พรมแดนไทย สมัยต้นรัตนโกสินทร์
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เดินทวนหนทาง
Column: Back to the Root
ผู้เขียน: สมคิด สิงสง
Thai Borderlines in Rattanakosin Era
The death of King Wor had triggered the war between the Laotian Tais and the Thonburi City two years later in 1778 when King Taksin of Thonburi assigned King Rama I, whose title was Chao Phraya Maha Kasatsuek at the time together with Phraya Surasee to recruit the Khmers and formed the troops up along the Mekhong River . The mission was to pursue Phraya Supho towards Vientiane, defeating along the way Viantiane, Champasak, Nakhonphanom, Nongkhai and appointed the heads of those towns the governor of their own town under the Dominion of Siam
ผมเขียนไว้ในคอลัมน์ “จากทิศอีสาน” ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผมจะนำมาบูรณาการไว้ที่นี่อีกครั้ง
ว่ากันว่าต้นตระกูลเจ้านายเมืองอุบลราชธานีมาจากนครเชียงรุ่งแสนหวีฟ้า คือเมื่อประมาณ ๓๐๐ กว่าปีก่อนหน้านี้ ราว พ.ศ. ๒๒๒๘ เกิดวิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ่ง เนื่องจากจีนฮ่อหัวขาวหรือฮ่อธงขาวยกกำลังเข้ารุกราน เจ้านายนครเชียงรุ่ง คือเจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารีและเจ้าปางคำ จึงอพยพไพร่พลจากเมืองเชียงรุ่งแสนหวีฟ้า ไปขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติฝ่ายพระมารดา
เจ้านครเวียงจันทน์ในเวลานั้นได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่เมืองหนองบัวลุ่มภู ไม่ต้องส่งส่วยบรรณาการ มีสิทธิ์สะสมไพร่พลอย่างเสรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีฐานะอย่างเมืองลูกหลวง คือเป็นอิสระ มีชื่อว่า “นครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน” ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของเวียงจันทน์โดยตรง
ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช โปรดให้เจ้าอินทกุมารเสกสมรสกับพระราชธิดาองค์หนึ่งได้โอรสคือ เจ้าคำ หรือเจ้าองค์นก
โปรดให้เจ้านางจันทกุมารีเสกสมรสกับเจ้าอุปฮาด (พระอุปยุวราช) ได้โอรสคือ เจ้ากิงกีศราชและเจ้าอินทโสม ซึ่งต่อมาคือบรรพบุรุษของเจ้านายเมืองหลวงพระบาง
ส่วนเจ้าปางคำได้เสกสมรสกับพระราชนัดดาได้โอรสคือ เจ้าพระตาเจ้าพระวอ (นักวิชาการประวัติศาสตร์ทางเวียงจันทน์ยืนยันว่าเจ้าพระตากับเจ้าพระวอเป็นบุคคลเดียวกัน มีพระนามว่าเจ้าพระวรพิตา หรือพระวอระปิตา)
ที่ผมไล่เลียงมานี่ เพื่อจะนับญาติหรือเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของบ้านเมืองเหล่านี้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ภาคอีสานของประเทศไทยในเวลาต่อมา
เรื่องที่ว่าเจ้านายเมืองอุบลราชธานีสืบเชื้อสายมาจากเจ้านครเชียงรุ่งแสนหวีนี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่อีกอย่างหนึ่งคือการจัดพิธีเผาศพเจ้านายหรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บนเมรุนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีของนครเชียงรุ่ง ปัจจุบันนอกจากที่อุบลราชธานีแล้ว ที่เชียงใหม่ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่
กลับมาพินิจพิเคราะห์กรณีพิพาทในหมู่ชนไทลาวกันต่อไป !
หลังจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งกรุงเวียงจันทน์สิ้นพระชนม์และไม่มีพระราชโอรสสืบราชสมบัติ พญาเมืองจันทน์ (ตำแหน่งเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ตำแหน่งหนึ่งในระบอบอาชญาสี่) ก่อการกบถ เจ้ากิงกีศราช เจ้าอินทโสม เจ้าองค์นกหลบหนีราชภัยไปอยู่ที่เมืองน่าน ภายหลังได้นำกำลังไปตีหลวงพระบางและปกครองหลวงพระบางต่อมา
หลายสิบปีต่อมา ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ เกิดวิกฤติทางการเมืองในกรุงศรีศตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์อีกระลอกหนึ่ง เมื่อเจ้ามหาชีวิตพระองค์นี้ก็ไม่มีโอรสและนัดดาที่จะขึ้นครองราชย์อีกเช่นกัน คราวนี้พญาเมืองแสน (ตำแหน่งเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เหมือนพญาเมืองจันทน์) ก่อการกบถยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เจ้านางสุมังคละพาเจ้าหน่อกษัตริย์หลบหนีไปพึ่งเจ้ามหาราชโพนสะเม็ก และไปสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้น คือนครจำบากนาคบุรีศรี หรือนครจำปาศักดิ์ ยกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเถลิงพระนามว่าเจ้าสร้อยสินสมุทรพุทธางกูร
เจ้านายราชวงศ์นครเวียงจันทน์อีกผู้หนึ่ง ที่หลบหนีราชภัยคราวที่พญาเมืองแสนยึดอำนาจคือเจ้าองค์บุญ หนีไปพึ่งเมืองหนองบัวลุ่มภู ทางเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระวอพระตา ซึ่งเป็นโอรสเจ้าปางคำและเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ของกรุงเวียงจันทน์ในเวลานั้น จึงยกกำลังเมืองหนองบัวลุ่มภูนำเจ้าองค์บุญไปปราบปรามพญาเมืองแสนได้สำเร็จปราบดาภิเษกเจ้าองค์บุญขึ้นเป็นเจ้ามหาชีวิตครองกรุงเวียงจันทน์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริบุญสาร
กลับไปดูเหตุการณ์ทางกรุงศรีอยุธยาบ้าง !
ในเวลาเดียวกัน คือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ หรือ ค.ศ. ๑๗๖๗ ซึ่งเป็นช่วงการขยายอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น พม่าตีได้เมืองเชียงใหม่และเมืองต่าง ๆ ที่มีชายแดนติดกับพม่ากระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยา ทำความเสียหายให้แก่กรุงศรีอยุธยาอย่างใหญ่หลวง
ว่ากันว่า ภายใต้ยุทธการปล้นเรียบ เผาเรียบกวาดเรียบ ที่พม่าทำกับกรุงศรีอยุธยานั้น ทำให้อาณาบริเวณแถบนั้นไม่ต่างไปจากเมืองร้าง พม่าได้กวาดต้อนผู้คนที่เป็นช่าง ศิลปิน ตัวละคร เอาไปไว้ที่เมืองมัณฑเลย์ จนตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นใหญ่โต ชื่อว่าบ้านโยเดีย ซึ่งก็คือชื่อกรุงศรีอยุธยาที่พวกฝรั่งฮอลันดาเคยเรียกว่า IUDEA
ท่ามกลางความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงนี้ กรุงศรีอยุธยายังไม่สิ้นคนดี เมื่อมีบุรุษอาชาไนยเชื้อสายจีนผู้หนึ่ง เป็นเจ้านายทางหัวเมือง ซึ่งมาช่วยราชการรับศึกพม่าในเวลานั้น ได้รวบรวมกำลังเท่าที่มีเข้ากู้สถานการณ์สำเร็จในระยะเวลาเพียง ๗เดือนหลังเสียกรุง
ท่านผู้นี้คือ พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่คนทั้งหลายมักขนานนามพระองค์ท่านตามตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นเจ้าเมืองตาก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนิยมออกพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ทางราชการกำหนดให้ขนานพระนามาภิไธยพระองค์ท่านว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังตรากตรำพระราชภารกิจกอบกู้บ้านเมือง และเร่งขยายขอบขัณฑสีมาอยู่นั้น ทางกรุงเวียงจันทน์ก็เกิดกรณีขัดแย้งกับเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือนครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน จนเป็นตำนานในประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน
เมืองหนองบัวลุ่มภูในอดีตเป็นเมืองใหญ่ ในตำนานว่าเคยเป็นเมืองหน้าด่านเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง มีไพร่พลจำนวนมาก เมืองหนองบัวลุ่มภูเองก็มีเมืองหน้าด่าน ๔ เมืองคือเมืองภูเขียว เมืองภูเวียง เมืองผ้าขาว และเมืองพันนา ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็น “นครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน” ในยุคที่เจ้าพระวอพระตา ทำการต้านศึกเวียงจันทน์ จนต้องล่าถอยไปอาศัยนครจำปาศักดิ์ และภายหลังลูกหลานเจ้านายเมืองหนองบัวลุ่มภูไปตั้งบ้านเมืองแห่งใหม่ ขนานนามให้เป็นที่ระลึกแก่เมืองหนองบัวลุ่มภู หรือนครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน นั่นคือ “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช”
ปัจจุบันชื่อเมืองหนองบัวลุ่มภูคือ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดใหม่ของประเทศไทยที่ได้รับสถาปนาพร้อมกับจังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อกี้ผมฉายให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาและเหตุการณ์ที่เวียงจันทน์บุกตีหนองบัวลุ่มภู ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ หรือ ค.ศ. ๑๗๖๗
เรื่องราวที่ผมสืบค้นจากหลักฐานเท่าที่มีปรากฏว่าภายหลังจากเจ้าพระวอพระตาแห่งเมืองหนองบัวลุ่มภู ให้การสนับสนุน เจ้าองค์บุญ นัดดาพระชัยเชษฐาธิราชที่ ๒ (ชัยองค์เว้) ไปปราบกบถพญาเมืองแสนได้สำเร็จ เจ้าองค์บุญปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าสิริบุญสาร ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์ ภายหลังเกิดหวาดระแวงเจ้าพระตาเจ้าพระวอว่ามีไพร่พลมาก เกรงจะก่อการกบถ จึงออกอุบายให้ไปรักษาด่านหินโงม ขอบุตรธิดาเป็นมหาดเล็กและสนม ในทำนองเอาไว้เป็นตัวประกัน
เจ้าพระวอพระตาไม่พอใจจึงอพยพไพร่พลกลับเมืองหนองบัวลุ่มภู ยกขึ้นเป็นนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน พร้อมกับเร่งสร้างความมั่นคงเข้มแข็ง เกร็งว่าเวียงจันทน์จะยกกำลังพลเข้าตี ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าสิริบุญสารสั่งให้พญาเมืองแสนและพญาเมืองจันทน์ยกกองทัพไปปราบปรามเมืองหนองบัวลุ่มภูที่ตนเคยอาศัยพักพิงในสมัยหลบหนีราชภัย
กองทัพเวียงจันทน์ยกกำลังไปปราบเมืองหนองบัวลุ่มภูถึง ๓ ปีก็ยังไม่สำเร็จ จึงไปขอกำลังพม่าจากเมืองเชียงใหม่มาช่วยจึงตีเมืองหนองบัวลุ่มภูแตก เจ้าพระตาถึงแก่อสัญกรรมในที่รบ ก่อนหนองบัวลุ่มภูจะแตกเจ้าพระตาสั่งให้ท้าวคำสู ท้าวคำสิงห์ อพยพไพร่พลและลูกหลานไปหาที่ตั้งยังที่ปลอดภัยแถวลุ่มน้ำชีน้ำมูน ท้าวคำสู ท้าวคำสิงห์จึงไปสร้างเมืองสิงห์โคกสิงห์ท่าขึ้น ปัจจุบันคือที่ตั้งจังหวัดยโสธร
เรื่องเวียงจันทน์ขอกำลังพม่าที่ครอบครองเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้น ไปช่วยปราบปรามหนองบัวลุ่มภู ปรากฏในเอกสารใบลาน จารด้วยอักษรไทยน้อย ชื่อพื้นเมืองอุบล ร้อยตำรวจตรีสุวรรณ นันทจักร ถอดความไว้ตอนหนึ่งว่า…
“…ฟังเจ้าฟังฟังกาพย์มานสาว ฝูงลุงอาวฟังกาพย์ไทหม่าน (ไทหม่านคือชาวพม่า-ผู้เขียน) บักขาก่านนุ่งผ้าแดงแดง สูฮีบแทงให้มันถึกหอก
สูฮีบบอกให้หอกตัดหลัง สูฮีบบังจับมันเอาไว้…สูอย่าล้อกูนี้คนดี กูละบักหมอดีอยู่เวียงภูเก่า
แต่ก่อนเค้ากูอยู่หนองบัว กูสิตัดหัวไทเวียงมากองล้อมบ้าน
กูบ่หย้านฝูงหม่านขาลาย สูสิตายในวันมื้ออื่น…”
เมื่อเมืองหนองบัวลุ่มภูแตก เจ้าพระวอพาพรรคพวกอพยพไปตามเส้นทางที่กลุ่มท้าวคำสูอพยพไปก่อน ไปตั้งถิ่นฐานที่ดอนมดแดง จากนั้นจึงไปขอพึ่งเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ คือพระเจ้าองค์หลวง (ชัยกุมาร) ได้รับอนุญาตให้ตั้งมั่นอยู่ที่เวียงดอนกอง หรือค่ายบ้านดู่บ้านแกในเขตจำปาศักดิ์
ถึงช่วงนี้มีหลักฐานปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ ของ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ความว่า
