ม่วนชื่นเจ้าแม่สองนาง

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๔
ปีที่๒ เดือนมิถุนยน ๒๕๕๖
คอลัมน์: หลงฮอยอีสาน
Column: Passion of E-shann Culture Trail
ผู้เขียน: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม เรื่องและภาพ

Both Princesses are daughters of His Majesty the King Chaichethathiraj, The King of Lane Xang Kingdom. Their names are Kum-Muen and Kum-Saen. Since His Majesty the King hasn’t got any sons, there must be a man who would become a King after His Majesty the King Chaichethathiraj dies.

The Princesses and their fellow citizens used elephants for transportation to meet their uncle Thao Phia Muang Pan, who is the governor of Khonkaen. Thao Phia Muang Pan let them settle by Kaen Nakorn Lake so that they could help develop agriculture in Khonkaen, which mostly involved planting rice. The Princesses rode elephants and observed their workers every year, instructing the workers to plant the rice according to the Mukpatha, or oral tradition.

Worship of the Princesses takes place every year during the Songkran festival, showing the relationships and harmony between people in the Srithat community.


“หมอ ช่วยบักวันชนะแหน่ !”

วันชนะคือใครฉันไม่ได้สนใจ เบื้องหน้าฉันคือแมวที่กำลังทำท่ากระหายอากาศอย่างเอาเป็นเอาตาย หน้าบวม แถมเยือกเมือกเป็นสีม่วงคล้ำเช่นนี้ไม่ผิดแน่ อาการเป็นพิษจากยาพาราเซตามอล ไม่ทันได้ซักถามอะไรให้มากความเพราะถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ทุกวินาทีไม่ต่างจากทรายแห่งชีวิตที่กำลังร่วงหล่นสู่กระเปาะแก้วเบื้องล่าง

นานกว่ามรสุมจะสงบลงแต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้ฉันทอดสายตามองแมวสีศุภลักษณ์ตัวเขื่องที่เริ่มหายใจสม่ำเสอภายใต้หน้ากากออกซิเจน สายน้ำเกลือเสียบโยงเข้ากับหลอดเลือด พร้อมกับอธิบายถึงสาเหตุที่แมวสีทองแดงต้องพักค้างที่คลินิกแก่เจ้าของ

“เดี๋ยวผมสิไปบนขอแม่สองนางให้ช่วย อย่าให้มันตาย”

ฉันขมวดคิ้วมุ่น ฉันมักติดท่าทางเช่นนี้ยามที่ใครก็ตามที่กล่าวเป็นเชิงดูแคลนฝีมือในทางรักษาแต่เมื่อมองไม่เห็นเจตนานั้นในแววตาของเฒ่าจ้ำแห่งศาลเจ้าแม่สองนางฉันจึงตอบรับแต่เพียงว่า

“ค่ะ”

สามวันหลังจากวันชนะกลับบ้านได้ ฉันก้าวยาว ๆ ขึ้นเนินของสวนสาธารณะหน้าคลินิก ไปพบกับพ่อดีที่ที่ทำงานของแก ‘ศาลเจ้าแม่สองนาง’

“วันชนะกลับบ้านแล้วเป็นจังได๋ล่ะพ่อ” ฉันกระพุ่มมือไหว้ผู้อาวุโสพร้อมกล่าวทักทาย

“กินข้าวได้แล้ว” ผู้อาวุโสยิ้มกว้าง

“ชื่อวันชนะนี่ เท่เกินแมวเด้ ได้มาแต่ไสล่ะ”ฉันชวนคุย

“พู่นแหล่ว เข้าทรงถามแม่สองนาง เผิ่นเลยตั้งให้” รอยยิ้มภูมิใจฉาบอยู่บนหน้าผู้อาวุโส

ศาลเจ้าแม่แห่งนี้ทั้งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคลินิกแต่ฉันเคยมาแบบนับนิ้วมือข้างเดียวถ้วน คือ มาจุดธูปบอกกล่าวว่าย้ายเข้ามาอยู่ในละแวกนี้ตามธรรมเนียมเท่านั้น เหลือบมองรอบ ๆ ศาล ผลงานสร้างที่เป็นงานเป็นการเยี่ยงถาวรสถาน กล่าวตรง ๆ คือดูไม่เหมือนสำนักแบบกเฬวรากของพวกเข้าทรงหลอกลวงตามที่มีข่าวทางโทรทัศน์อยู่เสมอ ๆ ความสงสัยใคร่รู้ค่อยก่อตัวขึ้นจนไม่อาจทนเก็บได้

