The Dawn of the Tai วิธีวิทยาเจาะเวลาหา ‘ยุคเพรางาย’ ~ อรุณรุ่งของชนชาติไท (๓)
อรุณรุ่งของชนชาติไท
แม้วัน-เวลาจะเป็นสิ่งสมมติ… แต่มนุษย์เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นสังคม จำเป็นต้องหมายรู้ กำหนดวาระสำคัญ นัดหมาย เพื่อพบปะกันทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน หนุ่มสาวบางคู่อาจมี “วันนัด” พบกันเปิดเผยในคืนเดือนเพ็ญ เช่นที่ผู้บ่าวไท-ไต-ลาว ไป “แอ่วสาว” ที่ตนหมายตาไว้ ตอนนางตำหูกอยู่ใต้ถุนเรือนในขณะที่พ่อแม่ของนางอาจจะสานกระบุงตะกร้าตำหมากจีบพลูอยู่บนเรือน บางคู่ชู้ชื่นอาจต้องมี “วันนัด” ลักลอบ “เล่นชู้” กันในวัน “ฟ้ามืด” หรือ คืน “เดือนดับ” เช่นกรณีเจ้าฟ้ากุ้งสมมติพระองค์เป็นพญาครุฑบินดั้นเมฆเข้าหาและสู่สมนางกากี
“สุบรรณแผลงเดชล้ำ บินบน
กางปีกบังสุริยน มืดฟ้า
ร่อนลงสู่ไพชยนตร์ ปรางค์มาศ
เข้านั่งแอบนุชเคล้า แนบเนื้อนวลสมร”
ความรักความใคร่กับหน่วยของเวลามีความเกี่ยวโยงกันอย่างน่าพิศวง
กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ใน ‘บทเห่ครวญ’ กวีเจ้าฟ้ากุ้งพรรณนาความในใจและอารมณ์หวนไห้ละห้อยโหยหา ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้เราได้ทราบว่า คนสมัยอยุธยาเขาบอกลำดับเวลากันอย่างไร
กาพย์ยานี ๑๑
“ยามสองฆ้องยามย่ำ
ทุกคืนค่ำย่ำอกเอง
เสียงปี่มี่ครวญเครง
เหมือนเรียมคร่ำร่ำครวญนาน
ล่วงสามยามไปแล้ว
จนไก่แก้วแว่วขันขาน
ม่อยหลับกลับบันดาล
ฝันเห็นน้องต้องติดตา
เพรางายวานเสพรส
แสนกำสรดอดโอชา
อิ่มทุกข์อิ่มชลนา
อิ่มโศกาหน้านองชล
เวรามาทันแล้ว
จึงจำแคล้วแก้วโกมล
ให้แค้นแสนสุดทน
ทุกข์ถึงเจ้าเศร้าเสียดาย
งามทรงวงดั่งวาด
งามมารยาทนาดกรกราย
งามพริ้มยิ้มแย้มพราย
งามคำหวานลานใจถวิล
แต่เช้าเท่าถึงเย็น
กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดิน
ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
โคลง ๔ สุภาพ
เรียมทนทุกข์แต่เช้า ถึงเย็น
มาสู่สุขคืนเข็ญ หม่นไหม้
ชายใดจากสมรเป็น ทุกข์เท่า เรียมเลย
จากคู่วันเดียวได้ ทุกข์ปิ้มปานปี
การอ่านละเอียดเชิงโครงสร้างนิยม กับวิธีวิทยาอ่านตัวบท
กาพย์ห่อโคลงเห่เรือนี้แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมื่อประมาณสองร้อยปีล่วงมาแล้ว แต่ก็มีคำบอกเวลาที่ใช้ตรงกับปัจจุบันหลายคำ ได้แก่ ชุดคำ |ยาม~คืน~ค่ำ~เช้า~เย็น~วัน~ปี|
แม้จะมิใช่วัตถุประสงค์ของกวีผู้แต่งเอง “ตัวบท” (text) บอกเราอยู่ในทีว่า ราชสำนักอยุธยาใช้ ‘ฆ้อง’ ย่ำ |ยาม|บอกเวลาช่วงกลางคืน เช่น ยามสอง ยามสาม โดยมีเสียงปี่ร่วมประโคม นอกจากคำที่ใช้ข้างต้น ยังมีคำว่า |วาน| ที่น่าจะใช้ตรงกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบันด้วย
