ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม
พระปาจิต นางอรพิม

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

ถํ้าเป็ดทอง อยู่ในเส้นทางขันหมาก หากเราศึกษาในระดับตำนาน ก็จะได้เพียงเรื่องเล่าที่ดูเหมือนไม่มีมูลความเป็นจริง ที่ว่าเป็นสถานที่ที่พระปาจิตนำส่วนหนึ่งของขันหมากคือ เป็ดทองมาไกลถึงที่แห่งนี้ เพราะอยู่ในเขตลำนํ้ามาศเหมือนกันกับ ลำปลายมาศ และบ้านกงรถ แต่เมื่อได้เดินทางไปสำรวจ ศึกษาเอกสาร และสถานที่ในบริเวณนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญด้านโบราณคดีในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นที่ตั้งของร่องรอยประวัติศาสตร์และโบราณคดีของการตั้งถิ่นฐานก่อนสมัยนครวัด

บริเวณที่ตามตำนานเรื่องปาจิต อรพิม กล่าวถึง “ถ้ำเป็ดทอง” นั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกเขาพัฒนา อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีลำนํ้ามาศไหลผ่าน บรรยากาศโดยรอบนั้นยังมีร่องรอยของความเชื่อในตำนานชัดเจน กล่าวคือมีรูปปั้นเป็ดทองคำ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในสมัยหนึ่งได้จัดทำไว้ ซึ่งในบริเวณเดียวกันมีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่โดยมีพระรูปหนึ่งดูแล พร้อมทั้งได้พิมพ์ภาพจารึกที่สำคัญที่พบในบริเวณเดียวกันคือ จารึกจิตรเสนแสดงไว้ นอกจากนั้นยังพบหลักฐานโบราณคดีสำคัญกระจัดกระจายโดยรอบ เช่น หินแกะสลักรูปวัว และอื่น ๆ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูไศวนิกาย

ภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่มีแก่งหิน เพิงหินตลอดเป็นแนวยาวตามลำนํ้า ทำให้เกิดช่องหรือร่องที่สามารถลอดเข้าไปอยู่ข้างใต้ได้ มีลักษณะเหมือนถํ้าหรือเพิงขนาดเล็ก จากการสำรวจโดยกรมศิลปากรพบจารึกจิตรเสน ซึ่งทางวิชาการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มก่อนที่พระเจ้าจิตรเสนขึ้นครองราชย์ และหลังได้ครองราชย์แล้ว โดยแยกได้จากการพบคำว่าพระเจ้ามเหนทรวรมัน สำหรับจารึกถํ้าเป็ดทองทั้งสามแผ่นนี้ เป็นจารึกที่อยู่ในกลุ่มก่อนที่พระเจ้าจิตรเสนจะขึ้นครองราชย์

พระเจ้าจิตรเสน เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจนละ หรือในยุคก่อนที่จะขึ้นครองราชย์นั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เจ้าชายแห่งพนมดงรัก (โอรสของพระองค์คือ พระเจ้าอีศานวรมัน ผู้ตั้งราชธานีนาม อีศานปุระ สมโบรไพรกุกทางทิศเหนือของกำพงธม) พระเจ้าจิตรเสนได้จารึกเรื่องราวของพระองค์ไปตามทางลุ่มแม่นํ้ามูลและพนมดงรักในเขตอีสานใต้ เป็นการจารึกการบูชาพระศิวะ และพระบิดามารดา ตามภูมิทัศน์ที่มีในธรรมชาติ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้บันทึกถึงจารึกถํ้าเป็ดทองไว้ดังนี้

คำจารึกถํ้าเป็ดทอง บร.๓ กล่าวว่า มารดาและบิดาทั้งสองได้ถึงพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นที่พึ่งของความภักดี

คำจารึกถํ้าเป็ดทอง บร.๔ กล่าวว่า พระเจ้าจิตรเสนพระองค์นั้น…เกียรติอันยิ่งใหญ่ของพระราชาผู้ครองแผ่นดิน…แผ่ไป…

คำจารึกถํ้าเป็ดทอง บร.๕ กล่าวว่า …เกียรติ…พระเจ้าจิตรเสน….

หลวงพี่ออตโต้ หรือพระอาจารย์ศิริพล เตชวโร เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เป็นชาวบุรีรัมย์บ้านทะเมนชัย ออกเดินทางธุดงค์และพบว่าชัยภูมิแห่งนี้ตรงตามที่เคยฝันว่า ได้เดินทางท่องเที่ยวในแถบนี้ จึงได้มาบุกเบิกตั้งสำนักแต่ยังไม่ได้เป็นวัด และเป็นผู้ดูแลโบราณสถานให้กับกรมศิลปากรอย่างไม่เป็นทางการ โดยสนใจจารึกถํ้าเป็ดทองได้ทำแผ่นป้ายไวนิลแสดงให้ผู้มาเยือนเห็นข้อความในจารึกที่ขณะนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ จากการที่กรมชลประทานมีการสร้างเขื่อนปะคำ ทำให้นํ้าเปลี่ยนทิศ เกิดดินตะกอนทับถมและนํ้าไหลเข้ามาในแก่งโบราณสถาน เคยสูบนํ้าออกหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถสู้กับกระแสน้ำของลำนํ้ามาศได้ จึงดำรงตนเป็นผู้เผยแพร่ข้อความในจารึกนี้ด้วยวิธีของตน และเข้ามาพบปะพูดคุยกับญาติโยมที่เข้ามาเยือนด้วยความเป็นกันเองซึ่งระหว่างที่นำผู้เขียนเยี่ยมชมตามบริเวณต่าง ๆ นั้นก็ได้มีญาติโยมโทรฯ เข้ามาถามโชคลาภเป็นระยะ หลวงพี่ก็ตอบโต้ด้วยนํ้าเสียงอันสนุกสนาน

