ประวัติศาสตร์บางหน้า ก่อนมีภาคอีสานของไทย

ประวัติศาสตร์บางหน้า ก่อนมีภาคอีสานของไทย

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เดินทวนหนทาง
Column: Back to the Root
ผู้เขียน: สมคิด สิงสง


All the above is elaborated in order to connect to Lan Xang in the reign of Khun Law, the eldest son of Khun Borom. This Khun Law is regarded as the fi rst king of the Lan Xang kingdom, which ruled Chiang Thong City for as long as 22 reigns in more than 500 years before the King Ngum Fa Lah of the Sri Sattana Kanahut kingdom extended his infl uence over both sides of the Mekong river and ascended the throne in the year 715 according to Thai Minor Era (1353 A.D. or 1896 B.E.)

 

ถ้าไม่ใช่คนที่มีประวัติศาสตร์ทางเชื้อชาติเป็นลาว หลายคนอาจจะหงุดหงิดที่เห็นผมพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติลาวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องเส้นกั้นพรมแดนตั้งแต่สมัย สมเด็จเจ้าฟ้างุ่มฟ้าหล้าธรณีศรีสัตนาคนหุต ที่ว่าเขตแดนลาวมีเทือกภูพญาเย็นเป็นเส้นกั้น

เจ้าฟ้างุ่มที่ว่านี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของวรรณคดีโบราณเรื่อง “จำปาสี่ต้น” เพราะมีเรื่องการถูกลอยแพในลำแม่น้ำโขง เหมือนอย่างในวรรณคดีเรื่องดังกล่าว ?

ผลงานของ มหาสิลา วีระวงส์ อีกแล้วครับ !

“ปวัดสาดลาวแต่บูรานเถิง ๑๙๔๖” หรือเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณจนถึง ค.ศ.๑๙๔๖ (หรือ พ.ศ.๒๔๘๙) “พิมพ์ครั้งที่ ๓ โดยหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม สปป.ลาว เมื่อปี ๒๐๐๑ (พ.ศ.๒๕๔๔)

ก่อนถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ่ม ประวัติศาสตร์ลาวแต่โบราณฯ กล่าวว่า “พวกอ้ายลาว ตั้งหลักฐานอยู่ดินแดนระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำยั้งจื้อ (แยงซีเกียง) อันเป็นอาณาจักรของจีนเดี๋ยวนี้ พวกอ้ายลาวทำมาหากินด้วยการกสิกรรม…” มีมาก่อนพุทธศักราช ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว

คำว่า “ลาว” เป็นมาอย่างไร ค่อยว่ากันทีหลังเพราะเป็นเรื่องยาว

จับความเอายุคสมัยที่จีนแบ่งออกเป็น ๓ ก๊ก มีก๊กโจโฉ ก๊กเล่าปี่ และก๊กซุนกวน รบราฆ่าฟันแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน พวกอ้ายลาวที่เคยอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำแยงซีเกียงมาช้านานหลายพันปี และถอยร่นลงมาอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้โอกาสที่จีนรบรากันอยู่นั้นสร้างอาณาจักรบ้านเมืองของตนขึ้นถึง ๖ เมือง โดยมีเมือง น้งเส หรือ หนองแส เป็นเมืองหลวง

หนองแสเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำโขงในเขตมณฑลยูนนานของจีนปัจจุบัน แต่โบราณคนลาวเรียกหนองน้ำนี้ว่าหนองแส หรือหนองกระแสแสนย่าน จีนเรียกตาลีฟู

บ้านเมืองบริเวณนี้นี่ล่ะ เขาเรียกว่า “อาณาจักรลาวหนองแส หรือน่านเจ้า” ซึ่งมีประวัติศาสตร์การปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันมาหลายร้อยปี บางช่วงตกเป็นเมืองขึ้นของจีน และบางช่วงเป็นรัฐเอกราช

ล่วงมาถึงยุคสมัยขุนบรมราชาธิราช หรือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ลาวผู้กล้าหาญทรงชำนาญในการสงครามอย่างยอดยิ่ง ได้ทรงแผ่อาณาเขตลาวหนองแสให้กว้างขวางที่สุด เสวยราชสมบัติในนครหนองแสเมื่อปี พ.ศ. ๑๒๗๒ (ค.ศ.๗๒๙) เมื่อมีพระชนมายุ ๓๒ ปี โปรดดูภาพแผนที่ประกอบ ซึ่งแสดงรัฐต่าง ๆ ในแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๘ มีรัฐน่านเจ้า ปะยุ เจนละบก เจนละน้ำ ทวารวดี จามปา(หนังสือประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณฯ อ้างจาก Southeast Asia, Charles A. Fisher, London METHUEN, 1969)


