[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)
อุโบสถหรือหอพระบาทด้านซ้าย และหอไตรด้านขวา ในบริเวณวัดทุ่งศรีเมือง
จากเรื่องเล่าของชาวบ้าน สู่วรรณกรรมทางพุทธศาสนา และได้รับการบันทึกในรูปคำกลอน ทั้งโคลงทวาทศมาส ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน และในรูปใบลานนิทานธรรม มีอิทธิพลผ่านการเล่าด้วยการบันทึกในรูปแบบตัวเขียน และการเทศนา ย้อนกลับไปสู่ชาวบ้านให้ได้รับรู้เรื่องราวนิทานพื้นบ้านของตนอีกครั้ง นอกจากการบันทึกในเชิงวรรณกรรมแล้ว ยังมีอีกรูปแบบของการบันทึกความประทับใจในตำนานปาจิตอรพิม ในรูปแบบงานศิลปะแขนงอื่น ๆ ทั้งภาพวาดฝาผนัง หรือที่ทางอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” ภาพวาดที่บานหน้าต่าง
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอารามหลวง สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ภายในวัดหลายอย่างด้วยกัน หอไตรกลางนํ้า ซึ่งถือว่าเป็นหอไตรที่สวยที่สุดในภาคอีสานแห่งหนึ่ง เป็นที่บรรจุพระไตรปิฎก สร้างขึ้นในราวพ.ศ. ๒๓๘๕-๒๓๘๙ โดยญาคูช่าง พระชาวเวียงจันทน์ ตั้งไว้กลางนํ้าเพื่อป้องกันแมลงกัดแทะของสำคัญ เป็นศิลปะที่ผสมผสานทางช่างทั้งแบบไทย ลาว และพม่า มีการเขียนภาพฝาผนังภายในและลงรักปิดทอง ซึ่งในปัจจุบันมีการเก็บหนังสือใบลานประเภทต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือประวัติตำนานของเมืองอุบลฯไว้อีกด้วย
อุโบสถ หรือหอพระบาท ภายในประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์เงินและรอยพระพุทธบาท ในวัดทุ่งศรีเมืองนั้น กรมศิลปากรได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๒ ตอนที่ ๕๙ ง. วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม ภาพพุทธประวัติภาพไตรภูมิ ภาพเทพชุมนุม ภาพชาดกเรื่องพระเวสสันดร และภาพจากปัญญาสชาดกเรื่องพระปาจิตและนางอรพิมที่บานแผละ (ที่พักของบานหน้าต่างไม้)
ฮูปแต้มวัดทุ่งศรีเมืองนั้น ส่วนใหญ่ใช้สีแดงสด มีการวาดที่เป็นแบบจากทางกรุงเทพฯมากกว่าเป็นแบบพื้นบ้าน ธิดา สาระยา ได้กล่าวไว้ว่า เป็นภาพฝาผนังแบบศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างได้ใช้อย่างภาพวาดแบบกรุงเทพฯ (จากการที่ผู้เขียนได้สนทนากับเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้กล่าวว่า ท่านเคยรู้มาว่าเป็นช่างอีสานที่ได้ไปอยู่เมืองหลวง และได้กลับมาวาดให้กับวัดทุ่งศรีเมือง) มีการผสมผสานการวาดแบบพื้นบ้านด้วยลีลาและท่วงทำนองภาพที่ดูครึกครื้นมีชีวิตชีวา การระบายสีด้วยพื้นสีแดงฉํ่าตลอด ทำให้เกิดบรรยากาศอันน่ารื่นเริงบันเทิงใจ
การจัดวางภาพในหอพระบาทนั้น สุภาวดี ไชยกาล กล่าวว่า “ได้จัดลำดับภาพโดยเริ่มจากขวามือพระประธาน เขียนภาพชาดก เรื่องพระเวสสันดร ด้านซ้ายมือของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนก่อนตรัสรู ้ ด้านบนสุดของ
ผนังด้านขวาและซ้ายเขียนภาพเทพชุมนุม มีภาพทั้งหมด ๒๔ องค์ โดยมีข้างละ ๑๒ องค์ ซึ่งแต่ละองค์คั่นด้วยบังสูรย์และพุ่มข้าวบิณฑ์”
ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนปรินิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและการเฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุ
ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนมารผจญและหลังการตรัสรู้
ผนังระหว่างประตูหน้าต่างและบานแผละเริ่มจากซ้ายมือพระประธานเขียนเรื่อง ชาดก จุลปทุมชาดก ปาจิตต์กุมารชาดก สังข์ศิลป์ชัยชาดกและยังเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อธรรมชาติเช่นต้นมักลีผล วิถีชาวบ้าน และสัตว์ป่า
บานหน้าต่าง เขียนภาพทศชาติ เริ่มจากซ้ายมือพระประธานเขียนเรื่อง พระเตย์มีใบ้ พระมหาชนก พระเนมิราช สุวรรณสาม พระภูริฑัติพระมโหสถ พระพรหมนารถ จันทรราช พระเวสสันดร พระวิทูร และภาพเทพพนม”๑
๑ ผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากจากวิทยานิพนธ์พุทธศาสตร์มหาบัณฑิตของ สุภาวดี ไชยกาล เรื่องวิเคราะห์คติธรรมจากจิตรกรรมฝาผนังวัดทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๖
ภาพจากเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกอยู่ที่บานแผละด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ในส่วนของภาพเขียนเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกนั้น เป็นภาพที่วาดไว้ที่บานแผละด้านซ้ายมือ แสดงให้เห็นว่าเป็นที่นิยมและแพร่หลายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สุภาวดีให้ความเห็นว่าปาจิตต์กุมารชาดกนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความ
รักและความซื่อสัตย์ที่มั่นคงของนางอรพิมที่มีต่อสามี ผู้เขียนขอเพิ่มเติมจากการวิจัยว่า ปาจิตต์กุมารชาดกนั้น เป็นภาคที่แสดงให้เห็นถึงความรักนั้นคือการพลัดพราก เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์และบางตำราอ้างถึงว่านี่คือเหตุที่พระอานนท์เทศนาให้แก่พระสงฆ์ได้สดับฟังว่า ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงมีบัญญัติไว้ไม่ให้อยู่ใกล้อิสตรีเพราะจะมีแต่เรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะพระพุทธองค์ในอดีตชาติของปาจิตนั้นต้องตามหานางอรพิมอยู่ถึง ๗ ปี
สำหรับผู้สนใจที่จะเดินทางไปชมภาพปาจิต อรพิม ที่วัดทุ่งศรีเมืองนั้น ต้องเข้าใจว่าภาพที่ปรากฏนั้นไม่ใช่เป็นภาพที่เป็นเรื่องราวหลักของอุโบสถ เช่น ประวัติพระพุทธเจ้า หรือชาดกที่เป็นที่นิยม เช่นพระเวสสันดร การไปตามหาภาพจากเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกนั้น นับว่าเป็นการค้นคว้าอย่างหนึ่ง การที่คนส่วนใหญ่ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วไม่เข้าใจ ตีความภาพไม่ออก ก็น่าจะเกิดจากการไม่เข้าใจในเนื้อหาของเรื่อง หากเราได้ศึกษาทำความเข้าใจแล้ว เมื่อไปเจอภาพที่ศิลปินได้แต้ม หรือระบายเอาไว้ตามผนัง ซึ่งมักจะเป็นภาพที่เป็นตัวแทนฉากสำคัญจากการตีความเนื้อเรื่องของศิลปินหรือช่างแต้ม
