(17) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (10-04-2020)

(17) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (10-04-2020)

ภาพโดย Alexey Hulsov จาก Pixabay

#สู้ด้วยยุทธศาสตร์รบด้วยปัญญาชนะด้วยความรู้

@ งานวิจัยที่ไม่รอจบและไม่รู้จบ

โครงการวิจัยนี้มีชื่อว่า Covid-19 Case Cluster Study

ที่เยอรมันมีงานวิจัยซึ่งน่าจะเป็นที่เดียวในโลก ที่ไม่รอให้โรคระบาดจบแล้วค่อยทำ แต่ทำทันทีตั้งแต่วันนี้ เพื่อศึกษาว่า โควิด-19 ระบาดอย่างไรตั้งแต่แรกเริ่มและพัฒนามาอย่างไร จะติดตามไปทุกระยะอย่างใกล้ชิด วิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยชุมชนเป้าหมายมีส่วนร่วม

เป็นงานวิจัยแบบสหวิทยาการ บูรณาการนักวิชาการหลายสาขาทั้งแพทย์ นักระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา นักวิชาการด้านสาธารณสุข นักสังคมวิทยา นักปรัชญา และอื่นๆ เป็นทีมใหญ่จากมหาวิทยาลัยบอนน์

เมื่อวานนี้ (9 เมษายน) มีการนำเสนอผลเบื้องต้นของงานวิจัยนี้ ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ไม่ใช่งานวิจัยแบบ “ประเมินอย่างเร็ว” (Rapid Assessment) หรือวิจัยระยะสั้น แต่จะทำต่อไปอีกเป็นเดือนเป็นปี เพื่อนำผลไปใช้ในการกำหนดนโยบายระดับรัฐและระดับประเทศต่อไป โดยผลเบื้องต้นนี้ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เบอร์ลินวันพุธหน้า เพื่อดูว่าจะผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดลงได้บ้างหรือไม่อย่างไร

โครงการนี้ทำที่ไฮน์สแบร์ก จังหวัดหนึ่งในนอร์ทไรน์ เวสฟาร์ลันด์ รัฐทางทิศตะวันตกติดกับพรมแดนเนเธอร์แลนด์ เป็นจุดศูนย์กลางการระบาดสำคัญ เหตุเกิดที่งานเทศกาลคาร์นิวัล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผู้คนมากมายไปร่วมฉลองร่วมขบวนแห่หรือรอดูชมข้างถนน ซึ่งเป็นงานใหญ่ในรัฐนี้

โครงการวิจัยนี้ออกแบบตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ทำที่เทศบาล Gangelt โดยมีเป้าหมายที่ประชากร 1,000 คน ใน 400 ครัวเรือน การรายงานเบื้องต้นได้จากผลการวิจัยจาก 509 คนในเทศบาลนี้ จากประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนเป้าหมาย พบในเบื้องต้นว่า ร้อยละ 15 จากจำนวนนี้ติดเชื้อและหายแล้ว มีภูมิคุ้มกัน

และจำนวนผู้เสียชีวิตก็มีเพียง 0.37% น้อยกว่า 1.98% ของทั้งประเทศเยอรมันตามข้อมูลของจอห์นส์ ฮอปคินส์ และตัวเลขการระบาดของที่นี่และทั้งรัฐก็ลดลง และ “ราบ” คือไม่สูงขึ้นแล้ว ซึ่งน่าจะมาจากมาตรการที่ออกมารองรับทันทีที่มีการระบาด

งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ โดยได้รับความร่วมจากประชาชนเป็นอย่างดี เพราะทุกฝ่ายเชื่อว่า ผลการวิจัยนี้จะมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ lock down แต่มาตรการอื่นที่มีผลกระทบน้อยกว่า แต่ได้ผลแบบ lock down หรือมากกว่า อย่างน้อยต่อสภาพจิตใจของประชาชนที่ถูกจำกัดเสรีภาพที่มีผลลบและเกิดความเครียดมาก