ที่ร่ายยาวมาข้างต้นเพื่อเชื่อมโยงมาถึงเมืองล้านช้างในยุคสมัย ขุนลอ โอรสองค์ใหญ่ของขุนบรมฯ และถือว่าเจ้าขุนลอพระองค์นี้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ผู้ครองนครเชียงทองสืบต่อกันมาถึง ๒๒ รัชกาล เป็นระยะเวลากว่า ๕๐๐ ปี ก่อนจะถึงรัชสมัยของสมเด็จเจ้าฟ้างุ่มฟ้าหล้าธรณีศรีสัตนาคนหุต ผู้ทรงแผ่พระบารมีเหนือเขตน้ำแดนดินโขงสองฝั่ง และขึ้นเสวยราชย์ในปีมะเส็ง จุลศักราช ๗๑๕ (ตรงกับ ค.ศ.๑๓๕๓ หรือ พ.ศ. ๑๘๙๖)

มหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ลาวผู้มีปิตุภูมิอยู่ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่จะไปพำนักและรับราชการอยู่ในลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้บันทึกประวัติศาสตร์ลาวฯ ในบทที่ว่าด้วย “รัชกาลพระเจ้าฟ้างุ่ม” พอสรุปความได้ดังนี้

เจ้าฟ้างุ่มเกิดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ (บางฉบับว่า ค.ศ. ๑๓๑๖ หรือ ๑๓๒๘) เป็นโอรสองค์สุดท้าย ๑ ใน ๔ องค์ (หญิง ๒ ชาย ๒) ของเจ้าฟ้าเงี้ยว หรือ ขุนผีฟ้า เวลาประสูติออกมามีฟันเกิดมาพร้อม ๓๓ ซี่ เป็นเหตุให้อำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายเกรงจะเป็นเสนียดแก่บ้านเมือง จึงทูลให้พระราชบิดาเนรเทศพระราชโอรสด้วยการลอยแพล่องไปตามลำแม่น้ำโขง

ขุนผีฟ้าขัดขืนคำชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้ จึงตัดสินใจให้เอาราชกุมารลงแพล่องแม่น้ำโขงพร้อมด้วยพ่อเลี้ยงแม่นมและบริวารรวม ๓๓ คนแพไหลไปตามลำน้ำโขงได้ปีหนึ่งจึงไปถึงหลี่ผี เวลานั้นมีพระภิกษุชาวเขมรองค์หนึ่งนามว่ามหาปาสะมันตะเถระ วัดคูหา ใกล้หัวหาดหลี่ผี ได้เห็นแพที่ล่องมาจอดและทราบว่าเป็นโอรสกษัตริย์จึงเอาไปเลี้ยงดู และสั่งสอนวิชาความรู้ จนพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๖-๗ ปี จึงเอาไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเขมรที่พระนครหลวง (คือนครธมปัจจุบัน)

“พระกุมารฟ้างุ่มประทับอยู่ในพระราชวังพระเจ้าแผ่นดินเขมร ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆเฉกเช่นเดียวกันกับพระกุมารเขมรทั้งหลายจนชำนาญ พระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงเห็นความฉลาดสามารถหลักแหลมของพระเจ้าฟ้างุ่ม จึงได้มอบพระราชธิดา ผู้มีนามว่านางแก้วเก็งยาให้เป็นพระเทวี โดยพระองค์มีพระประสงค์จะผูกไมตรีกับชนชาติลาวไว้ และท้าวฟ้างุ่มก็ประทับอยู่ที่นั่นจนพระชนม์ได้ ๓๓ ปี

ในระหว่างปี ค.ศ.๑๓๔๓ (พ.ศ.๑๘๘๖) เจ้าฟ้าเงี้ยวบิดาของเจ้าฟ้างุ่มเสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญเอาเจ้าคำเรียวพระอนุชาให้ขึ้นเสวยราชย์แทน ฝ่ายเจ้าฟ้างุ่มที่ประทับอยู่เมืองเขมร เมื่อทราบว่าพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว และผู้เป็นอาว์ได้ครองเมืองแทน จึงทูลขอเอากองทัพเขมรยกขึ้นมาตีเอาเมืองลาว…

การที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรมีความเมตตาเลี้ยงดูพระเจ้าฟ้างุ่มไว้ จนถึงขั้นพระราชทานพระธิดาให้เป็นเทวีและมอบกองทัพให้นั้นเนื่องจากในเวลานั้นประเทศเขมรกำลังประสบภัยจากการโจมตีของสุโขทัย ทั้งเขมรเองก็กำลังอ่อนอำนาจลง เมื่อก่อนสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นของเขมร ก็ได้แยกออกเป็นเอกราชโดยเด็ดขาด โดยอำนาจของขุนผาเมืองและขุนบางกางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ในปี ค.ศ. ๑๒๕๗-๑๒๘๒ (พ.ศ.๑๘๐๐-๑๘๒๕) พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยก็ได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยชิงเอาแดนดินของเขมรได้หลายเมืองในทางตะวันออก ตั้งแต่เมืองสระหลวงคือเมืองสองแคว ลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ดและโคราช…”

