วัฒนธรรมแถน (๖) พิธีส่งแถน
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
เดือนนี้นำเสนอข้อมูลเรื่อง “แถน” ในล้านนาต่ออีกตอน เดือนนี้เป็นเรื่อง “พิธีส่งแถน”
“ส่ง” ในภาษาล้านนา
“ส่ง” คือการทำพิธีสังเวย เพื่อส่งเครื่องบริโภคเครื่องบูชาไปถึงผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เมื่อคนหรือบ้านเมืองประสบเคราะห์กรรม ซึ่งไม่อาจจะรักษาหรือแก้ไขได้ตามปกติ เชื่อกันว่าผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นผู้ทำให้เกิดเคราะห์กรรมนั้น จึงส่งเครื่องสังเวยบูชาไปให้เพื่อขอความเมตตาช่วยให้คนหายจากการเจ็บป่วย พ้นจากความทุกข์ ช่วยให้บ้านเมืองพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ
พิธีส่งมีหลายอย่าง พิธีส่งบางพิธีมีพิธีกรรมที่คล้ายกันแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น พิธีส่งแถน, พิธีส่งกิ่ว, พิธีส่งเข็ญ, พิธีส่งหาบ ส่งคอน, พิธีส่งผีเข็ญ, พิธีส่งผี, พิธีส่งเคราะห์ อุปกรณ์สำคัญที่ใช้สำหรับส่ง คือ สะตวง (กะบะบัตรพลี) ทำด้วยกาบกล้วย ใส่อาหาร แต่เป็นของสมมติไม่ใช่อาหารสำหรับคน เช่น นำใบพืชที่มีรสเปรี้ยวมาสับสมมติว่าเป็นแกงส้ม นำใบผักหวานมาสับสมมติว่าเป็นแกงหวาน เป็นต้น
(ข้อมูลจาก http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/elanna47/public_html/ceramoil/cer2.html)
ความหมายของ “แถน” ในภาษาล้านนารวบรวมได้ดังนี้
บางคนไม่ยอมรับว่า “คนเมือง” ก็บูชาแถน หาว่าเป็นคำมาจากทาง “ลาว”
“คนเมือง” ที่เขามีความรู้ บอกไว้ใน “ พิธีส่งปู่แถน-ย่าแถน ลักษณะความเชื่อ – BASIC Facebook : https://mbasic.facebook.com/WadKhxkHmupa/photos/a.492374230844960.1073741828.492371004178616/667645709984477/?type=1 ว่า
“ป้อเกิดแม่เกิด ปู่แถนย่าแถนมันเป็นความหมายเดวกัน เปิดปั๊กตืนผ่อเต๊อะ ในตำราคนเมืองนะครับ”
“ที่ จ.แพร่ นะฮ้องแถน”
“ต.บ้านอ้อน อ.งาว ฮ้องปู๋แถนย่าแถนเจ้า”
“คนเมืองแต่ละท้องที่ฮ้องแตกต่างกันเจ้าในเชียงใหม่แต่ละอำเภอยังบ่าเหมือนกัน”
พระมหาสะง่า ธีรสํวโร ไชยวงศ์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง “เสวนาธรรมนำสุข เรื่อง ผีฟ้า ผีแถน” ว่า
(https://www.gotoknow.org/posts/388464)
“แถน” เป็นคำที่ใช้เรียกพ่อเกิดแม่เกิดของมนุษย์ ชาวเหนือเชื่อกันว่า คนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะมีผู้กำหนดหรือส่งให้มาเกิด ผู้ที่ส่งให้มาเกิดนี้เรียกว่าปู่แถนย่าแถน อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีอำนาจดลบันดาลให้มนุษย์อยู่ดีมีสุขหรือมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อได้รับเคราะห์ร้ายเจ็บป่วยจะทำพิธีส่งแถน เพื่อนำเครื่องเซ่นไปสังเวยหรือเป็นการบอกกล่าว ขออภัยปู่แถนย่าแถน แต่ถ้าหากปู่แถนย่าแถนไม่ให้อภัยก็จะเอาตัวกลับคืนไป ผู้ที่เคราะห์ร้ายหรือเจ็บป่วยนั้นอาจถึงตายได้
ความสำคัญ
