(14) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (04-04-2020)
ภาพโดย Alexey Hulsov จาก Pixabay
สหรัฐอเมริกา
แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt 1882-1945)
ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา 4 สมัย (1933-1945) ผู้นำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (1929-1933) จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ก่อนเป็นประธานาธิบดี ท่านเป็นผู้ว่าฯ มลรัฐนิวยอร์ค (1929-1933) ได้รับการยกย่องว่าป็น 1 ใน 3 ประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา อีกสองท่าน คือ จอร์ช วอชิงตัน และอาบราฮัม ลินคอล์น
ท่านได้นำอเมริกาฝ่าวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และเป็นผู้นำสำคัญบนเวทีโลก ในสงครามโลกครั้งที่สองร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่างวินสตัน เชอร์ชิลแห่งสหราชอาณาจักร และชาร์ลส์ เดอ โกลแห่งฝรั่งเศส
แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ บอกว่า “มีวงจรเร้นลับในชีวิตคนเรา คนบางรุ่นได้รับมาก บางรุ่นได้รับน้อย คนอเมริกันรุ่นนี้มีนัดกับชะตากรรม”
แต่ท่านก็บอกด้วยว่า “เรามีความหวัง ความเชื่อ และความมั่นใจเสมอว่า ที่ปลายขอบฟ้า มีชีวิตที่ดีกว่า โลกที่ดีกว่า”
วิกฤติเมื่อปี 1929-1933 เกิดจากการเงิน ตลาดหลกทรัพย์ล่ม เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง คนตกงาน ต่อมาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ชื่อ แฟรงคลิน ดี รัสเวลท์
สหรัฐอเมริกาวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤติที่มาจากโรคระบาด เพียงเริ่มต้นคนก็เปรียบความเสียหายกับเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (1929-1933) นั้นแล้ว ไม่ทราบว่า สถานการณ์ครังนี้จะสร้างวีรบุรุษเหมือนครั้งนั้นหรือไม่
แต่มีคนอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ประกาศทางสื่อว่า “เลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกา เราจะส่งบิลให้คุณ” เขาหมายถึง (จะเอาคืน) นายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะวิกฤติครั้งนี้ที่คนอเมริกันต้องจ่ายราคาแพงมากจากการนำของนายทรัมป์ ที่ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ไม่พร้อมในการรับมือกับโควิดตั้งแต่แรก วันนี้จึง “เอาไม่อยู่”
ภายในเดือนเศษ คนอเมริกันติดเชื้อจากไม่กี่คนเพิ่มเป็นเกือบ 300,000 คน คนตายวันละกว่าพันคน ประธานาธิบดีทรัมป์แถลงข่าวเองว่า ไม่นานคนอเมริกันอาจตายเพราะโรคระบาดนี้ถึง 240,000 คน
คงเป็นอย่างที่แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ บอกไว้ว่า “คนอเมริกันรุ่นนี้มีนัดกับชะตากรรม”
“This generation of Americans have rendez-vous with destiny.”
