ฮีตเดือนหก
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทย – ลาว โดยมีคติความเชื่อมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ และพญาคันคาก ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหก หรือพฤษภาคมของทุกปี บุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งฝน ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น (ซ้าย) ขบวนแห่บั้งไฟ (ภาพโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์) (ขวา) งานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร จัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ในช่วงอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะถึงฤดูลงมือทำนา ณ สวนสาธารณะพญาแถน อ.เมืองฯ จ.ยโสธร
*****
คำว่า “บั้งไฟ” ภาษาลาวเรียกว่า จิหรอด แล้วกลายมาเป็นคำว่า จรวด ในภาษาไทยปัจจุบัน ส่วนชาวล้านนาเรียกว่า จิบอกไฟ
สมัยก่อนการทำบุญบั้งไฟจุดบูชาพญาแถนเพื่อให้ฟ้าฝนตกดี เพราะเชื่อว่า บนฟ้าแต่ละขั้นจะเป็นเมือง มีเจ้าปกครองในแต่ละเมืองฟ้า ที่เรียกว่าพระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร หรือเรียกว่า พระอินทร์ พระพรหม พญาแถนจะเป็นผู้แต่งฝน แต่งลม แต่งแดด แต่งนํ้า แต่งไฟ การจุดบั้งไฟขึ้นไปบนอากาศก็เพื่อบูชาพญาแถน ให้ท่านดีใจจะได้จัดแต่งฝนมาให้ เพื่อจะได้มีนํ้าทำไร่ไถนา หากบั้งไฟขึ้นตรงสูงไม่เอียงปีนั้นฝนจะดี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าบั้งไฟแตกหรือไม่ขึ้นปีนั้นฝนจะแล้ง ข้าวปลาอาหารจะไม่อุดมสมบูรณ์๑ กาลต่อมาเมื่อมีคติความเชื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา การจุดบั้งไฟก็เพื่อเป็นพุทธบูชา คือบูชาพระพุทธเจ้า ดังมีคำกลอนที่เรียกว่า เซิ้งบั้งไฟหรือรำบอกไฟ
๑ พูนสุข ธรรมาภิมุข, หนังสือประกอบงานแสดงศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน. (โครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมไทย แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๗ – ๒๙ กันยายน ๒๕๑๖), หน้า ๒๙.
นอกจากนี้ยังพบว่า การทำบุญบั้งไฟในเดือน ๖ จะมีพิธีสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การบวชและการเถราภิเษก เป็นการหดสรงพระภิกขุให้มียศศักดิ์สูงตามฐานะ ตามคติความเชื่อการบวชและการหดที่ทำในวันนี้ ก็เนื่องมาจากเป็นวันเกิด วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า วิสาขบูชา (การบูชาในวันวิสาขะ) คำเซิ้งบั้งไฟแต่โบราณก็มีลักษณะเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา การแห่บั้งไฟแต่ก่อนเรียกว่า แห่ไฟ และการจุดบั้งไฟแต่ก่อนเรียกว่า บูชาไฟ ต่อมาการทำบุญบั้งไฟจนตลอดคำเซิ้งบั้งไฟได้กลายมาเป็นขอบเขตบุญวิสาขบูชา
จากคติความเชื่อที่ปรากฏในตำนานเรื่อง ผาแดงนางไอ่ และ พญาคันคาก ทำให้ชาวอีสานได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระยาแถนที่มีความชื่นชอบไฟ หากไม่จัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติตามมาได้ และเพื่อรำลึกถึงพญาคันคาก พญาขอมและผาแดงนางไอ่ มีตำนานสืบสานฮีตเรื่องผาแดง นางไอ่ และต้นความเชื่อการเกิดฮีตเรื่องพญาคันคาก ดังนี้
ประติมากรรมรูปนายพรานตามมาทันกระฮอกด่อนแปลง และกำลังเล็งหน้าไม้เพื่อยิง ณ สวนสาธารณะริมหนองหาร อ.เมืองฯ จ.สกลนคร
ตำนานผาแดงนางไอ่
ครั้งหนึ่งยังมีเมืองชื่อว่า เอกชะทีตา มีผู้ปกครองเมืองชื่อว่า พญาขอม มีมเหสีทรงพระนามว่า พระนางจันทา๒ มีพระราชธิดาผู้เป็นที่รักอยู่หนึ่งพระองค์ชื่อว่า นางไอ่คำ หรือนางไอ่ เป็นสตรีที่มีรูปร่างสวยสดงดงามยิ่งกว่าสาวใดในยุคนั้น สวยงามกว่านางฟ้าและเทพธิดาในสรวงสวรรค์ เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาวพระยาขอมได้สร้างปราสาท ๗ ชั้นให้อยู่กับนางบริวารรับใช้ ไม่เปิดโอกาสให้ใครมาคลุกคลีได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะผู้ชาย