ยิ่งกว่าเต็มใจ ‘พ่อดี’ หมอจ้ำ ๒ ประจำศาลเจ้าแม่สองนางค่อย ๆ ถ่ายทอดเรื่องราวแต่เก่าก่อนให้ฟังด้วยเสียงที่แสดงถึงความยินดียิ่ง

“ทั้งสองนางเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง ซึ่งทราบต่อมาภายหลังว่าผู้พี่ชื่อเจ้านางคำหมื่น ผู้น้องชื่อเจ้านางคำแสน ครั้นต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้สวรรคตลง เนื่องจากไม่มีราชบุตรที่จะสืบต่ออำนาจ จึงมีเจ้าเมืององค์ใหม่ได้ขึ้นครองเมืองแทนสองพี่น้องได้พาพวกพ้องบริวารอพยพโดยใช้ช้างเป็นพาหนะ เดินทางลงมาหาท้าวเพียเมืองแพนผู้เป็นน้าซึ่งเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เมื่อมาถึงแล้ว ผู้เป็นน้าจึงได้จัดให้อยู่ข้างบึงขอน หรือบึงแก่นนครปัจจุบัน เพื่อช่วยกันสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป ซึ่งเป็นงานทางด้านการเกษตร มีการทำนาเป็นส่วนใหญ่ ท้าวเพียเมืองแพนจึงจัดให้เจ้าแม่สองนางผู้เป็นหลาน ขี่ช้างที่นำมาจากเมืองมุกดาหารเพื่อควบคุมคนงานทำนาอยู่ทุกปีที่มีการทำนาตามทางมุขปาถะ”

“ป๊าด ! พ่อใหญ่คือจำได้คักแท้” ฉันถามด้วยความประหลาดใจ ก่อนที่จะระเบิดทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อตาจ้ำชี้มือไปที่กรอบประวัติของศาลที่ด้านหลังของฉัน

พ่อดียังเล่าเรื่องที่แกพอจะจำได้ว่าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า…

“เล่าต่อมาว่า เจ้าแม่สองนางเป็นผู้ควบคุมเสบียงอาหารช่วยผู้เป็นน้า ทุกปีที่ลงทำนานั้นเนื่องจากเจ้าแม่สองนางท่านเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี เจ้าหนุ่มชาวนาหรือผู้คนทั่วไปเห็นแล้วหลงใหลไปตาม ๆ กัน จึงมีการร้องลำกันทั่วในทำนองเกี้ยวพาราสีว่า ‘ได้ขี่ช้างกังห่มเป็นพญา อย่าสิลืมชายพลอย ผู้ชี้ควายคอนก้าง’ คำร้องลำคำนี้สืบเนื่องมาจากครั้งกระนั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังมีให้เราเห็นอยู่ เช่น ทางเหมืองช้างซึ่งเริ่มต้นจากหมู่บ้านตูมลงสู่ทุ่งนาหลวง ที่ในสมัยนั้นเป็นนาของเจ้าเมืองขอนแก่นนั่นเอง คำว่า เหมืองช้างนั้นเป็นภาษาถิ่นอีสาน คือ ทางช้างเดินไปเดินมาเป็นประจำ เลยเป็นทางร่องน้ำเล็ก ๆ คนอีสานเขาเรียกว่า ‘ร่องเหมือง’ เป็นทางที่เจ้าแม่สองนางขี่ช้างลงไปดูนา เพื่อควบคุมคนงานที่ทำนาที่เป็นนาหลวงสมัยนั้น ปัจจุบันผู้คนแถบนั้นเขายังเรียกที่ตรงนั้นว่า ทุ่งนาหลวง อยู่จนปัจจุบันนี้”

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่ทำให้ฉันและพ่อดีได้รู้จักกันแบบเป็นทางการ

