เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๑)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๑)

เงินหมัน เงินเคิ่ง เงินจุก เงินบี้

เงินตราที่ได้เข้ามามีบทบาทในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง หรือดินแดนภาคอีสานในปัจจุบัน เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว นอกจากเงินตราของสยามที่เป็นเหรียญแบนซึ่งผลิตในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ยังมีเงินตราอีกหลายประเภทที่เข้ามามีบทบาทเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนของคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงหลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้คนลาวทั้งสองฟากฝั่งถูกแยกออกจากกัน โดยอาศัยเส้นแบ่งเขตแดนแบ่งกั้นคนทั้งสองฝั่งคือ ฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงขึ้นกับฝรั่งเศส ฝั่งขวาแม่น้ำโขงขึ้นกับสยาม ภายหลังถูกทําให้เชื่อว่าคนทั้งสองฝั่งมีเชื้อชาติที่ต่างกัน

ฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราวศตวรรษที่ ๑๙ โดยยึดได้กัมพูชาบางส่วนในปี ค.ศ.๑๘๖๗ ยึดได้เวียดนามใน ค.ศ.๑๘๘๔ และยึดได้ลาวใน ค.ศ.๑๘๙๓ หรือ ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสเรียกดินแดนเหล่านี้ว่ารัฐในอารักขา (protectorate ; protected state)

จากนั้นได้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในดินแดนอารักขาที่ฝรั่งเศสเรียกว่า “อินโดไชน่า” โดยผลิตเป็นเงินเหรียญแบนที่ด้านหน้าเป็นรูปเทพีเสรีภาพด้านหลังเป็นช่อใบมะกอก บอกราคาหน้าเหรียญไว้ตรงกลางด้านข้างบอกน้ำหนักเป็นกรัม รวมทั้งบอกเปอร์เซ็นต์ของเงิน และระบุอีกว่า Indo-Chine Francaise”

เหรียญรุ่นนี้ฝรั่งเศสกำหนดให้มีหน่วยย่อยเป็น cent โดยที่ ๑๐๐ cent เป็น ๑ Piastre (เปี๊ยต) มีด้วยกัน ๔ ขนาดคือ

เหรียญ ๑ Piastre หนัก ๒๗ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๙๐

เหรียญ ๕๐ cent หนัก ๑๓.๕ กรัม มีโลหะเงินเหรียญ ๕๐ cent หนัก ๑๓.๕ กรัม มีโลหะเงิน

เหรียญ ๒๐ cent หนัก ๕.๔ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๖๘

เหรียญ ๑๐ cent หนัก ๒.๗ กรัม มีโลหะเงินเป็นส่วนผสมร้อยละ ๖๘

เริ่มผลิตใช้ตั้งแต่ค.ศ.๑๘๘๕ และใช้หมุนเวียนในประเทศเวียดนาม กัมพูชาและลาว

เงินตราเหล่านี้ยังได้มีอิทธิพลมาถึงฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้วย เนื่องจากเป็นเหรียญที่มีเปอร์เซ็นต์เงินสูงจึงได้รับความเชื่อถือจากประชาชนทั้งสองฝั่ง เพราะเงินตราของสยามเองก็มีมาใช้ไม่ทั่วถึงชาวบ้านเรียกขานเงินตราชนิดนี้กันว่า เงินหัวหนาม บ้าง ตามลักษณะของเทพีเสรีภาพที่อยู่บนหน้าเหรียญ ส่วนคําว่า เงินหมัน นั้นเรียกตามหน่วยเงินที่ชาวลาวทั้งสองฝั่งเรียกขานกันเป็นภาษาท้องถิ่น โดยราคา ๑ เปี๊ยต เรียกว่าเงินหมัน ราคา ๕๐ cent เรียกว่าเงินเคิ่ง (ครึ่ง) ราคา ๒๐ cent เรียกว่าเงินจุก หรืออีกชื่อหนึ่งว่าอีซาวราคา ๑๐ cent เรียกว่าเงินบี้หรืออีกชื่อหนึ่งว่าอีสิบ

