[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

อุโบสถหรือหอพระบาทด้านซ้าย และหอไตรด้านขวา ในบริเวณวัดทุ่งศรีเมือง

จากเรื่องเล่าของชาวบ้าน สู่วรรณกรรมทางพุทธศาสนา และได้รับการบันทึกในรูปคำกลอน ทั้งโคลงทวาทศมาส ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน และในรูปใบลานนิทานธรรม มีอิทธิพลผ่านการเล่าด้วยการบันทึกในรูปแบบตัวเขียน และการเทศนา ย้อนกลับไปสู่ชาวบ้านให้ได้รับรู้เรื่องราวนิทานพื้นบ้านของตนอีกครั้ง นอกจากการบันทึกในเชิงวรรณกรรมแล้ว ยังมีอีกรูปแบบของการบันทึกความประทับใจในตำนานปาจิตอรพิม ในรูปแบบงานศิลปะแขนงอื่น ๆ ทั้งภาพวาดฝาผนัง หรือที่ทางอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” ภาพวาดที่บานหน้าต่าง

วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอารามหลวง สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ภายในวัดหลายอย่างด้วยกัน หอไตรกลางนํ้า ซึ่งถือว่าเป็นหอไตรที่สวยที่สุดในภาคอีสานแห่งหนึ่ง เป็นที่บรรจุพระไตรปิฎก สร้างขึ้นในราวพ.ศ. ๒๓๘๕-๒๓๘๙ โดยญาคูช่าง พระชาวเวียงจันทน์ ตั้งไว้กลางนํ้าเพื่อป้องกันแมลงกัดแทะของสำคัญ เป็นศิลปะที่ผสมผสานทางช่างทั้งแบบไทย ลาว และพม่า มีการเขียนภาพฝาผนังภายในและลงรักปิดทอง ซึ่งในปัจจุบันมีการเก็บหนังสือใบลานประเภทต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือประวัติตำนานของเมืองอุบลฯไว้อีกด้วย

อุโบสถ หรือหอพระบาท ภายในประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์เงินและรอยพระพุทธบาท ในวัดทุ่งศรีเมืองนั้น กรมศิลปากรได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๒ ตอนที่ ๕๙ ง. วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม ภาพพุทธประวัติภาพไตรภูมิ ภาพเทพชุมนุม ภาพชาดกเรื่องพระเวสสันดร และภาพจากปัญญาสชาดกเรื่องพระปาจิตและนางอรพิมที่บานแผละ (ที่พักของบานหน้าต่างไม้)

ฮูปแต้มวัดทุ่งศรีเมืองนั้น ส่วนใหญ่ใช้สีแดงสด มีการวาดที่เป็นแบบจากทางกรุงเทพฯมากกว่าเป็นแบบพื้นบ้าน ธิดา สาระยา ได้กล่าวไว้ว่า เป็นภาพฝาผนังแบบศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างได้ใช้อย่างภาพวาดแบบกรุงเทพฯ (จากการที่ผู้เขียนได้สนทนากับเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้กล่าวว่า ท่านเคยรู้มาว่าเป็นช่างอีสานที่ได้ไปอยู่เมืองหลวง และได้กลับมาวาดให้กับวัดทุ่งศรีเมือง) มีการผสมผสานการวาดแบบพื้นบ้านด้วยลีลาและท่วงทำนองภาพที่ดูครึกครื้นมีชีวิตชีวา การระบายสีด้วยพื้นสีแดงฉํ่าตลอด ทำให้เกิดบรรยากาศอันน่ารื่นเริงบันเทิงใจ

การจัดวางภาพในหอพระบาทนั้น สุภาวดี ไชยกาล กล่าวว่า “ได้จัดลำดับภาพโดยเริ่มจากขวามือพระประธาน เขียนภาพชาดก เรื่องพระเวสสันดร ด้านซ้ายมือของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนก่อนตรัสรู ้ ด้านบนสุดของ

ผนังด้านขวาและซ้ายเขียนภาพเทพชุมนุม มีภาพทั้งหมด ๒๔ องค์ โดยมีข้างละ ๑๒ องค์ ซึ่งแต่ละองค์คั่นด้วยบังสูรย์และพุ่มข้าวบิณฑ์”

ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนปรินิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและการเฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุ               

ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนมารผจญและหลังการตรัสรู้

ผนังระหว่างประตูหน้าต่างและบานแผละเริ่มจากซ้ายมือพระประธานเขียนเรื่อง ชาดก จุลปทุมชาดก ปาจิตต์กุมารชาดก สังข์ศิลป์ชัยชาดกและยังเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อธรรมชาติเช่นต้นมักลีผล วิถีชาวบ้าน และสัตว์ป่า

บานหน้าต่าง เขียนภาพทศชาติ เริ่มจากซ้ายมือพระประธานเขียนเรื่อง พระเตย์มีใบ้ พระมหาชนก พระเนมิราช สุวรรณสาม พระภูริฑัติพระมโหสถ พระพรหมนารถ จันทรราช พระเวสสันดร พระวิทูร และภาพเทพพนม”

ผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากจากวิทยานิพนธ์พุทธศาสตร์มหาบัณฑิตของ สุภาวดี ไชยกาล เรื่องวิเคราะห์คติธรรมจากจิตรกรรมฝาผนังวัดทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๖

ภาพจากเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกอยู่ที่บานแผละด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก

ในส่วนของภาพเขียนเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกนั้น เป็นภาพที่วาดไว้ที่บานแผละด้านซ้ายมือ แสดงให้เห็นว่าเป็นที่นิยมและแพร่หลายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สุภาวดีให้ความเห็นว่าปาจิตต์กุมารชาดกนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความ

รักและความซื่อสัตย์ที่มั่นคงของนางอรพิมที่มีต่อสามี ผู้เขียนขอเพิ่มเติมจากการวิจัยว่า ปาจิตต์กุมารชาดกนั้น เป็นภาคที่แสดงให้เห็นถึงความรักนั้นคือการพลัดพราก เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์และบางตำราอ้างถึงว่านี่คือเหตุที่พระอานนท์เทศนาให้แก่พระสงฆ์ได้สดับฟังว่า ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงมีบัญญัติไว้ไม่ให้อยู่ใกล้อิสตรีเพราะจะมีแต่เรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะพระพุทธองค์ในอดีตชาติของปาจิตนั้นต้องตามหานางอรพิมอยู่ถึง ๗ ปี

สำหรับผู้สนใจที่จะเดินทางไปชมภาพปาจิต อรพิม ที่วัดทุ่งศรีเมืองนั้น ต้องเข้าใจว่าภาพที่ปรากฏนั้นไม่ใช่เป็นภาพที่เป็นเรื่องราวหลักของอุโบสถ เช่น ประวัติพระพุทธเจ้า หรือชาดกที่เป็นที่นิยม เช่นพระเวสสันดร การไปตามหาภาพจากเรื่องปาจิตต์กุมารชาดกนั้น นับว่าเป็นการค้นคว้าอย่างหนึ่ง การที่คนส่วนใหญ่ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วไม่เข้าใจ ตีความภาพไม่ออก ก็น่าจะเกิดจากการไม่เข้าใจในเนื้อหาของเรื่อง หากเราได้ศึกษาทำความเข้าใจแล้ว เมื่อไปเจอภาพที่ศิลปินได้แต้ม หรือระบายเอาไว้ตามผนัง ซึ่งมักจะเป็นภาพที่เป็นตัวแทนฉากสำคัญจากการตีความเนื้อเรื่องของศิลปินหรือช่างแต้ม

ที่วัดทุ่งศรีเมืองมีการวาดภาพเรื่องปาจิต-อรพิมไว้สามฉากด้วยกัน ผู้เขียนคิดว่า การที่ศิลปิน หรือช่างแต้มเลือกฉากเหล่านี้ที่คิดว่าสำคัญคือ เป็นตอนที่เกี่ยวกับเถน หรือเกี่ยวข้องกับวัดที่สุด ไม่เลือกที่จะวาดตอนที่นางอรพิมบวชเป็นพระ เพราะคงจะยากแก่การตีความและความเข้าใจของคนดู หากผู้ชมภาพไม่เคยรับรู้เรื่องราวของชาดกนอกนิบาตเรื่องนี้มาก่อน ก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจได้โดยง่าย หรือเกิดการตีความผิด ๆ เพราะเป็นภาพของเถนนั่งในเรือกับสีกา โดยสามภาพดังกล่าวนี้แบ่งเป็น

