การสถาปนาพระผู้ผ่านพิภพขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแว่นแคว้น มีธรรมเนียมสำคัญที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งโบราณ นั่นคือ การรดน้ำเพื่อเปลี่ยนสถานภาพ รายละเอียดของพิธีบรมราชาภิเษกนี้ปรากฏหลักฐานทั้งในศิลาจารึก พระราชพงศาวดาร หรือแม้กระทั่งในตำนานปรัมปรา ที่แม้ว่าเรื่องราวในตำนานจะเป็นเรื่องอภินิหารอยู่มาก แต่เรื่องราวของพิธีบรมราชาภิเษกนั้น กลับให้ข้อมูลเชิงคติชนได้ไม่น้อย ดังจะได้ยกเอาพิธีบรมราชาภิเษกที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ มาเปิดผ้าม่านกั้งในครั้งนี้
ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยได้ยึดแบบแผนตามโบราณราชประเพณีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คำว่า บรมราชาภิเษก เป็นการรวมคำระหว่าง บรม + ราชา + อภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญที่ยกสถานภาพของผู้ครองแผ่นดินให้เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เปลี่ยนจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยคำว่า “อภิเษก” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ” โดยน้ำที่ใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกเรียกว่า “น้ำมูรธาภิเษก” โดย “มูรธะ” แปลว่า “หัว หรือ ยอด” น้ำมูรธาภิเษก จึงหมายถึง น้ำที่รดลงบนพระเศียรของผู้จะได้เสด็จผ่านพิภพขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
น้ำมูรธาภิเษก
คติเรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แพร่เข้ามาสู่ดินแดนอุษาคเนย์พร้อมกับอารยธรรมจากชมพูทวีป โดยคติพราหมณ์เชื่อว่า แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีปประกอบด้วย แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมทิ ที่รวมเรียกชื่อว่า “ปัญจมหานที” ล้วนเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระบาปทั้งปวงได้ เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่ไหลลงมาจากเขาไกรลาสที่ประทับของพระอิศวร อย่างไรก็ตาม น้ำจากปัญจมหานทีนี้ได้นำมาใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖
ส่วนการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานว่า ใช้น้ำจาก สระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี มาเป็นน้ำมูรธาภิเษก
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้นำน้ำจากแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในพระราชอาณาจักรมาใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษก ได้แก่ น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี น้ำในแม่น้ำราชบุรี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำในแม่น้ำป่าสัก และน้ำในแม่น้ำบางประกง รวมเรียกว่า “เบญจสุทธิคงคา”
ในพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเพิ่มที่มาของน้ำมูรธาภิเษก โดยนำน้ำจากนครโบราณ ๗ แห่ง และวัดในมณฑลต่าง ๆ อีก ๑๐ มณฑล รวมเป็น ๑๗ แห่ง
ในพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเพิ่มแหล่งน้ำจากบึงพลาญชัย มณฑลร้อยเอ็ดอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น ๑๘ แห่ง
ในพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกจากมณฑลเป็นจังหวัด จึงยังยึดแหล่งน้ำตามที่กำหนดมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ๆ
การเตรียมน้ำมูรธาภิเษกจะมีการตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่าง ๆ ก่อน จากนั้นจึงอัญเชิญมายังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รอนำเข้าพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
เมื่อวิเคราะห์จากการกำหนดแหล่งที่มาของน้ำมูรธาภิเษกจะเห็นได้ว่า แต่เดิมเป็นการกำหนดตามแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำคัญในพระราชอาณาจักรที่เชื่อถือสืบมาตามโบราณราชประเพณี แต่ต่อมาได้มีการเพิ่มแหล่งน้ำโดยยึดตำแหน่งที่ตั้งตามพื้นที่การปกครองภายในพระราชอาณาจักร อันสื่อถึงขอบเขตแห่งพระราชอำนาจภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
ลินสรง / โฮงหด วัดสีสะเกด นครเวียงจันท์
พิธีบรมราชาภิเษกในตำนานอุรังคธาตุ
ในตำนานอุรังคธาตุเรียกการสรงน้ำมูรธาภิเษกว่า “หดสรง” โดยปรากฏเรื่องราวของการหดสรงบุคคลขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมือง ๒ เรื่อง ได้แก่ พิธีหดสรงกษัตริย์เมืองศรีอโยธิยาทวารวดี และพิธีหดสรงกษัตริย์เมืองจันทบุรี (เวียงจันท์)
พิธีหดสรง หรือการสรงน้ำมูรธาภิเษกกษัตริย์เมืองศรีอโยธิยาทวารวดี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า พญาสาเกตนครและพญากุรุนทะนครเป็นสหายกัน วันหนึ่งพญาสาเกตนครได้มาเที่ยวเล่นที่เมืองกุรุนทะนคร พญาทั้งสองได้พบกับฐิตะกัปปิฤาษีที่มีฤทธิ์เหาะมาทางอากาศ ฐิตะกัปปิฤาษีได้ปรุงน้ำมูรธาภิเษกทำพิธีหดสรงให้พญาทั้งสองครองเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีร่วมกัน ดังความในตำนานอุรังคธาตุว่า
“…ยามนั้น พญาสาเกตนครตนพ่อ แลพญากุรุนทะนครนั้นก็เป็นสัมพันธมิตรกัน ปะเจ้าสุริยกุมารไว้เมืองแต่มีอายุได้ ๑๓ ปี แล้วนั้น พญาตนเป็นพ่อก็เอารี้พลโยธาไปหลิ่นมหรสพในเมืองกุรุนทะนคร กับด้วยพระสหาย พญากุรุนทะก็แบ่งเมืองให้เคิ่งหนึ่งแล แม่นว่าบ้านเล็กเมืองน้อยอันเป็นส่งเศษส่วยไร้ส่งเซ้านั้น ก็แบ่งให้ถ่อง ๑ หั้นแล
ยังมีในวัน ๑ พญาทั้ง ๒ ก็หลิ่นมหรสพบูชาแก้วทั้ง ๓ แล เมื่อนั้น ยังมีรัสสีเจ้าตัว ๑ ชื่อว่า ฐิตะกัปปิรัสสี ลุกมาทางอากาศแต่ป่าหิมพานต์นั้น ลงมานั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งพญาทั้งสองหั้นแล
พญาเจ้าทั้ง ๒ ก็ชมชื่นยินดีเลื่อมใสให้รัสสีฉันข้าวน้ำโภชนะอาหารแล้ว
เจ้ารัสสีจีงถามพญาทั้งสองว่ามหาราชทั้ง ๒ ยังปรารถนาสิ่งใดจา
พญาทั้ง ๒ ก็ขานคำว่า ผู้ข้าทั้งสองยังอยากไปทางอากาศได้เป็นดั่งเจ้ากูนั้นแล