“คุณหมอ เดี๋ยวสิมีงานบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง มื้อวันที่ยี่สิบสี่เมษายนถึงยี่สิบห้าเมษายนเด้อ” แม่ใหญ่เอมอร เจ้าของ ‘เจ้านาตาลี’ โกลเดนท์รีทรีฟเวอร์ขี้กลัว ขับมอเตอร์ไซค์มาส่งข่าวที่หน้าคลินิก

“พ่อบรรพต เจ้าของตึกที่หมอเช่าอยู่น่ะ เลาฝันว่าแม่สองนางอยากเปลี่ยนจากม่านสีชมพูเป็นม่านสีเขียว หมอสนใจสมทบทุนนำ บ่สิมีดูดวงนำเด้อ” แม่ใหญ่ที่ซ้อนท้ายมาด้วยกันเสริม

“ฉันยิ้มกว้างรับคำเชื้อเชิญนั้น”

ในที่สุดวันงานก่อกองทรายก็มาถึง ฉันวนเวียนไปสังเกตการณ์อยู่หลายรอบว่าเค้าเริ่มรวมตัวกันหรือยัง แต่สถานการณ์ก็ยังเงียบสงบอยู่ เห็นก็มีเพียงพ่อดีเท่านั้นที่วุ่นวายขายปลาแดกอยู่กับการเตรียมความเรียบร้อยของงาน

“แดดร่ม ๆ นู่นแหละคุณหมอ คนเขาถึงจะมากัน” พ่อดีบอก

พอไอร้อนจากเปลวแดดเริ่มคลาย แม่ใหญ่ทั้งหลายเดินหิ้วถังทราย ตระกร้าดอกไม้ ตามกันมาเป็นทิว ที่ช้าก็คงรอให้อีกฝ่ายเสร็จงานแล้วเดินมาเป็นเพื่อนกัน บ้างมีดอกไม้มาจากบ้าน บ้างมาเก็บเอาจากริมทาง แม่ใหญ่ที่พาหลานตัวน้อยมาด้วยก็เตรียมอุปกรณ์เล่นทรายมาให้พร้อมสรรพ เพื่อที่มาถึงแล้วก็ลงมือเล่นได้เลย

ทุกคนช่วยกันตักทรายใส่ถังไปกองไว้ ไม่เฉพาะแต่กองทรายของตนเองหากแต่มีน้ำใจที่จะตักไปเผื่อแผ่ให้กับกองอื่น ๆ ด้วย คนที่ไม่มีถังมาก็ชวนกันไปพรมน้ำให้ทรายกองนั้นกองนี้อยู่ตัวและช่วยปั้นให้เป็นรูปต่าง ๆ

“คุณยายขา น้องขิมจะช่วยทำไข่เต่าให้ค่ะ” ว่าแล้วเจ้าของเสียงเล็ก ๆ นั่น ก็กดทรายใส่พิมพ์แล้วเคาะออกมาเป็นทรงกลมเรียงราย

“เก่งลูก” เสียงชมให้กำลังใจดังไม่ขาดปากผู้สูงวัยหลายคน

“คือสิ คิดย้อนไปตอนเจ้าของเป็นเด็กน้อยเนาะ” เสียงอ้ายคนหนึ่งแซวยายของเจ้านาตาลีทำให้ทุกคนหัวเราะคิกคัก

“ทำไมเราต้องปั้นให้เป็นรูปพวก เต่า ปลา จระเข้ ด้วยล่ะคะ” ฉันถามแม่ใหญ่เอมอร

“ก็ปั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเป็นสัตว์เหล่านี้มาก่อน” แม่ใหญ่ตอบพลางช่วยปั้นหัวเต่าให้กับฉัน

พยายามปั้นกันให้เป็นรูปเต่า รูปจระเข้ แล้วยังมีรูปปลาช่อนอีกด้วย เจ้าเขียดทรายกระโดดผลุงออกมาจากกองทรายที่มันหมกตัวอยู่ แม่ ๆ ทั้งหลายตะครุบกันใหญ่ ก่อนจะสรุปว่า ‘วันนี้เป็นงานบุญปล่อยไปก่อน’

