เมืองเพีย : แหล่งผลิตเกลือและโบราณคดี
คอลัมน์ นอกเครื่องแบบ
สมพงษ์ ประทุมทอง
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีและเมืองโบราณจำนวนมากในภาคอีสาน เป็นหลักฐานยืนยันว่าภาคอีสานเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก และสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีก็มีในพื้นที่แห่งกันดารแบบบทกวีอีศาน ของ “นายผี” บอกไว้ว่า “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม”
โดยเฉพาะการขุดค้นที่บ้านเชียง อําเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้กลับสมองคนทั้งโลก และคนไทยเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีอารยธรรมมาก่อนที่จะได้รับอิทธิพลทางความคิดและอารยธรรมจากอินเดียและจีน
หลังการขุดค้นที่บ้านเชียงมีการต่อยอดไปยังแหล่งต่าง ๆ ที่ปรากฏซากโบราณสถาน จนได้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วรรณกรรมตำนานในอีสานถูกนำมาศึกษาวิเคราะห์จำนวนมาก เช่น วรรณกรรมเรื่อง สินไซ ในชื่อของ สปป.ลาว หรือ สังข์ศิลป์ชัย ในชื่อของฝ่ายไทยได้ถูกนำมาจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการถึงสาระเนื้อหาของเรื่องที่มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหลัก ประสานกับเทศบาลนครขอนแก่น ชุมชนสาวะถี (วัดไชศรี) สโมสรวัฒนธรรมสินไซ (สปป.ลาว) และศูนย์พัฒนาการศึกษาประจํานครหลวงเวียงจันทน์ชื่อที่ใช้เป็นทางการคือ สินไซ สองฝั่งของ ฐานที่มั่นวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย พุทธธรรม : สุนทรียธรรม : สัจธรรม สามคําหลังนี้เป็นสาระสําคัญของสินไซ หากท่านได้เดินทางไปขอนแก่น เมื่อเข้าประตูเมืองหรือลงรถไฟ ให้ดูเสาไฟฟ้า ๒ ข้างทางจะเห็นรูปบนยอดเสาไฟที่สง่างาม นั่นล่ะครับ สังข์สินไซ วรรณกรรมสินไซจะมีปรากฏเป็นฮูปแต้มอยู่ในสิมที่ภาคอีสานเป็นจํานวนมาก
ฮูปแต้ม ก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง สิม ก็คือโบสถ์ของวัดอีสาน มีขนาดเล็ก สร้างแบบเรียบง่ายเน้นประโยชน์การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
การจัดกิจกรรมเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมอีสานในอดีต มีสถาบันทางการศึกษา คือ วิทยาลัยครูมหาสารคาม ที่เป็นผู้จัดกิจกรรม ใช้ชื่อว่า มรดกอีสาน และอีกแห่งหนึ่งคือ วิทยาลัยครูสกลนคร จัดกิจกรรมใช้ชื่อว่า มูลมังอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๑ ครั้งที่ ๑)
การขุดค้นเมืองโบราณ แหล่งโบราณคดีในอีสาน ทําให้เราคนไทยได้รู้จักชื่อเมือง ชื่อที่มีความไพเราะตามภาษาทางลาวอีสาน ผมบอกแต่ชื่อเมืองและจังหวัดเพื่อเป็นปริศนาลายแทงให้ท่านผู้อ่านสืบค้นหาเอง จะได้เป็นนักค้นคว้าตัวอย่างของลูกหลาน
เมืองฟ้าหยาด จ.ยโสธร, เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์, เมืองกมุทาสัย จ.หนองบัวลําภู, นครจัมปาศรีจ.มหาสารคาม, บ้านหมากแข้ง จ.อุดรธานี, บ้านปากเหือง จ.เลย, เมืองวานรนิวาส จ.สกลนคร
ที่จังหวัดขอนแก่น ได้มีการขุดค้นเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ เช่น เมืองโนนนกทา อ.ภูเวียง, เมืองไชยวาน อ.โคกโพธิ์ชัย, ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง, กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านคําน้อย อ.นํ้าพอง, กู่แก้ว ต.ตอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นศาสนสถานคู่สถานพยาบาล สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของเขมรกู่นี้มีชื่อทางโบราณคดีว่า อโรคยาศาล