ที่วัดทุ่งศรีเมืองมีการวาดภาพเรื่องปาจิต-อรพิมไว้สามฉากด้วยกัน ผู้เขียนคิดว่า การที่ศิลปิน หรือช่างแต้มเลือกฉากเหล่านี้ที่คิดว่าสำคัญคือ เป็นตอนที่เกี่ยวกับเถน หรือเกี่ยวข้องกับวัดที่สุด ไม่เลือกที่จะวาดตอนที่นางอรพิมบวชเป็นพระ เพราะคงจะยากแก่การตีความและความเข้าใจของคนดู หากผู้ชมภาพไม่เคยรับรู้เรื่องราวของชาดกนอกนิบาตเรื่องนี้มาก่อน ก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจได้โดยง่าย หรือเกิดการตีความผิด ๆ เพราะเป็นภาพของเถนนั่งในเรือกับสีกา โดยสามภาพดังกล่าวนี้แบ่งเป็น
ภาพแรกนั้น เถนทองหลอกพาปาจิตไปส่งที่ริมตลิ่งอีกฝั่งหนึ่ง แล้วให้นางอรพิมขึ้นเรือไปด้วยและทิ้งปาจิตไว้ที่ริมตลิ่ง เถนให้เหตุผลว่าเรือลำเล็กไปทั้งหมดพร้อมกันสามคนไม่ได้ ต้องพาไปส่งตลิ่งอีกฝั่งทีละคน ปาจิตไม่อยากให้นางอรพิมข้ามไปก่อนเพราะไม่รู้ว่าแม่น้ำนั้นอันตรายอย่างไร จึงจะเป็นคนทดลองข้ามฝั่งดูก่อน แล้วค่อยให้เถนพายกลับมารับอรพิมอีกครั้ง เถนจึงสบโอกาสที่จะนำปาจิตไปทิ้งไว้อีกฝั่งและพาอรพิมพายเรือหนีไป
เถนเรือลอยฟังถ้อยปาจิตว่า
ยิ่งหรรษาเหมือนอารมณ์สมประสงค์
เณรจึงว่าถ้าจะไปก็รีบลง
จะข้ามส่งเสียให้พ้นต่างคนไป
พระเนื้อเย็นฟังเณรนั้นกล่าวว่า
ไม่นิ่งข้าสั่งน้องผู้พิสมัย
พี่ข้ามก่อนจึงจะผ่อนเอาน้องไป
แล้วหน่อไทลงมานั่งที่กลางเรือ
เถนฟากฝั่งส่งไว้แล้วบ่ายเรือ
มารับนางนิ่มเนื้อนวลละออง
เถนรีบพายส่งท้ายนาวาวิ่ง
นางยอดมิ่งไม่เห็นผัวยิ่งมัวหมอง
ฝ่ายว่าเถนมุ่งใจจะหมายปอง
มาเถิงน้องเรียกสีกาอย่าช้าที
นางเนื้อเย็นฟังเถนร้องเรียกหา
ก็ลงมาเรือพลันขมันขมี
ขึ้นนั่งเรือเณรขยายบ่ายนาวี
เณรพายรี่ทวนนํ้าลํ้าขึ้นไป
(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๑๗)
เมื่ออรพิมผิดสังเกตถามว่าทำไมจึงพายเรือไปอีกทางไม่พาไปส่งที่ท่านํ้าที่ปาจิตรออยู่ เถนทอง หรือเณรทองได้บอกอรพิมว่า ปาจิตฝากมาบอกว่าจะต้องเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาตามลำพัง และบอกว่าปาจิตได้ฝากนางอรพิมไว้กับตนซึ่งตนจะออกไปบิณฑบาตเลี้ยงดูนางอรพิมในตอนแรก และคิดจะลาสิกขาไปอยู่กับนางเสีย นางอรพิมรู้ทันเถนทอง ไม่เชื่อเรื่องที่เถนทองเล่าจึงคิดว่า เถนทองนี้คิดไม่ซื่อเป็นแน่แท้จึงคิดอุบายที่จะจัดการเถนทอง อ้างว่าหิวข้าวอยากจะกินอะไร เถนทองจึงแวะจอดเรือ พบต้นมะเดื่อใหญ่จึงพยายามไต่ขึ้นต้นมะเดื่อ เก็บลูกมะเดื่อให้นางอรพิมกินเป็นอาหาร
ภาพต่อไปจึงเป็นอุบายของนางอรพิม ที่หลอกให้เถนทอง หรือเณรทองขึ้นต้นมะเดื่อ โดยล่อหลอกให้ขึ้นไปกิ่งยอดที่สูงที่สุด เพื่อเก็บมะเดื่อพวงที่โตที่สุด โดยที่ไม่ได้มองลงมามัวแต่ขึ้นไปตามคำของนางอรพิม ระหว่างนั้นนางอรพิมก็ไปเอาหนามมาสุมไว้ใต้โคนต้นมะเดื่อเณรลงมาไม่ได้เพราะกลัวหนามทิ่มตำจนอดอาหารตายไป และกลายเป็นแมลงหวี่ตอมผลไม้
ผลกรรมนำนางมาพลัดผัว
เข้าสูญใจกายตัวรำสับรำสน
เหมือนผีสิงปวดเศียรให้เวียนวน
ทุรายทุรนงงงวยระทวยกาย
ทะลูดลงมิได้แลดูใต้ต้น
ด้วยเสียใจไฟประจญเหมือนจิตหาย
เปรียบเหมือนคนถึงชนวนที่จวนตาย