การส่งแถนนับเป็นความเชื่อทางพิธีกรรมที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ หายจากอาการไม่สบายป่วยไข้บ่อย ๆ ได้อย่างหนึ่ง หลังจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ส่วนผู้ใหญ่อาจมีการส่งแถนบ้างเพื่อให้เกิดความสบายใจขึ้น ปัจจุบันชาวเหนือจำนวนมากยังมีความเชื่อเรื่องในการส่งแถนกันอยู่ แต่อาจารย์ที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมหายากขึ้น เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาถาอาคม และเข้าใจในการเตรียมสิ่งของตามพิธีจึงจะกระทำได้”
พิธีส่งแถน ล้านนา (ภาพจากนิตยสาร “คนเมือง”)
ความหมายของ “แถน” ในล้านนา
๑. “แถนเป็นคำที่ใช้เรียกพ่อเกิดแม่เกิดของมนุษย์ ชาวเหนือเชื่อกันว่าคนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะมีผู้กำหนดหรือส่งให้มาเกิด ผู้ที่ส่งให้มาเกิดนี้เรียกว่าปู่แถนย่าแถน อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีอำนาจดลบันดาลให้มนุษย์อยู่ดีมีสุขหรือมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อได้รับเคราะห์ร้ายเจ็บป่วยจะทำพิธีส่งแถน เพื่อนำเครื่องเซ่นไปสังเวยหรือเป็นการบอกกล่าว ขออภัยปู่แถนย่าแถน แต่ถ้าหากปู่แถนย่าแถนไม่ให้อภัยก็จะเอาตัวกลับคืนไป ผู้ที่เคราะห์ร้ายหรือเจ็บป่วยนั้นอาจถึงตายได้” (ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/)
๒. “ภาคเหนือมีตำนานปรัมปรา ที่แสดงให้เห็นความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับแถน ว่าเป็นผู้สร้างมนุษย์ เชื่อว่าชีวิตมนุษย์จะเป็นอย่างไร ก็ย่อมแล้วแต่แถนกำหนด แถนจะทำให้มนุษย์เจ็บป่วยได้ ถ้ามนุษย์ทำให้แถนไม่พอใจ มนุษย์จึงมีประเพณีบูชาเซ่นสรวงแถน ในตำนานของภาคเหนือกล่าวถึงแถนว่า เป็นผู้สร้างมนุษย์คู่แรก ที่มีชื่อว่า ปู่สังกะสา – ย่าสังกะสี หรือ ปู่สางสีและย่าสางไส้ โดยเล่าว่า ปู่สางสีและย่าสางไส้เป็นมนุษย์คู่แรก ซึ่งต่อมามีลูก ๑๒ คน ปู่สางสีและย่าสางไส้จึงเอาดินมาปั้นเป็นสัตว์ ๑๒ ตัว ให้ลูกเล่น สัตว์ ๑๒ ชนิดนี้คือ สัตว์ประจำปี ๑๒ ปี ได้แก่ หนู วัว เสือ กระต่าย นาค งู ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา และช้าง ต่อมา ลูก ๆ ของปู่สางสีและย่าสางไส้ ก็แต่งงานกันเองระหว่างพี่น้อง และมีลูกหลานเหลนสืบต่อกันมา มนุษย์ทุกวันนี้จึงได้ชื่อว่า สืบเชื้อสายมาจากปู่สางสีและย่าสางไส้นั่นเอง ในตำนานพื้นบ้านอีสาน ก็มีความเชื่อว่ามีผู้สร้างโลก ผู้สร้างมนุษย์ และเรียก “คู่สร้าง” นี้ว่า ปู่สังกะสา – ย่าสังกะสี เช่นเดียวกับทางภาคเหนือ”
และ
“๒.๑๘ คำบวงสรวงพิธีบูชาส่งแถนหลวงเพื่อให้หายจากโรคภัย อายุยืนยาวและมีชีวิตที่สุขสบายเมื่อถึงวันคล้ายวันเกิดของตนก็ทำพิธีบูชาปู่แถนเสีย หรือถ้าใครอยู่ไม่สุขสบายต้องกินยา แก้ไขด้วยวิธีใดก็ไม่หาย อาจถูกคำสาปแช่งของปู่แถนหลวง ให้ทำพิธีบูชาส่งแถนเสียเถิด (โบราณเชื่อว่า ปู่สังเกียะ ย่าสังเกียะ อันมีมาในพรหมชาติ กล่าวไว้ว่าท่านทั้งสองเป็นผู้ให้กำเนิดแห่งมนุษย์ชายหญิง เป็นผู้ให้อนุญาตแบ่งปันให้มนุษย์มาเกิด และเวลามาเกิดแล้วบางคนก็คิดถึงหา ก็ย่อมทำสักการบูชา บางคนก็ลืมบุญคุณท่านปู่แถนย่อมแช่งด่าไว้ต่าง ๆ นานา)”
