“ชักธงรบ”
กิเลน ประลองเชิง
มหากาพย์เต้าทางไท
“ทางอีศาน” (ไม่อยากเชื่อ ปีที่ 12 แล้ว) ฉบับมีนาคม 2567 ผมเจาะจงอ่านเรื่อง “ด้ำเสือ ด้ำไท ไทใหญ่ จากอดีตถึงปัจจุบัน” เหตุเพราะเรื่องนี้ความยาว 9 หน้า
อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนแนะนำหนังสือเล่มสวยปกแข็ง สามเล่มหนา ชุด มหากาพย์ชนชาติไท “เต้าตามไต เต้าทางไท” (สำนักพิมพ์ทางอีศาน) โจทย์ใหญ่ที่ผมคงต้องใช้เวลาอ่านอีกหลายวัน
ผมจึงโมเมว่า เอาเรื่องนี้แหละนำร่อง ผ่อนดอกก่อนใช้หนี้
ที่มาของหนังสือชุดนี้ เริ่มจากงานวิจัย อาจารย์ชลธิราต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนลัวะ เมืองน่าน
“สนใจมานาน “ละว้า” ในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่กับ “ละว้า” ในเสภาขุนช้างขุนแผนเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับกรุงละโว้ (ลวปุระนคร) ในจามเทวีวงศ์”
ตำนานนี้มีเรื่องราวโศกนาฏกรรมของขุนหลวงวิลังคะ ผู้นำลัวะเชียงใหม่ เล่ากันว่าพ่ายรัก พ่ายทั้งมนตร์เสน่ห์และมนตร์ดำของนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย เมือง “ลัวะพูน” จนถึงกับฆ่าตัวตาย
อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องลัวะ เดินสอนไปมา 11 หมู่บ้าน เขตน่านเหนือ จนกระทั่ง “ป่าแตก”
ประสบการณ์ 7 ปี ได้ประสบการณ์ตรงที่ตื่นตา ตื่นใจ ที่ได้พบว่า ลัวะเมืองน่านถือผีสายแม่ ลัทธิแม่เป็นใหญ่ ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครัวเรือน เห็นได้จากภาวะการนำของผู้หญิงในการสู้รบเมื่อภัยมา
ผู้บ่าวสาวลัวะ เมื่อเริ่มรักกันสาวเป็นฝ่ายจีบบ่าว สู่ขอบ่าวให้มาอยู่เรือนตัวที่มี “แม่เก๊าสืบผีสายแม่”
ผู้บ่าวต้องตัดขาดจากผีสายแม่มาถือผีสายแม่ของผู้สาวลัวะ ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าผู้บ่าวในครัวเรือน
อาจารย์ชลธิราเคยพักแรมผ่านทาง อาศัยเรือนลัวะค้างคืน กลางดึกตื่นตกใจ ได้ยินเมียไล่ผัวออกจากเรือน
ข้างผัวก็น้ำตาตกก้มหน้ารับคำทำตามเมียสั่ง ถามแม่เจ้าเรือนว่าทำไมต้องทำกันแรงถึงเพียงนี้ คำตอบคือ “มันขี้คร้าน บ่เฮ็ดหยัง”
โครงสร้างสังคมดั้งเดิมทั้งลัวะและไท ตามตำนานล้านนา “ลัวะเป็นพี่ ไทเป็นน้อง” “ลัวะเยียะไฮ่ ไทเฮ็ดนา”
ชนชาติลัวะเป็นนักเล่านิทาน ชอบนั่งล้อมกองไฟยามค่ำคืน หนึ่งในเรื่องเล่า คือเรื่องราวบรรพชนลัวะสู้ศึกม่าน (คือพม่า) แม่ลัวะสั่งสอนลูกน้อยว่าอย่าร้องไห้ ถ้าไม่หยุดร้อง ม่านจะมาจับตัวไปตำครก
และเรื่องเล่ามือหยาบกร้านของพี่น้องลัวะ กำเคียวเกี่ยวคอม่านจนโชกเลือด
อาจารย์ชลธิราเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ “คนไร้สิ้น” สิ้นคือ “สิ้นไร้ไม้ตอก” ซ่อนนัยความหมาย “ไร้ซิ่น” ก็ได้ เป็นเรื่องชนชาติลัวะ-ละว้ายากจนค่นแค้น กรณีลัวะเมืองน่าน แม้ผู้หญิงก็ยังแทบจะไม่มีซิ่นนุ่ง
สมัยก่อน คนถืออำนาจจากที่ราบขึ้นดอยไปเก็บภาษี บ้านไหนผู้หญิงลัวะนุ่งซิ่นงาม ก็จะเก็บภาษีหนักกว่าบ้าน “ไร้ซิ่น” เมื่อเขาเก็บภาษีซิ่น ยาสูบ ยาดอง ไม่ได้ คนใช้อำนาจจะลามปามถึงขั้นเรียกเก็บ “ภาษีเต้านม” เต้าใหญ่เรียกแพง เต้าเล็กก็ถูกลงหน่อย
เปลี่ยนฉากมาเป็นงานวิจัยในจีนแถบยูนนาน เรื่องราวอาณาจักรเตียนหรือแถน ย้อนไปสองพันปีบนลานพิธีกรรมบนผากลองมโหระทึก มีเสาสูงใจกลางลาน ชายคนหนึ่งถูกมัดไว้กับแท่นหน้าเสา มีเครื่องเซ่นไหว้ สัตว์หรือผลไม้วางเรียงราย สื่อความนัยให้รู้ว่าเป็นพิธีกรรมที่ใช้คนทั้งเป็นมาบูชายัญ
อาจารย์ชลธิราทิ้งท้ายเรื่องนี้ว่าด้ำเสือ ด้ำไท ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือชุดมหากาพย์ชนชาติไท ความยาว 1,532 หน้า
หนังสือชุดนี้ ถูกนำขึ้นหิ้งในคฤหาสถ์ หอสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดชุมชน กระทั่งหิ้งบูชาผีบรรพชน และที่ต้องกล่าวถึง หิ้งอันน่าเกรงขามของหอสมุด บริติช ลิบรารี กรุงลอนดอน
นี่คือดัชนีชี้ หนังสือชุดนี้มีคุณค่า ต่อไปจะหายาก หิ้งหนังสือบ้านใดไม่มีไว้จะน่าเสียดายยิ่ง.