ท้าวผาแดงผู้เป็นโอรสของเจ้าเมืองผาโพง ได้ทราบข่าวคำเล่าลือถึงความงดงามของนางไอ่คำ ก็เกิดอาการความหลงใหลใฝ่ฝันในตัวนาง จึงได้เดินทางจากเมืองผาโผงมาเพื่อขอชมความงามของนางโดยได้ขี่ม้าแสนรู้ตัวหนึ่งชื่อว่า บักสาม เป็นสัตว์ที่สามารถพูดจารู้ภาษามนุษย์ได้ ท้าวผาแดงขี่ม้าบักสามเดินทางข้ามภูพาน ห้วยตาด จนมาถึงเมืองเอกชะทีตาแล้ว พักรออยู่นอกเมือง ก่อนเข้าไปหานางไอ่คำได้ใช้ให้ม้าบักสามนำสิ่งของไปฝาก เพื่อให้สินบนกับคนรับใช้ใกล้ชิดของนางก่อน แล้วจึงวางแผนทอดสัมพันธไมตรีด้วยการเตรียมแก้วแหวนเงินทองพร้อมด้วยผ้าเนื้อดีไปฝากนางไอ่คำในตอนหลัง เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้นางไอ่ตามที่ท้าวผาแดงประสงค์ และเล่าถึงความรูปหล่อพ่อรวยมีฐานะทางสังคมดี มีความสง่างามทั้งความดีความสามารถมีความองอาจสมชายชาตรี เมื่อนางไอ่คำฟังเช่นนั้นก็เกิดความสนใจ และได้ฝากเครื่องบรรณาการไปให้ท้าวผาแดงเป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับนางไอ่คำได้ฝากคำกล่าวเชิญท้าวผาแดง ซึ่งรออยู่นอกเมืองเพื่อรอพบกับนางที่นอกเมืองก่อน
๒ สมศักดิ์ เส็งสาย, “ชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องผาแดงนางไอ่”, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกไทยศึกษา, (มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, ๒๕๓๔), หน้า ๒๓.
เมื่อทั้งสองได้พบกันแล้วต่างก็ตกตะลึงในรูปลักษณ์ของกันและกัน แล้วก็เกิดความรักขึ้นอย่างรุนแรงและลึกซึ้งเกินจะหักห้ามใจ อาจเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสในชาติปางก่อนของคนทั้งคู่ ในที่สุดทั้งสองก็ได้ครองรักเป็นสามีภรรยาของกันและกันในเวลาชั่วค่ำคืนนั้น และทั้งคู่ก็ได้แลกสวมแหวนเป็นสัญญารักให้ไว้แก่กันด้วย ท้าวผาแดงสัญญาไว้ว่าจะกลับมาสู่ขอนางไอ่คำไปเป็นภรรยาคู่ชีวิตในเร็ววันจากนั้นท้าวผาแดงก็ได้รํ่าลาเดินทางกลับเมืองผาโพงของตนเอง เพื่อจะตระเตรียมญาติผู้ใหญ่และขันหมากมาสู่ขอ
กล่าวถึงเมืองบาดาล ฝ่ายท้าวพังคี ผู้เป็นโอรสของพญานาคราชที่ปกครองเมืองบาดาลมาช้านานเป็นเจ้าชายหนุ่มผู้มีความสง่างามและเป็นโสดอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ถึงความงดงามของนางไอ่คำ ก็เลยอยากจะมายลโฉมความงามของนาง เช่นกัน
กระทั่งปีหนึ่ง พญาขอมได้มีหนังสือเวียนแจ้งข่าวให้หัวเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ให้จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน โดยมีเมืองเอกชะทีตาเป็นสนามแข่งขันและเป็นปีที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา ด้วยมีพระประสงค์เพื่อจุดขึ้นไปบูชาพญาแถนอยู่บนฟ้า ให้บันดาลให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และที่พิเศษกว่านั้นคือว่า หากผลการแข่งขันบั้งไฟของใครคนใดขึ้นสูงกว่านานกว่าเพื่อน ผู้นั้นจะได้นางไอ่คำไปเป็นคู่ครอง ด้วยพระองค์เห็นว่านางไอ่คำผู้มีสิริโฉมงดงามเติบโตเป็นสาวพอจะมีครอบครัวแล้ว ซึ่งเป็นการเดิมพันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
พระยาขอมได้กำหนดให้จัดงานขึ้นในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ทำให้บ้านเมืองน้อยใหญ่พากันทำบุญบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนมาแข่งกันมากมาย งานบุญบั้งไฟครั้งนั้นนับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏที่ไหนมาก่อน เพราะเป็นงานของพระราชาเจ้าผู้ปกครองเมือง