นั้นฉันใดก็เหมือนกันกับจัญเณร
ด้วยเสียรู้ด้วยผู้หญิงนั้นลวงได้
ทั้งเสียเรือเสียพายเสียใจเถน
ดังเขาฟันให้พระศอคอกระเด็น
ตะเกียกตะเกนลงถึงจึงรู้กาย
ชำเลืองเหลือแลลงไปที่ใต้ต้น
เห็นหนามพวกมากล้นพ้นก็ใจหาย
เป็นเชิงสูงซ้อนซับไม่ซะซาย
เหมือนสะรั้วโรมไว้ดูก่ายกอง
…
เถรจอมปลอมนั่งคร่อมกิ่งมะเดื่อ
ลงไม่ได้ทำเหมือนเบื้อนํ้าตาไหล
ทั้งรักทั้งแค้นทุกข์ตรมระบมใจ
ด้วยมิได้กินข้าวทั้งเพลาแรง
ก็บรรลัยตายบนต้นมะเดื่อ
ด้วยกรรมเหลือความอาลัยใจกำแหง
จิตไปผูกอยู่ที่ลูกมะเดื่อแดง
เวราแรงกรรมที่รักนั้นชักพา
เอากำเนิดเกิดในลูกมะเดื่อ
มาเป็นเชื้อจนทุกวันเจียวท่านขา
เป็นแมงมี่นี่แลเวรแต่เถนมา
ชาวโลกาเรียกมะเดื่อตาเถนทอง
ครั้นตาเถนสิ้นเวรจากมะเดื่อ
ด้วยว่าเชื้อตาเถนไม่เศร้าหมอง
สัตว์ทั้งปวงไปอยู่เดนตาเถนทอง
จึงเรียกร้องว่าแมงมี่ทุกวันมา
(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓-๑๒๔)
ภาพที่สาม เมื่อนางอรพิมทิ้งตาเถนทองไว้ที่ต้นมะเดื่อแล้ว แอบย่องมาพายเรือออกไปตามหาปาจิต แต่ไม่ว่าจะพายไปข้างไหนก็หาปาจิตไม่เจอ จนหมดแรง และคิดว่าถ้าจะเป็นหญิงและเดินทางในป่าคนเดียวแบบนี้จะไม่ปลอดภัย จึงอธิษฐานขอเป็นบุรุษจากพระอินทร์ โดยฝากอวัยวะในร่างกายไว้กับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ
โอ้พี่ไพรเหตุไฉนมาทิ้งน้อง
แต่กู่ร้องส่งสำเนียงจนเสียงหลง
ฟังก็นานไม่ยินขานสงัดพง
นางโฉมยงกลับมานาวาพลัน
ลงนั่งท้ายพายพานาวาข้าม
ตัดแม่นํ้าข้ามฟากขมีขมัน
จอดประทับกับฝั่งนัททีพลัน
นางแจ่มจันทร์ขึ้นไปลัดสกัดรอย
เที่ยวเลาะลัดไปตามหาดตลิ่งฝั่ง
เห็นรอยนั่งชลนัยน์นางไหลผ็อย
เสียงสะอื้นครื้นเครงบรรเลงลอย
ทิ้งแต่รอยไว้ให้น้องประจักษ์ตา
(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๒๕)
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า การที่จะเข้าใจภาพจิตรกรรมฝาผนัง หากเรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ก็จะทำให้การชมภาพมีความรู้ความเข้าใจ และความรื่นรมย์อยู่มาก ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ และความเข้าใจของศิลปินผู้ถ่ายทอดเรื่องราวว่ามีความสามารถในการจับความสำคัญของเรื่อง
หมายเหตุ: ผู้เขียนนำบทกลอนประกอบเรื่องมาจาก วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ ไม่ปรากฏผู้เขียน พิมพ์โดยกรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๓๓
(ติดตามต่อฉบับหน้า)
ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม
ท้าวปาจิต – นางอรพิม : จากตํานานท้องถิ่น สู่ชาดกนอกนิบาต
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]
[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)
[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี
[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑
เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]
[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)