เงินตราที่พบโดยส่วนมากเป็นราคาหนึ่งเปี๊ยตชาวบ้านจึงคุ้นเคยกับเงินตราราคานี้มากที่สุด และเรียกโดยทั่วไปว่าเงินหมัน เงินหมันนี้ทางฝั่งลาวนิยมเอาไปหลอมเป็นเงินฮางดังที่ได้กล่าวไปในฉบับที่แล้ว แต่เป็นเงินฮางที่ชาวลาวหลวงพระบางหลอมขึ้นใช้เอง โดยใช้เงินหมันนี้จํานวน ๑๔ เหรียญจะหลอมเงินฮางได้หนึ่งแท่งหรือสิบตําลึงจีนพอดี

ส่วนในภาคอีสานเงินหมันนี้ได้แพร่เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมของชาวบ้าน โดยอัตราแลกเปลี่ยนคือเงินเปี๊ยตหรือเงินหมันสามเหรียญเทียบเท่าเงินบาทสยามห้าเหรียญ เงินเคิ่งหรือครึ่งเปี๊ยตเทียบเท่าสามสลึงของสยาม จากนั้นราวสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการผลิตเหรียญ เงินจํานวนมากและขนส่งไปทางรถไฟ ทําให้เงินตราของสยามมีมาใช้แพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งเงินหมันของฝรั่งเศสหมดความสําคัญจนเลิกใช้ไปในที่สุด

เงินตราอีกชนิดหนึ่งของมหาอำนาจทางฟากฝั่งตะวันตกคือ เงินตราที่ผลิตขึ้นโดยอังกฤษในอินเดีย และนํามาใช้ในพม่าหลังจากอังกฤษยึดได้พม่าทั้งประเทศใน ค.ศ.๑๘๘๕ เงินตราชนิดนี้เรียกขานกันว่าเงินรูเปียบ้าง เงินรูปีบ้าง เงินแถบบ้าง ได้แพร่เข้ามาใช้ทางภาคเหนือหรือมณฑลพายัพของสยามในอดีตคืออาณาจักรล้านนา คําว่าเงินแถบนี้น่าจะมาจากชื่อที่คนล้านนามักเรียกขานเงินที่มี ขนาดใหญ่โตเป็นก้อนกลมว่า “เงินท๊อก” เรียกเงินเหรียญแบนขนาดใหญ่ว่า “เงินเถิบ หรือเติบ”เรียกเงินเหรียญแบนขนาดเล็กว่า “เงินแท๊บ หรือแต๊บ” จนเพี้ยนมาเป็นเงินแถบในที่สุด เงินเหรียญแบนจากพม่าที่แพร่เข้ามาใช้ในล้านนาคือเงินรูปีของอินเดียนี่เอง

เงินแถบหรือเงินรูปีอินเดียนี้ได้แพร่เข้ามาใช้ในภาคอีสาน โดยผ่านพ่อค้าชาวพม่าที่ชาวอีสานรู้จักในชื่อ “พ่อค้าชาวกุลา” เป็นที่มาของชื่อท้องทุ่งอันแห้งแล้งของอีสานว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ชาวกุลาเดินทางเข้ามาค้าขายผ่านท้องทุ่งแห่งนี้ด้วยความยากลําบากจนถึงกับต้องนั่งร้องไห้

กุลาคือ ชนชาติเงี้ยว หรือต่องสู้ ที่มีถิ่นฐานทางตอนเหนือของพม่าบริเวณรัฐฉาน คําว่ากุลามาจากภาษาพม่าว่า กาลา (kala) ซึ่งแปลว่าคนต่างถิ่น เดินทางเข้ามาเร่ขายข้าวของในภาคอีสาน ขายทั้งเสื้อผ้า กลอง เครื่องเงิน และเครื่องประดับอื่น ๆ เป็นต้น เป็นคาราวานกองสินค้าขนาดใหญ่ แล้วจะซื้อวัวควายจากภาคอีสานกลับไปขายยังพม่า มีเอกสารที่กล่าวถึงชาวกุลาในอีสานที่เก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่พ่อค้าชาวกุลามีปัญหากับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เรื่องการซื้อวัวจํานวนมากของพ่อค้าชาวกุลา