ในการจัดงานบุญบั้งไฟในครั้งนี้ แม้ว่าไม่ได้ออกหนังสือฎีกาบอกบุญ แต่ว่าท้าวผาแดงก็ได้เดินทางนำบั้งไฟมาร่วมแข่งขันในงานด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะกลอุบายของพญาขอม ที่จะพิสูจน์รักแท้ของผาแดงที่มีต่อนางไอ่คำ เพราะหากรักจริงแล้วถึงไม่เชิญก็ต้องมา ซึ่งผาแดงก็มาร่วมงานนี้ด้วยความรักที่มีต่อนางไอ่คำ อยากมาหาอยากมาเห็นหน้าและอยู่ใกล้ชิด และยังมีความพยายามอย่างขะมักเขม้นซุ่มทำบั้งไฟอย่างดีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยพระองค์ได้เฝ้าควบคุมดูแลและสั่งการทำบั้งไฟทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง ในวันงานพญาขอมก็ได้ให้การต้อนรับท้าวผาแดงตามฐานะ
ฝ่ายท้าวพังคีโอรสเจ้าเมืองบาดาลทราบข่าว ก็อยากจะมาร่วมงานที่เมืองมนุษย์ด้วยต้องการชมโฉมนางไอ่คำ คิดอยู่ในใจว่าจะต้องไปชมบุญบั้งไฟครั้งนี้ให้ได้ด้วย แม้ว่าพระบิดาจะห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับพวกมนุษย์ อย่างไรก็ตามที ก่อนที่จะไปโผล่ขึ้นที่เมืองเอกชะทีตาของพระยาขอม ท้าวพังคีสั่งให้บริวารแปลงร่างเป็นทั้งมนุษย์และเป็นสัตว์ ส่วนตนเองแปลงร่างเป็นกระรอกขาว (ภาษาอีสานเรียกว่า กระฮอกเผือก หรือ กระฮอกด่อน) ออกติดตามชมความงามของนางไอ่ตามขบวนแห่ของเจ้าเมืองไปอย่างหลงใหล และลืมวันลืมคืน ด้วยหลงในความงามของนาง
ก่อนที่จะถึงเวลาจุดบั้งไฟ พระยาขอมได้กล่าวขึ้นมาในท่ามกลางผู้นำเมืองต่าง ๆ ที่ประทับอยู่หน้าปะรำพิธีนั้นว่า “พวกเรามาพนันกันไหม…? หากว่าบั้งไฟของใครแพ้จะต้องเสียเมือง ลูกเมีย ข้าทาสบริวารให้กับผู้ชนะไป” ด้วยความเกรงใจผู้นำทุกเมืองก็ไม่ว่าอย่างไร ต่างก็เห็นพร้อมตามนั้น
การแข่งขันบั้งไฟเป็นไปด้วยความสนุกสนานทุกคนจดจ่ออยากรู้ว่า ใครจะชนะและใครจะได้นางไอ่คำเป็นคู่ครอง ซึ่งการแข่งขันบั้งไฟในครั้งนั้น ท้าวผาแดงและท่านอื่น ๆ กับพญาขอมมีการพนันกันเป็นพิเศษอยู่แล้วว่า “ถ้าบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะพญาขอมก็จะยกนางไอ่คำให้เป็นคู่ครอง”
ผลการแข่งขันปรากฏว่า “บั้งไฟของพญาขอมและท้าวผาแดงต่างไม่ขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งพญานาคพังคี
ต่อมาไม่นานเมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว ท้าวพังคีทนอยู่ในเมืองบาดาลต่อไปไม่ได้ ด้วยความหลงใหลในสิริโฉมของนาง จึงได้พาบริวารกลับมายังเมืองมนุษย์อีกครั้ง โดยแปลงร่างเป็นกระรอกขาวอย่างเดิม ส่วนที่คอจะแขวนกระดิ่งทองเอาไว้เป็นสัญญาณเสียง เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้กระโดดไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ ใกล้หน้าต่างห้องนอนบนปราสาทของนางไอ่คำ เสียงกระดิ่งทองดังกังวานขึ้น นางไอ่คำได้ยินเสียงกระดิ่งเกิดความสงสัย จึงเปิดหน้าต่างออกมาดูเห็นกระรอกขาวแล้ว รู้สึกพอใจอยากจะได้นางจึงสั่งให้นายพรานกงฝีมือดีจากบ้านกงพาน ให้ตามจับกระรอกขาวตัวนั้นมาให้ได้ไม่ว่าจะจับตายหรือจับเป็น นายพรานกงออกติดตามกระรอกขาวที่กระโดดไปตามกิ่งไม้
ในขณะที่กระรอกขาวมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น กระรอกได้ก้มหน้าก้มตากินผลมะเดื่อสุกด้วยความหิว นายพรานกงจึงได้โอกาสยิงกระรอกด้วยหน้าไม้ด้วยลูกดอกอาบยาพิษ เมื่อถูกยิงท้าวพังคีในร่างของกระรอกขาวรู้สึกเจ็บปวด เมื่อรู้ตัวว่าต้องตายแน่จึงสั่งให้บริวารนำความไปแจ้งให้บิดาของตนทราบ ก่อนสิ้นใจตายจึงได้อธิษฐานจิตว่า “ขอให้เนื้อของตนมีมากถึงแปดพันเล่มเกวียน พอเลี้ยงคนได้ทั้งเมือง และเมื่อกินแล้วให้ถูกเมืองถล่มตายห่าไปหมด…”
เมื่อกระรอกขาวสิ้นใจตาย นายพรานกงกับพวกได้นำเอาร่างไปชำแหละที่บ้านเชียงแหว โดยแบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้และบ้านไกลได้กินกันอย่างทั่วถึง ซึ่งการได้เนื้อในครั้งนั้นชาวบ้านทั้งหลายต่างก็พากันมารับส่วนแบ่ง แต่ว่าเนื้อกระรอกขาวตัวเล็กเฉือนแบ่งกันอย่างไรก็ไม่ยอมหมด พอตกตอนกลางคืนขณะที่ผู้คนหลับสนิท เหตุการณ์ที่ใคร ๆ ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คือมีเสียงดังครืน ๆ ทั่วแผ่นดินเมืองเอกชะทีตา แล้วเมืองก็ถล่มทลายจมลงจนกลายเป็นหนองขนาดใหญ่ คงหลงเหลือแต่เขตบริเวณบ้านแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกขาวนั้น เรียกว่า โนนแม่ฮ้าง หรือแม่ม่าย ปัจจุบันเรียกว่า ดอนแก้ว