แต่ใน “ตัวบท” นี้ มีศัพท์บอกเวลาคำหนึ่ง ที่ชาวกรุงแทบไม่รู้จักและอาจไม่เคยใช้เลยในปัจจุบัน คือ คำว่า |เพรางาย| แปลว่า ‘เวลาเช้า’ [พจนานุกรมไทยฉบับนายเปลื้อง ณ นคร ขยายคำแปลว่า ‘เช้าแก่ๆ’] อาจเทียบกับคำว่า ‘dawn’ ในภาษาอังกฤษ
|เพรางายวาน| ในบทกวีชิ้นนี้ อาจแปลว่า (เมื่อ) ‘เช้าวาน’ (นี้) ก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่า ชุดคำที่กวีเอกแห่งสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้บอกเวลาในกาพย์ห่อโคลง ซึ่งถือเป็น ‘ชิ้นงานกวี’ (Literary work) เมื่อเอามาอ่านโดยถือเป็น ‘ตัวบท’ ดังการตีความหมายของผู้เขียน (ชลธิรา) ข้างต้น อาจใช้เป็น ‘กุญแจคำ’ ให้เรานำไป ‘ไขอดีต’ ของราชสำนักอยุธยาได้ฉันใดก็ฉันนั้น…
ชุดคำบางชุดที่สำคัญ ที่เราประมวลได้จาก “ตัวบท” ต่าง ๆ โดยถือว่าเป็น Text ที่เราอ่าน ผ่านกวีนิพนธ์ เรื่องเล่า คติชาวบ้าน นิทานพื้นเมือง วรรณคดี วรรณกรรม ทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะ (Literary work) ก็อาจนำไปใช้เจาะเวลาหาอดีตผ่าน ‘บริบท’ ผ่านเงื่อนปมสำคัญของกาลเวลา ในบริบททางสังคมและภูมิศาสตร์การเมืองที่แน่นอน ทั้งโดยกำหนดเป้าหมายและไม่ต้องกำหนดเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถปะติดปะต่อ ‘ชิ้นส่วนที่กระจัดกระจาย’ และ ‘ข้อความอันเป็นตำนานหรือสัญญะ’ ที่สับสน ยุ่งเหยิง สลับซับซ้อน เพื่อไขปริศนา~ถอดรหัส ความเป็นมาของชนชาติไทได้
อาทิเช่น ถ้าเราสืบสร้างพบว่า ชุมชนไทกลุ่มใด ที่ไหนบ้าง ใช้คำ |เพรางาย| บอกช่วงเวลาเช้าเช่นเดียวกับกวีราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือนิยามสถานที่ด้วยคำนี้ ชุมชนนั้นน่าจะมีความเกี่ยวโยงไม่มากก็น้อยกับภูมิรัฐอยุธยา ในระหว่างกาลเวลาที่แน่นอนหนึ่ง ๆ
เริ่มจากวิธีวิทยาการวิจัยเช่นว่านี้ ผู้เขียนได้ทดลองใช้เครื่องมือสารสนเทศ Google ประกอบ โดยสืบค้นคำ |เพรางาย| ผ่าน Google ด้วยการร่อน สะกัด คัดออก ทำนอง “ร่อนทรายหาทอง” ในที่สุดก็ได้พบสิ่งที่น่าสนใจโดยไม่ได้คาดคิดล่วงหน้าว่า ในพื้นภูมิภาคกลางของประเทศไทย มีสถานที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ตำบล ‘หนองเพรางาย’ ตั้งอยู่ที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ข้อน่าสนใจทางนิรุกติศาสตร์ในกรณีศึกษานี้ก็คือ คำบอกเวลา ‘เพรางาย’ ในสมัยอยุธยา ได้กลายเป็นชื่อสถานที่ในพื้นภูมิอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ใช่จังหวัดอยุธยา แต่ ‘คำ’ ที่เคยใช้ในสมัยอยุธยา ได้เดินทางมาถึงจังหวัดนนทบุรี โดยเผยร่างปรากฏตนเป็น ‘หนองเพรางาย’ ในบริบทเวลาร่วมสมัย
อุปลักษณ์ ‘เพรางาย’ กับวิธีวิทยาการศึกษา “มหากาพย์ชนชาติไท”
การอ่าน [ชิ้นงานวรรณกรรม] อย่างละเอียด เป็นวิธีการสำคัญของการศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดี “แนวโครงสร้าง-หน้าที่” (Formalism) บนฐานคิดของ “สมัยใหม่นิยม” (Modernism)
