ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม


ภาพโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์

เส้นทางสายวัฒนธรรมพระปาจิต นางอรพิม เป็นงานวิทยานิพนธ์ ระดับดุษฎีบัณฑิต จากภาควิชาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในชื่อเรื่องว่า มรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่านวรรณกรรม : พัฒนาการเส้นทางสายวัฒนธรรมปาจิต-อรพิม (Living Heritage through Literature: The Development of Pachit – Oraphim Cultural Routes) ซึ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นสาขาปรัชญา จากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ในพ.ศ. ๒๕๕๘ จากการคัดเลือกวิทยานิพนธ์ ดี เด่น ๕ เรื่อง จากทั้งหมด ๔๖ เรื่อง ๑๓ สาขา ซึ่ง แบ่งระดับการให้รางวัลเป็น ดีเด่น ดีมาก และดี ซึ่งวิทยานิพนธ์ สี่เล่มนั้นเป็นวิทยานิพนธ์ จากทางสายวิทยาศาสตร์ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ มีเพียงเรื่องราวของพระปาจิต และนางอรพิม เท่านั้น เป็นวิทยานิพนธ์ทางด้านสายสังคมศาสตร์ เพียงเรื่องเดียว

แน่นอนที่สุดที่การได้รางวัลในระดับดีเด่น ของประเทศครั้งนี้ ไม่ใช่เป้าหมายของผู้วิจัย ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่การมอบรางวัลจากคณะ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นคณะกรรมการในส่วนกลางระดับประเทศ ได้ประกาศยอมรับเรื่องราวในท้องถิ่นเรื่องเล่าของชาวบ้าน ให้มีระดับทัดเทียมกับการวิจัยอื่น ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างหากที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้ทําวิจัยอย่างสูงสุดในความพยายามสืบค้น ศึกษา วิจัย ความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมือง การอธิบายการเล่าเรื่องด้วยศาสตร์ของชาวบ้าน รวมทั้งการจัดการอนุรักษ์เก็บรักษาเรื่องเล่าที่มีมายาวนานหลายร้อยปี


กําเนิดงานวิจัยเรื่องเส้นทางสายวัฒนธรรม ปาจิต-อรพิม

จากความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ในเรื่องพื้นที่ชายแดนที่มีมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหานั้นมีความใกล้ชิดด้วยสถานภาพเป็นญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อาณาเขตที่เชื่อมต่อกันมีภูเขาและป่าไม้เป็นพรมแดนธรรมชาติ สถาปัตยกรรมที่สร้างอยู่ในพื้นที่ทั้งสองฝั่งประเทศที่ต่างก็เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั้งสองฝั่ง กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนไม่อาจจะแบ่งปันมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันได้ ทั้งนี้ปัญหาที่ทุกฝ่ายได้นํามาอ้างคือหลักฐานจากศาสตร์ของการทําแผนที่ตั้งแต่ยุคอาณานิคม แสดงให้เห็นอํานาจ แผนที่ซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญหนึ่งในปัญหาระหว่างรัฐตลอดมา จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงก่อให้เกิดประเด็นเรื่องการสัญจรและเดินทางของผู้คนในสมัยโบราณในยุคที่ยังไม่ได้มีแผนที่มากําหนดพรมแดน ว่ามีการเดินทางติดต่อกันไปมาอย่างไร โดยผ่านการศึกษาวิจัยจากนิทานท้องถิ่นในรูปแบบของวรรณกรรมมุขปาฐะ และงานวรรณกรรม ที่มีการบันทึกถึงการเดินทางของตัวละครหลัก ที่มีการบอกเล่าที่มาของชื่อบ้านนามเมืองในเขต ชายแดนไทย ลาว และเขมร ผ่านเรื่องราวของ วรรณกรรมท้องถิ่น ที่เล่ากันอย่างแพร่หลายในเขตภาคอีสานชื่อ ท้าวปาจิต-นางอรพิม ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้มีพื้นฐานอยู่ที่การค้นพบและการสร้างเส้นทางทางวัฒนธรรม นอกจากประเด็นเรื่องภูมินามแล้ว ผู้เขียนยังมีประเด็นเรื่องภูมิทัศน์วัฒนธรรมในแถบอีสานที่เป็นแหล่งก่อให้เกิดอารยธรรมร่วมกันระหว่างชนชาติทั้งสาม ผู้เขียนจึงสํารวจและสร้างแผนที่มรดกวัฒนธรรมจากวรรณกรรมท้าวปาจิต นางอรพิม เพื่อพิสูจน์ข้อสังเกตและสมมติฐานให้เป็นรูปธรรมว่าการเดินทางในสมัย โบราณนั้นมีพรมแดนหรือไม่อย่างไร