ท้าวผาแดงทราบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพวกพญานาค จึงคว้าแขนนางไอ่คำขึ้นหลังม้าบักสาม พร้อมกับเก็บเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และของจำเป็นของเมืองเอกชะทีตาไปด้วย มีฆ้อง กลองและแหวน แล้วก็ควบม้าหนีออกจากเมืองเพื่อให้พ้นภัย แต่เนื่องจากนางไอ่ได้รับประทานเนื้อกระรอกขาวด้วย แม้จะหนีไปทางไหนพวกนาคก็ตามไป
ท้าวผาแดงกับนางไอ่คำมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาภูพาน ม้าบักสามกระโดดอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้าข้ามขอนไปได้ แต่สองขาหลังคูขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลง อวัยวะเพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อยเป็นร่องลึกลงไปได้กลายเป็นห้วยตั้งแต่นั้นมา การไปเมืองผาโพงของท้าวผาแดงไร้ผล เพราะถูกพวกนาคติดตามอย่างไม่ลดละ ในที่สุดนางไอ่คำก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกจากหลังม้า และจมลงดินหายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนท้าวผาแดงกระเด็นตกจากหลังม้าบักสามแล้วล้มลงสลบหมดสติไป จนนํ้าค้างลงจัดถูกร่างจึงได้สติและฟื้นคืนมา
หลังจากนั้นท้าวผาแดงและม้าบักสามต่างแข็งใจพยายามลุกขึ้น แล้วเดินโซซัดโซเซกลับถึงเมืองผาโพงอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ด้วยความรักความสงสารและห่วงหาอาลัย เวลาต่อมาพระองค์ก็ตรอมใจตายบนปราสาทตามนางไอ่คำไป
เมื่อท้าวผาแดงตายไปกลายเป็นผีแล้วด้วยความอาฆาตพยาบาทต่อพญานาค ครั้นมีโอกาสเหมาะผีท้าวผาแดงก็สั่งไพร่พลวิญญาณผี เตรียมตัวเดินกองทัพบริวารผีเป็นเรือนแสน เพื่อไปรบกับพวกพญานาคที่เมืองบาดาลให้หายแค้น การเดินทัพในคราวนั้นมีเสียงดังอึกทึกคึกโครมดังแผ่นดินจะถล่มและได้รายล้อมเมืองบาดาลไว้รอบด้าน กองทัพทั้งสองก็เปิดศึกสงครามต่อกัน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์รบกันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน๓ ผลการรบไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะต่างฝ่ายต่างล้มตายกันมาก โดยเฉพาะฝ่ายพญานาคล้มตายมากขึ้นทุกวัน
๓ การทำสงครามผีในครั้งนั้นไม่สามารถมองเห็นตัวได้ยินแต่เสียง ปรากฏการณ์ที่มนุษย์ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม หนองน้ำและแม่น้ำต่าง ๆ ก็ขุ่นบนแผ่นดินก็กลายเป็นฝุ่นตลบ ชาวบ้านต่างเดือดร้อนกันไปทั่วเพราะไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ และจะนอนก็ลำบากด้วยมีเสียงรบกวน
เมื่อท้าวเวสสุวรรณพิจารณาเช่นนี้แล้ว จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายเลิกราต่อกัน ไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีกต่อไปให้มีความเมตตาต่อกัน ให้รักษาศีลห้า ปฏิบัติธรรมและให้มีขันติธรรม ซึ่งทั้งผีท้าวผาแดงและพญาศรีสุทโธนาคราช เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณแล้ว ต่างก็เข้าใจในเหตุผล ต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุการ แล้วเหตุการณ์จึงยุติลงด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกัน พร้อมทั้งให้อภัยกัน ในที่สุดปัญหาทั้งหลายจึงจบลงด้วยดี๔
๔ สุขุมาภรณ์ สงวนกิตติพันธุ์, หนังสือเสริมการอ่านวิชาภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่องผาแดง – นางไอ่, (อุดรธานี : ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุดรธานี, ๒๕๔๕), หน้า ๑ – ๖๕.
