นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]
ภาพจากหนังสือปัญญาสชาดก เล่ม ๒ กรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๕๗
คำว่า ปาจิต อรพิม เป็นคำที่ผู้เขียนเลือกใช้เพื่อแสดงความเป็นกลาง ท่ามกลางความหลากหลายของการสะกดชื่อตัวละครเอกของนิทานเรื่องนี้ ในปัญญาสชาดก เรียก พระปาจิตตนางอรพิมพ์ ในวรรณกรรมคำกลอน เรียก พระปาจิตต นางออระภิม ในใบลานจากวัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เรียกท้าวปราจิตนางอรพิม ในบทประพันธ์ของหลวงระงับประจันตคาม เรียก ปาจิตต นางอรพินท์ ชาวบ้านมักเรียกว่า ท้าวปาจิตต์ นางอรพิมพ์ หรืออรพินท์ และผู้รู้บางท่านใช้ปาจิต อรพิม ซึ่งผู้วิจัยเห็นสอดคล้องว่าเป็นคำเลียนเสียงที่เป็นกลางปราศจากตำแหน่งที่เป็น พระ หรือท้าว
ตำนานเรื่องปาจิต อรพิม นั้นเป็นวรรณกรรมประจำถิ่น หรือนิทานประจำถิ่น ซึ่งมักบอกเล่าเรื่องที่มาของภูมิศาสตร์และสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น ประคอง นิมมานเหมินท์ ได้กล่าวถึงนิทานประจำถิ่น ในหนังสือนิทานพื้นบ้านศึกษา ว่า “ในภาษาเยอรมันใช้คำว่า Sage ภาษาอังกฤษนั้นก็มีหลายคำ ได้แก่ local tradition, local legend และ migratory legend ภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า tradition populaire โดยทั่วไปนิยมเรียกนิทานประเภทนี้ว่า Sage ตามภาษาเยอรมัน นิทานประเภทนี้มีขนาดของเรื่องไม่แน่นอน บางเรื่องก็สั้นบางเรื่องก็ยาว บางเรื่องอาจมีอนุภาคที่สำคัญเพียงอนุภาคเดียว มักเป็นเรื่องแปลกพิสดาร ซึ่งเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ตัวละครและสถานที่บ่งไว้ชัดเจน นิทานประจำถิ่นของไทย เช่น เรื่องพระยากงพระยาพาน พระร่วงเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ท้าวกกขนาก ท้าวปาจิตกับนางอรพิม และตาม่องล่าย เป็นต้น”
“ปาจิต อรพิม” นิทานประจำถิ่นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะมุขปาฐะ นอกจากนั้นก็ยังได้รับการบันทึกไว้ในวรรณกรรมคำกลอน ชาดกนอกนิบาต รวมทั้งยังได้รับการบันทึกในเอกสารของทางราชการในกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับความเป็นมาของหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอบางพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์อีกด้วยนิทานพื้นบ้าน “ปาจิต อรพิม” จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาความเป็นมาของคนในท้องถิ่น เช่นที่ ภูมิจิตร เรืองเดช กล่าวว่า “วรรณกรรมเรื่องปาจิต อรพิม เป็นวรรณกรรมที่ถ่ายทอดชีวิตในอดีตของคนในท้องถิ่นอีสานได้เป็นอย่างดี เช่น ศาสนาที่คนอีสานนับถือคือ ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท หรือหินยาน การเดินป่า ซึ่งสนุกสนานและชวนให้ติดตามเนื้อเรื่องไปจนจบ ที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือ ชื่อเมือง หรือตัวละครที่สำคัญจะถูกดึงออกไกลตัว เพราะธรรมเนียมอีสานนิยมบูชา หรือให้เกียรติคนต่างกัน หรือคนมาจากแดนไกล”