ภาพแรกนั้น เถนทองหลอกพาปาจิตไปส่งที่ริมตลิ่งอีกฝั่งหนึ่ง แล้วให้นางอรพิมขึ้นเรือไปด้วยและทิ้งปาจิตไว้ที่ริมตลิ่ง เถนให้เหตุผลว่าเรือลำเล็กไปทั้งหมดพร้อมกันสามคนไม่ได้ ต้องพาไปส่งตลิ่งอีกฝั่งทีละคน ปาจิตไม่อยากให้นางอรพิมข้ามไปก่อนเพราะไม่รู้ว่าแม่น้ำนั้นอันตรายอย่างไร จึงจะเป็นคนทดลองข้ามฝั่งดูก่อน แล้วค่อยให้เถนพายกลับมารับอรพิมอีกครั้ง เถนจึงสบโอกาสที่จะนำปาจิตไปทิ้งไว้อีกฝั่งและพาอรพิมพายเรือหนีไป

เถนเรือลอยฟังถ้อยปาจิตว่า

ยิ่งหรรษาเหมือนอารมณ์สมประสงค์

เณรจึงว่าถ้าจะไปก็รีบลง

จะข้ามส่งเสียให้พ้นต่างคนไป

พระเนื้อเย็นฟังเณรนั้นกล่าวว่า

ไม่นิ่งข้าสั่งน้องผู้พิสมัย

พี่ข้ามก่อนจึงจะผ่อนเอาน้องไป

แล้วหน่อไทลงมานั่งที่กลางเรือ

เถนฟากฝั่งส่งไว้แล้วบ่ายเรือ

มารับนางนิ่มเนื้อนวลละออง

เถนรีบพายส่งท้ายนาวาวิ่ง

นางยอดมิ่งไม่เห็นผัวยิ่งมัวหมอง

ฝ่ายว่าเถนมุ่งใจจะหมายปอง

มาเถิงน้องเรียกสีกาอย่าช้าที

นางเนื้อเย็นฟังเถนร้องเรียกหา

ก็ลงมาเรือพลันขมันขมี

ขึ้นนั่งเรือเณรขยายบ่ายนาวี

เณรพายรี่ทวนนํ้าลํ้าขึ้นไป

 

(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๑๗)

เมื่ออรพิมผิดสังเกตถามว่าทำไมจึงพายเรือไปอีกทางไม่พาไปส่งที่ท่านํ้าที่ปาจิตรออยู่ เถนทอง หรือเณรทองได้บอกอรพิมว่า ปาจิตฝากมาบอกว่าจะต้องเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาตามลำพัง และบอกว่าปาจิตได้ฝากนางอรพิมไว้กับตนซึ่งตนจะออกไปบิณฑบาตเลี้ยงดูนางอรพิมในตอนแรก และคิดจะลาสิกขาไปอยู่กับนางเสีย นางอรพิมรู้ทันเถนทอง ไม่เชื่อเรื่องที่เถนทองเล่าจึงคิดว่า เถนทองนี้คิดไม่ซื่อเป็นแน่แท้จึงคิดอุบายที่จะจัดการเถนทอง อ้างว่าหิวข้าวอยากจะกินอะไร เถนทองจึงแวะจอดเรือ พบต้นมะเดื่อใหญ่จึงพยายามไต่ขึ้นต้นมะเดื่อ เก็บลูกมะเดื่อให้นางอรพิมกินเป็นอาหาร

ภาพต่อไปจึงเป็นอุบายของนางอรพิม ที่หลอกให้เถนทอง หรือเณรทองขึ้นต้นมะเดื่อ โดยล่อหลอกให้ขึ้นไปกิ่งยอดที่สูงที่สุด เพื่อเก็บมะเดื่อพวงที่โตที่สุด โดยที่ไม่ได้มองลงมามัวแต่ขึ้นไปตามคำของนางอรพิม ระหว่างนั้นนางอรพิมก็ไปเอาหนามมาสุมไว้ใต้โคนต้นมะเดื่อเณรลงมาไม่ได้เพราะกลัวหนามทิ่มตำจนอดอาหารตายไป และกลายเป็นแมลงหวี่ตอมผลไม้