ดอนแก้ว หรือ ดอนสวรรค์ เป็นเกาะกลางทะเลสาบหนอง หาร สกลนคร เชื่อกันว่าเป็นเขตบ้านแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อ กระรอกขาวตามตำนานผาแดงนางไอ่
พญาคันคาก หรือ คางคกยกรบ (ภาพโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง)
ตำนานพญาคันคาก๕
๕ การเรียกชื่อตำนานพญาคันคาก มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น ส่วนภาคเหนือเรียกชื่อว่า พญาคางคาก นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกคือ, คันธฆาฎกะ และสุวัณณ จักกวัตติราช
สมัยหนึ่งพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกพิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลกมนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นกาลสมัยที่สรรพสิ่งทั้งหลายมีมนุษย์และสัตว์ หินดินนํ้าฟ้าอากาศ ดวงดาวพระจันทร์พระอาทิตย์ ป่าแดดทะเลลมฝน มีการสื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน ต่างรู้เรื่องเข้าใจไม่มีแบ่งชนชั้นวรรณะ ต่างก็มีความสุขอยู่เสมอกัน ในเมืองสวรรค์ชั้นฟ้ามีพญาแถน (พระอินทร์) เป็นใหญ่สูงสุด อำนวยให้เกิดกาลเวลาแห่งฤดูต่าง ๆ พญาแถนเจ้าได้เปิดประตูชั้นฟ้า ให้พญานาคทั้งเจ็ดตนไปลงเล่นนํ้าสระหลวงใหญ่ จะทำให้นํ้าหกตกหล่นลงมาสู่โลกเป็นฝน นำความชุ่มเย็นมาสู่โลก ทำให้เกิดความสุขสะดวกสบาย ในการประกอบอาชีพทำไร่ไถนาและมีนํ้ากินนํ้าใช้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สรรพสิ่งทั้งหลายต่างก็ให้ความเคารพยำเกรง และกระทำการบูชาต่อพญาแถนตลอดมา
ในสมัยก่อนพุทธกาลนานมาแล้ว ในคราวนั้นอาณาเขตแถบสุวรรณภูมิ ยังมีเมืองหนึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มีพืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดเมืองดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า เมืองชมพู (บางตำราว่า เมืองดอกไม้ หรือเมืองอินทปัตถ์) มีพระราชาทรงพระนามว่า พญาเอกราช เป็นผู้ปกครองสูงสุดปกครองเมืองด้วยความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์มีความสุขกันถ้วนหน้า มีพระมเหสีคู่บารมีองค์หนึ่งทรงพระนามว่า นางสีดา๖
๖ สุขฤดี เอี่ยมบุตรลบ, “การศึกษาวรรณกรรมอีสานเรื่องพญาคันคาก”, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๒), หน้า ๖๑.
ต่อมาพระนางสีดาก็ได้ให้กำเนิดกุมารเป็นตัวคันคาก (คางคก) มีรูปร่างเหลืองอร่ามดั่งทองคำพระยาเอกราชดีใจมากจึงได้สั่งให้จัดหาอู่ทองคำมาให้นอน และจัดหาแม่นมที่มีลักษณะดีมาดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยร่างพระกุมารผิดเพศมนุษย์กล่าวคือ เป็นร่างของสัตว์คันคากหรือเป็นคางคกเป็นที่กินใจ รู้สึกไม่ดีแก่ผู้คนทั้งหลาย แต่เมื่อหมอโหรได้ทำนายทายทักว่า คันคากน้อยเป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่ง จงเลี้ยงดูให้ดีเถิดจะเป็น ประโยชน์กับผู้คนในวันหน้า ผู้คนทั้งหลายต่างก็พอที่จะรับกับเหตุการณ์นี้ได้ วันเวลาผ่านไปคันคากน้อยก็ค่อย ๆ เติบใหญ่ตามกาลเวลา เมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่ม อายุได้ ๑๕ – ๑๖ ปี ๗ คิดอยากจะมีคู่ครอง พระบิดาได้พยายามหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาให้แต่ก็หาไม่ได้ ด้วยมีเหตุที่ตนเป็นคันคาก มีรูปกายที่อัปลักษณ์ผิดแผกไปจากมนุษย์คนอื่น ๆ
๗ สุรพันธ์ สุวรรณศรี, “รายงานการวิจัย บทบาทของนิทานพื้นบ้านที่มีต่อวิถีชีวิตของอีสาน”, (สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๒๐๘.