เมื่อนั้น เจ้ารัสสีจีงกล่าวว่า มหาราชทั้ง ๒ จงละเซิ่งเพศอันเป็นท้าวพญาไว้แล้ว นุ่งทรงผ้าขาว รักษาเอาศีล ๘ แล้วจีงถือง้าวมงคลไปเอาหมากนาวศรีให้ได้ ๓ หน่วย เครืออมรณี ๓ หาบ หมากขัดเค้า ๓ หาบ หนามพญา ๑ ให้ได้ ๓ หาบ แม่นในมื้อวัน ๓ ยามดี เอามาพร้อมกันวันนั้น อย่าได้เอาบุคคลผู้ใดไปดอม ให้แม่นวันดี ยามดีมาพร้อมกัน เราก็หากจักแต่งยาพละสิทธิเพชรให้อมเทอญ
ว่าดังนี้ พญาทั้ง ๒ ก็หายาได้ทุกอัน เอามาได้วันแล้ว เจ้ารัสสีตำฟักมุ่นผง ใส่หม้อเหล็กเอาค้างตั้งเหนือก้อนเส้าคำ นำเอาน้ำที่ออกบ่อ ๓ แห่ง เอาที่ ๓ แม่น้ำอันมีชื่อว่าเป็นมงคล แล ๓ สระพัง ใส่หม้อเหล็ก
เอาไม้นาวศรี ไม้ขัดเค้า ไม้ส้มผ่อ ไม้คูณ มาเป็นฟืนเครื่องต้มเคี่ยวด้วยไฟให้ขุ่นดังน้ำผัก จีงปงไว้ให้เย็นแล้วจีงใส่โอเงินเลียงไว้
แล้วจีงแต่งเครื่องปัญจราชกกุธไว้
วัน ๓ (อังคาร) จีงเอาบาเพชรใส่เบ้าสูบด้วยถ่านไฟไม้นาวสี ไม้ขัดเค้า ไม้ส้มผ่อ ไม้คูณ ให้ได้ ๓ คืน ๓ วัน แล้วหลอ (เหลือ) ตกน้ำอันนั้นให้ได้ ร้อย ๓ สิบ ๓ ที แล้วเอามาสบมนต์แล้ว
เจ้ารัสสีจีงราชาภิเษกพญาสาเกตนครเป็นพญาให้ขึ้นชื่อว่า ศรีอมรณี ตามฤทธียาแลมนต์แห่งเจ้ารัสสีเป็นชื่อนามแล้ว จีงราชาภิเษกพญากุรุนทะนครเป็นพญาให้ขึ้นชื่อว่า พญาโยธิกา หั้นแล
…ว่าดังนี้แล้วเจ้ารัสสีก็จีง ปงนครนามกรนามเมืองว่า เมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร เทอญ ด้วยเหตุว่าเอาหมากนาวสี ๓ หน่วย เครืออมรณี แลหมากขัดเค้า แลหมากหนามพญามาก่อแรกหดสรงพญาทั้ง ๒ นั้นเหตุว่าเป็นนิมิตกันนั้นแล…”
จากเนื้อความในตำนานอุรังคธาตุเกี่ยวกับพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกพญาทั้งสองแห่งเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร จะเห็นถึงการเตรียมน้ำมูรธาภิเษกที่มีการนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ น้ำบ่อ น้ำแม่น้ำที่มีชื่อเป็นมงคล และน้ำจากสระพัง ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับลักษณะแหล่งน้ำมูรธาภิเษกที่ใช้จริง สะท้อนให้เห็นว่า ตำนานอุรังคธาตุมีสาระสำคัญเกี่ยวกับพิธีบรมราชาภิเษกและน้ำมูรธาภิเษก ที่สอดคล้องตรงกันกับพิธีที่ปรากฏจริงที่พบในเอกสารอื่น ทั้งในพระราชพงศาวดารหรือในจารึก
แต่ข้อสังเกตประการสำคัญเกี่ยวกับน้ำมูรธาภิเษกในตำนานอุรังคธาตุนี้ มีลักษณะพิเศษที่ไม่ใช่เพียงน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญแล้วนำมาทำการเสกเท่านั้น แต่มีการใช้พืชวัตถุและธาตุวัตถุในการต้มกับน้ำเพื่อให้มีสรรพคุณเป็นยาได้อีกด้วย ซึ่งน้ำมูรธาภิเษกที่มีฤทธิ์เป็นยานี้มีคุณสมบัติทำให้ท้าวพญาผู้นั้นมีฤทธิ์เหนือกว่าบุคคลทั่วไป อันน่าจะหมายถึงพระบรมเดชานุภาพหรือพระบารมีที่เหนือกว่าประชาชนใต้บรมโพธิสมภารนั่นเอง
ส่วนพิธีหดสรงน้ำมูรธาภิเษกในตำนานอุรังคธาตุอีกตอนหนึ่ง คือตอนราชาภิเษกบุรีอ้วยล่วยหรือบุรีจันท์ขึ้นเป็นพญาจันทบุรีประสิทธิสักกะเทวะ กษัตริย์ครองเมืองจันทบุรี (เวียงจันท์) ตำนานอุรังคธาตุในตอนนี้กล่าวว่า ไม่สามารถใช้น้ำบ่อ น้ำจากแม่น้ำโขง และน้ำสระพัง มาเป็นน้ำมูรธาภิเษกได้ แต่จะต้องใช้น้ำมงคลจากพญานาค เนื่องจากบุรีจันท์อ้วยล่วยเป็นหน่อพุทธังกูร คือพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า ดังความในตำนานอุรังคธาตุว่า