การทำความเข้าใจ [ชิ้นงานวรรณกรรม] โดยการวิเคราะห์คำและความ ผ่านการแปลศัพท์อย่างเคร่งครัด แล้วถอดใจความสำคัญออกมา ผนวกกับวิธีวิทยาทางนิรุกติศาสตร์ สำนักภาษาศาสตร์เชิงประวัติ ก็ยังคงเป็นวิธีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ขาดเสียมิได้ ในการทำความเข้าใจชิ้นงานทางวรรณคดี แม้ว่าจะเป็นการศึกษาแนว “จารีตนิยม” (Conventionalism) ก็ตาม
ทั้งสองวิธีการนี้ ไท|ไต|ไทย|ลาว ศึกษาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา วรรณคดี คติชาวบ้าน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ได้ตกอยู่ภายใต้โครงครอบของสำนักคิดโครงสร้าง-หน้าที่นิยม มาโดยตลอด นับเป็นฐานคิดสำคัญและกระแสหลักของการศึกษาด้านนี้
แต่ควรคำนึงว่า บริบทของโลกรวมทั้งโลกวิชาการ ได้เปลี่ยนไปสู่ “ความเป็นหลังสมัยใหม่” ที่มีนวัตกรรม และกระบวนการ « Start up » มากมาย การจูน “คลื่น” ให้วิธีวิทยาการศึกษาไม่ว่าแขนงใดเข้ากับบริบทโลกใหม่ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
การใช้วิธีการศึกษาเฉพาะแนวโครงสร้าง-หน้าที่นิยมและสมัยใหม่นิยม นำความสำเร็จในด้าน ‘การประมวลองค์ความรู้’ ให้กับการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแล้วระดับหนึ่ง แต่ ‘ประวัติความเป็นมาของชนชาติไทย’ ที่คุดและสั้นกุด เพียงแค่ย้อนยุคไปได้ราว ๕๐๐ ปีเศษ และจำกัดสมัยของภูมิรัฐได้เพียง อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ บ่งชี้ชัดว่าการสืบสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยภายใต้กรอบคิดเชิงโครงสร้าง-หน้าที่นิยม ค่อนข้างหยุดนิ่ง คับแคบ และตายตัว ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหานี้โดยใช้ฐานคิด “พหุลักษณ์~พหุนิยม” ผนวกกับแนวทางการใช้หลักฐานโบราณคดี ‘เฉพาะพื้นที่และภูมิรัฐ’ ในประเทศไทยปัจจุบันอย่างสุดโต่ง จนก่อรูปการณ์ความรับรู้ ‘พหุลักษณ์ของความเป็นคนไทย’ ที่ไม่อาจสาวหารกรากที่มาของชนชาติไทยและอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่เป็นพลวัตได้เลยนั้น ก็ยิ่งก่อปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ครั้นเมื่อมีหลักฐานนอกเขตภูมิรัฐศาสตร์ชาติไทยที่พิสูจน์ทราบชัดเจนได้มากขึ้นเป็นลำดับตลอดระยะสามสิบปีที่ผ่านมา วาทกรรม “คนไทยอยู่ที่นี่มาแต่ไหนแต่ไร” ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากขึ้นเป็นลำดับ
จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่พึงตระหนักร่วมกันทุกภาคส่วนว่า องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียน หนังสือ และที่สำคัญคือ ในสื่อสารสนเทศบนโลกอินเทอร์เน็ตของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อการสอนที่ผลิตขึ้นเป็น ‘ชุดคำสอน’ แบบสำเร็จรูปส่วนใหญ่ เพื่อการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้ก้าวทัน “โลกความรู้” ในระบบโลกหลังโครงสร้าง-หน้าที่ และหลังสมัยใหม่ องค์ความรู้อันเป็นแบบแผนทางการ ที่ถูกจัดระเบียบเชิงโครงสร้างให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับอนุมัติให้ใช้สอน ใช้เรียนรู้ ใช้ออกข้อสอบ ใช้ตอบข้อสอบ อย่างเป็นมาตรฐานในระดับชั้นต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่นั้น ได้กลายเป็น “ขยะความรู้” ที่เน่าเสีย ก่ายกองทับถมท่วมท้นอยู่บนถนนไซเบอร์อันลื่นไหล รวดเร็ว และเร่งรัด
‘ยุคเพรางาย’ ของชนชาติไท [The Dawn of the Tai]
งานเขียนชุดนี้ คือความพยายามที่จะประสานการใช้ ‘ระเบียบวิธีศึกษาวิจัย’ (Research Methodology) ที่ยังใช้การได้ ของสำนักโครงสร้าง-หน้าที่ ทั้งแบบจารีตนิยมและสมัยใหม่นิยม เข้ากับ ‘วิธีวิทยาการศึกษา’ (Theoretical Approaches) ของสำนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) และ สำนักคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism)
สำนวน ‘เพรางาย’ ของชนชาติไท ในที่นี้ เป็น ‘อุปลักษณ์’ ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อ ‘เล่นคำกับความคิด’ ในกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมเชิงมโนทัศน์ ในการเจาะเวลา สืบ ‘ไตศักราช’ หา ‘ยุคเพรางาย’
‘ยุคเพรางาย’ ในที่นี้ คือ ห้วงเวลาแห่ง “อรุณรุ่งของชนชาติไท” (The Dawn of the Tai)
*** ชื่อยุค ‘The Dawn of the Tai’ ในบริบทนี้ ขอตัดคำว่า Race ออก เพราะไม่มี; ไม่ใช้คำว่า Nationality เพราะยังไม่เกิดรัฐชาติ; และยังไม่ใช้คำ Ethnic เพราะในช่วงอรุณรุ่งของชนชาติไทนั้น การผสมผสานทางชาติพันธุ์จากหลายเผ่าพันธุ์ย่อมต้องเกิดขึ้นแล้ว แต่อนุโลมใช้คำ ‘ชนชาติ’ ตามความหมายที่ใช้กันในภาษาไทย ‘ชาติ’ ที่สมาสกับคำว่า ‘ชน’ หมายถึง ‘ชาติกำเนิด’ มิใช่ ‘รัฐชาติ’
การใช้อุปลักษณ์ ‘ยุคเพรางาย’ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ณ ที่นี้ ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะชักชวนท่านผู้อ่านที่มีความสนใจและตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน โปรดช่วยกันลงทุนลงแรงลงความคิด เอื้อเฟื้อข้อมูล หลักฐาน เอกสาร ชิ้นงาน รูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้ “ตัวบทการศึกษา” (Text) ในการอ่าน คิด วิเคราะห์ ทบทวน ตีความหมาย และตรวจสอบย้อนทวน อย่างเป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ในกรอบโครงสร้างหรือสถาบันใด จะได้มี ‘จินตนาการ’ เสรีในการให้ความหมายต่อการอ่าน “ตัวบท” ต่าง ๆ ในบริบทที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ว่า ห้วงเวลาแห่ง ‘ยุคเพรางาย’ ~ ยุคอรุณรุ่งของชนชาติไท จะยังพร่าเลือน…