“เอ้า ! คุณหมอประดับดอกไม้ด้วยค่า” มีผู้ใจดียื่นช่อดอกหางนกยูงมาให้ฉันช่วยประดับเจดีย์ทราย

ทั้งโกย ทั้งปั้นทราย ปักดอกไม้กันด้วยความสนุกสนาน ณ เวลานั้นไม่มีใครคิดถึงสีที่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทุกคนที่มามาด้วยความตั้งใจที่จะมาร่วมทำบุญด้วยกันเท่านั้น เสียงพูดคุย เสียงหัวเราะเซ็งแซ่ จนกระทั่งทรายที่กองเตรียมไว้หมดลงและประดับเจดีย์ทรายจนงดงามสมใจ แม่ใหญ่ทั้งหลายนั่งพักผ่อนกันเพียงชั่วครู่ก่อนชวนฉันให้ขึ้นไปจุดธูปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพรมน้ำอบน้ำหอมให้เจ้าแม่สองนางบนศาล

“มื้ออื่นเจ็ดโมงเช้ามาใส่บาตรนำกันเด้อ”

“ค่ะ” ฉันตอบรับคำชวนนั้นด้วยใจยินดี

แต่แล้วฉันก็ไปไม่ทันใส่บาตรจนได้ ไม่ใช่เพราะตื่นสายแต่เป็นเพราะคิดเอาเองว่า ‘ขนาดเมื่อวานนัดก่อเจดีย์ทราย ๔ โมง ยังมากัน ๕ โมงเย็นเลย’ จนพ่อต้องกระตุ้นเตือนว่า ‘พระท่านฉันเป็นเวลา’ นั่นแหละฉันจึงได้รีบกระวีกระวาดออกจากบ้าน โชคดีที่ยังมาทันเวลางานบวงสรวง

ก่อนเข้าบริเวณงานฉันรู้สึกตะขิดตะขวงใจเล็กน้อยที่ต้องถอดรองเท้า ด้วยยังฝังใจกับการที่รองเท้าคู่ใจเคยหายไปในงานบุญมหาชาติ แต่ในที่สุดก็ยอมถอดเพราะคิดว่า ‘ความเน่าผนึกกำลังกับความมอม’ คงกลบรัศมียี่ห้อลาครอสต์ของมันได้มิด

ทุกคนที่มาร่วมงานล้วนมีรอยยิ้มสดชื่นประดับใบหน้าแม้ไม่รู้จักกัน แต่เสียงชักชวน ‘กินข้าวนำกัน’ ยังดังอยู่ตลอดทางที่จะเข้าไปสักการะเจ้าแม่สองนางในศาล ฉันหยุดคุยกับลูกค้าที่รู้จักกันอยู่ครู่หนึ่ง เสียงโฆษกก็ประกาศขึ้นว่า

“ระหว่างที่พ่อแม่พี่น้องกำลังรับประทานอาหารกัน เราจะมีการแสดงรำบวงสรวงเจ้าแม่จากกลุ่มยุวชนชุมชนศรีธาตุมาให้ดูกัน ขอเสียงปรบมือให้ลูกหลานเฮาด้วย”

เสียงปรบมือดังกราวใหญ่พร้อมกับเสียง “นั่นลูกข้อย” “นี่หลานข้อย” จากเหล่าผู้ปกครองที่ภูมิใจในลูกสาวหล่าของตน

“สวยมากค่าลูกสาวฉัน” ผู้ปกครองคนหนึ่งประกาศ ฉันจึงหันไปส่งยิ้มให้ด้วยความเอ็นดู

เด็ก ๆ แต่งกายน่ารักในชุดท้องถิ่นออกมาเซิ้งประกอบบทเพลงท่วงทำนองสนุกสนานเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อการแสดงจบลงโฆษกคนเดิมออกมาประกาศ

“การแสดงของกลุ่มยุวชนจบลง ต่อไปรายการที่สองจะเป็นการแสดงหมอลำ ชุด ‘เต้ยเดือนห้า’จากกลุ่มสอวอ… ผู้สูง วัยของเรา” หลาย ๆ คนในที่นั้นอดไม่ได้ที่จะยิ้มหัวกับมุขของตาโฆษก