“…ครั้นว่า พราหมณ์ทั้ง ๕ กล่าวโสกแล้ว หลิงเห็นดังนี้แล้ว จักหดสรง จีงถามหาน้ำมงคลเพื่อว่าจักราชาภิเษกเจ้าบุรีจันท์ คนทั้งหลายจีงเอาน้ำของ แลน้ำส่าง แลน้ำสระพัง ที่ว่าเป็นมงคลนั้นมา
พราหมณ์ทั้งหลายก็บ่เอา ให้หาน้ำมงคลอันพญานาคให้นั้นจีงเอา
ว่าดังนี้ คนทั้งหลายก็ว่าบ่มี ชาติหดสรงท้าวพญามหากษัตริย์นี้ ก็เทียรย่อมเอาน้ำแม่ของ แลน้ำส่าง น้ำสระพัง ที่เป็นมงคลควรเอา หากเป็นจารีต น้ำอันพญานาคให้นั้นบ่ห่อนมีสักเทื่อแล แม่น้ำใหญ่แลน้ำน้อยทั้งหลายมีที่ใดก็ดี หลางมีนาคอยู่ซุแห่งแล แม้นว่าบ่ให้ ก็หากเอามาหดมาสรง ซะแล
พราหมณ์ทั้งหลายจีงว่า อันหดสรงเป็นท้าวพญาตามประเพณีวงศานั้น น้ำอันเอามานี้ก็ควรแล ด้วยแท้ ส่วนดังเจ้าบุรีจันท์นี้แม่นหน่อพุทธังกูร แลได้มาเกิดในตระกูลพ่อไร่พ่อนา อยากได้น้ำมงคลพญานาคมาหดสรง เพื่อว่าอยากให้เสียกลิ่นคาบอาบเราให้สิทธิภายหน้าตามอุปเทศ นั้นซะแล…”
การหดสรงบุรีจันท์นอกจากจะต้องใช้น้ำมงคลจากพญานาคแล้ว ยังมีการสร้างเตียงด้วยไม้มะเดื่อเพื่อเป็นที่ประทับ ใช้ไม้ตาลทำลินสรง หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียก โฮงหด และใช้หอยสังข์ในการตักน้ำมูรธาภิเษกใส่ในลินสรง นอกจากนี้ยังมีการถวายหลาบคำหรือสุพรรณบัฏ และการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ดังปรากฏความในตำนานอุรังคธาตุว่า
“…ยามนั้น คนทั้งหลายได้ยินพราหมณ์ทั้ง ๕ กล่าวลักษณะในตนนอกตนแห่งเจ้าบุรีจันท์ ว่าเป็นหน่อพุทธังกูร เขาก็ชื่นชมยินดีให้เสียงสาธุการยิ่งนัก ซะแล
ยามนั้น พราหมณ์ทั้ง ๕ จีงให้เชื้อเบื้องพ่อเจ้าบุรีจันท์ เอาไม้เดื่อมาแปงเตียง ให้เชื้อเบื้องแม่นางอินทรสว่าง เอาไม้ตาลแปงลินสรงเทอญ
พิธีหดผะเหวด : ฮูปแต้มวัดป่าเลไลย์ บ้านหนองพอก ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
ช่างวีระวัฒน์ เทียบแก้ว สร้างโฮงฮดใหม่สำหรับพิธีเถราภิเษก สะท้อนถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากตำนานสู่พิธีกรรมในปัจจุบัน
พราหมณ์ทั้ง ๕ จีงสังวาส สวดธิยายตามเพทอันตนได้เรียนเอาจบแล้ว จีงให้ไชยพราหมณ์เอาคนทั้งหลายฝูงเป็นเชื้อโคตรวงศาท้าวคำบาง แลเชื้อเบื้องแม่เจ้าบุรีจันท์ ไปเวียนวัฏประทักษิณหาน้ำมงคล
ไชยพราหมณ์ออกจากเวียงไม้จันทน์ไป ควา ๓ พัน ทั้ง ๔ ด้าน จีงเห็นกงจิตแก้วพระพุทธเจ้า ที่แคมหนองคันแทเสื้อน้ำ จีงหมายไว้ว่าเจดีย์ประเสริฐจักเกิดมีภายหน้าแล
แล้วไชยพราหมณ์เวียนเกี้ยวเมือใต้ ข้ามแม่น้ำของแล้วเวียนกวัดเกี้ยวเมือขวา แล้วจีงตามคืนมา จีงเห็นน้ำลินอันพญานาคควัดไว้สองลินนั้น จีงบูชาแล้วสวดธิยาย แ???????????? ? ล้วเทวดาทั้ง ๒ จีงบอกชื่อแห่งตนว่า ปรสิทธิสักกเทวะ แล เทวะรัตนเกสี ว่าดังนี้แก่พราหมณ์ ก็มีหั้นแล