ผู้เขียนไม่เพียงมีสมมติฐานการวิจัย หากยังเชื่อมั่นโดยสุจริตใจว่า ความเป็นมาของชุมชนไทดั้งเดิม ย่อมต้องมีพื้นภูมิสถานต้นกำเนิด มีตำแหน่งแห่งที่แน่นอน ณ จุดก่อเกิดอันเป็นภูมิรัฐศาสตร์สำคัญแห่งใดแห่งหนึ่งของอุษาคเนย์ ใน ‘ยามอุษาสาง’ ก่อนหน้าที่จะถึง “ยุคเพรางาย”
และ…แม้เมื่อถึงยาม ‘เพรางาย’ ก็มีอุบัติเหตุนานัปการ ทำให้มวลบัวงามใน ‘หนองเพรางาย’ ที่กำลังชูช่อรับอรุณ จำต้องขยับโยก เร่งรุด รอนแรม ดั้นด้น เดินทางไกล และยังต้องแยกย้ายจากกันไปผลิดอกออกช่อ ในห้วยหนองคลองบึงใหม่ ๆ
ครั้นพอจะปักหลักสร้างฐานได้แล้ว ในระยะต่อมาชุมชนชาวไทจาก ‘หนองเพรางาย’ เดิม ยังถูก ขนาบ โดย ‘ยักษ์ใหญ่’ หลายตัว
แม้จะยืนหยัด ต่อสู้ ขัดขืน อำนาจยักษ์ที่ขนาบข้าง ผู้คน~บรรพชน ของชุมชนไทแห่ง ‘หนองเพรางาย’ ก็ยังถูกไล่ต้อน ล่าและเข่นฆ่า โดย ‘ยักษ์ผู้พิชิต’ จึงต้องหลบลี้หนีภัย เสาะหาหนทางและพื้นภูมิสถานใหม่ กระจายกำลังลูกหลานไปสร้างบ้านแปงเมืองและก่นสร้างชุมทางใหม่ ๆ ทั้งทางฝั่ง ‘วันตก’ และ ‘วันออก’ ของ ‘หนองเพรางาย’ ดั้งเดิมแต่กาลก่อน
การสืบสร้างอดีตอันพร่าเลือนกระจัด กระจาย อีกทั้งยังสับสน ไม่ใช่เรื่องง่าย ได้มีความพยายามมากมายจากนักวิชาการชาวต่างชาติด้วย ที่จะค้นหาและสืบสร้างประวัติศาสตร์ชนชาติไท เจาะเวลาหาอดีต และพลวัตการพัฒนาของชุมชนไทนอกประเทศและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สังคมชนชาติไทย โดยสืบเสาะหาจากพื้นภูมิปัจจุบันสมัยในเชิงเปรียบเทียบ และใช้สหศาสตร์และวิธีวิทยาที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ การศึกษาวิจัยในงานชุดนี้ จะเชื่อมโยงผลการศึกษาและองค์ความรู้ใหม่ด้านไท|ไทยศึกษา ที่สถาปนาขึ้นในระดับจากนานาชาติด้วย
ความพยายามที่จะศึกษากำหนด “ยุคเพรางายของชนชาติไท” โดยการประสาน ‘เงื่อนเวลา’ ไปกับการสุ่มเสาะหาพื้นภูมิสถานที่ตั้งชุมชนไทในอดีต ที่ก่อเกิดยามอุษาสาง เติบโตยามรุ่งอรุณ แล้วพลัดพรายแยกย้ายจากกันในยามศึก อันเป็นยามสนธยาทางการเมืองเรื่องรัฐ ล้มแล้วลุก หยัดยืนขึ้นสร้างใหม่ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในขอบเขตพรมแดนหลายประเทศ ครอบคลุม “พื้นที่ในระหว่าง” นานาชาติพันธุ์ของอุษาคเนย์ เช่นนี้ กล่าวในเชิงเปรียบเทียบโดยใช้สำนวนแบบไทย ๆ ถือเป็นการศึกษาแบบ ‘ข้ามภพ ข้ามชาติ’ คือ ข้าม (Cross) ทั้ง ‘ในระหว่างเวลา~ในระหว่างพื้นที่’ ใน “ตำนาน” อันลบเลือน ท่ามกลาง “ปรัมปราคติ” ที่เลื่อนลอย และชิ้นงานวรรณกรรมอันเป็น “นานาบท” (Inter-Texts) ที่ถมทับเหลื่อมซ้อน และปะทะสังสันทน์กัน อย่างอุตลุดสับสน ก็ด้วยความหวังว่า จนในที่สุด….