เรื่อง “ปาจิต อรพิม” ที่ปรากฏในปัญญาสชาดก (ชาดกนอกนิบาต) ฉบับของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้น ได้รับการบรรจุเป็นชาดกที่ ๓๙ ชื่อ “ ปาจิตตกุมารชาดก” นิยะดา เหล่าสุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นชาดกที่ได้รับการยอมรับกันมาอย่างกว้างขวางว่ามีที่มาจากนิทานพื้นเมืองเรื่องเก่าแก่ของเมืองพิมาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานหลายแห่งในบริเวณปราสาทหินพิมาย เช่น ปรางค์ พรหมทัต เมรุพรหมทัต ท่านางสระผม สระแก้วสระขวัญ ล้วนแต่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ทั้งสิ้น นอกจากนี้คำว่า พิมายก็เชื่อกันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “พี่มา” ซึ่งเป็นคำที่นางอรพิมร้องเรียกปาจิต ซึ่งติดตามนางเข้าไปจนถึงปราสาทของพระเจ้าพรหมทัต”
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือปัญญาสชาดก ที่พิมพ์ในงานปลงศพนางบริหาร หิรัญราช พิมพ์โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ พ.ศ. ๒๔๖๘ ไว้ว่า “หนังสือปัญญาสชาดกนี้คือประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเปนชาดกไว้ในภาษามคธ เมืองพระพุทธศักราชประมาณราวในระหว่าง ๒๐๐๐ จน ๒๒๐๐ ปี อันเปนสมัยเพื่อพระสงฆ์ชาวประเทศนี้พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษามคธแตกฉาน เอาแบบอย่างของพระภิกษุสงฆ์ในลังกาทวีป มาแต่งหนังสือเป็นภาษามคธขึ้นในบ้านเมืองของตนแต่งเปนอย่างอำถกถาธรรมมาธิบาย เช่นคัมภีร์มงคลทีปนีเปนต้นบ้าง…หนังสือปัญญาสชาดกนี้ต้นฉบับเดิมเปนคัมภีร์ลาน จำนวนรวม ๕๐ ผูกด้วยกัน เดี๋ยวนี้เห็นจะมีอยู่แต่ในประเทศสยามกับที่เมืองหลวงพระบางแลที่กรุงกัมพูชา”
ใน “ปาจิตตกุมารชาดก” ฉบับกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งประพันธ์ โดย พระราชาภิรมย์ (แจ่ม บูรณนนท์) ในปี ๒๔๖๔ กล่าวเทียบเคียงเรื่องปาจิต อรพิม กับตำนานของพระพุทธเจ้า ไว้ใน หน้าที่ ๖๑ ดังนี้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระนางพิมพาเทวีซึ่งบวชเปนภิกษุณีนั้น จะได้มีแต่ความงามแต่ในกาลนี้หามิได้ แม้ถึงในบุรพชาติปางก่อน นางก็มีความงามเปนอย่างยิ่งในกาลเมือบวชเป็นสังฆราชา ดังตถาคตแสดงมาแล้ว มีพระพุทธดำรัสดังนี้ แจ้งที่พระประชุมชาดกว่าจุลสามเณรในครั้งนี้กลับชาติมาคือพระยาอชาตสัตตุราช นายพรานป่าคือพระเทวทัต…นางอรพิมพ์เทวีในครั้งนี้กลับชาติมาคือพิมพาภิกษุณี ปาจิตตกุมารโพธิสัตว์ในครั้งนี้กลับชาติมาคือพระตถาคต”
นิยะดา เหล่าสุนทร ยังพบว่า มีต้นฉบับตัวเขียนปาจิตตกุมารกลอนอ่าน ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๑๖ ซึ่งเป็นวรรณกรรมคำกาพย์ที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งได้ประสมประสานตำนานของสถานที่หลายแห่งในเมืองพิมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง เช่น ลำธารที่มีชื่อว่า ลำเมียก เมืองกงรถ เมืองพิมาย บ้านถนนคลานมา
ต่อมา หลวงบำรุงสุวรรณ ได้แต่งปาจิตตกุมารกลอนอ่าน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสำนวนแต่งคล้ายคลึงกับในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งผู้แต่งได้ให้เหตุผลว่าเพียงเพื่อจะบันทึกเรื่องราวไว้ให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง ซึ่งต่อมาในพ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงระงับประจันตคาม แต่งกลอนอ่านชื่อ “ปาจิตต-อรพินท์” เพื่อรักษามิให้เรื่องเก่าสูญหายเช่นกัน ซึ่งฉบับนี้ได้ประพันธ์เกี่ยวกับการสร้างปราสาทหินพิมาย และพนมวัน และ เฉลียวสังฆมณี ได้ประพันธ์เรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” ใน พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งเนื้อหานั้นสอดคล้องกับปัญญาสชาดกฉบับเดิม แตกต่างจากวรรณกรรมกลอนอ่านซึ่งได้บรรยายถึงชีวิตความเป็นอยู่และสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า