สถานที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ไม่ไกลจากถํ้าเป็ดทองนักคือ “อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้” ในบริเวณวัดบ้านโคกเขาบ้านโคกเขาพัฒนา ตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ ห่างออกไปจากถํ้าเป็ดทองเพียง ๒ กิโลเมตร อนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้เป็นที่รำลึกถึงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอีสานใต้ ที่ล่วงลับไปจากเหตุการณ์ต่อสู้กับทางราชการในยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองและปรัชญาการดำรงชีวิตต่างกันอย่างรุนแรง

เว็บไซต์ของจังหวัดบุรีรัมย์ได้แนะนำอนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคู่กับอนุสาวรีย์เราสู้ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยได้กล่าวถึงอนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้ว่า

“สถานที่แห่งนี้สร้างไว้สำหรับเป็นที่บรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในเขตป่าเขาของภาคอีสานใต้ในยุคที่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อการต่อสูด้วยกำลังอาวุธของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเขตอีสานใต้ ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ.๒๕๒๗ บรรดาชาวไร่ ชาวนา กรรมกร นักศึกษา ปัญญาชนและผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยทุกสาขาอาชีพได้แยกย้ายกันกลับสู่ภูมิลำเนาของตน ต่างประกอบสัมมาอาชีพ หรือไม่ก็ศึกษาต่อ เมื่อตั้งหลักปักฐานได้พวกเขาก็ได้ตั้งคณะทำงานออกขุดหาศพของผู้เสียชีวิตในเขตป่าเขา ซึ่งถูกฝังอย่างเร่งรีบในยุคการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ พ.ศ.๒๕๓๘ ญาติมิตรของผู้เสียสละชีวิตไปในเขตป่าเขา และคณะทำงานขุดหาศพได้ร่วมกันนำอัฐิที่ขุดหามาได้ทำพิธีฌาปนกิจ และได้รวบรวมปัจจัยก่อสร้างเป็นสถูปหรืออนุสรณ์สถานขึ้นเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙”

สถูป อัฐิ และสหายผู้ดูแล

อนุสรณ์สถานฯ ที่ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมสถูปสีขาว ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของสหายผู้ล่วงลับ โดยมีโกศเซรามิคสีขาวเป็นที่รองรับจิตวิญญาณเหล่านี้ นำมาบรรจุในตู้ไม้ที่เรียงรายอยู่ภายในสถูป สถูปนี้มีรูปร่างคล้าย ๆ กับพระธาตุในแถบอีสาน มีการแกะสลักใบบอนและยอดผักกูดไว้ เนื่องจากเป็นอาหารที่สหายเหล่านี้มักจะรับประทานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในป่า (นายสง่า รอดโพธิ์ทอง ผู้ดูแลบริเวณอนุสรณ์สถานฯ ให้ข้อมูล)

ก่อนที่จะเดินไปถึงสถูปแห่งนี้ก็จะได้พบ “จารึกปฏิวัติ” เป็นแท่นหินที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้สลักข้อความที่ระลึกถึงเหตุการณ์สู้รบระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และราชการไทยไว้อย่างน่าสนใจทั้งสองภาษา คือ ไทยและอังกฤษ โดยในบริเวณนี้มีรูปปั้นชายหนุ่ม และหญิงสาว อันเป็นตัวแทนของสหายผู้เสียสละเลือดเนื้อให้กับอุดมการณ์ของตน ยืนและนั่งอยู่คนละข้างของแท่นหิน

ในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการของรัฐบาล และกำลังงานอาสาของชุมชนร่วมกับมิตรสหาย โดยใช้เก็บรักษาวัตถุเครื่องมือเก่าแก่ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านใช้ทำไร่ทำนาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ และภาชนะของใช้ยังชีพต่าง ๆ นายสง่าบอกว่า สิ่งของเหล่านี้เป็นการสอนให้ชาวบ้านรู้จักการอนุรักษ์ของเก่า เครื่องมือเครื่องใช้ของบรรพบุรุษรู้สึกรักและหวงแหนวัตถุสิ่งของในแผ่นดินเกิด

จะเห็นได้ว่าบริเวณพื้นที่ถํ้าเป็ดทองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ทับซ้อนที่น่าสนใจอยู่หลากหลาย ตั้งแต่พันปีก่อนจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิดพื้นที่ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าที่ทับซ้อนกันหากผู้เดินทางผ่านไปมาได้สังเกตเห็นความทับซ้อนกันนี้ก็สามารถเข้าใจพื้นที่ที่ดูธรรมดาได้อย่างลึกซึ้งและมีความหมายมากขึ้น

ชาวบ้านนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ไม่รู้ แต่พวกเขากลับทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไว้ทุกยุคทุกสมัยด้วยสามัญสำนึกของคนในท้องถิ่นด้วยการเล่าเรื่องและทำความเข้าใจด้วยประสบการณ์ของตน

ชาวบ้านเหล่านี้รู้จักภูมิศาสตร์ในบ้านเมืองของตน ดียิ่งกว่านักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ที่ต่างต้องมาขอข้อมูลจากชาวบ้านเหล่านี้ทั้งสิ้น

***

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

คำเต็มของ ต ม.
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)
ฮูปแต้มวัดบ้านประตูชัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com