เราอาจจะร้อยรักถักทอ “มหากาพย์ชนชาติไท” สำเร็จได้ดังใจหมาย
ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนเมื่อ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑ [ไตศักราช ๒๑๑๓]
*******
ภาคผนวกท้ายบท
สังสันทน์สโมสร ว่าด้วยคำ “เพรางาย”
* อ้างถึง มหากาพย์ชนชาติไท ตอนที่ ๓ ใน Cholthira Satyawadhna: Facebook, 10 December 2018
สืบเนื่องจากการที่ผู้เขียนได้เสนอว่าจะใช้คำ “เพรางาย” เป็นอุปลักษณ์ แทน ‘วาระแห่งวัน ยามเช้า ช่วงรุ่งอรุณ อันสดใสและเจิดจ้า’ โดยเจตนาให้หมายถึง “ยุคอรุณรุ่งของชนชาติไท” นั้น ได้มีผู้อ่านที่เป็นกัลยาณมิตรประจำยามในเฟซบุ๊กให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งสนับสนุนจากคำพูดจาในวิถีชีวิตประจำวัน ในท้องถิ่นทั่วทุกภาคของประเทศไทย และผู้รู้บางท่านก็ได้ชี้ให้เห็นการใช้คำดังกล่าวในความหมายที่ต่างออกไปด้วยหลักฐานทางวรรณคดีต่างยุคต่างสมัยต่างพื้นที่นั้น ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในการเข้ามามีส่วนร่วมของท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง และขอเชิญชวนให้ร่วมกัน “สังสันทน์สโมสร” ว่าด้วยประเด็นอื่น ๆ ต่อไปตามอัธยาศัย ผู้เขียนยินดีน้อมรับไปสังเคราะห์และปรับใช้ในงานเขียนเพื่อยังประโยชน์สูงสุดให้ผู้อ่านต่อไป
เฉพาะคำว่า “เพรางาย” ขอประมวลสรุปข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่ได้มาไว้ในที่นี้
ว่าด้วยคำ |เพรางาย|
สรุปขั้นต้นว่า คำ |เพรา| และ |งาย| คงจะเป็นคำไท ที่มีใช้กันมาแต่โบราณ
ชุดคำนี้เดินทางไกล เพ่นพ่านไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีที่ใช้ส่วนมากในภาษาพูด และมีปรากฏเป็นภาษาเขียนในงานวรรณคดี ทั้งของสมัยอยุธยาและสมัยสุโขทัย โดยกวีราชสำนักทั้งสองสมัยเป็นผู้ใช้คำนี้
ภาษาเขียนของสุโขทัย เฉพาะคำว่า |เพรา| มีความหมายว่าเป็น เวลาเย็น; ความหมายนี้เอาไปใช้ตีความในกาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้งได้ดีกว่าความหมายที่ว่าไว้ในพจนานุกรมทั้งสองฉบับ คือทั้งฉบับราชบัณฑิตยสถาน และฉบับนายเปลื้อง ณ นคร;