การวิจัยเบื้องต้นนี้ไม่พบการระบาดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม คือ ไวรัสไปติดที่ข้าวของต่างๆ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ รีโมท ฯลฯ ซึ่งแย้งกับการวิจัยของบางสถาบันในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า เชื้อไวรัสนี้ติดอยู่กับพื้นเหล็กพื้นกระเบื้องหรือไม้นานเท่านั้นเท่านี้

สถาบันระบาดวิทยาของเยอรมันบอกว่า การวิจัยในห้องกับชีวิตจริงนั้นแตกต่างกัน ไวรัสนี้คงแห้งตายไปในสภาพที่เป็นจริงเร็วกว่าที่วิจัยในห้องทดลองมาก และปริมาณที่ออกจากคนหนึ่งไปยังวัตถุสิ่งของก็คงไม่ได้มากมายเหมือนที่จับไปใส่ในห้องทดลอง

งานวิจัยนี้เชื่อว่า ถ้าคนไม่จามหรือไอใส่ลูกบิดประตู แล้วคนไปจับ เอามาป้ายหน้าตาก็คงไม่ติดแน่ๆ รวมทั้งที่เชื่อว่ามากับธนบัตร กับเหรียญ ข้าวของที่ซื้อตามร้าน จดหมายหรือของส่งมาทางไปรษณีย์ และอื่นๆ ก็ยังไม่พบหลักฐานของการระบาด แต่ก็ไม่ให้ประมาทและยังคงต้องทำตามมาตรการที่เคยทำมา รักษาระยะห่าง ล้างมือ และอื่นๆ

จึงเชื่อว่า มาตรการการรักษาระยะห่างยังต้องทำต่อไปอีกนาน (ปิดร้านค้า ร้านอาหาร ที่ทำงานบางแห่ง สถานที่ชุมนุมต่างๆ หรือการชุมนุมเกิน 2 คนในที่สาธารณะ) เพราะเป็นวิธีการแพร่ไวรัสนี้อย่างสำคัญ มาตรการผ่อนคลายจึงควรทำอย่างระมัดระวัง

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิลก็ออกมาบอกกับประชาชนแล้วว่า หลังอีสเตอร์ไม่กี่วันนี้คงยังไม่มีการผ่อนคลายทันที ขอให้อดทนไปอีกหน่อย ขอให้สถานการณ์ดีขึ้น มั่นใจแล้วค่อยผ่อนกันจะดีกว่า

นายอาร์มีน ลาแช็ต นายกรัฐมนตรีรัฐนอร์ทไรน์ เวสฟาร์ลันด์ ที่สมัครเป็นหัวหน้าพรรคคริสเตียนเคโมเครตและคงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีปีหน้าด้วย เป็นผู้ให้การสนับสนุนการวิจัยนี้อย่างแข็งขัน แม้ว่ารัฐนี้จะมีการระบาดมากกว่ารัฐอื่นๆ เพราะเป็นจุดเริ่มการระบาดใหญ่ แต่ก็มีมาตรการดีรองรับ และไม่ถึงกับ lock down ทั้งรัฐแบบที่บาวาเรีย

คนนี้มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปถ้ามีผลงานดีในช่วงนี้ เขาต้องการมาตรการที่ไม่เข้มงวดแต่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สมดุลระหว่าง “เสรีภาพและสุขภาพ” (Freiheit und Gesundheit)

@ ติดตาม จับตา ศึกษา เรียนรู้

ถ้าติดตามข้อมูลประจำวันของการระบาดของโควิด-19 จาก worldometer ก็จะเห็นภาพละเอียดของจำนวนผู้ติดเชื้อรวม ที่เพิ่มขึ้นต่อวัน คนตายรวม คนตายเพิ่ม คนตายต่อประชากร 1,000,000 และแยกย่อยออกไปจนถึงขวาสุดจะเป็นปริมาณการตรวจทั้งหมด และเฉลี่ยต่อประชากร 1,000,000 คน ลองเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวิเดน บราซิล เอกวาดอร์ เบลารุส ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ดูประกอบการเปรียบเทียบก็ได้ เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนี จีน อิหร่าน เกาหลี

ผมติดตาม 6 ประเทศแรกทุกวัน เพราะผู้นำและนโยบายของประเทศเหล่านี้ค่อนข้าง “ท้าทาย” มาตั้งแต่ต้น ซึ่งผมเคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อนว่า จับตาดูประเทศเหล่านี้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะพุ่งขึ้นหรือไม่ และก็คาดไม่ผิด

