จากกรรมกรสู่คอลัมนิสต์ นักเขียน ป.๔ “เสรี ทัศนศิลป์”

จากกรรมกรสู่คอลัมนิสต์ นักเขียน ป.๔ “เสรี ทัศนศิลป์”

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: คนบนที่ราบสูง
Column: People of the Plateau
ผู้เขียน: แดง ชบาบาน


ในบรรดานักเขียนอีสานที่มีผลงานการเขียนกวีโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งได้เลื่อนขั้นไปเป็นบรรณาธิการคัดสรรบทกวีให้นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ในคอลัมน์ “กวีทรรศน์” และได้รับการยอมรับจากบรรดากวีนักเขียนน้อยใหญ่ที่เพียรส่งผลงานมาให้พิจารณาลงตีพิมพ์ สำหรับกวีมือใหม่บางคนผ่านเกิด บางคนผ่านดับลงตะกร้า แต่ความมุ่งมั่นหลายคนก็ยังมีอยู่เพราะดีกรีของบรรณาธิการคัดสรรบทกวีอย่าง “เคี่ยว โคมคำ” หรือ “เสรี ทัศนศิลป์” หรือนามจริง “สุนันท์ พันธุ์ศรี” ยังคงท้าทายให้บรรดากวีนักเขียนน้อยใหญ่ฝันจะได้มีผลงานตีพิมพ์ในสนามแห่งนี้

สำหรับ “เสรี ทัศนศิลป์” หรือ ลุงเสฯ ตามที่นักเขียนรุ่นน้องรุ่นหลานเรียกขาน โดยส่วนตัวฉันและเขารู้จักกันมานมนาน เหตุเพราะเป็นคนเมืองร้อยเอ็ดบ้านเดียวกัน แต่เพิ่งมาเจอะเจอกันบนถนนสายวรรณกรรมเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีก่อน ความเป็นพี่น้องของเราเข้มข้นนัก ตัวฉันเองให้ความเคารพนับถือลุงเสฯ หรือพี่เสรีทั้งในด้านฝีมือการแต่งกลอน ฝีมือการเป็นนักต่อสู้ ที่แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือในระดับสถาบันสูง ๆ เหมือนคนอื่น แต่ความวิริยะอุตสาหะของเขานั้น ทำเอาฉันอึ้งและทึ่งจริง ๆ เมื่อหลายปีก่อนเขาเคยมีผลงานรวมบทกวีมาแล้ว ๒ เล่มชื่อ “ดอกหญ้าของแผ่นดิน” และ “พายุฝุ่น” ช่วงนั้น “ขจรฤทธิ์ รักษา” บรรณาธิการและเจ้าของนิตยสารวรรณกรรม Writer Magazine ได้สัมภาษณ์ความเป็นมาลงตีพิมพ์ และตั้งฉายาให้เป็น “กวีกรรมาชีพ”

เขาบอกอย่างไม่เคยอายใครว่า เขาจบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากบ้านเกิดอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด จับพลัดจับผลูเข้ามาเป็นกรรมกรลูกจ้างในโรงงานรองเท้า และขยับฐานะเป็นเจ้าของธุรกิจ ปัจจุบันเขามีโรงงานทำรองเท้าเล็ก ๆ แบบอุตสาหกรรมในครอบครัวเป็นของตัวเอง มีลูกน้องบริวารร่วมงานกว่า ๒๐ ชีวิต และลูก ๆ อีก ๒ คน ที่ต้องดูแลร่วมกันกับภรรยา