การที่มีผู้ประพันธ์เรื่อง “ปาจิต อรพิม” ต่อเนื่องกันมาแสดงให้เห็นว่า ตำนานหรือนิทานท้องถิ่นเรื่อง “ปาจิต อรพิม” เป็นที่นิยมและแพร่หลายกันมาต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นชาดกนอกนิบาต ซึ่งเป็นการบำเพ็ญธรรมบารมีในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
ประคอง นิมมานเหมินท์ กล่าวถึงเรื่องปาจิตกับนางอรพิมว่าเป็นนิทานประจำถิ่น ซึ่งอธิบายความเป็นมาของสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือก่อสร้างขึ้นมาดังเช่นที่ผู้เล่านิทานท้าวปาจิต นางอรพิมพ์พยายามใช้เรื่องท้าวปาจิตกับนางอรพิมพ์อธิบายสถานที่ หรือชื่อท้องถิ่นของตนโดยสอดคล้องเนื้อเรื่องจึงเป็นที่มาของประวัติหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งนิทานประจำถิ่นมีบทบาทในการอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติที่มาของชื่อสถานที่ หรือภูมิศาสตร์ในท้องถิ่นบริเวณอีสานใต้ใช้นิทานปาจิตต์-อรพิม อธิบายปราสาทหินพิมายและสถานที่ในท้องถิ่นต่าง ๆ
นิทาน “ปาจิต อรพิม” นั้นเป็นต้นกำเนิดของชื่อปราสาทหินพิมาย ซึ่งมีผู้ให้คำจำกัดความว่าเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังให้ภาพลักษณ์เป็นศาสนสถานสำคัญของชุมชนอย่างชัดเจนที่สุด นิทานประจำถิ่นเรื่อง“ปาจิต อรพิม” เป็นเหมือนนิทานประจำถิ่นเรื่องอื่น ๆ ทั่วโลก ที่มิอาจหาอายุที่มาของเรื่องได้ เป็นเรื่องที่กำเนิดมาพร้อมกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ผู้คนที่อาศัยอยู่จังหวัดนครราชสีมามีหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งชาวโคราชเดิมที่อยู่กันมาหลายพันปี จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่าในจังหวัดนครราชสีมา มีชุมชนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปแทบทุกอำเภอ ราว ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว
นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ๆ ในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นจากอารยธรรมอินเดียในสมัยทวารวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ และอิทธิพลของขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ ยุคนี้วัฒนธรรมขอมได้แพร่เข้าสู่อีสานทางปักธงชัย และช่องตะโก สู่ชุมชนในลำนํ้าลำพระเพลิง ลำจักราช และลำปลายมาศ ทำให้เกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยลพบุรีมากมาย วัฒนธรรมขอมที่แพร่เข้ามา รวมทั้งการที่มีประชาชนขอมมาตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นสองสาย โดยถือลำนํ้าลำปลายมาศเป็นหลักสายหนึ่ง แพร่ออกไปทางฝั่งตะวันตกของลำนํ้าลำปลายมาศ ทำให้เกิดมีบ้านเมืองสมัยลพบุรีขึ้นในเขตปักธงชัย ครบุรี พิมาย และบริเวณลุ่มแม่นํ้าสะแทดและลำนํ้ามูล