ด้วยรูปกายเป็นสัตว์จึงเป็นที่รังเกียจของประชาชนทั่วไป เมื่อถูกติเตียนมาก ๆ เข้าเจ้าคันคากได้สำรวจดูตัวเองแล้วพบว่า เป็นที่น่ารังเกียจอย่างที่เขาว่าจริง ๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จึงพยายามค้นคิดหาวิธีจะให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่นั่้น จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ว่า “หากตนมีบุญบารมีขอให้ได้หญิงงามมาเป็นคู่ครองด้วยเถิด…”
ด้วยแรงพลังจิตที่พระโอรสคันคากได้ตั้งจิตอธิษฐานในครั้งนั้น ทำใหพระอินทร์รับรู้ด้วยเดชแห่งบุญบารมีจึงเกิดความสงสารขึ้นมาทันใด จึงได้เนรมิตร่างพระโอรสคันคากเสียใหม่ให้กลับเป็นมนุษย์ คราบคางคกก็กลายเป็นเกราะทองรองกายพาให้เห็นเป็นองอาจ เป็นผู้มีรูปงาม หล่อ และมีบุคลิกภาพดี ได้ชื่อใหม่ว่า พญาคันคาก และทรงมีพระปรีชาสามารถเชิงยุทธพิชัย และมีฤทธิ์ศักดาเหนือกว่าใคร
หลังจากนั้นพระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทแก้วไว้กลางเมือง ปราสาทนี้มีขนาดใหญ่โตมาก มีเสาเป็นหมื่น ๆ ต้น มีห้องใหญ่น้อยจำนวนหนึ่งพันห้อง พร้อมทั้งเครื่องประดับตกแต่ง นอกจากนี้พระอินทร์ก็ได้ให้นางแก้วมาเป็นชายา เป็นกุลสตรีที่ดีมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกันที่สุด ความสมบูรณ์พูนสุขจึงมีมาตั้งแต่กาลบัดนั้น
ต่อมาเมื่อพระยาเอกราชและนางสีดาทราบข่าวจึงได้เสด็จมาเยี่ยมยังปราสาท พร้อมทั้งได้จัดทำพิธีอภิเษกให้พญาคันคากเป็นเจ้าเมืองปกครองสืบต่อสันตติวงศ์ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สืบไปนับตั้งแต่พญาคันคากขึ้นครองเมือง บรรดาพระยาทั้งหลายตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ได้เข้ามาขอเป็นบริวารอีกมากมาย
ในสมัยนั้นพญาคันคากได้ชื่อว่า เป็นกษัตริย์ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ที่สุดแห่งยุค พระองค์ปกครองบ้านเมืองมาด้วยความสงบสุขกันถ้วนหน้า อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารหลากหลายชนิดผู้คนทั่วสารทิศได้อพยพเข้ามาอยู่มากมาย มนุษย์สัตว์ หินดินฟ้า และป่าแดดทะเลฝน เมื่อได้รับรู้ได้เห็นต่างก็ให้ความเคารพยกย่องบูชาต่อพญาคันคาก ก็เลยลืมสิ่งที่ได้เคารพมาก่อนละเลยการกราบไหว้สาต่อพญาแถน
พญาแถนเมื่อเห็นพฤติกรรมของชาวโลกเช่นนี้จึงคิดอิจฉาและไม่พอใจ จึงคิดหาทางกลั่นแกล้งเพื่อให้ชาวโลกหันมาสนใจตน แต่ก็รู้ดีว่าพญาคันคากมีบุญญาธิการ และมีอิทธิฤทธิ์มากเกรงจะเป็นภัยแก่ตนเอง ได้วางแผนการโดยไม่ให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ จึงปิดเมืองฟ้าอุดรูทางขึ้นลงพญานาคไม่ให้ขึ้นไปเล่นนํ้า ไม่ปล่อยให้นํ้าล้นลงมายังโลกมนุษย์จึงเกิดฝนแล้งไปทั่วทั้งสากลโลกติดต่อกัน ๗ ปี ๗ เดือน๘
๘ บุนมี เทบสีเมือง, ความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม ๒ อาณาจักรลาวล้านช้างตอนต้น. แปลโดย ไผท ภูธา (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๕๔), หน้า ๖๓.
เมื่อชาวบ้านชาวเมืองต่างมาร้องเรียนพญาคันคากมิได้ขาดในแต่ละวัน จึงได้เรียกโหรหลวงมาตรวจเหตุบ้านการเมืองดูเป็นเพราะสาเหตุไรที่ทำให้ฝนแล้ง โหรหลวงจึงกราบทูลว่า “สาเหตุที่ฝนไม่ตกลงมานั้นเป็นเพราะว่าพญาแถนที่อยู่บนฟ้าไม่ยอมปล่อยนํ้าลงมา พระเจ้าข้า…!”