เขาเคยเรียนภาษาอังกฤษจากสถาบันที่มีชื่อเสียง British and American ที่กรุงเทพฯ แต่สอบไม่ผ่านหลายคอร์สเพราะไม่ค่อยมีเวลาไปเรียน จึงมุ่งมั่นฝึกฝนพูดอ่านเขียนอังกฤษด้วยตนเองที่บ้านมาโดยตลอด เคยฝึกหัดแปลบทกวีโพสต์ลงในเว็บบล็อกและ Facebook ของตนเองบ่อยครั้ง อีกทั้งยังได้แปลอัตชีวประวัติของกวีคลาสสิกชาวตะวันตกดัง ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ เป็นตอนสั้น ๆ ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ “กวีทรรศน์” ที่เขาเขียนอยู่อีกด้วยถามถึงแรงบันดาลใจในการมาเป็นนักเขียนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะหากจะมองในมุมของเขาแล้ว จากกรรมกรมาเป็นเจ้าของธุรกิจโรงงานขนาดย่อม แต่ละนาทีในหน้าที่ผู้บริหารจัดการไม่น่ามีเวลาไหนว่างพอจะมาอ่านหนังสือหรือจับปากกาเขียนหนังสือได้

เจ้าตัวไขความในใจว่า “แรงบันดาลใจมีหลายส่วน สิ่งแรกคือเป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน และนี่ถือเป็นเรื่องหลักของคนที่เป็นนักเขียน การอ่านคือวัตถุดิบเสริมสร้างจินตนาการและประสบการณ์ชีวิตให้คนเรา ไม่ว่าจะจบจากไหนไม่สำคัญ ถ้าเรามีนิสัยรักการอ่านก็เหมือนกับเราได้เปิดประตูสู่เสรีภาพทางความคิด เพราะเชื่อว่าหนังสือคือยารักษาโรค คือยาละลายพิษความโง่เขลา หนังสือคือเงาอารยะทางปัญญา หนังสือจึงสร้างคุณค่าชีวิตคน ผมเชื่ออย่างนี้นะครับ การศึกษาสถาบันจะจบต่ำจบสูงชั้นไหน ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้า เราก็เรียนรู้ทันกันได้

“ส่วนการสร้างนิสัยรักการอ่าน แรก ๆ ผมเลือกอ่านหนังสือง่าย ๆ ก่อน เนื่องจากไม่มีพื้นความรู้ที่ดีเหมือนคนอื่น ๆ เพราะพื้นฐานของผมเรียนจบแค่ ป.๔ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับสมัยนั้น จบแล้วก็เข้ามาเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณสัก ๔๐ กว่าปีก่อน คือตอนที่ผมมีอายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น ผมรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่คิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่พลัดพรากจากมา มันเลยเกิดความรู้สึกเหงา ๆ วันหยุดงานประจำสัปดาห์บางครั้งไม่ไปไหนจึงอยู่แต่ในห้องเช่าเล็ก ๆ แคบ ๆ มีวิทยุทรานซิสเตอร์และมีหนังสือเป็นเพื่อน เคยซื้อหนังสือชื่อเรื่องดี ๆ เนื้อหาน่าสนใจแนวหนัก ๆ มาอ่านก็ไม่เข้าใจ ก็พยายามอ่านหนังสือง่าย ๆ อย่างเช่นหนังสือศาลาคนเศร้า หนังสือพิมพ์รายวัน อ่านข่าวสารบ้านเมืองและบันเทิงเริมรมย์ไปเรื่อยหลังจากนั้นอ่านหนังสือมากขึ้น ๆ มันก็เป็นการสั่งสมประสบการณ์จากภายนอก ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เมื่อเราสามารถที่จะรับสื่อปัญหาต่าง ๆ จากภายนอกได้ ภายในก็จะรับไปกลั่นกรองออกมาอีกทีหนึ่ง โดยผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เห็นภาพปัญหาชัดเจนขึ้น จากนั้นก็มีการตั้งสมมุติฐานในองค์รวมถึงที่มาที่ไปของมันทำให้รู้สึกสนุกท้าทายในโลกของการเรียนรู้ที่ดีตรงนี้แหละครับคือแรงบันดาลใจ พอมีความรู้ขึ้นมาก็อยากจะพูดอยากจะคุย ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรารู้ เมื่อได้พูดได้คุยกับเพื่อน ๆ ที่เป็นกรรมกรด้วยกัน เขาก็หาว่าผมเป็นคนเพ้อเจ้อพูดในสิ่งที่เกินตัวเอง พออ่านมากขึ้นมันก็เลยทำให้เรารู้สึกอยากจะเขียนอะไรสักอย่าง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นออกมา

