที่จะเขียนเล่าได้

ก่อนที่จะเขียนถึงข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ก็จะต้องเขียนเรื่องของข้าวก่อน

อันว่าข้าวนั้น ถ้าจะแบ่งออกอย่างกว้าง…กว้างก็จะต้องแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

ข้าวเจ้าหนึ่ง ข้าวเหนียวอีกหนึ่ง และข้าวสาลีอีกหนึ่ง

(แต่ไม่ขอเอา “ข้าวโพด” เข้ามาเขียนรวมไว้เพราะข้าวโพดมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา วัฒนธรรมข้าวเจ้า…ข้าวเหนียวและข้าวสาลีของทวีปเอเชีย)

“ข้าวเจ้า”…ชื่อนี้เคยสงสัยไหมว่าทำไมจึงเป็นชื่อนี้?

เพราะเป็นข้าวของเจ้า (นาย) หรือไง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วข้าวไพร่ (ขี้ข้า) ไม่มีบ้างหรืออย่างไร?

มีข้อสันนิษฐานมากมาย สำหรับการเรียกข้าวนี้ว่าข้าวเจ้า

ท่านผู้รู้เรื่องภารตศาสตร์ก็อ้างว่า คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตของอินเดีย เพราะคำว่า “จ้าว” แปลว่า “ข้าว”

คำนี้เรียก “ข้าวเจ้า” มาเป็นพันปี ปัจจุบันคนอินเดียก็ยังเรียกข้าวว่า…เจ้า

การที่คนไทยเรียกข้าวเจ้า ก็เรียกตามคนอินเดียนำเอาวัฒนธรรมในการกินข้าวเจ้ามาสอนให้คนไทยกิน เพราะแต่เดิมคนไทยกินข้าวเหนียว

แต่การที่คนไทยเปลี่ยนจากการกินข้าวเหนียวมากินข้าวเจ้าตามแขกในตอนแรก…แรกก็เป็นพวกกษัตริย์หรือคนชั้นสูง

คงจะเป็นเพราะคำแนะนำของพราหมณ์ที่เคารพนับถือ ข้าวที่พวกคนระดับบนจึงถูกเรียกว่าเป็นข้าวของเจ้า (นาย)

ข้อสันนิษฐานนี้ ก็ถูกลากโยงไปอีกว่า

ข้าวเจ้าที่ถูกเรียกว่า “ข้าวสวย”

เป็นคำเรียกแผลงมาจากคำว่า

“ข้าวเสวย” ของพระมหากษัตริย์

แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้ เพราะว่าคำว่าข้าวเจ้านี้ คนไทยทางภาคเหนือโบราณ ก็เรียกข้าวนี้ว่า…ข้าวจ้าว

ความหมายของคำว่า “ข้าวจ้าว” นี้ ในพจนานุกรมล้านนาไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวงมีคำอธิบายว่า

.

จ้าว…หมายถึงแห้งหมาด ไม่มีน้ำ

หมายถึงข้าวหุงแล้วสวยไม่เหนียว

ไม่แฉะ เรียกว่า “ข้าวจ้าว”

หรือ “เข้าเจ้า”

(ในสมัยโบราณเรียก “ข้าว” ว่า “เข้า”)

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ข้าวเจ้า” นั้น คนไทใหญ่ซึ่งเป็นคนไทยที่กินข้าวเจ้า แตกต่างไปจากบรรดาคนไทยล้านนา ที่นิยมกินข้าวเหนียว

เช่นเดียวกับชาวไทลาว ก็เป็นคนไทที่กินข้าวเหนียวเช่นกัน

คนไทใหญ่เรียก “ข้าวเจ้า” ว่า “เข้าจ้าว”

รวมทั้งมีตัวอักษรไทเขียนไว้เช่นนี้

ส่วนข้าวเหนียว ที่คนไทใหญ่ออกเสียงเป็น “เข้าเหนา” เขียนเป็นตัวหนังสือดังนี้



และเหตุผลเดียวกันกับคนไทยภาคกลาง ที่เรียก “ข้าวเจ้า” ก็เพราะข้าวเจ้าเป็นข้าวที่ภาคกลางกิน ส่วนข้าวเหนียวเป็นข้าวที่คนภาคเหนือและภาคอีสานกิน

แต่ข้าวเหนียวที่ว่านั้น คนไทยทั้งสองภาคเรียกอีกชื่อว่า “ข้าวนึ่ง”

คราวนี้ก็จะต้องเขียนที่มาของคำว่า “ข้าวสาน” ที่เขียน…เขียนกันอยู่ที่ใช้คำว่า “ข้าวสาร”

นักวิชาการทางโภชนาการ ระบุว่าเขียนไม่ถูก

คำที่ถูกจะต้องเขียนว่า “ข้าวสาน”

เหตุผลก็คือ คำว่า “สาน” นั้นหมายถึง การเอาเปลือกออก  เช่น ถั่วสาน งาสาน

ทุกวันนี้ก็ยังมีคำที่ใช้อยู่คือ “จักสาน” ซึ่งถ้าจะแยกคำอธิบายออกมาก็มีความหมายดังนี้

“จัก”…คือการฉีกออกให้เป็นแฉก

“สาน” …คือการเอาเปลือกออกมา

อย่างที่คำที่ใช้ว่า ไม้ไผ่สานเพื่อทำเป็น “จักตอก” นั้น ก็คือสานเปลือกไม้ไผ่ให้ออก แล้วมาจักเป็นแฉกเพื่อเป็นตอก

ข้าวก็เช่นกัน จะต้องสานเอาเปลือกออกมาก่อน จึงจะได้เมล็ดข้าวภายในเอามาหุงหาเป็นอาหารได้

แต่การเขียน “ข้าวสาน” เป็น “ข้าวสาร” นั้น

สันนิษฐานว่า เกิดจากนักปราชญ์ไทยสมัยอยุธยา ไปหยิบเอาคำของเขมรมาใช้

เพราะเขมรใช้ตัว “ร.เรือ” แทนตัว “น.หนู”

ตัวอย่างจะเห็นได้จากคำว่าเดิน เขมรจะเขียนเป็นเดิร หรือคำว่างาน เขมรจะเขียนเป็นงาร

ข้าวสานก็เลยกลายเป็นข้าวสาร

เพราะเช่นนี้ ข้าวสานซึ่งเป็นคำไทยที่ถูกต้องแต่โบราณ จึงต้องกลายเป็นข้าวสารตามเขมรไป

เรื่องนี้จึงจะต้องเขียนให้เข้าใจ และเพื่อความถูกต้องที่จะต้องให้เด็กรุ่นต่อไปได้รู้ไว้ว่า

ข้าวเปลือก ก็คือข้าวที่ยังติดเปลือกอยู่

ข้าวสาน ก็คือข้าวที่กะเทาะเปลือกออกไปแล้ว

และเรื่องทั้งหลายจึงต้องวกเข้ามาถึงคำโบราณที่ท่านกล่าวว่า

“ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร”

ข้าวทั้งสองอย่างเป็นของคู่กัน ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังความปรากฏอยู่ใน “อิศรญาณภาษิต” ที่เขียนไว้ว่า

.

ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสารโบราณว่า

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย

เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ

รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ

ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ

ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ

สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล

เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com