“เส้นทางสายวัฒธรรมปาจิต-อรพิม” นั้น เป็นการศึกษาที่เป็นสหวิทยาการ ทั้งด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ชีววิทยา ภูมิทัศน์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ การจัดการทางมรดกวัฒนธรรม ชาติพันธุ์วิทยา การศึกษาด้านภูมินาม การตลาด การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ คติชนวิทยา แผนที่มรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นยังเป็นการวิจัยเชิงสํารวจ มีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการลงพื้นที่ทั้งสามประเทศ รวมทั้งการเปรียบเทียบความเหมือนต่างของการจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรมในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย เส้นทางวัฒนธรรมนั้นเป็นแนวทางที่ข้ามพรมแดน โดยมีสันติภาพเป็นจุดหมายปลายทาง การเดินทางตามเส้นทางวัฒนธรรมนั้น ต้องผ่านจุดพักที่เคยมีความรุ่งโรจน์ในอดีต บางแห่งก็ยังคงมีชีวิต บางแห่งก็ผุพังไปตามกาลเวลา ซึ่งนักเดินทางมีโอกาสเพียงเดินผ่านผิวชั้นบนของประวัติศาสตร์เท่านั้น เป็นการใช่ศาสตร์ต่าง ๆ ผสมผสานกันเพื่อทําให้กระบวนการศึกษาวิจัยนั้นบรรลุสู่จุดมุ่งหมาย ด้วยพื้นฐานแห่งทฤษฎีที่เป็นสากล ซึ่งผู้ที่สนใจนําไปศึกษา ต่อสามารถนําแบบจําลองการศึกษานี้ไปใช่ได้ในทุกประเทศทั่วโลก


ภาพเส้นทางที่เชื่อมต่อกันจากเมืองสู่เมือง ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ตามตํานานเรื่องพระปาจิต-นางอรพิม (ภาพโดยรังสิมา กุลพัฒน์ และ ชัญญาภรณ์ ลาดเสนา)

มรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตผ่านวรรณกรรม : การพัฒนาการของเส้นทางวัฒนธรรมปาจิตอรพิม

เป็นกระบอกเสียงของประชาชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์รักษาผืนแผ่นดินเกิด คนในท้องถิ่นเหล่านี้ได้ปรารถนาเพียงแค่ให้อัตลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรมของความสัมพันธ์ระะหว่างญาติมิตรพี่น้องที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ได้รับการยอมรับว่าไม่เคยมีพรมแดนต่อกัน การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับตํานานท้องถิ่นเรื่องปาจิต-อรพิม ทั้งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ตํานานท้องถิ่นเรื่องปาจิต-อรพิมนั้น ได้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นมุขปาฐะมายาวนาน และได้รับการบันทึกในรูปใบลานที่พบเห็นได้ตามท้องถิ่น ภาคอีสานรวมทั้งสมุดไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๖ สมัยกรุงธนบุรี โดยกวีนิรนาม ซึ่งได้เลียนแบบแนวทางการเขียนชาดกเรื่องปาจิตกุมารชาดกที่มีมาแต่โบราณ ทั้งสองเรื่องต่างมีโครงเรื่องคล้ายกัน แต่ต่างกันที่ตํานานเมืองพิมายฉบับนี้ได้ บันทึกการเดินทางของนางอรพิม หรือพิมพา ในภาคชาดก ผ่านเมืองเก่าต่าง ๆ ในเขตอีสานใต้ และทุก ๆ ที่ที่ปาจิตและอรพิมเดินทางผ่านไป เรื่องราวหรือเหตุการณ์ในเรื่องก็กลายเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองในถิ่นนั้น