การขยายตัวของวัฒนธรรมขอมที่แพร่ออกไปทางตะวันออกของลำนํ้าลำปลายมาศนั้นขยายเข้าไปในเขตจังวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ นอกจากนั้นยังมีตำนานและชาดกเรื่องนางอรพิมพ์กับปาจิตตกุมาร และมีรูปศิลาจำหลักพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปของพระเจ้าพรหมทัต และประติมากรรมสตรีที่เรียกว่า นางอรพิมพ์ ที่ปราสาทหินพิมาย จะเห็นได้ว่าเส้นทางการขยายตัวของวัฒนธรรมขอมสอดคล้องกับการแพร่กระจายของนิทานเรื่องปาจิต อรพิม สามารถศึกษาได้จากเนื้อเรื่องที่อธิบายถึงที่มาของชื่อสถานที่ในบริเวณดังกล่าว
การศึกษาเนื้อเรื่องกับสถานที่ที่สัมพันธ์กันของเรื่องปาจิต อรพิม นั้น สามารถเปรียบเทียบสถานที่ต่าง ๆ จากเนื้อเรื่องย่อปาจิต อรพิม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในฉบับวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีเล่มที่สอง “ตำนานเมืองพิมาย” ซึ่งได้ประพันธ์เป็นคำกลอน ผู้เขียนได้สรุปเป็นร้อยแก้วอย่างย่อ ๆ ดังนี้
“พระปาจิต เป็นโอรสพระมหาธรรมราชกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองพรหมพันธุนคร เมื่อเจริญวัยที่ต้องมีคู่ครอง ท้าวปาจิตมิสนใจสตรีใดจนพระมหาธรรมราชต้องให้โหรทำนายชะตา จึงทราบว่าเนื้อคู่ยังไม่เกิด ขณะนี้อยู่ในครรภ์หญิงชาวนาผู้หนึ่ง ซึ่งพระปาจิตต้องเดินทางไปหาที่เมืองพาราณสี โดยสังเกตว่าหญิงมีครรภ์ผู้นั้นต้องมีเงากลดกั้นอยู่ ปาจิตจึงเดินทางมาจนถึงสถานที่หนึ่งแต่ไม่ทราบว่าที่ใด จึงต้องกางแผนที่ออกดู ณ ที่แห่งนั้นจึงมีชื่อว่าบ้านกางตำรา ต่อมากลายเป็นบ้านจารย์ตำรา บางตำนานกล่าวว่าฤาษีที่ดูตำราเก่งกล้าให้กับปาจิตอยูที่นี่ จึงชื่อว่าบ้านจารย์ตำรา ต่อมาปาจิตข้ามถนนเพื่อเข้าเขตเมืองบริเวณนั้นจึงเรียกว่า บ้านถนน ต่อมาเดินทางถึงหมู่บ้านที่มีต้นสนุ่นมาก จึงได้ชื่อว่าบ้านสนุ่น และถึงท่านํ้าใหญ่ จึงเรียกว่าบ้านท่าหลวงแต่เดินทางผิด จึงเดินทางไปอีกทางหนึ่งจึงสัมฤทธิ์ผล จึงชื่อว่าบ้านสัมฤทธิ์ ที่นั่นจึงพบกับยายบัว หญิงมีครรภ์กำลังดำนา เหนือหัวมีเงากั้นอยู่ ท้าวปาจิตช่วยยายบัวทำนา จนกระทั่งยายบัวจะคลอด จึงไปตามหมอตำแยมาทำคลอดหมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านตำแย
“เจ้าชายปาจิตช่วยเลี้ยงดูนางอรพิมจนเติบใหญ่จึงขอนางอรพิมเป็นภรรยา ดังนั้นจึงต้องกลับบ้านเมืองเพื่อไปนำขันหมากมาขอนางอรพิม ระหว่างทางที่นำขันหมากกลับมา ได้พบกับชาวบ้านที่ลำนํ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งคือตำบลงิ้วอำเภอห้วยแถลง ในปัจจุบัน ท้าวปาจิตทราบข่าวจากชาวบ้านว่า นางอรพิมถูกท้าวพรหมทัตฉุดคร่าไป จึงโมโหทิ้งขันหมากที่ลำนํ้านั้น ขันหมากเงินทอง ลอยเป็น เกาะแก่ง อยู่ทั่วไปบริเวณลำน้ำซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าลำนํ้ามาศ อยู่ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนรถทรงก็ตีดุมล้อและกงรถจนหักทำลายหมด ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งเรียกว่าบ้านกงรถ ส่วนขันหมากบางส่วนทิ้งไปเป็นเป็ดทอง จนเกิดชื่อถํ้าเป็ดทอง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปาจิตกลับไปหายายบัวแม่นางอรพิม จึงคิดอุบายปลอมเป็นพี่ชายนางอรพิม เข้าไปหาที่วังพระเจ้าพรหมทัตเมื่อไปถึงนางอรพิมเห็นปาจิตจึงร้องเรียกว่า พี่มาเมือง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พิมาย ในปัจจุบันทั้งสองต่างช่วยล่อลวงพระเจ้าพรหมทัตสังหารเสีย พระปาจิตอุ้มนางอรพิมออกมาจากวังมาระยะหนึ่ง เมื่ออุ้มไม่ไหวปล่อยให้เดิน บริเวณนั้นจึงชื่อว่านางเดิน และเปลี่ยนเป็นบ้านนางเหริญในปัจจุบัน
