เรื่องเกี่ยวกับช้าง

ชาวกูยอาเจียง หมายถึงชาวกูยที่ดำรงชีพด้วยการจับช้าง ฝึกช้าง และเลี้ยงช้าง ที่ ต. กระโพ อ. ท่าตูม จ. สุรินทร์

มีผู้ตั้งคำถามว่าพิธีกรรมโบราณเกี่ยวกับช้างที่สืบเนื่องถึงปัจจุบันมาจากไหน? เมื่อไร?

พิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง เป็นพิธีในศาสนาผีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิอุษาคเนย์ แรกมีราว 3,000 ปีมาแล้ว ดูหลักฐานได้จากภาพเขียนสีรูปช้างขนาดโตสุดที่ผาแต้ม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี

(เจียม ในชื่อโขงเจียม เป็นคำกลายจาก เจียง แปลว่า ช้าง คำเดียวกับเจียงในชื่อชาวกูยอาเจียง หมายถึง ชาวกูยเลี้ยงช้าง)

คล้ายกับจะบอกว่ายุคนั้นคนยกย่องช้างเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเจ้าป่า และเป็นเจ้าในพิธีกรรมทุกอย่าง แล้วน่าเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้คนในชมพูทวีป(อินเดียใต้)ยุคต่อมาสร้างรูปเคารพมีเศียรเป็นช้างเรียกพระคเณศ

ภาษาในพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง สืบเนื่องมานานมากนับหลายพันปี จนทุกวันนี้จึงฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาตระกูลอะไรแน่? แต่เชื่อกันว่าเป็นภาษาร่วมพื้นเมืองดั้งเดิมในภูมิภาคนี้เอง

กูย เป็นคำเดียวกันและความหมายเดียวกันกับคำว่า กวย, โกย หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งที่พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร

มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ลุ่มน้ำโขง, ชี, มูล มีศูนย์กลางที่จำปาสักในลาว และโดยมีรัฐของตนเองชื่อรัฐโคตรบอง เป็นผู้มีส่วนสร้างปราสาทพระวิหารในกัมพูชา และปราสาทวัดพูในลาว

ชำนาญการค้าเกวียนทางไกลไปถึงพระนครศรีอยุธยา ยุคต้นอยุธยา จึงมีชื่อกวยรวมอยู่กับพ่อค้านานาชาติในกฎหมายอาชญาหลวงที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1976 นับเป็นบรรพชนคนไทยด้วย (อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือบุรีรัมย์ มาจากไหน? สำนักพิมพ์แม่คำผาง พ.ศ. 2553 หน้า 118)

ข้อมูลจาก facbook: Sujit Wongthes
ภาพ: surin.go.th

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com