แม้ว่าจะมีการเลื่อนความหมายหรือการกลายความหมาย |เพรางาย| ในภาษาพูดของชาวบ้าน ที่เมืองน่านใช้ตรงหรือใกล้เคียงกับทางอีสาน คือ มีความหมายตรงกับที่ระบุในพจนานุกรมไทย ทั้งฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งแปลว่า ‘ยามเช้า’ และ ฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร คือ ยามเช้าแก่ ๆ, แบบไม่ใช่เวลาเช้าตรู่ คือ สายหน่อย ๆ;
ส่วนทางใต้นั้น ที่จังหวัดตรัง พบคำว่า |งาย| เป็นคำที่ใช้แทนช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ที่ต้องรอคอย แต่ไม่น่าจะยาวนัก (อาจจะภายในวันเดียวกัน) ส่วนทาง อ.สทิงพระ มีความหมายที่ลงรายละเอียดมากขึ้นเป็นหน่วยเวลา คือ ครึ่งของครึ่งวัน จะเป็นเช้าหรือบ่ายก็ได้
อนึ่ง แม้ในเสภาขุนช้างขุนแผน (ฉบับวัดเกาะ) ก็ได้มีการใช้คำ ‘เพรางาย’ ปรากฏในบทเสภาด้วย
เจ้าวันทองน้องตื่นขึ้นจากนอน เจ้าโอนอ่อนวอนไหว้พิไรว่า หม่อมน้อยใจฉันมิใคร่จะเจรจา ใช่ตัวข้านี้จะงอนค่อนพิไร ชอบผิดพ่อจงคิดคนึงตรอง อันตัวน้องมลทินหาสิ้นไม่ ประหนึ่งว่าวันทองนี้สองใจ คนที่ไหนเขาก็เห็นไปเช่นนั้น ที่จริงใจถึงว่าไปอยู่เรือนอื่น คงคิดคืนที่หม่อมเปนแม่นมั่น ด้วยรักลูกรักผัวยังพัวพัน คราวนั้นไปอยู่เพราะจำใจ แม้นคิดด้วยมิตรไม่รักเลย หากเขามีที่เชยเฉยเสียได้ เสียแรงเราร่วมทุกข์กันกลางไพร กินผลไม้ต่างเข้าทุกเพรางาย แสนยากก็ไม่ยากเหมือนอย่างนี้ เหตุเพราะหม่อมมีซึ่งที่หมาย ว่านักก็เรื่องเคืองระคาย เอ็นดูน้องอย่าให้อายเขาอีกเลย ฯะ (เพรางาย ในขุนช้างขุนแผนฉบับวัดเกาะ)
สำหรับชุมชนไทใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศไทยนั้น คำว่า ‘เพรา’ ก็มีที่ใช้ แต่ออกเสียงว่า /เผา/ ความหมายตรงหรือใกล้เคียงกับที่ใช้ทางเหนือและอีสาน คือ ช่วงเวลาเช้า (แต่ไม่ใช่เช้ามืด หรือยามอุษาสาง) เป็นช่วงเวลา ‘เช้า’ ที่สายสักหน่อย
ความหมายทำนองนี้ ตรงกับความหมายที่ให้ไว้ในพจนานุกรมทั้งสองฉบับ
ดังนั้น ถ้าเทียบคำภาษาไทใหญ่ให้ได้ความหมายตรงกับคำ ‘เพรางาย’ คือ ห้วงยามอรุณรุ่ง อาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย เสนอว่าอาจใช้เป็นสำนวนภาษาไทใหญ่ได้อย่างกลมกลืน คือ
“ป๋าน โห น ะอื๋อ ไต” เขียนเป็นภาษาไทยกลาง คือ “ปางหัวเหนือไท”