ถึงปี ค.ศ. ๑๓๔๙ (พ.ศ. ๑๘๙๒) เจ้าฟ้างุ่มกับนางแก้วเก็งยาก็กราบทูลลาพระเจ้าแผ่นดินเขมรยกทัพขึ้นมาประเทศลาว ตีเอาหัวเมืองใหญ่น้อยระหว่างทาง และจัดระบบบริหารราชการให้แก่บ้านเมืองเหล่านั้น พร้อมกำหนดให้ส่งส่วยบรรณาการด้วยทรัพย์สินไพร่พล

ฝ่ายพระยาเจ็ดเจืองผู้เป็นเจ้าเมืองพวนเชียงขวาง ครั้นได้ทราบข่าวว่ากองทัพของเจ้าฟ้างุ่มตีเมืองพระน้ำฮุ่งได้ก็มีความหวาดกลัวในเดชานุภาพเป็นอันมาก จึงแต่งให้ทูตถือราชสาส์นลงมาอ่อนน้อม ใจความในพระราชสาส์นนั้นมีว่า…

“ผู้ข้านี้ เป็นหลานเป็นเหลนเชื้อแถวขุนบรมราชาธิราชเจ้าและทั้งขุนลอมาแต่โบราณ เป็นการดีแล้วครั้งนี้พระยาฟ้าจักไปปราบบ้านปราบเมืองที่ใดก็ดี ข้าจักแต่งรี้พล ไปช่วยไปเติมทุกแห่งหนแล…”

พระเจ้าฟ้างุ่มได้ทราบดั่งนั้นก็มีพระทัยโสมนัสจึงมีพระราชอาชญาตอบคืนไปว่า “พี่น้องเรายังคิดถึงเราก็ดีแล้ว บ้านเมืองของหลานเรากับน้องเราแต่ก่อนที่ใดก็ดี ให้ไว้แก่น้องเราเถอะ เครื่องศึก เครื่องใช้ เครื่องเหล็กอันใดก็ดีเราหากจักรับเอาไว้ด้วยความยินดี อันหนึ่ง บ้านเมืองที่เราปราบได้ ตั้งแต่เมืองซ้า เมืองม่วน ก็ให้มาไหว้แก่น้องเรา…”

ครั้นทรงมีพระราชอาชญาไปดั่งนั้นแล้ว ก็ตรัสสั่งให้เจ้าเมืองพวนเกณฑ์กองทัพเข้าสมทบ ยกไปตีเอาหัวเมืองเขตแดนของประเทศแกว (หมายถึงเวียดนาม) ได้ ๓ เมืองในปี พ.ศ.๑๘๙๔ ฝ่ายเจ้าแผ่นดินประเทศแกวได้ทรงทราบข่าวดังนั้น มีความหวาดกลัวในอานุภาพของพระเจ้าฟ้างุ่มเป็นอันมาก จึงแต่งราชบรรณาการมาถวายพร้อมกับส่งทูตมาเจรจา ตกลงแบ่งปันเขตแดนประเทศทั้งสองตามหลักธรรมชาติ ภูมิประเทศและวัฒนธรรมทางเชื้อชาติประเพณีดังนี้

๑. พลเมืองที่อยู่เฮือนมีฮ้าน กว้านมีเสา (คือเรือนยกพื้น) ให้เป็นพลเมืองลาว

๒. เขตแดนประเทศลาวนั้น ให้นับแต่ต้นส้านสามหง่า ไปถึงน้ำม้าสามแถว หรือ หินสามเส้าไปถึงน้ำเต้าสามแถว

๓. หลักการแบ่งเขตนั้น ให้ถือเอาตามสันภูน้ำแบ่ง คือฝนตกน้ำไหลลงมาสู่ประเทศลาวบ่อนใดให้ถือเอาบ่อนนั้นเป็นเขตแดน ถ้าไหลไปทางเมืองแกว ก็ให้เป็นดินของแกว

นับแต่นั้นมาเทือกเขาที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างลาวกับเวียดนามจึงได้ชื่อว่า “เทือกเขาแดนแกว”

เช่นเดียวกันกับเทือกเขาเพชรบูรณ์ นับแต่ดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ภูพญาฝ่อก็ได้ชื่อว่าเทือกเขาแดนลาว… เรื่องเป็นมาอย่างไร “เดินทวนหนทาง” จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป

Related Posts

(กลอนไขผญา) ลิง
ฮีตคอง แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน
อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ผู้เปิดดินแดนอินโดจีนสู่สังคมโลก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com