พญาคันคากได้ฟังเช่นนั้นก็จริงอย่างที่โหรหลวงทำนาย วันต่อมามนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย จึงเปิดสภามีพญาคันคากเป็นประธานในที่ประชุม ระดมพลรวบรวมปัญญาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีการพูดคุยถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันไปมาจนได้ข้อสรุปปัญหาว่า “เหล่าพญานาคทั้งเจ็ดตนถูกพญาแถนกีดกั้นปิดทางขึ้นสวรรค์ ฝนจึงไม่ตกลงมาตามกาลอันสมควรดังเคยเป็นมา”
เมื่อพญาคันคากได้ยินเช่นนั้นก็ไม่พอใจกับการกระทำของพญาแถน จึงได้ปรึกษากับเหล่าขุนนางพร้อมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อจะช่วยวางแผนที่จะทำสงครามกับพญาแถนบนฟ้า เมื่อเห็นฟ้องต้องกันแล้วต่อมาจึงมีรับสั่งให้สร้างถนนยาวเหยียดไปถึงเมืองฟ้า ขั้นแรกพญาคันคากใช้วิธีการเจรจาทางการทูตก่อน โดยมอบหมายให้พญานกเค้าแมวเป็นทูตไปเจรจา ขอให้พญาแถนจงรักษาหน้าที่เปิดประตูสวรรค์ชั้นฟ้า ให้พญานาคเจ็ดตนได้ขึ้นไปเล่นนํ้าสระหลวงตามที่เคยปฏิบัติมา ให้พญาแถนปล่อยนํ้าฝนลงมาตามปกติที่เคยปฏิบัติมา เพื่อดับทุกข์เข็ญให้โลกมนุษย์ให้กลับมามีความสุขเสียเถิด
เมื่อพญาแถนได้ยินทูตมาเจรจาอย่างนั้นก็โกรธขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ไม่ยอมโอนอ่อนตามที่ขอมาพญาคันคากจึงประกาศสงครามต่อพญาแถน เกณฑ์สัตว์นํ้าและสัตว์บกพร้อมสัตว์ปีกให้ระดมพล เหล่าสัตว์เลื้อยคลานมีพญานาคเป็นเจ้าก็จัดเหล่าทัพของตน สัตว์หกขาแปดขาต่างก็ปลุกใจไม่เกรงกลัว พญาคันคากก็บัญชาการให้พญาปลวกพาพวกก่อโนนดินให้สูงขึ้นไปถึงฟ้า พวกนาคได้พากันไปอุ้มภูเขาตามที่ต่าง ๆ มากองตั้งทับกันขึ้นไป จนถึงบนฟ้าบ้านพญาแถนนั้น แล้วต่อมาพวกฝูงปลวกก็ได้พากันขนดินมาเททับถมบนภูเขาอีก จนกลายเป็นถนนที่ราบเรียบสามารถเดินไปถึงเมืองพญาแถนฟ้าฟากสวรรค์อย่างสะดวก
ครั้นได้สร้างถนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระยาคันคากก็คืนร่างเป็นคางคกตามเดิม แล้วพากันยกกำลังทหารสัตว์ทั้งหลายออกเดินทางขึ้นไปบนฟ้าทันที
ฝ่ายพญาแถนทราบว่า พระยาคันคากนำไพร่พลทหารสัตว์ทั้งหลายเดินทางมาทำศึก จึงมีพระบัญชาสั่งเตรียมโยธาทหารไว้ให้พ้รอมที่จะสู้รบกับพวกสัตว์เหล่านั้น เมื่อพระยาคันคากเดินทางถึงเมืองฟ้าแล้วก็เข้าไปเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ให้พญาแถน
ปล่อยนํ้าฝนลงมายังโลกมนุษย์ตามปกติที่เคยปฏิบัติมา แต่พญาแถนหาได้สนใจและไม่ปฏิบัติตามด้วยเมื่อการเจรจาแนวการทูตไม่ได้ผล พญาคันคากจึงสั่งให้ทหารเข้าโจมตีทันที กองทัพหน้านำโดยกบและเขียด พญาแถนก็สั่งให้งูพิษไล่กินกบเขียดจนหมด
ต่อมาพญาคันคากสั่งให้อีแร้งกับนกกาบินไปจิกกินงูนั้นจนหมด แล้วสั่งให้ลิงไปไล่หมาพญาแถน แต่ลิงกลับถูกหมาไล่กัดล้มตายจำนวนมาก พญาคันคากเห็นเสียทีแล้วจึงให้เสือออกไปไล่กัดทหารพญาแถนจนล้มตายลงตามกัน พญาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบรี้พลพญาคันคากล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาครุฑได้เนรมิตปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และมีการร่ายมนตร์คาถาอาคมให้รี้พลที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง การสู้รบระหว่างพญาคันคากกับพญาแถนเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างคนต่างก็มีคาถาอาคมเพื่อต่อสู้กับศัตรูอย่างฉกาจฉกรรจ์