เรื่องราวความขัดแย้งของพ่อค้าชาวกุลากับข้าราชการสยามน้อยลงอย่างมาก หลังจากมีการเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๙๙ ผลประโยชน์ของคนในบังคับอังกฤษได้รับการปกป้องโดยสนธสิญญาฉบับนี้รวมถึงการพิพากษาคดีความด้วย ทําให้การค้าของชาวกุลา หรือต่องสู้ขยายตัวอย่างมากมายในภาคอีสาน

เงินตราที่ชาวกุลานำติดตัวมาค้าขายด้วยคือเงินรูปี หรือเงินแถบของอินเดีย ซึ่งได้เข้ามาใช้แพร่หลายในภาคอีสานในเวลาต่อมา เรื่องเงินแถบหรือรูปีนี้ เอเจียน แอมอนิเย นักสํารวจชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘” ได้อธิบายการเดินทางว่า เขาเดินทางมาถึงเมืองด้านซ้าย เมืองเลย เมืองแก่นท้าว (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) ภาคพื้นนี้ใช้เงินบาทสยามและเงินแถบพม่าของอังกฤษที่มีรูปีของพระราชินีวิคตอเรียมีค่าเท่ากับสามสลึง หนึ่งสลึงและหนึ่งเฟื้อง (เงินแถบนี้เป็นเงินพม่าของรัฐบาลอังกฤษ เหรียญชนิดนี้ผลิตใช้ในประเทศอินเดียมาก่อน)

เงินแถบขนาด one Rupee,1/4 Rupee และ Two Annas มีค่าสามสลึง สลึง และเฟื้อง
ตามบันทึกของเอเจียน แอมอนิเย

เงินแถบนี้ผลิตขึ้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษยึดอินเดียได้และมีใช้ตั้งแต่สมัยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ มีด้วยกัน ๔ ขนาด คือ

เหรียญ One Rupee หนัก ๑๑.๖ กรัม

เหรียญ Half Rupee หนัก ๕.๘ กรัม

เหรียญ ¼ Rupee หนัก ๒.๙ กรัม

เหรียญ Two Annas หนัก ๑.๔ กรัม

แต่ที่พบโดยมากจะเป็นขนาด ๑ Rupee ซึ่งมีรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียและพระเจ้าจอร์สที่๕ อยู่ด้านหน้า เหรียญเงินรุ่นนี้เป็นเงินตราที่มีเปอร์เซ็นต์ โลหะเงินค่อนข้างสูง แต่หลังจากสองสมัยนี้แล้วส่วนผสมของโลหะเงินในเหรียญดังกล่าวจะน้อยลง จึงเป็นที่นิยมจากประชาชนในภาคอีสานโดยเฉพาะเมืองที่อยู่ใกล้หัวเมืองเหนือของสยาม เช่น เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองชัยภูมิ เมืองหล่มสัก เมืองแก่นท้าว เป็นต้น

เงินหมันของฝรั่งเศส เงินแถบของอินเดีย เข้ามามีบทบาทในภาคอีสานและสองฝั่งแม่นํ้าโขงโดยผ่านทางการค้า ทําให้เงินตราเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป เพราะแม่เงินบาทของสยามจะผลิตจํานวนมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่การขนส่งยากลําบาก ทําให้เงินตราของสยามมีหมุนเวียนในตลาดน้อย ไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย เงินหมันและเงินแถบจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการเป็นสื่อ แลกเปลี่ยน อีกทางหนึ่ง

จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมจนทําให้การลําเลียงเงินตราจากส่วนกลางไปถึงดินแดนห่างไกลได้มากขึ้น ทำให้เงินหมัน และเงินแถบหมดความสำคัญลงเงินตราสยามจึงได้เข้าไปเป็นเงินตราหลักในการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่บัดนั้น

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๐)

***

คอลัมน์ รากเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๘ | สิงหาคม ๒๕๕๗

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

เมืองเพีย : แหล่งผลิตเกลือและโบราณคดี
ปิดเล่ม
ทางอีศาน 28: เบิ่งไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com