การเดินทางสู่โลกของชาวนา ก้าวแรกที่บ้านกระพี้

การเดินทางสู่โลกของชาวนา ก้าวแรกที่บ้านกระพี้

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ถนนสายอนาคต
Column: Road to the Future
ผู้เขียน: อภิชาติ ญัคค์


ความสนใจใน โลกของชาวนา โดยส่วนตัวผมเริ่มจากประเด็น “ความเป็นธรรม/ความยุติธรรม” มากกว่าประเด็นเชิงเศรษฐกิจที่มักจะพูดกันถึงเรื่อง “ความยากจน” ผมมองความเคลื่อนไหวของชาวนาเป็นความน่าสนใจ

ก้าวเดินจากเมืองใหญ่
ข้ามธารน้ำ…สะพานไม้เก่า
พบทุ่งนากว้าง…กับชาวนา

ปลายปี ๒๕๒๒ เป็นปีที่ผมเริ่มต้นเดินทางสู่โลกของชาวนา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นบนพื้นฐานของจินตนาการที่มองตัวเองในฐานะของตัวช่วยทางสังคมที่อยู่นอกโลกของชาวนา ที่มุ่งมั่นจะไปช่วยปลดแอกชาวนาจากความยากจน ! ซึ่งอิทธิพลความคิดในยุคสมัยผมที่เติบโตขึ้นนั้นถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาจากกระแสของฝ่ายซ้าย ที่ผู้คนและปัญญาชนได้รับการปลูกฝังทั้งทางตรงและโดยอ้อมจากวาทกรรมต่อต้านเผด็จการ/การแสวงหาประชาธิปไตย/การยกย่องความเป็นธรรม ไปจนถึงการยกย่องเชิดชูบูชาลัทธิมาร์กซ์/เหมาในฐานะต้นแบบของการปฏิวัติเพื่อประชาชน/การสร้างความเสมอภาคในแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ จนทำให้นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นซึ่งได้ต่อสู้กันทุกรูปแบบตามกระแสวิวัฒน์ของสังคมโลกยุคสงครามเย็น ทำให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากเข้าป่าจับปืนสู้กับรัฐฯ !

ผมชื่นชมกับพวกเขาทุกคน แต่ส่วนตัวแล้วขอเลือกเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าที่จะปล่อยตัวให้ถลำลึกไปกับเพื่อน ๆ นักศึกษาปัญญาชนทั้งหลายเพราะผมเชื่อต่างออกไปว่าสังคมไทยโดยรวมนั้นน่าจะมีทางออกมากกว่าความคิดของฝ่ายซ้ายที่นักศึกษาปัญญาชนกลุ่มใหญ่ในช่วงเวลานั้นเลือกเดินตามกัน จึงไม่ได้เข้าป่าและไม่ยอมเป็นสาวกของกระบวนการจัดตั้งทั้งหลาย แต่ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมในการปลุกกระแสการต่อสู้/สร้างความเป็นธรรมในสังคมกับกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ และโลกของชาวนาเป็นทางเลือกส่วนตัวของผมที่ต้องการเดินเข้าไปให้ถึงให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นโลกที่ผมมองว่ายังมีความลับมากมายที่น่าศึกษาค้นหา และน่าจะร่วมสร้าง“ความยุติธรรมใหม่” ให้เกิดขึ้นจากเนื้อในความเคลื่อนไหวของ สังคมชาวนา หรือ สังคมหมู่บ้านซึ่งเป็นแผ่นดินแม่/เป็นฐานที่มั่นของชีวิตชาวนาได้

แม้สังคมทั่วไปในช่วงนั้นจะมองภาพของสังคมชาวนา/ชนบทในมิติเดียวด้วยทัศนะที่คับแคบ โดยสร้างวาทกรรมขึ้นพูดกันติดปากทั่วไปโดยเฉพาะจากคนของภาครัฐฯว่า “โง่ จน เจ็บ” ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ แล้วบรรดาข้าราชการอำมาตย์ทั้งหลายก็มีสภาพโง่/จน/เจ็บไม่แพ้ชาวนาเลย แถมหลาย ๆ คนมีการศึกษาขั้นโงหัวลืมตาอ้าปากชุบตัวผ่านระบบการศึกษาเล่าเรียนมาได้ ก็ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อ-แม่ที่เป็นชาวนา/เป็นเกษตรกรมาทั้งนั้น! ผมจึงชิงชังทัศนะหยาบ ๆ ที่ว่านี้ไปโดยปริยาย เพราะมันเป็นวาทกรรมดูถูกดูแคลน/กดทับ/ปิดกั้น “ความเป็นคน” ของคนด้วยกัน เป็นทัศนะที่ฝ่ายซ้ายมองว่าเป็นการกดขี่ของชนชั้นปกครอง ส่วนผมมองว่าเป็นวิธีคิดที่หยาบคาย/มักง่ายของบางกลุ่ม/บางชนชั้นที่สำคัญตนผิดคิดว่าตนเองเหนือกว่ากลุ่มสังคมอื่น ๆ ที่มีชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งคนพวกนี้มีทั้งราชการ/นักวิชาการ/กลุ่มคนเมือง ฯลฯ