ต่อมาพญาคันคากกับพญาแถนต่อสู้กันตัวต่อตัวอยู่ ๗ วัน ๗ คืนก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะ ทั้งสองจึงท้าชนช้างกระทำยุทธหัตถี ในที่สุดฝ่ายพญาคันคากได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด พญาแถนยอมแพ้อย่างราบคาบ การสู้รบในครั้งนั้นนับเป็นการสู้รบที่เรียกว่า มหายุทธ และสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นศัตรูกันตั้งแต่นั้นมา
เมื่อได้ชัยชนะแล้วพญาคันคากได้กล่าวกับพญาแถนว่า “เหตุไฉนเล่า…? พญาแถนจึงไม่รักษาธรรมไม่ทำหน้าที่เปิดทางสวรรค์ให้พญานาคขึ้นไปเล่นนํ้าจนทำให้ฝนแล้งสร้างความทุกข์กันดารต่อชาวโลกข้าแต่พญาแถนตอนนี้ท่านแพ้พวกเราแล้ว ก็ท่านเป็นเทวดาแท้ ๆ ควรเอื้อเฟื้อมีเมตตาต่อสรรพสัตว์และให้การช่วยเหลือมนุษย์ที่อดอยากล้มตายไปเป็นอันมาก เพราะฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ท่านไม่ควรจะเก็บนํ้าฝนไว้เลยควรปล่อยให้ฝนลงมาเถิดมนุษย์จะได้มีนํ้าทำนาทำไร่กัน และสัตว์จะได้มีนํ้ากิน…ท่านจงรู้ไว้ด้วย”
เมื่อพญาแถนได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็ยินยอมตามที่ขอมานั้น จึงได้กล่าวขึ้นว่า “เอาล่ะ…! ข้ายอมรับผิดและสัญญาว่าต่อไปจะไม่ทำอีก ในเมื่อพวกเราแพ้สงครามพวกท่านแล้ว ข้าจะปฏิบัติตามที่ขอก็แล้วกัน จะให้เราปล่อยนํ้าฝนมาตามที่พวกท่านต้องการแต่ว่าข้าก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า ‘จะรู้ได้อย่างไรกันว่าถึงระดูฝนคนจะตกกล้าทำนาทำไร่กัน”
ฝ่ายพญาคันคากได้ยินพญาแถนยอมรับในการพ่ายแพ้สงครามในครั้งนี้ จึงกล่าวตอบว่า “ถึงเดือนหกพวกข้าจะจุดบั้งไฟให้พญานาคขี่ขึ้นมาบอก เพื่อเป็นสัญญาณทุก ๆ ปีก็แล้วกัน เมื่อท่านได้เห็นบั้งไฟของพวกเราขึ้นมาแล้ว ท่านก็จงปล่อยนํ้าฝนลงมาทันทีเลยน่ะท่าน… ถ้าไม่เช่นนั้นพวกเราจะยกกองทัพมาใหม่อีกครั้ง” เมื่อพญาแถนเห็นเช่นนั้นแล้วก็ได้เปิดทางสวรรค์ให้พญานาคทั้งเจ็ดขึ้นไปเล่นนํ้าแล้วให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ แต่นั้นมาผู้คนก็จึงพากันทำบั้งไฟแล้วตกแต่งให้พญานาคขี่ขึ้นฟ้าไปสร้างฝนในเมืองแถน๙
๙ สุขฤดี เอี่ยมบุตรลบ, “การศึกษาวรรณกรรมอีสานเรื่องพญาคันคาก”, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๒), หน้า ๑๒ – ๑๔.
นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญบั้งไฟร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์มนุษย์จุดบั้งไฟเป็นสัญญาณบอกเวลาให้ฝนตกในครั้งนั้นซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาที่กำลังจะทำนาปลูกข้าว และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้จึงเรียกว่า บุญเดือนหก
ประติมากรรมรูปท้าวผาแดงกำลังควบม้าบักสาม พานางไอ่คำหนีจากการถูกตามไล่ล่าโดยฝูงพญานาคจากเมืองบาดาล ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการท้าวผาแดงควบม้าพานางไอ่คำหนีจากพญานาคที่กำลังสำแดงฤทธิ์พ่นนํ้าถล่มเมือง เอกชะทีตา ทั้งไล่ฆ่าชาวเมืองทุกคน แต่กระนั้นก็ถูกพญานาคเลื้อยไล่ตามหลังไปติด ๆ ด้วยฤทธิ์แค้น (ภาพโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์)