สหรัฐอเมริกาก็จะเข้า 500,000 ตาย 17,000 กำลังจะแซงสเปนกับอิตาลีขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง สหราชอาณาจักร 65,000 ตาย 8,000

สวิเดน 9,000 ตาย 800 เป็นประเทศที่มีการจำกัดระยะห่างทางสังคมน้อยที่สุดก็ว่าได้ คนยังไปกินข้าวร้านอาหาร ไปชุมนุม ประชุมกัน อย่างที่ประเทศอื่นเขาห้ามหมดแล้ว ตัวเลขสวิเดนจึงพุ่งขึ้นเร็ว แซงประเทศในแถบสแกนดิเนเวียไปทั้งหมดซึ่งมีมาตรการเข้มงวดกว่า

บราซิลติดเชื้อ 18,000 ตายเกือบ 1,000 ประธานาธิบดีโบลโซนาโรท้าทายโควิด-19 มาตลอดจนถึงวันนี้ หลายวันก่อนหน้าแตกที่ประกาศว่าจะปลดรัฐมนตรีสาธารณสุขเพราะขัดแย้งกันเรื่องมาตรการแก้ปัญหาโรคระบาดนี้ที่เขาไม่เห็นด้วย บอกว่าเศรษฐกิจจะพังถ้าหากยังจำกัดคนให้ออกจากบ้าน ไปทำงาน แต่ก็ปลดไม่ได้ เพราะประชาชนทั้งประเทศเขาสนับสนุนคนนี้

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน บราซิลติดแค่ 500 กว่าเอง วันนี้พุ่งไปถึง 18,000 และคงไม่หยุดอย่างแน่นอน เพราะการตรวจมีจำนวนรวมเพียง 60,000 กว่า เฉลี่ยเพียง 300 ต่อประชากร 1 ล้านเท่านั้น ดูตัวเลขประเทศอื่นๆ เขามีรวมเป็นแสนเป็นล้าน และเฉลี่ยอย่างน้อยหลายพันถึงหลายหมื่นต่อประชากร 1 ล้าน

บราซิลมีประชากร 210 ล้านคน กว่าร้อยละ 85 อาศัยอยู่ในเมือง กว่าครึ่งอยู่ในชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ น่าเป็นห่วงว่าการระบาดจะไปถึงไหน ในเมื่อผู้นำประเทศทำให้ประชาชนสับสนและไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไง

เอควาดอร์ก็กำลังวิกฤติ มีประชากร 17 ล้านคน ติดเชื้อ 5,000 ตาย 272 แต่ข่าวทั่วไปบอกว่า คนติดเชื้อคนตายน่าจะสูงกว่ามาก ภาพที่ส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดียก็น่ากลัว แต่ไม่รู้จริงเท็จอย่างไร แต่ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า ไม่นาน เอกวาดอร์จะเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของอเมริกาใต้

เบลารุส อดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต ติด 1,500 ตาย 16 แต่คงพุ่งแรงแน่ๆ เพราะยัง “เปิดเสรี” กันไปทั่ว รวมทั้งการแข่งขันฟุตบอลก็ไม่ได้หยุด มีประธานาธิบดีที่อยู๋มา 25 ปีแล้ว เป็นเผด็จการที่ท้าทายโควิดมากกว่าใครๆ ก็คอยดูว่า ประเทศนี้จะมาแรงแซงประเทศใดบ้าง

แล้วลองไปเปรียบเทียบกับเยอรมัน จีน เกาหลีใต้ ว่าตัวเลขเป็นอย่างไร ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ตาย การตรวจ รวมไปถึงนโยบายโดยรวม

คงต้องกลับไปเรียนรู้กับซุนหวู่ จอมยุทธจีนเมื่อ 2,600 ปีก่อนว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง

แต่ซุนหวู่พูดดีกว่านั้นแต่คนมักไม่อ้างว่า จอมยุทธที่เก่งที่สุดคือผู้ที่รบชนะโดยไม่ต้องรบ เพราะ “สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้”

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com