เยอรมนี
คอนราด อเดเนาว์ (Konrad Adenauer 1876-1967) นายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่สองยาวนาน 14 ปี ทั้ง ๆ ที่อายุก็มากแล้ว (อายุ 73-87)
ท่านได้รับการโหวตจากคนเยอรมันว่า เป็นบุคคลผู้เป็นที่เคารพรักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาตินี้ จนได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งชาติ”
ว่ากันว่า “นรกส่งฮิตเลอร์มาเกิด สวรรค์ส่งอเดเนาว์มากอบกู้บ้านเมือง” และน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะก่อนและระหว่างสงครามท่านเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองโคโลญ หลังสงคราม พันธมิตรแบ่งเยอรมันออกเป็นสี่เขต อังกฤษดูแลเขตที่มีเมืองโคโลญอยู่ห้ามอเดเนาว์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญอีก ท่านจึงไปสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเสียเลย
คอนราด อเดเนาว์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นคาทอลิกที่ปฏิบัติศาสนา ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจสำคัญ ประชุมสำคัญ หรือพบผู้นำสำคัญระหว่างประเทศ ท่านจะไปโบสถ์ สวดมนต์ทำสมาธิเป็นชั่วโมง
ท่านคือผู้ที่สอนคนเยอรมันให้ประหยัด อดออม จนมีคนนินทาว่าท่าน “ขี้เหนียว” แต่นี่คือคนที่สร้างระบบบำนาญให้คนเยอรมันทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจน มีงานทำหรือไม่มี เข้าสู่บั้นปลายชีวิตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา เยอรมนีโชคดีที่มีผู้นำเก่งและดีหลายคน จนมีการรวมตะวันตกตะวันออกเป็นเยอรมันเดียวเมื่อปี 1990 หลังจากกำแพงเบอร์ลิน “พังลง” หนึ่งปีก่อนหน้านั้น
วันนี้ที่เกิดการระบาดของ “โควิด-19” เยอรมนีมีนายกรัฐมนตรีหญิงชื่ออังเกลา แมร์เกิล ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาได้ 14 ปีแล้ว ตั้งแต่ 2005 และบอกว่าจะลงจากตำแหน่งปีหน้า คือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ทั้งๆ ที่เธออายุเพียง 65 ปี น้อยกว่าคอนราด อเดเนาว์ตอนที่เข้ารับตำแห่งนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปี
อังเกลา แมร์เกิล เป็นนายกรัฐมนตรีที่คนเยอรมันชื่นชม ได้คะแนนนิยมสูงกว่านักการเมืองทุกคนตลอดมา เธอเป็นผู้นำที่อ่อนนอกแข็งใน เป็นคนนิ่มนวลที่ชนะใจผู้คน เพราะคนเยอรมันคุ้นเคยแต่กับคนเยอรมันที่มีนิสัย “เยอรมัน ๆ” คือตรงไปตรงมา แข็งแบบกร้าวแกร่งจนดุดัน
(คำว่า “เกรงใจ” แปลเป็นภาษาเยอรมันตรง ๆ ไม่ได้ อยากบอกว่าอังเกลา แมร์เกล คือคนที่ “ข้างนอกเป็นไทยข้างในเป็นเยอรมัน”)
คำกล่าวของเธอทุกครั้งไม่ขัดหูขัดใจผู้คน แม้แต่เรื่องนั้นจะซีเรียสและหนักมากก็ตาม เธอเป็น “แม่” เป็น “พี่สาวคนโต” ที่ใส่ใจในความรู้สึกของคนใน “ครอบครัว” ไม่ได้คิดแต่จะใช้ “เหตุผล” อย่างเดียว แต่ใช้ “หัวใจ” นำเหตุผล จึงได้รับการยอมรับอย่างยาวนาน
วันนี้ที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ เธออกมาเพียงไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่จะอยู่ข้างหลังคนทำงาน ที่รับผิดชอบแต่ละส่วน แต่ก็ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ดี โพลบอกว่า คนเยอรมันร้อยละ 95 เห็นด้วยกับมาตรการที่รัฐบาลใช้ในขณะนี้ และสองในสามเห็นด้วยกับนโยบายโดยรวมของรัฐบาล
แม้วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสูง แต่คนเสียชีวิตยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คืออยู่ที่เพียง 1,000 คนเศษ ต่ำกว่าจำนวนคนเสียชีวิตวันเดียวที่สหรัฐอเมริกา และสูงกว่าจำนวนคนตายวันเดียวที่สเปนและอิตาลีเพียงเล็กน้อย คงเป็นเพราะรัฐบาลรับมือกับโรคระบาดนี้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้น ผนึกพลังกันอย่างจริงจัง
ขณะนี้ (4 เมษายน) เยอรมันบอกว่า การระบาดน่าจะช้าลงแล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของยุทธวิธีสู้โควิด-19 สถาบันระบาดวิทยาบอกว่า ขณะนี้มีการระบาดจากคนหนึ่งไปถึงอีกเพียง 1 คนเท่านั้น (ปกติประมาณ 3 คน)
แต่นายกอังเกลา แมร์เกิลก็ออกมาบอกว่า อย่าเพิ่งชะล่าใจในตัวเลข โรคระบาดเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น หนทางยังอีกยาวไกล สถานการณ์จริงเยอรมันยังต้องทำงานหนัก และร่วมมือกันด้วยความเสียสละและมุ่งมั่นต่อไป เธอขอบคุณและให้กำลังใจทุกคนเสมอ