รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong Award) มาถึงแล้ว
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: อุษาคเนย์เห่กล่อม
Column: Southeast Asian Lullaby
ผู้เขียน: จินตรัย
“Mekong Award” is an international literary award as the SEA Write Award. It just came into existence 6 years ago among the countries, which Thai people did not give much consideration (Vietnam, Kampuchea and PDR Laos) and even disdained.
“คนไทยรู้จักรางวัลวรรณกรรมไทยมากน้อยเพียงใด ?”
ต่อคำถามนี้ หากเหมารวมเอาคนไทยส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่ารู้จัก “รางวัลซีไรต์” มากที่สุดเพราะเป็นรางวัลเดียวที่ทำสถิติพิมพ์แล้วพิมพ์อีกทุกเล่มเลยก็ว่าได้ บางเล่มอาจมียอดพิมพ์เกินครึ่งร้อยครั้งไปแล้ว ขายดิบขายดีปานเทน้ำเทท่าทีเดียว ส่วนรางวัลวรรณกรรมอื่น ๆ นั้น โดยเฉพาะรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก่อเกิดมาก่อนนั้น ก็ไม่เท่าไรหากวัดจากจำนวนครั้งที่พิมพ์ซ้ำ และปัจจุบันนี้มีรางวัลวรรณกรรมในประเทศเกิดขึ้นมากมายที่มีการประกวดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งของหน่วยงานราชการ เช่น รางวัลพานแว่นฟ้า ของเอกชนคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้แก่ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และรางวัลอื่น ๆ หลากหลายพอสมควร รวมทั้งรางวัลวรรณกรรมที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้ก่อตั้งประกวดประขันกันจนนับไม่ถ้วน แต่ทั้งมวลก็มิอาจเทียบชั้นกับ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)” ได้เลย ทั้งปริมาณผู้สนใจอ่าน ผู้ส่งเข้าประกวด ยอดการจำหน่าย และทั้งในแง่ที่เป็นรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติ
สำหรับรางวัลวรรณกรรมที่ข้าพเจ้าจะขอเสนอต่อไปนี้ ก็เป็นรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติเช่นเดียวกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นหูคุ้นตาคุ้นชินกับชื่อนี้อย่างแน่นอน เพราะเพิ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว แถมยังก่อเกิดในกลุ่มประเทศที่คนไทยเคยมองข้ามความสำคัญและอาจเคยดูถูกเขามาก่อนด้วยซ้ำไป นับแต่นี้ คนไทยน่าจะลงจากหอคอยงาช้างมาเปิดใจกว้าง เปิดอกรับรู้เพราะกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังเพิ่มบทบาทขับเคลื่อนเข้มข้นขึ้นทุกขณะ…
“รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong Award)” ของกลุ่มประเทศอินโดจีน-สามสหายสังคมนิยมที่ร่วมมือกันต่อสู้กับมหาอำนาจฝรั่งเศสและอเมริกามาอย่างโชกโชนจนสำเร็จ ได้แก่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ความจริงหากเดินทวนหนทางกลับไปประมาณเกือบ ๒๐ ปี คำว่า “วรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong Award)” นี้ นายสมคิด สิงสง อดีตประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสานคนแรกได้เคยประกาศว่ากำลังจะผลักดันให้ก่อเกิดขึ้นปรากฏว่ากลุ่มที่จะให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเวลานั้นได้พ้นตำแหน่งอันทรงเกียรติเสียก่อน จึงทำให้เรื่องดังกล่าวเงียบหายไปอย่างน่าเสียดายแต่เมื่อหกปีที่แล้วนี่เอง โดยการนำของสมาคมนักเขียนเวียดนามได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมนักประพันธ์ลาว และสมาคมนักเขียนกัมพูชา จึงได้ก่อเกิดการมอบรางวัลนานาชาติอย่าง “รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง” ขึ้นในปี ๒๕๕๐ (๒๐๐๗) ที่กรุงฮานอยอย่างสง่างาม พื้นฐานความเป็นไปเป็นมา พอสรุปความได้ว่า ปี ๒๐๐๗/๒๕๕๐ สมาคมนักเขียนเวียดนามเป็นเจ้าภาพมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๑ ที่กรุงฮานอย จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๑๐ กันยายน ๒๕๕๐ โดยมีข้อตกลงว่าให้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดมอบรางวัลปีละครั้ง ต่อมาปี ๒๕๕๑ เป็นวาระของสมาคมนักเขียนกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ แต่บังเอิญติดภาระการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ การมอบรางวัลครั้งที่ ๒ จึงเลื่อนไปจัดระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่กรุงพนมเปญ และการมอบรางวัลครั้งที่ ๓ เป็นวาระของสมาคมนักประพันธ์ลาวเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว รวมทั้งมีมติร่วมกันเพิ่มเติมมาว่า ต่อไปจะเลื่อนการจัดมอบรางวัลเป็น ๒ ปีต่อครั้ง
เริ่มครั้งที่ ๔ ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งสมาคมนักเขียนเวียดนามเป็นเจ้าภาพ การคัดสรรวรรณกรรมเพื่อมอบรางวัลนั้นมีหลักเกณฑ์กว้าง ๆ ว่าจะคัดเลือกนักประพันธ์จากผลงาน ๓ ประเภทได้แก่ บทกวีเรื่องสั้น และเรื่องยาว ส่วนรายละเอียดให้ทางสมาคมฯของแต่ละประเทศดำเนินการตัดสินเองซึ่งส่วนมากก็จะได้นักประพันธ์มารับรางวัลปีละ๓-๔ คน พร้อมมีการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งนำเที่ยวและจัดงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์กันอย่างชื่นมื่นด้วย
สำหรับการมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงครั้งที่ ๔ (The Fourth Mekong Award Conference) ทางสมาคมนักเขียนเวียดนามเจ้าภาพ ได้มีมติแจ้งว่า ปีนี้ให้ทุกประเทศนำนักประพันธ์มารับรางวัลชาติละ ๕ คน ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ให้จัดการมาเอง สำหรับสมาคมนักประพันธ์ลาวได้จัดประกวดเป็นประเภทเรื่องยาว ๑ คนเรื่องสั้น ๒ คน และบทกวี ๒ คน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับชน ๓ ชาติ ผลการตัดสิน เป็นดังนี้
๑. พีลาหน่อคำ ดาราสัก จากเรื่องยาวชื่อ “ความหลังยังฝังไว้ที่กัมพูชา”
๒. “พ. พูผาเหนือ” จากเรื่องสั้นชื่อ “ความรัก ความผูกพัน”
๓. บุนเสิน แสงมะนี จากเรื่องสั้นชื่อ “สายเลือดสองแผ่นดิน”
๔. สุขี นรสิลป์ จากบทกวีชื่อ “มนต์เสน่ห์เสียงดันเบา”
๕. สุบัน หลวงลาด จากบทกวีชื่อ “สายโขงสายใจ สายใยมิตรภาพ”
การจัดงานที่เมืองท่าดานัง ภาคกลางตอนล่างของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๔ กันยายน ๒๕๕๕ นั้น มีรายการพิเศษเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ๆ ก็คือ ทางเจ้าภาพได้มีหนังสือเชิญสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมนักเขียนอินเดีย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
คณะนักเขียนไทยนำโดย นายประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และนายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันพร้อมผู้ติดตามอีกหลายคน การประชุมอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ โดยนายเลอกวาง ตรัง (Lê Quang Trang) อุปนายกสมาคมนักเขียนเวียดนาม และนายกสมาคมนักเขียนแห่งเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมครั้งนี้แทนนายฮิวถิ่ง นายกสมาคมนักเขียนเวียดนามซึ่งติดภารกิจสำคัญที่กรุงฮานอย ได้เชิญหัวหน้าคณะทั้ง ๕ ชาติเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือ และในช่วงหนึ่งได้ถามคณะนักเขียนไทยว่าสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีประเทศที่ ๔ ‘รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง’ ด้วยหรือไม่ คุณเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวตอบรับอย่างหนักแน่นว่า “ยินดีเป็นอย่างยิ่ง”