ที่จริงทัศนะส่วนตัวในเรื่องการศึกษาสำหรับผมแล้วไม่ได้มีศรัทธามากมายนั้น แถมลึก ๆ กลับปฏิเสธด้วยซ้ำ ระบบการศึกษาแม้ว่าจะช่วยให้อ่านออกเขียนได้/ช่วยฟอกตัวให้กลายเป็นอารยชน(ตามค่านิยมสังคมกระแสหลัก) แต่ผมกลับเห็นความพิกลพิการ/อ่อนด้อย/และมิติของการทำลายความเป็นมนุษย์ของการเรียนการสอน/กระบวนการการศึกษาของไทยมากมาย การยกย่องเชิดชูสำหรับผมในเรื่องนี้จึงไม่มีอยู่ในความคิดนัก การเข้าไปเสพสังวาส/สมาทานการศึกษาของผมเป็นไปตามจารีตของสังคมและตามที่พ่อแม่ผลักดัน ไม่ได้เป็นความอยากเป็นพิเศษโดยส่วนตัวทำให้ทัศนะการร่วมชีวิตกับเพื่อนพ้องในสถาบันการศึกษาที่ผ่านมามีสภาพเป็นการไปเที่ยวหาเพื่อน ไปดูหนัง หรือไปไถนา ฯลฯ เท่านั้นเองหนังสือเล่มไหนน่าสนใจก็หาอ่านเอา ส่วนนักวิชาการ/อาจารย์ก็เป็นเหมือนนักเล่าเรื่องที่หลายคนอีโก้หลงตัวเองหัวปักหัวปำขนาดหนักจนไม่รู้ว่าตัวเอง “ป่วย” !

ความสนใจใน โลกของชาวนา โดยส่วนตัวผมเริ่มจากประเด็น “ความเป็นธรรม/ความยุติธรรม” มากกว่าประเด็นเชิงเศรษฐกิจที่มักจะพูดกันถึงเรื่อง “ความยากจน” ผมมองความเคลื่อนไหวของชาวนาเป็นความน่าสนใจ มีเรื่องราวความเป็นอยู่และการยังชีพที่แตกต่างไปจากสังคมเมืองมากมายในเกือบทุกมิติและทุกความคิด/ความเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มสังคมของคนส่วนใหญ่ที่แบกภาระเลี้ยงดูสังคมมายาวนาน เป็นเนื้อนาของรากเหง้าชีวิตและสังคมปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความเป็นธรรม/ความยุติธรรมในความเคลื่อนไหวของสังคม-เศรษฐกิจและการดำรงชีวิตในมิติต่าง ๆ กลับไม่มีมากนัก ทั้งที่ได้อยู่ร่วมในโครงสร้างเศรษฐกิจในฐานะที่เป็น “ผู้ผลิตต้นน้ำ” ของระบบเศรษฐกิจแต่คุณภาพชีวิตและการได้รับความยุติธรรมกลับมี
สภาพเป็นเพียงแค่ “คนชายขอบ” ซึ่ง อี เอฟ ชูมัคเกอร์ หนึ่งในนักคิด/นักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคนหนึ่งของโลก ได้มองเห็นว่าความเป็นธรรมของชีวิตชาวนามีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในมุมอับ จากภาพที่ชูมัคเกอร์ เห็นรถบรรทุกขนผลผลิตสด ๆ จากไร่นาของเกษตรกร/ชาวนาออกไปทุกฤดูกาลหลังเก็บเกี่ยว แต่สภาพของผู้ผลิตกลับได้กินอาหารที่เก่าค้างปีไม่มีคุณภาพ/มีสภาพชีวิตที่ยากจนข้นแค้นซึ่งเป็นภาพที่ชี้บอกว่า “ความมั่งคั่ง” ไม่ได้อยู่ที่ชาวนาผู้ซึ่งผลิตวัตถุดิบต้นน้ำในโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่มันกลับไปอยู่ที่กระบวนระบบต่าง ๆ นอกไร่นา ทั้ง ๆ ที่ผู้บริโภคทั้งหลายต้องจ่าย! นี่คือความเป็นธรรมที่หายไปจากไร่นาและโลกของชาวนา !

ก้าวแรกในการเดินทางสู่ โลกของชาวนา ของผมเริ่มต้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบทอีสาน ผมเดินข้ามธารน้ำบนสะพานไม้เก่า ๆ แคบ เกือบพัง สองข้างเป็นนาแห้งแตกระแหงในช่วงฤดูร้อนหลังเก็บเกี่ยว ที่นั่นเป็นหมู่บ้านชาวนาอยู่รวมกันเป็นสังคมเล็ก ๆ ๕๙ ครัวเรือน ห่างเมืองราว ๓๐ กิโลเมตรมีถนนลูกรังเป็นถนนหลักออกจากเมืองแล้วแยกเข้าทางเกวียนไปหมู่บ้านอีกเกือบ ๑๐ กิโลเมตรสองข้างทางเป็นท้องทุ่งข้าวที่กำลังสุกปลั่งไปสุดลูกหูลูกตา มีเถียงนาตั้งขั้นสายตาอยู่ประปรายในนา…โลกของชาวนาเริ่มขึ้นแล้ว

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com