“เริ่มต้นผมใช้วิธีการจดบันทึกในสมุดไดอารี่เขียนไปเรื่อย จดไปเรื่อย หลังจากนั้นมาก็เจอคอลัมน์ที่ชอบก็นำมาเรียบเรียงใหม่ส่งไปบ้าง แต่ก็ล้มเหลวไม่ได้รับการตีพิมพ์เลยสักครั้ง แต่ผมก็ไม่ท้อครับ กลับดีที่เป็นแรงผลักให้ผมได้ค้นพบจุดด้อยของตนเองมากขึ้น เพราะจริง ๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นนักเขียนอะไรหรอก คิดเพียงว่าอยากจะระบายความรู้สึกจากภายในของเราที่มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว พออ่านมากขึ้นศึกษามากขึ้น ประสบการณ์ก็นำพาไปสู่ความคิดเชิงวิเคราะห์ในเรื่องราวของสังคมของบ้านเมืองตามมา ถึงตรงนี้วุฒิภาวะของการอ่านมันก็จะมีการยกระดับขึ้น ถ้าความรู้เปรียบเป็นหลอดไฟกลม ๆ สว่างจ้าอยู่ไกล ๆ เมื่อเราเดินเข้าไปหามันใกล้ ๆ แทนที่มันจะสว่างขึ้นกลับริบหรี่ลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งใกล้เข้าไปอีกพลังไฟในหลอด ๑๐๐ แรงเทียน หรือ ๑๐๐ วัตต์ยิ่งเลือนราง นี่พูดแบบมีนัยยะนะครับ หมายความว่าที่เราคิดว่าเรารู้มากขึ้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่ คือยิ่งเรียนรู้มากก็รู้สึกว่าตัวยิ่งโง่มากเพราะยังมีอีกมากมายหลายสิ่งในโลกอันสลับซับซ้อนที่เรายังไม่รู้ มันท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา จากความกระหายใคร่รู้ที่เป็นนิสัยตรงนี้แหละ มันได้กลายเป็นเชื้อฟืนไฟปะทุแรงฝันใฝ่ขึ้นมา ดังนั้นการอ่านมันจึงเป็นเหมือนสะพานที่นำเราเดินทางไปสู่โลกกว้างมากขึ้น

“ตอนแรก ๆ ก่อนได้เขียนบทความ บทกวีและมาเป็นคอลัมนิสต์เล็ก ๆ ผมจะเป็นนักเขียนจดหมายก่อน ช่วงที่เป็นวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี สังคมวัยรุ่นในสมัยนั้นจะแตกต่างกับวัยรุ่นในปัจจุบัน เพราะว่าสังคมสมัยนั้นกำลังตกอยู่ในห้วงของเหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ บ้านเมืองกำลังเกิดความโกลาหลในเรื่องของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการทลายกำแพงทางชนชั้นที่มีอยู่อย่างกว้างขวางในสังคมต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ปกปิดหูตาประชาชนและลุแก่อำนาจ วัยรุ่นยุคนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลามารื่นรมย์สนุกสนานมากนัก ด้วยกระแสข่าวบ้านเมืองที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน มันเป็นตัวที่กระตุ้นบอกให้เห็นถึงความความโศกเศร้าสูญเสียอย่างรุนแรงของประเทศชาติ ตรงนี้เองมันจึงทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง จากที่เคยอ่านแต่หนังสือง่าย ๆ ก็มาอ่านหนังสือที่มันค่อนข้างยากมากขึ้น ทั้งแนวสังคม ปรัชญา และการเมือง บางครั้งก็ดูเหมือนเราอ่านแล้วไม่เข้าใจดีนัก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเราติดตามข่าวสารเรื่อย ๆ เราก็มีความสามารถเข้าอกเข้าใจปัญหาที่มันเกิดขึ้นว่าต้นเหตุที่แท้จริงนั้นมันมาจากอะไรเมื่อมีผลก็ต้องมีเหตุแห่งที่มา มันก็เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้จุดประกายขึ้นมา อยากจะเขียนงานของตนเองในหน้าหนังสืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง นิตยสารการเมืองที่เป็นสนามความคิดอิสระไม่เกรงกลัวต่ออำนาจอธรรมสมัยนั้นก็มีอยู่เพียงไม่กี่เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะถูกครอบงำกดทับโดยอำนาจรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ

“การแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นถือว่าอันตราย นักเขียนหลายคนจึงใช้นามแฝงหรือนามปากกา สมัยนั้นหากคน ๖-๗ คนนั่งคุยเรื่องการเมืองก็จะถูกจับไปคุมขังคดีซ่องสุมทางการเมือง สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอนอย่างหนักหน่วง ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ใช้เสรีภาพกันได้จนเตลิดเปิดเปิง ผมสะท้อนความคิดในรูปจดหมายถึงบรรณาธิการตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารการเมืองต่าง ๆ ได้รับการตีพิมพ์แทบทุกฉบับจนเป็นที่รู้จักดีในหมู่เพื่อนนักอ่าน นามที่ใช้เขียนจดหมายด้วยลายมือคือ สืบแสง สกุลราษฎร์, ภูติ ภูษิต, วลัญชน์ คันฉาย, สายบัว บึงบ้านทุ่ง และ นามอื่น ๆ อีก ต่อมาผมก็มาใช้นามแฝงอีกนามคือ เสรี ทัศนศิลป์ เมื่อได้อ่านบทกวีการเมืองของพวกพี่ ๆ หลายคนก็เกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนบทกวีบ้าง ก่อนที่จะมาเขียนบทกวีจริงจัง ผมประสบความสำเร็จในการเขียนจดหมาย แล้วขยับขึ้นมาเขียนบทความทางการเมืองลงในหนังสือมาตุภูมิรายวัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองรายที่นำเสนอข่าวสารแรง ๆ ออกไปทางซ้าย ๆ แนวสังคมนิยม มีคุณชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ คนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นบรรณาธิการบริหาร ก็ได้รับการตอบรับที่ดีครับ นับว่าเป็นพื้นที่ให้ผมได้แสดงทัศนะทางการเมืองอย่างเต็มที่

“แรก ๆ ผมเรียนรู้การเขียนบทกวีการเมืองจากรุ่นพี่อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ คมทวน คันธนู ท่านแรกแม้เขียนเรื่องหวาน ๆ ด้วยภาษาอารมณ์โรแมนติกอ่อนโยนในรวมเล่มบทกวีชื่อ คำหยาด ถ้าอ่านให้ดี ๆ ก็จะเห็นภาพสะท้อนที่มีแนวคิดต่างแบบขบถอยู่ลึก ๆ ที่ตอบโต้สังคมและการเมืองกระแสเก่า ในบทกวีในชุด ข้างคลองคันนายาว และก็อีก ๒ เล่มของพี่เนาว์ที่น่าสนใจเช่น เพียงความเคลื่อนไหว, วันฆ่านกพิราบ ส่วนนาฏกรรมบนลานกว้าง ของพี่หน่อยหรือ คมทวน คันธนู ก็ถือเป็นกบฏแห่งกวีนิพนธ์ที่โดนใจสุด ๆ ในครั้งนั้น ส่วนของ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ชุดลำนำภูกระดึง และ ปณิธานกวี ๒ เล่มนี้มีเอกลักษณ์อีกแบบ เป็นงานแนวปรัชญาที่ไม่มุ่งเน้นเรื่องการสัมผัสสระพยัญชนะ แต่เน้นสัมผัสความหมายความคิดที่เต็มไปด้วยมโนคติ หรือ imagination สูงมาก เล่ม ใบไม้ที่หายไป ของจีรนันท์ พิตรปรีชา ก็ชอบครับ อ่อนโยนพลิ้วไหวมีพลัง ให้กำลังใจการต่อสู้ได้ดี ผมว่าบทกวีที่สะท้อนมุมคิดทางการเมืองออกมาสู่สังคมภายนอกในบางครั้งมันไม่ต้องแสดงออกมาตรง ๆ ก็ได้ แต่อาศัยชั้นเชิงศิลปะที่มีวรรณศิลป์เป็นตัวช่วยตัวเชื่อม เป็นตัวสร้าง เป็นตัวจรรโลงความเข้าใจกับผู้คนในสังคมได้ อันนี้คือเสน่ห์ของกวีนิพนธ์ เพราะงานศิลปะคือความอ่อนโยนที่ทรงพลัง อ่านงานของท่านเหล่านี้แล้วเกิดความคิดอยากจะเขียนบทกวีบ้าง จึงไปหาซื้อหนังสือตำราฉันทลักษณ์มือสองราคาถูกตามแผงหนังสือสนามหลวงสมัยนั้นมาอ่านค้นคว้าอย่างจริงจัง จากนั้นก็ลงมือเขียนส่งเรื่อย ๆ เป็นร้อย ๆ ชิ้นก็ไม่ได้ลงตีพิมพ์ คงจะเป็นเพราะว่าการใช้ภาษา การดำเนินเรื่องอะไรต่าง ๆ พวกนี้อาจจะยังไม่ลงตัว หลังจากพยายามอยู่นานจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับ บทกวีของผมได้รับการตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ

“สำหรับผม ประสบการณ์ตรงถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ บางครั้งความรู้ที่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบห้องเล็กแคบของการศึกษาวิชาการตามโรงเรียน ตามมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ผมถือว่าเป็นการปูพื้นฐานที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเดินออกมาหาประสบการณ์ตรง เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในโลกของความเป็นจริง จะสังเกตได้ว่านักศึกษายุคก่อน ๆ หลายท่านที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นนักคิดนักเขียนนักวิชาการชื่อดังในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีความรอบรู้ในเรื่องของทฤษฎีวิชาการมาก่อน ท่านเหล่านั้นก็ยังออกมาสัมผัสกับประสบการณ์ตรงโดยออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ชีวิตของผมช่วงนั้นมันเกิดความพลิกผันขึ้นเองเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ทำให้นิสิตนักศึกษา และประชาชนสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อและล้มตายจำนวนมากการเมืองคาบเกี่ยวมาถึงปี ๒๕๑๙ ก็เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมืองเป็นครั้งที่ ๒ และยิ่งใหญ่มากเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ถือเป็นด่านแรก เป็นบันไดแรกที่ทำให้สังคมไทยได้หลุดพ้นจากการครอบงำของอำนาจรัฐในยุคก่อน กวีนักคิดนักเขียน นักวิชาการ ซึ่งเคยถูกบีบบังคับให้อยู่ในมุมมืดอับ ก็ได้โผล่ออกมาแสดงตัว แสดงความคิด แสดงโลกทัศน์ ตรงนี้ส่งผลถึงผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัยอย่างชาวบ้านทั่ว ๆ ไปให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการเมืองในยุคใหม่มากขึ้น ประสบการณ์ที่ว่านี้ทำให้วิถีชีวิตของผมเปลี่ยนไปมากทีเดียว

“ส่วนในเรื่องการเขียนบทกวี ผมคิดว่าการศึกษาในเรื่องฉันทลักษณ์วิทยาตามแนวทางของฉันทลักษณ์ศาสตร์ ที่ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสอนมานั้น ผมว่าเป็นพื้นฐานที่ดีครับโดยเฉพาะคนที่เรียนด้านอักษรศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยมาโดยตรงย่อมมีข้อได้เปรียบ เพราะมีภูมิรู้ด้านภาษาไทยดี ถือว่าเขามีเครื่องมือที่ดีในเรื่อง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจบด้านนี้มาจะเขียนบทกวีดี ๆ ได้เสมอไป การสอนให้คนมีความรู้เข้าใจโครงสร้างของการเขียนบทกวีสอนกันได้ แต่ความเป็นกวีนี่คงเป็นเรื่องลำบาก มันสอนกันไม่ได้ครับ เพราะว่าทุกคนมีวัตถุดิบหรือฟืนเพื่อจุดไฟจินตนาการและความฝันใฝ่ของตนเองต่างกัน ในเรื่องของประสบการณ์ส่วนลึกทางปัจเจกแต่ละคนก็มีที่มาที่ไปต่างกัน ก่อนจะเป็นนักเขียนต้องถามใจตัวเองดูก่อนว่าคุณอยากจะเป็นนักเขียนประเภทไหน เช่นนวนิยาย บทกวี หรือเรื่องสั้น ถ้าสนใจประเภทไหนแนวไหนก็จงอ่านอย่างนั้นให้แตกฉาน และศึกษาค้นคว้าแบบวรรณวิจักษ์เพื่อเข้าถึงแก่นแกนของมัน