พื้นที่ศึกษา

สถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ วัฒนธรรมที่ปรากฏในตํานานที่มีมากกว่า ๓๐ แห่งนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราชตามเทือก เขาพนมดงรักที่กั้นระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และตอนปลายไปสู่ประเทศลาว การเปลี่ยนถ่ายของตํานานนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการอพยพของผู้คนชาวลาว ชาวโคราช และชาวเขมร ซึ่งนําพาตํานานเรื่องปาจิต – อรพิม ไปด้วย จากบรรพบุรุษรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย โคราชและเขมร จากการค้นคว้าพบว่าเรื่องปาจิต กุมารมีที่มาจากเรื่องเล่าของชาวลาว และชาว อีสาน แต่ก็พบว่าชาวไทยโคราช และชาวไทยที่พูดภาษาเขมรที่อยู่บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์นั้นก็เป็นผู้เล่าเรื่องตํานานท้องถิ่นปาจิต-อรพิมด้วย นอกจากนั้นตํานานท้องถิ่นยังนําไปสู่ความเชื่อที่ ช่วยปกป้องและรักษามรดกวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน นางอรพิมกลายเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลสิ่งที่ชาวบ้านปรารถนาได้ ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้ผู้คนเคารพและรักษาวัตถุโบราณและศาสนสถาน การเชื่อมโยงของชื่อบ้านนามเมืองในตํานานฯ แสดงให้เห็น

จากการที่เรื่องปาจิต – อรพิม ถูกเล่าขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และเป็นตัวแทนให้เห็นถึงพื้นที่ที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคทวารวดี พระนครสยาม และประเทศไทยในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นการวิจัยครั้ง นี้แสดงให้เห็นว่าเส้นทางระหว่างชุมชนท้องถิ่นนั้น มีการเชื่อมต่อระหว่างเมืองเก่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งโบราณสถาน การศึกษาในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนที่ยังคงอยู่ ที่ไม่ได้คํานึงถึงพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งประชาชนเหล่านี้ ได้ผสานความสัมพันธ์ระหว่างมรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นจากเมืองสู่เมืองโดยปราศจากข้อจํากัดของบ้านเมือง ผลการศึกษา การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึกในเรื่องการทํา แผนที่มรดกวัฒนธรรม พบว่าชุมชนต่าง ๆ ได้ ยอมรับแนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์ตํานานและความเชื่อของพวกเขา ด้วยกรอบของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับ ความต้องการในการลดความยากจน ผลการศึกษาที่สําคัญคือการพัฒนาเส้นทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในตํานาน รวมทั้งแผนการจัดการหลักสําหรับการเก็บรักษา การอนุรักษ์และการท่องเที่ยว ซึ่งผลผลิตจากการ ศึกษานั้นคือแผนที่แผ่นพับพร้อมคําบรรยาย รวมทั้งคู่มือหนังสือเดินทางสําหรับนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้มีความรู้จากแหล่งท่องเที่ยว และมีความต้องการใช้เวลาในแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนให้มากขึ้น เพื่อพบปะกับคนในท้องถิ่นและได้เรียนรู้จักความเป็นสากลในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนั้นการทดสอบ การใช้แผนที่มรดกวัฒนธรรมในชุมชน แสดงให้เห็นถึงการตอบรับที่ดีจากชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสําคัญส่วนหนึ่งในความสําเร็จของโครงการ และผู้วิจัยมีความหวังที่จะให้ผลผลิตจากงานวิจัยเป็นประโยชน์แก่ทุก ๆ ชุมชนในเส้นทางสายนี้ต่อไป

เมรุพรหมฑัต เยื้องอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมคําบรรยาย  เรื่องความเกี่ยวข้องกับตํานานของสถาปัตยกรรมจากกรมศิลปากร ภาพโดย รังสิมา กุลพัฒน์

รูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือในตำนาน คือ ท้าวพรหมฑัต รูปปั้นมเหสีชัยราชเทวี หรือในตำนาน คือ นางอรพิม ภาพจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย

โปรดติดตามตอนต่อไป

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

คําผญา (๒)
พระสุเมรุกลางใจเรา
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com