เมืองเพีย เป็นแหล่งโบราณคดี และเมืองโบราณที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ทำการขุดค้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เมืองเพียเป็นตําบลหนึ่งของอำเภอบ้านไผ่ อยู่บนถนนบ้านไผ่ – ชนบท (ถนนแจ้งสนิท) ไปทางตะวันตก ห่างจากบ้านไผ่ ๖ กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่บนเนินดินสูง ๑๖๐-๑๗๐ เมตรจากนํ้าทะเลปานกลาง มีคูนํ้า คันดินล้อมเมือง ๒ ชั้น มีลักษณะรูปกลมรีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ กิโลเมตร ทางทิศเหนือของชุมชนแห่งนี้มีแก่งนํ้าขนาดใหญ่คือ แก่งละว้า
ราว ๕๐ ปีมาแล้ว สมัยที่ผู้เขียนเรียนชั้นมัธยมที่อําเภอบ้านไผ่ เวลาราวบ่าย ๒-๓ โมง ชาวบ้านจะนำปลาชนิดต่าง ๆ จากแก่งละว้าเข้ามาขายในตลาดบ้านไผ่ เช่น ปลาค้าว ปลาปึ้ง ปลาเนื้ออ่อน ที่มีขนาดใหญ่ เคยเห็นชาวบ้านนําจระเข้มาขายด้วย ถามชาวบ้านทราบว่า ปัจจุบันยังมีปรากฏอยู่ แต่สภาพนํ้าเสียมาก อาหารจากแก่งละว้าลดลง และไม่น่าไว้ใจ
สภาพทั่วไปของชุมชน ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแอ่งนํ้าเล็ก ใหญ่กระจายไปทั่ว มีเนินดินอยู่ทั่วไป พื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตเกลือแต่โบราณ ปัจจุบันลดน้อยลงมาก
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ คือ ภาชนะบรรจุกระดูก ใบเสมาหินทรายสีแดงแบบเรียบ พระพุทธรูปปางสมาธิหินทราย แท่งหินบดยา กําไรดินเผาเครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสําริด จากหลักฐานเหล่านี้สันนิษฐานได้ว่า เมืองเพียน่าจะเป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ และเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่มีความเจริญสูงมาก
แหล่งผลิตเกลือที่กระจายทั่วไปทางที่ราบตะวันออกและทางใต้ของชุมชนที่ได้กล่าวแล้วนั้น มีแหล่งใหญ่และสำคัญอยู่คือ บ่อกะถิน บริเวณนี้มีคาบเกลือขาวโพลนไปทั่วพื้นที่ และมีโนนที่เกิดจากการทับถมของขี้เกลือสูงราว ๗-๘ เมตร เรียกว่า โนนน้อย
ห่างจากบ่อกะถินไปทางตะวันออกราว ๒๐๐ เมตร จะมีโนนที่เกิดจากการอยู่อาศัย มีต้นไม้เล็กใหญ่คลุมสลับอยู่เรียกว่า โนนฟ้าระงึม ที่โนนนี้มีวัดตั้งอยู่คือ วัดป่าฟ้าระงึม
ห่างจากวัดป่าฟ้าระงึมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ราว ๑๐๐ เมตร มีเนินเล็ก ๆ อยู่ที่เนินนี้มีใบเสมาปักเป็นรูปวงรีจำนวน ๘ หลัก มีลักษณะเป็นรูปกลีบบัวแบบเสมาสมัยทวารวดีตอนปลาย คือ ราวศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
จากการศึกษาหลักฐานต่าง ๆ สรุปได้ว่า เมืองเพียเป็นแหล่งโบราณคดี ที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการผลิตเกลือที่สําคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน และมีวัฒนธรรมปลาแดก เกิดจากผลการผลิตเกลือทั่วไปในภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางการผลิตเกลือเพื่อใช้หมักปลาจากแก่งละว้า หนองกองแก้ว ชนบท กุดเค้า มัญจาคีรี แม่นํ้าชีและแหล่งอื่น ๆ อีกมาก
เมื่อตอนเรียนชั้นมัธยม ผมมีเพื่อนที่เมืองเพียได้ยินคําพูดประโยคหนึ่งเชิงล้อเลียนแต่แฝงด้วยประวัติเมืองว่า “ไทเมืองเพีย ไปหาเกีย ไปพ่อเสียขาสั่นเทีย ๆ”
ครับ…นี้เป็นเมืองเพียสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วหลังยุคประวัติศาสตร์ล่ะ เมืองเพียเป็นอย่างไร ? ทําไมต้องชื่อเมืองเพีย ? คงต้องสืบค้นกันต่อไป
******
คอลัมน์ นอกเครื่องแบบ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๘| สิงหาคม ๒๕๕๗
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220