“ผมเป็นคนที่ชอบอ่านบทกวีนิพนธ์มากกว่าอย่างอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่อ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้น หรืองานแนวอื่น ๆ ผมอ่านงานเขียนหลายประเภท ทั้งของคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ แต่ที่ชอบอ่านมากคือบทกวี ศิลปะท้องถิ่นอีสานมีส่วนเป็นแรงดลใจผมเยอะ สมัยเด็ก ๆ แม่ผมชอบท่องกลอนให้ลูก ๆ ฟัง พี่ชายผมคนที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นพระเอกหมอลำ พี่สะใภ้เป็นนางเอก เขาไปเล่นที่ไหนผมก็ตามไปดู นั่นคือศิลปะการแสดงของคนบ้านทุ่งเรา เป็นกลิ่นอายของความเป็นชนบททางภาคอีสาน หมอลำนี่เป็นเสน่ห์ของการสื่อสารวรรณคดีที่งดงามถึงชาวบ้านคนถิ่นอีสาน ต่อมาพอผมมาอ่านหนังสือพวกกาพย์กลอนมันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดปัญหามากนักในเรื่องของการสัมผัสใจ แต่ปัญหาของผมมันอยู่ที่ว่า พอเราจะมาเขียนคำอะไรที่มันยาก ๆ นี่ดูเหมือนว่าผมจะไม่แตกฉาน เนื่องจากมีความรู้น้อยในเรื่องของภาษาศาสตร์ เมื่อผมรู้ว่าเรามีปมด้อยจุดไหนผมก็มักจะฝึกฝนตัวเองตรงนั้น เช่น ในเรื่องของการใช้ภาษาผิดที่ทางผิดความหมายหรือสะกดคำผิด ก็ขยันเปิดพจนานุกรม เล่มหนา ๆ ผมก็ซื้อมาตั้งหลายเล่มของหลายสำนัก เอามานั่งอ่านศึกษาเรียนรู้ ทั้งที่เป็นภาษาเก่าภาษาใหม่ หลังจากนั้นก็ทำให้ผมสามารถที่จะอ่านบทกวียาก ๆ ของเจ้าฟ้ากุ้งหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ สมัยกรุงศรีอยุธยาได้

“อ่านบทกวีท่านสุนทรภู่และท่านอื่น ๆ มากเข้า ๆ ก็เกิดความประทับใจ เกิดความรื่นรมย์ในบทกวี ต่อมาก็อ่านบทกวีต่างชาติที่แปลเป็นไทยเล่มแรกที่อ่านคือ รุไบยาต ของ โอมาร์ คัยยัม กวีชาวเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่แปลโดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แล้วมาอ่านสำนวนแปลของ สุริยฉัตร ชัยมงคล และของ แคน สังคีต ผมชอบสำนวนแปลรุไบยาตของสองท่านหลังนี้มากที่สุด ผมศรัทธาสองท่านนี้ที่ใช้คำได้งดงามลึกซึ้งวิจิตรพิสดาร ส่งให้เห็นความหมายแจ่มชัด จึงตามหาจนรู้จักมักคุ้นดื่มกินกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะพี่แคนสังคีต หรือ พิมาน แจ่มจรัส นี่รักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ทั้งสองท่านจากโลกไปแล้ว ผมมองเห็นปรัชญาชีวิตที่มหัศจรรย์ซ่อนเร้นอยู่มากมายในรุไบยาต แต่เดิมภาษาของคนเปอร์เซียเขาจะออกเสียงว่า รุบาอียาต ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกฉันทลักษณ์ประเภทหนึ่งของชาวเปอร์เซียโบราณหรือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน บทกวีแปลอื่น ๆ ผมก็ชอบอย่างของ คาลิล ยิบราน ของ รพินทรนาถ ฐากูร กวีนักปราชญ์อินเดีย กวีตะวันตกกวีจีนอีกหลายเล่มผมก็อ่าน