(ข้อมูลจาก http://www.thonburi-u.ac.th/journal/Document/7-13/13-4-Suthat.pdf “การศึกษาคำบวงสรวงในประเพณีและพิธีกรรมทางล้านนาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดเชียงราย” โดย สุทัศน์คล้ายสุวรรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย)
๓. “แถน” เป็นคำที่ใช้เรียกพ่อเกิดแม่เกิดของมนุษย์ ชาวเหนือเชื่อกันว่าคนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะมีผู้กำหนดหรือส่งให้มาเกิด ผู้ที่ส่งให้มาเกิดนี้เรียกว่าปู่แถนย่าแถน (ปู่สังสี ย่าสังไส้) อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีอำนาจดลบันดาลให้มนุษย์อยู่ดีมีสุขหรือมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก พอเกิดมาพ่อแม่ก็นำใส่กระโด่งนำไปไว้ที่ชานบ้านหรือหัวบันไดบ้าน แล้วตะโกนบอกว่า ถ้าเป็นลูกมึงก็ฮื้อรีบมาฮับเอาไปเสีย ถ้าป้น (พ้น) วันนี้ไปแล้วถือเป็นลูกเฮาแล้ว…
ยังมีความเชื่อว่าตอนที่ปู่แถนย่าแถนปั้นคนส่งมาเป็นคู่ชายหญิง และปล่อยลงมาจากฟ้าระหว่างลงมาจะเจอกับลม “ปิดจะคอด” ถ้าโดนพัดแล้วจับกันแน่นก็จะได้มีเนื้อคู่ที่อยู่ใกล้กันเช่นหมู่บ้าน ตำบล เมือง เดียวกัน ถ้าโดนพัดแล้วพรากกันก็จะได้มาเจอกันตอนเป็นผู้ใหญ่อยู่ต่างเมืองแล้วเดินทางมาเจอกัน ซึ่งเรียกว่าเนื้อคู่” (http://www.wungfon.com/index.php?option=com_content&view=article&id=797:2011-11-28-08-57-23&catid=97:2010-09-22-14-56-34&Itemid=243)
(ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๖ / เรื่องที่ ๑ นิทานพื้นบ้านไทย/ นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา)
พิธีส่งแถน (ภาพจาก ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/)
เมื่อป่วยหนัก ต้องขอให้ “แถน” ช่วย
พิธีส่งแถน มีหลักฐานในตำราพื้นเมืองของล้านนาชัดเจน ยืนยันได้ว่าชาวล้านนามีวัฒนธรรมบูชาแถนแน่นอน
ปัจจุบันชาวเหนือจำนวนมากยังมีความเชื่อในเรื่องการส่งแถนกันอยู่ แต่อาจารย์ที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมหายากขึ้น เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาถาอาคมและเข้าใจในการเตรียมสิ่งของตามพิธีจึงจะกระทำได้
ตามคัมภีร์พื้นเมือง เขาเชื่อกันว่ามนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลก ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบันก็คือ “ปู่แถน-ย่าแถน” และเกิดมาตามปีสิบสองนักษัตร ซึ่งปู่แถนย่าแถนจะได้ตราไว้ว่า เมื่อมีอายุเท่านั้นจะเจ็บเป็นอย่างนั้นหากได้ส่งแถนเสียแล้วจึงค่อยบรรเทาหรือหายจากโรคพยาธินั้น ๆ และควรจะให้ทานวัตถุของนั้น ๆ ไปให้ผู้กำเนิดคือ “ปู่แถน-ย่าแถน” พิธีส่งแถนนี้ใช้สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไปตลอดทั้งผู้ใหญ่ด้วย