ไชยพราหมณ์มาแล้วจีงคืนมาบอกแก่พราหมณ์ทั้งสี่ ยามนั้น มังคลพราหมณ์แลสิทธิพราหมณ์ทั้ง ๒ ไปเอาน้ำลินคำออกเมืองเบื้องนอก อันเทวดาชื่อว่าปรสิทธิสักกเทวะอยู่รักษานั้น มาแล้ว จีงราธนาเจ้าบุรีจันท์นั่งเตียง เอาหอยสังข์ตัวผู้ ตักใส่ลินสรงราชาภิเษก ปงราชนามในหลาบคำอันเทวดาหากให้นั้นว่า พญาจันทบุรีประสิทธิสักกะเทวะ ก็มีแล
จุลมังคลพราหมณ์แลจิตตวัฒนพราหมณ์ ไปเอาน้ำลินอันออกมาก้ำใน อันเทวดาตนชื่อว่ารัตนเกสีอยู่รักษานั้นมาแล้ว มาเอาหอยสังข์ตัวแม่ตักใส่ลินหดสรงนางอินทรสว่างเป็นราชเทวี จีงให้ปงราชนามในหลาบคำอันพญาสุมิตตธรรมเจ้าให้มาแก่เจ้าบุรีจันท์นั้น ชื่อว่า นางอินทรสว่างรัตนเกสีราชเทวี ดังนั้นก็มีแล
แล้วจีงพร้อมกันมาเบิกบาสี…”
พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกบุรีจันท์นี้ มีขั้นตอนวิธีที่ต่างจากการสรงมูรธาภิเษกพญาทั้งสองแห่งเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร ซึ่งมีลักษณะพิเศษคล้ายกับพิธีหดสรงเถราภิเษกของพระสงฆ์ในวัฒนธรรมอีสาน – ล้านช้าง ในปัจจุบัน คือมีการใช้ลินสรงหรือโฮงหด ที่มีลักษณะเป็นตัวนาค ซึ่งมีนัยยะตามเนื้อความในตำนานอุรังคธาตุที่ว่า น้ำมูรธาภิเษกที่ใช้หดสรงผู้เป็นหน่อพุทธังกูรต้องเป็นน้ำจากพญานาค แต่ที่มีลักษณะพิเศษกว่าพิธีหดสรงของพระที่เรียกว่าพิธีเถราภิเษกคือ การใช้หอยสังข์ในการตักน้ำ และการใช้หลาบคำ เพราะในพิธีเถราภิเษกไม่ได้เจาะจงว่าสิ่งที่ใช้ตักน้ำต้องเป็นหอยสังข์ นอกจากนี้ในพิธีเถราภิเษกจะใช้หลาบเงิน
สิ่งที่แตกต่างจากพิธีเถราภิเษกแต่ตรงกับพิธีถวายน้ำสรงมูรธาภิเษกสำหรับกษัตริย์คือ การใช้เตียงไม้มะเดื่อ ดังเช่นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยจะประทับเหนือพระแท่นที่ประทับสำคัญ ๓ องค์ ซึ่งล้วนทำจากไม้มะเดื่อทั้งสิ้น ได้แก่
“พระที่นั่งอุทุมพรราชอาสน์” ประดิษฐานในพระมณฑปกระยาสนาน เพื่อสรงน้ำมูรธาภิเษก
“พระแท่นอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” ประทับเพื่อทรงรับน้ำพระมหาสังข์ และน้ำพระพุทธมนต์
“พระแท่นภัทรบิฐ” ประทับเพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องราชูปโภค
จะเห็นได้ว่า พิธีบรมราชาภิเษก เป็นการใช้น้ำเพื่อเปลี่ยนสถานะของบุคคล มีร่องรอยปรากฏมาตั้งแต่โบราณ ในตำนานอุรังคธาตุที่กล่าวถึงพิธีบรมราชาภิเษกด้วยน้ำ ๒ ครั้ง ที่มีรูปแบบและรายละเอียดพิธีที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ยังมีจุดร่วมในพิธีที่สำคัญคือการ “รดน้ำ” ตามความหมายของคำว่า “อภิเษก”
นอกจากนี้ นัยยะของการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีการเสกจากอำนาจของผู้วิเศษ เช่น ฤทธิ์ของฤษี หรือบารมีของนาค สะท้อนให้เห็นถึงการที่ชุมชนได้ร่วมกันยอมรับในอำนาจของผู้ได้รับการสถาปนา หรืออีกนัยยะหนึ่งเป็นการถวายพระราชอำนาจต่อพระผู้ผ่านพิภพผ่านน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการเสกนั้น อันเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจในคติชน ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนเกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์