“เอ้า ! สอวอ ยืนขึ้นรู้แล้วว่าพร้อม หมอแคนเด้อยู่ไส” ตาโฆษกคนเดิมประกาศหาเมื่อยังไม่เห็นชาวคณะออกมาแสดง

“ไปรับอยู่” สมาชิกในวงตะโกนตอบ

ไม่นานหมอแคนก็มาถึงและเริ่มทำการไหว้ครูหมอลำฝ่ายหญิงออกมารำสลับกับฝ่ายชายซึ่งเริ่มร้องกลอนลำด้วยน้ำเสียงเป็นตาออนซอน

“สวย เอ้ย…สวยหลายน้อ นอน้อง แม่ทองปอนก้อนน้ำคั่ง…
อุ่น…คนงามของอ้ายนี่เอย…สวยหลายน้อ
หม่อมน้องแม่นไผปั้นหล่อมา อาดหลาดธาตุใหญ่ธาตุพนม อ้ายอยากโจมไปตั้ง
ร้อยเอ็ด คำให้มันเคื่อง เบิ้งเด้น้อง
โอเด้ ให้มันเหลืองเอ้อเห้อ คือแป้นว่าแผ่นทอง ละจั่งว่าแก้มอ่องต่อง ใสยองยองเด

โออ้ายเอ๋ย น้องขอชิดเชยบ่เคย
หน่ายแหนง ๆ น้ำโขงบ่เคยเหือดแห้ง
ความฮักแพง บ่ได้นึกหวั่น ใจกระสันยังห่วง
ละเมอ ๆ …
มาอ้ายมา น้องสิพาไปล่องโขง ๆ ไปลงเรือ
เขมราฐ ฟังเสียงน้ำโตนตาด ดังอยู่ลื่น
หลืนลืน หลืนลืน ๆ สิบคืนอีน้องสิถ่า
ซาวพรรษาละอีน้องสิอยู่ มีซู้อีน้องบ่เว้า
สิคอยเจ้าแต่ผู้เดียว เกี้ยวไว้ก่อนออนซอนนา ๆ
อย่าป๋าอย่าไลกันนา อย่าป๋าอย่าไล…กันนา…”

ชมการแสดงของเหล่าผู้สูงวัยแม้อายุจะเลยวัยที่จะมาร้องเพลงเกี้ยวมาหลายปีแล้ว แต่ท่าทางงอนง้อของผู้เฒ่าก็น่าเอ็นดูดีเหมือนกัน โฆษกคนเดิมเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมสนุกเมื่อมีผู้กล้าหาญคนแรกเข้าไป คนที่ ๒ คนที่ ๓ ก็ตามมาจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่

“เอ้า ! ‘หมอรำ’ หน่อย ๆ” เสียงเชียร์ให้ฉันเซิ้งให้ดู แม้จะเป็นท่างู ๆ ปลา ๆ แต่ก็ทำให้บรรยากาศครื้นเครงยิ่งขึ้น

“นี่ ‘หมอลำ’ ของจริงตั๊วะนี่” เสียงหนึ่งแซวขึ้น ทำให้ฉันยิ้ม ครูหมอลำกลอนยิ้ม พ่อใหญ่แม่ใหญ่ยิ้ม ลามไปถึงเด็กเล็กหนุ่มสาวที่มาร่วมก็ยังยิ้มคล้ายกับโรค ‘ยิ้ม’ กำลังระบาดสู่ทุกคน

ที่สุดก็ถึงเวลาแยกย้าย งานพิธีจบลงทุกคนเก็บของแยกย้ายแต่รอยยิ้มม่วนซื่นโฮแซวก็ยังแตะแต้มอยู่บนใบหน้า ถ้าหากฉันทำเป็นไม่สนใจไม่มาร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านคงน่าเสียดาย ไม่ใช่เพราะเสียดายที่ไม่ได้มาร่วมสนุก แต่คงจะเสียดายที่ไม่ได้มาเห็นบรรยากาศที่สวยงามในมิตรภาพ น้ำใจเอื้อเฟื้อและความสามัคคีกันของชาวชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนบ้านศรีธาตุแห่งนี้

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com