“สำหรับการงานคัดสรรบทกวี ด้านเนื้อหาผมไม่ได้ไปให้ความสนใจหรือทิ้งน้ำหนักในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป เดี๋ยวนี้พื้นที่กวีมันมีน้อยมากโดยเฉพาะที่เนชั่นสุดสัปดาห์ซึ่งผมคัดสรรอยู่ ใช้นามปากกาว่า “เคี่ยว โคมคำ” เมื่อก่อนเคยลงได้สัปดาห์ละสามชิ้น แต่ต่อมาบรรณาธิการบริหารก็ให้ลงได้เพียงชิ้นเดียว ผมจึงต้องคัดสรรให้มีความโดดเด่นมากขึ้น คำว่าโดดเด่นไม่จำเป็นต้องเป็นด้านใดด้านหนึ่ง จะนำเสนอเนื้อหาอะไรก็ได้ เช่นเรื่องการเมือง เรื่องสังคม ปรัชญาชีวิต ความรัก ความเศร้าโศก หรือแม้แต่แนวอีโรติกก็ได้ทั้งนั้นแต่ขอให้เรื่องนั้น ๆ มันถึง

“คำว่า ถึง คือเข้าถึงอารมณ์ในเรื่องราว องค์รวมของศิลปะกวีนิพนธ์ ซึ่งทางทฤษฎีของกวีนิพนธ์จริง ๆ แล้ว แต่ก่อนมักมีเรื่องกำหนดหลักคิดหลักปฏิบัติถือเป็นจารีตการประพันธ์ แต่ผมว่าไม่ควรถือเป็นเรื่องตายตัว ทั้งนี้มันน่าจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายส่วน หนึ่งเราต้องมองว่าการใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสมไหมกับเรื่องราวที่เขียนถึง จังหวะเสียงเป็นอย่างไร พลิ้วไหวหรือสะดุดตะกุกตะกักหรือเปล่า การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างมีระบบ มีความเชื่อมต่อสัมพันธ์กันสื่อสารชัดเจนอย่างไร คำแต่ละคำที่ใช้มีความหมายมีน้ำหนักที่สอดรับหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดเนื้อหาที่นำเสนอมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใดบางคนใช้คำสวย ๆ เสียงจังหวะกลอนไพเราะมากแต่อ่านแล้วเนื้อหาไม่มีอะไร เช่นถ้าคุณจะเขียนเรื่องความรัก คุณก็ต้องให้มันชัดเจนในเรื่องราวที่คุณจะเขียน เสนอมุมคิดที่เด่น ๆ ไม่ควรเขียนซ้ำ ๆ กับที่คนอื่นเขียนไปแล้ว กวีหลายคนอาจหลงติดยึดอยู่กับลีลากลอนอันไพเราะเล่นคำล้อความอ่านสนุก เดินเรื่องไปเหมือนการเล่าข่าวเล่าสิ่งที่อยู่ภายในใจตนเอง แต่ไม่ใส่ความคิดมุมมองที่แปลกใหม่เข้าไป อ่านแล้วก็เพลิด เพลินดี แต่ไม่เกิดแรงสะเทือนใจหรือแรงกระตุ้นคนเสพให้เกิดจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ งานแบบนี้จะเรียกว่าเป็นงานที่มีวรรณศิลป์คงไม่ได้ ผมว่าเป็นเพียงงานแบบวรรณวิจิตร คือหมายถึงมีความพิสดารในเรื่องของการใช้ภาษาใช้คำสวยหรู แต่พออ่านจบแล้วไม่มีเนื้อหาอะไรเลย เพราะกินลมชมทุ่งไปเรื่อย ๆ