ผลกรรมนำนางมาพลัดผัว

เข้าสูญใจกายตัวรำสับรำสน

เหมือนผีสิงปวดเศียรให้เวียนวน

ทุรายทุรนงงงวยระทวยกาย

ทะลูดลงมิได้แลดูใต้ต้น

ด้วยเสียใจไฟประจญเหมือนจิตหาย

เปรียบเหมือนคนถึงชนวนที่จวนตาย

นั้นฉันใดก็เหมือนกันกับจัญเณร

ด้วยเสียรู้ด้วยผู้หญิงนั้นลวงได้

ทั้งเสียเรือเสียพายเสียใจเถน

ดังเขาฟันให้พระศอคอกระเด็น

ตะเกียกตะเกนลงถึงจึงรู้กาย

ชำเลืองเหลือแลลงไปที่ใต้ต้น

เห็นหนามพวกมากล้นพ้นก็ใจหาย

เป็นเชิงสูงซ้อนซับไม่ซะซาย

เหมือนสะรั้วโรมไว้ดูก่ายกอง

 

เถรจอมปลอมนั่งคร่อมกิ่งมะเดื่อ

ลงไม่ได้ทำเหมือนเบื้อนํ้าตาไหล

ทั้งรักทั้งแค้นทุกข์ตรมระบมใจ

ด้วยมิได้กินข้าวทั้งเพลาแรง

ก็บรรลัยตายบนต้นมะเดื่อ

ด้วยกรรมเหลือความอาลัยใจกำแหง

จิตไปผูกอยู่ที่ลูกมะเดื่อแดง

เวราแรงกรรมที่รักนั้นชักพา

เอากำเนิดเกิดในลูกมะเดื่อ

มาเป็นเชื้อจนทุกวันเจียวท่านขา

เป็นแมงมี่นี่แลเวรแต่เถนมา

ชาวโลกาเรียกมะเดื่อตาเถนทอง

ครั้นตาเถนสิ้นเวรจากมะเดื่อ

ด้วยว่าเชื้อตาเถนไม่เศร้าหมอง

สัตว์ทั้งปวงไปอยู่เดนตาเถนทอง

จึงเรียกร้องว่าแมงมี่ทุกวันมา

(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

ภาพที่สาม เมื่อนางอรพิมทิ้งตาเถนทองไว้ที่ต้นมะเดื่อแล้ว แอบย่องมาพายเรือออกไปตามหาปาจิต แต่ไม่ว่าจะพายไปข้างไหนก็หาปาจิตไม่เจอ จนหมดแรง และคิดว่าถ้าจะเป็นหญิงและเดินทางในป่าคนเดียวแบบนี้จะไม่ปลอดภัย จึงอธิษฐานขอเป็นบุรุษจากพระอินทร์ โดยฝากอวัยวะในร่างกายไว้กับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ

โอ้พี่ไพรเหตุไฉนมาทิ้งน้อง

แต่กู่ร้องส่งสำเนียงจนเสียงหลง

ฟังก็นานไม่ยินขานสงัดพง

นางโฉมยงกลับมานาวาพลัน

ลงนั่งท้ายพายพานาวาข้าม

ตัดแม่นํ้าข้ามฟากขมีขมัน

จอดประทับกับฝั่งนัททีพลัน

นางแจ่มจันทร์ขึ้นไปลัดสกัดรอย

เที่ยวเลาะลัดไปตามหาดตลิ่งฝั่ง

เห็นรอยนั่งชลนัยน์นางไหลผ็อย

เสียงสะอื้นครื้นเครงบรรเลงลอย

ทิ้งแต่รอยไว้ให้น้องประจักษ์ตา

(วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ หน้า ๑๒๕)

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า การที่จะเข้าใจภาพจิตรกรรมฝาผนัง หากเรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ก็จะทำให้การชมภาพมีความรู้ความเข้าใจ และความรื่นรมย์อยู่มาก ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ และความเข้าใจของศิลปินผู้ถ่ายทอดเรื่องราวว่ามีความสามารถในการจับความสำคัญของเรื่อง

หมายเหตุ: ผู้เขียนนำบทกลอนประกอบเรื่องมาจาก วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม ๒ ไม่ปรากฏผู้เขียน พิมพ์โดยกรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๓๓

(ติดตามต่อฉบับหน้า)

 

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

ท้าวปาจิต – นางอรพิม : จากตํานานท้องถิ่น สู่ชาดกนอกนิบาต

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com