“จากนั้นเดินทางต่อเพื่อไปนครธม เมื่อเข้าเขตเมืองบุรีรัมย์นางอรพิมดีใจว่ากำลังจะถึงแล้วถึงกับลุกขึ้นรำ ทำให้บริเวณนั้นได้ชื่อว่าบ้านนางรำ แต่เมื่อเดินไปเรื่อยก็ไม่ถึง ทำให้นางเหนื่อยและร้องไห้ จึงได้ชื่อว่านางร้องไห้ หรือเปลี่ยนเป็นอำเภอนางรอง ระหว่างทางปาจิตกับนางอรพิมต้องผจญกับโจรป่าที่ต้องการแย่งนางอรพิม โจรฆ่าพระปาจิตแต่นางอรพิมก็ฆ่าโจรได้พระอินทร์แปลงกายเป็นงูกับพังพอนสู้กัน และไปนำรากไม้มาใส่พังพอน นางอรพิมเห็นพังพอนฟื้นจึงนำรากไม้ใส่ให้ท้าวปาจิตฟื้นขึ้น เมื่อเดินทางต่อไปพบกับเถร ณ ลำนํ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้พาข้ามฟากนํ้า แต่เถรพอใจนางอรพิมจึงออกอุบายพาแต่นางอรพิมไป นางอรพิมก็ซ้อนอุบายให้เถรขึ้นผลมะเดื่อและหนีไป แต่ก็พลัดพรากจากปาจิต ระหว่างที่ตามหาปาจิต พระอินทร์สงสารจึงมอบแหวนให้เมื่อสวมแล้วจะกลายเป็นผู้ชายนางอรพิมต้องการเป็นผู้ชายจึงขว้างนมตนเองทิ้งกลายเป็นต้นโยนนม หรือต้นงิ้วป่า โยนโยนีทิ้งกลายเป็นต้นโยนีปีศาจ หรือต้นมะกอกโคก นางอรพิมในร่างผู้ชายเปลี่ยนชื่อเป็นปาจิต เดินทางไปที่เมืองจัมปากนคร
“ที่เมืองแห่งนี้พระธิดาได้ตายไป นางอรพิมจึงนำรากไม้มาช่วยชีวิต แต่ไม่ยอมอภิเษกกับพระธิดา ขอเวลาไปบวชเรียน นางอรพิมได้บวชเรียนจนเป็นเจ้าอาวาส และสร้างโบสถ์ขึ้นมา เขียนเรื่องราวของตนกับท้าวปาจิต พร้อมกับสั่งพระลูกวัดว่า หากพบเห็นใครก็ตามที่มาดูภาพนี้แล้วร้องไห้ให้บอกตนด้วย เมื่อท้าวปาจิตเดินทางมาถึงโบสถ์และได้ดูภาพดังกล่าวได้ร้องไห้ถึงกับสลบไป นางอรพิมรู้ข่าวจึงถอดแหวนกลายเป็นหญิง ทั้งคู่ต่างก็ดีใจพากันเดินทางกลับไปเมืองนครธมเป็นกษัตริย์ จากนั้นได้เดินทางมาเมืองพิมาย และครองเมือง เปลี่ยนชื่อเป็นพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งพรหมทัตคือตำแหน่งของกษัตริย์ และจัดงานศพให้พระเจ้าพรหมทัตองค์ก่อนอย่างสมเกียรติ สร้างเมรุเป็นหอสูงกลางใจเมืองชื่อ เมรุพรหมทัต อยู่ห่างจากปราสาทหินพิมายประมาณ ๑๐๐ เมตร ชาวบ้านต่างก็เชื่อกันว่ารูปสลักหินที่อยู่ในปรางค์พรหมทัตในปราสาทหินพิมายนั้นคือ รูปของพระปาจิตและนางอรพิม”
ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน ๕ ผูก ฉบับกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๖ หอจดหมายเหตุแห่งชาติภาพฮูปแต้มเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม วัดบ้านยาง ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
(ติดตามต่อฉบับหน้า)
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]
[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)
[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี
[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑
เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]
[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)