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมนำอัตชีวประวัติของกวีอังกฤษและอเมริกันที่ผมแปลถอดความจากต้นฉบับอังกฤษมาตีพิมพ์ในคอลัมน์ผมเป็นตอน ๆ สั้น ๆ ให้ชื่อว่า กลอนเปล่า-กลอนเปลือย เพราะเห็นว่าปีนั้น คุณซะการีย์ยา อมตยา กวีแนวกลอนเปล่าหรือบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ได้รับรางวัลซีไรต์คนแรกของประเทศเราจากหนังสือ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เขาเขียนแบบมีกลิ่นอายตะวันตก ผมจึงอยากนำเสนอแง่มุมความคิดกวีคลาสสิกของฝรั่งทั้งอังกฤษและอเมริกัน เพราะอยากให้วงการกวีไทยได้รู้เขารู้เรา แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากกวีบางกลุ่มมองว่าผมไปยกย่องของเขาว่าดีกว่าของไทยซึ่งผมก็ได้ชี้แจงไปว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น กวีนิพนธ์มันควรจะมีความเป็นสากล มันไม่จำเป็นว่าบทกวีนิพนธ์ของไทยจะต้องเป็นของไทย ของอินเดียจะต้องเป็นของอินเดีย ของฝรั่งก็เป็นแค่ของฝรั่ง ถ้าเราคิดอยู่ในกรอบแบบเดิมอย่างนั้น บทกวีนิพนธ์มันก็นำไปสู่ความล้าหลัง การแลกเปลี่ยนการสื่อสารในโลกยุคโลกาภิวัตน์เราต้องเปิดกว้างทางวัฒนธรรมการอ่าน ขนบการประพันธ์ฉันทลักษณ์ไทยเราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสูงค่าอยู่แล้วปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันกลายเป็นสากล โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์และความโดดเด่นยิ่งเรากำลังจะก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนผมคิดว่าเรื่องการสื่อสารภาษาใจภาษาคิดให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้นี่ยิ่งดี ไม่เพียงแค่อาเซียน กับคนทั้งโลกได้ก็ยิ่งดี บทกวีที่ดีต้องไม่มีพรมแดนชาติพันธุ์กั้นขวาง ภาษาของกวีควรจะมีความเป็นสากล อะไรก็ได้ เขียนไปเถอะ นำเสนอแง่คิดให้คมคายตรึงใจคนอ่าน สร้างแรงบันดาลใจได้ คุณจะเขียนกลอนเปล่าก็ได้ จะเขียนในฉันทลักษณ์รูปแบบไหนก็ได้

“ใครอยากจะส่งกลอนให้ผมพิจารณาเพื่อลงพิมพ์ในคอลัมน์กวีทรรศน์ของเนชั่นสุดสัปดาห์ ก็เข้าไปดูจาก Facebook ผมได้เลย พิมพ์ภาษาไทยที่ Google ว่า เคี่ยว โคมคำ หรือ เสรี ทัศนศิลป์ หรือเขียนคำว่า กวีทรรศน์ ก็ได้ แนบไฟล์ส่งช่องกล่องข้อความ หรืออีเมล์ nationweekend_poetry@hotmail.com ไม่รับพิจารณาทางจดหมายนะครับ เพราะผมไม่ถนัดเรื่องต้องพิมพ์ต้นฉบับส่งให้ บก. “

และนี่คือถ้อยคำจากปาก กวี-คอลัมนิสต์ ป.๔ “เสรี ทัศนศิลป์” ที่ฉันรู้จัก หวังว่าสิ่งที่ได้รับรู้รับทราบในวันนี้ จะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งให้ชีวิตฉันและอีกหลาย ๆ คนไม่หยุดนิ่งในการขวนขวายไขว่คว้าหาสิ่งดี ๆ มาเติมให้ชีวิตตัวเองเผื่อว่าจากนี้ไปชีวิตจะดียิ่ง ๆ ขึ้น หรือบางทีทั้งฉันและหลาย ๆ ท่านอาจกลายเป็นกวีกับเขาบ้างก็ได้ใครจะไปรู้…

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com