เมื่อมีการเจ็บป่วยขึ้น เยียวยารักษาอย่างไรอาการก็ไม่ทุเลา ญาติพี่น้องของคนป่วยก็จะไป “ถามเมื่อ” (ถามโชคเคราะห์) จากคนทรง หรือ “อาจารย์” และถ้าถูกแนะนำให้ “ส่งแถน” ก็กลับมาทำสะตวงแบบเดียวกับสะตวงขึ้นท้าวทั้งสี่ แต่เพิ่มจำนวน “เครื่องบูชา” เป็นอย่างละ ๑๒ ใช้ดินเหนียวปั้นรูปคน ๑ รูป, ใช้กาบกล้วยทำกระจก, หวี, ปิ่นปักผม, สร้อยข้อมือ และเบี้ยใส่สะตวง เสร็จแล้วนำมาวางตรงหน้าคนป่วย
“อาจารย์” อ่านโองการเชื้อเชิญปู่แถนย่าแถนมารับเครื่องบูชา เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ก็นำสะตวงไปแขวนไว้ข้างรั้ว และตรวจน้ำอุทิศให้ “แถน”
ส่งแถน เรียกได้หลายชื่อ มี “ส่งกำเนิด” “ส่งวานเกิด” “ส่งพ่อเกิดแม่เกิด” คือการส่งเครื่องบูชาไปถึงพ่อเกิดแม่เกิด เชื่อกันว่าที่มนุษย์ได้เกิดกันมาทุกวันนี้ เพราะพ่อและแม่เก่าในชาติก่อนส่งให้มาเกิด เมื่อส่งให้มาเกิดแล้วเกิดความคิดถึงบุตรที่ส่งมา แล้วคิดอยากจะได้บุตรคืน จึงได้บันดาลโรคภัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็กทารกเพื่อให้เด็กทารกนั้นเสียชีวิต จะได้นำดวงวิญญาณดวงนั้นกลับไปอยู่กับตน
เมื่อเกิดมีการเจ็บป่วยขึ้นกับมารดาระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือเกิดการเจ็บป่วยขึ้นกับเด็กหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว วิธีหนึ่งที่จะทำให้มารดาหรือเด็กหายจากการป่วยมีชีวิตอยู่รอดได้ คือการแต่งเครื่องบูชาถวายให้กับพ่อเกิดแม่เกิด เชื่อกันว่าเมื่อพ่อเกิดแม่เกิดได้รับเครื่องเซ่นไหว้บูชาเหล่านั้นแล้วจะใจอ่อน และสงสารไม่ตามเอาลูกคืน ในเครื่องบูชาเหล่านั้นยังมีการหลอกพ่อเกิดแม่เกิดด้วย คือมีการปั้นรูปจำลองของเด็กใส่ไปด้วยบอกว่าเป็นลูกที่พ่อเกิดแม่เกิดต้องการ และได้ส่งมาให้แล้ว เมื่อพ่อเกิดได้รับหุ่นจำลองนั้นก็จะเชื่อว่าเป็นลูกของตน จะไม่มารังควานทวงลูกคืนอีกต่อไป
วิธีส่งกำเนิด ให้ทำสะตวงหยวกกล้วยแบบเดียวกับสะตวงขึ้นท้าวทั้งสี่ แต่เพิ่มจำนวน “เครื่องบูชา” เป็นอย่างละ ๑๒ ใช้ดินเหนียวปั้นรูปคน ๑ รูป ใช้กาบกล้วยทำกระจก, หวี, ปิ่นปักผม, สร้อยข้อมือ และเบี้ยใส่สะตวง
บางตำราก็ว่า ใช้สะตวง กว้าง ๑ คืบ ใส่แกงส้ม แกงหวาน พร้าวตาล กล้วยอ้อย ลูกส้ม ลูกหวาน (ผลไม้) ข้าวต้มข้าวหนม (ขนม) หมากพลู เหมี้ยง (เมี่ยง) บุหรี่ อาหาร ช่อขาว (ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) เทียน ดอกไม้ อย่างละ ๔ แล้วเอาข้าวแป้งมาคลึงร่างกายของเด็กทารกจากนั้นนำมาปั้นเป็นรูปคน ๑ คน และปั้นรูปสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง เปลี่ยนไปตามอายุของเด็กเสื้อผ้านุ่งตัดด้วยเศษผ้าตัวเล็ก ๆ (แทนเสื้อผ้าของผู้ป่วย) ใส่ในสะตวงเสร็จแล้วนำมาวางตรงหน้าคนป่วย “อาจารย์” อ่านโองการเชื้อเชิญปู่แถนย่าแถนมารับเครื่องบูชา
ในขณะทำพิธีผู้เจ็บป่วยจะต้องมานั่งไหว้อาจารย์วัดก็จะท่องคำคาถาต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อเสร็จพิธีอาจารย์วัดก็จะนำสะตวงไปแขวนไว้นอกบ้านหรือทางสามแพร่ง เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ก็นำสะตวงไปแขวนไว้ข้างรั้ว และกรวดน้ำอุทิศให้ “แถน”