การตอบรับอย่างไม่ลังเลของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้กลายเป็นไฮไลต์ของการประชุมในครั้งนี้ เมื่อนายเลอกวาง ตรัง ประกาศให้ที่ประชุมรับทราบก็ได้รับเสียงปรบมือต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยประเทศไทยจะเริ่มส่งนักเขียนเข้าร่วมรับรางวัลในงานมอบรางวัลครั้งต่อไปทันที อันเป็นการจัดงานประชุมและมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงครั้งที่ ๕ ซึ่งสมาคมนักเขียนกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๕๗ ครั้งที่ ๖ สมาคมนักประพันธ์ลาวเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๕๙ และที่สำคัญคือวาระการจัดงานมอบรางวัลฯครั้งที่ ๗ ในปี ๒๕๖๑ นั้นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจะรับเป็นเจ้าภาพ
โอกาสนี้จึงขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่แวดวงวรรณกรรมไทยจะเปิดกว้างสู่ระดับนานาชาติไปอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคแคบ ๆ แค่เพียงลุ่มแม่น้ำโขงก็ตาม แต่…เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมทางสมาคมนักเขียนเวียดนามจึงไม่ส่งเทียบเชิญประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่เหลืออีก ๒ ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ เพราะน่าจะเป็นก๊วนแม่น้ำโขงเดียวกันมากกว่าประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตามมีข่าวเชิงลึกบอกว่า ได้เชื้อเชิญเหมือนกันแต่ยังไม่มีการตอบรับ
ต่อข้อสังเกตที่ว่า การที่นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันไปตกปากรับคำร่วมก๊วนมานั้น เป็นการโยนเผือกร้อนภาระอันหนักอึ้งให้นายกฯคนต่อไปหรือไม่ ในการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงในปี ๒๕๖๑ คืออีก ๕ ปีที่จะถึง เพราะแม้นายเจน สงสมพันธ์ ได้รับเป็นนายกฯต่อเนื่องอีกสมัยก็เพียงถึงปี ๒๕๕๗ เท่านั้น จึงต้องเป็นภาระของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนต่อไปอย่างแน่นอน ถ้าหากใช้เกณฑ์นักเขียนเข้ารับรางวัลชาติละ ๕ คนเหมือนครั้งนี้ ตกรางวัลละ ๑,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ก็คนละประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาทไทย รวมชาติละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๔ ชาติก็ไม่น้อยกว่า ๖๐๐,๐๐๐ บาทเฉพาะเงินรางวัลค่าจัดงาน ค่ารับรอง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก การต้องหางบประมาณ ๑-๒ ล้านบาทมาจัดงานนั้นถือเป็นเผือกร้อนไหม ?
สำหรับข้าพเจ้าแล้วเห็นว่า เป็นเกียรติอันสูงส่ง เป็นความท้าทายและความภาคภูมิใจให้แก่ชนชาติไทยผู้เป็นต้นกำเนิดอาเซียนยิ่งนัก ด้วยงบประมาณเพียงเล็กน้อยนี้ (เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการใหญ่ ๆ ในกระแสอาเซียน) ย่อมหาเจ้าภาพบริษัทเอกชนมาร่วมลงขันได้ไม่ยากอย่างแน่นอน อาจแย่งกันเข้ามาอุปถัมภ์เสียด้วยซ้ำไปเพราะ ๓ เสาหลักอันได้แก่ ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรมนั้น วรรณกรรมสำคัญสำหรับเสาสังคม-วัฒนธรรมไม่น้อยเลย จะว่าไปแล้ววรรณกรรมสามารถสื่อสารเพื่อความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงเสาหลักทั้งสามนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสื่ออื่น ๆ ด้วยซ้ำ
นี่คือการจารึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งแห่งสายน้ำโขง ซึ่งมีเรื่องเล่าอลังการที่น่าสนใจไม่แพ้ลุ่มน้ำใด ๆ ในโลก และวาดหวังว่า จะมีเจ้าภาพการจัดประชุม สัมมนาและมอบรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงในวาระใดวาระหนึ่งในอนาคต ที่สามารถผสานความร่วมมือแห่งวัฒนธรรมมิติวรรณกรรมของกลุ่มก๊วน ๖ ประเทศแห่งลุ่มแม่น้ำโขงนี้ได้สำเร็จ อันอาจเป็นปัจจัยทำให้แก้ปัญหาการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงที่พะรุงพะรังในปัจจุบันนี้คลี่คลายไปในเชิงสร้างสรรค์ได้ในอนาคต.