“…ปี พ.ศ. ๒๓๑๔ (จ.ศ. ๑๑๓๓ ปีเถาะ ตรีศก) พระเจ้าสิริบุญสารทราบว่าเจ้าพระวอพาพรรคพวกไพร่พลมาตั้งอยู่แขวงจำปาสัก จึงแต่งตั้งให้อัครฮาดคุมกองทัพมาตีเจ้าพระวออีก แต่เมื่อพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) ทราบเหตุ จึงแต่งตั้งให้พระยาเชียงสายกกำลังกองทัพเมืองจำปาสักไปต้านทานไว้ และมีศุภอักษรถึงพระเจ้าสิริบุญสารเพื่อขอโทษแทนเจ้าพระวอ พระเจ้าสิริบุญสารมีศุภอักษรตอบกลับมาว่า… พระวอเป็นคนอกตัญญูจะเลี้ยงไว้ก็ไม่มีความเจริญ แต่เมื่อเจ้านครจำปาสักให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้ว ก็จะยกให้มิให้เสียไมตรี… พร้อมกันนั้นก็ให้อัครฮาดนำกำลังกองทัพกลับ”
เพื่อให้ความเป็นธรรมทางประวัติศาสตร์ หากดูจากถ้อยคำในประชุมพงศวดารข้างต้น อาจมีผู้เข้าใจว่าบรรพบุรุษเมืองอุบลฯ เป็นผู้อกตัญญู เป็นขบถต่อมาตุภูมิของตนเอง เรื่องนี้ อดีตอัยการบำเพ็ญ ณ อุบล ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าพระวอเจ้าพระตาคนหนึ่งอธิบายว่า…
“…ปัญหานี้ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า เจ้าพระตาเจ้าพระวอมิได้เป็นขบถต่อเวียงจันทน์ ที่ว่าเป็นขบถนั้นเป็นคำพูดของพระเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งเป็นอริกันเท่านั้นพูดเช่นนั้น ขบถคือการคิดล้มล้างกษัตริย์ แต่เจ้าพระตาเจ้าพระวอมิได้คิดล้มล้างกษัตริย์เวียงจันทน์แต่ประการใด และไม่เคยยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ มีแต่ฝ่ายเวียงจันทน์เท่านั้นที่ยกกองทัพมาตีหนองบัวลุ่มภู… การต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองของตน… จะเรียกว่าขบถอย่างไร…”
พ.ศ. ๒๓๑๙ หลังจากกองทัพเวียงจันทน์ถอนกำลังกลับไปแล้ว ๕ ปี ว่ากันว่าเจ้าพระวอมีเรื่องบาดหมางกับพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เวียงจันทน์จึงลงมากำจัดเจ้าพระวอได้สำเร็จ เรื่องราวปรากฏตามประชุมพงศาวดารภาค ๔ ของ ม.ร.ว.ปฐม คเนจร ความว่า…
“…ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๑๙ (จ.ศ.๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก) พระเจ้าสิริบุญสารทรงทราบว่าพระเจ้าวอทะเลาะวิวาทกับเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) แล้วอพยพไพร่พลมาตั้งอยู่ที่ดอนมดแดง จึงแต่งให้พญาสุโพคุมกองทัพมาตีเจ้าพระวออีกครั้งหนึ่งเจ้าพระวอเห็นทีจะสู้มิได้ จึงพาครอบครัวไพร่พลกลับไปอยู่ที่เวียงดอนกองเช่นเดิม พร้อมกับขอกำลังจากพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) มาช่วยแต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ กองทัพเวียงจันทน์จึงเอาชนะเจ้าพระวอได้ เจ้าพระวอถูกจับได้และถูกประหารชีวิตที่เมืองดอนกองนั้นเอง
ส่วนท้าวก่ำบุตรเจ้าพระวอ และท้าวฝ่ายหน้าท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม (บุตรพระตา) พาพรรคพวกไพร่พลส่วนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมไปได้ จึงมีใบบอกไปยังเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีและขอกำลังกองทัพมาช่วยเหลือแต่ทางกรุงธนบุรีก็มิได้ดำเนินการแต่ประการใดทั้งนี้คงเป็นเพราะในช่วงเวลานั้นกรุงธนบุรีกำลังอยู่ในระหว่างสงครามกับพม่า ในศึกอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก ระหว่างเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ.๒๓๑๘ ถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๑๙…”
ถึงกระนั้นก็ตาม การถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระวอก็กลายเป็นชนวนระเบิดสงครามระหว่างเชื้อชาติไทลาวกับกรุงธนบุรีในอีก ๒ ปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๓๒๑ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เกณฑ์ไพร่พลชาวเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง ไล่กองทัพพระยาสุโพขึ้นไปจนถึงเวียงจันทน์ ตีได้เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ นครพนม หนองคาย แต่งให้เจ้านายเมืองนั้น ๆ ครองเมืองต่อไปในฐานะบ้านเมืองประเทศราช
การศึกครั้งนี้ นอกจากยังความเสียหายให้แก่เวียงจันทน์อย่างที่กรุงศรีอยุธยาเคยเสียหายด้วยน้ำมือของพม่าแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบาง นำมาประดิษฐานไว้ที่กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรด้วย
การศึกครั้งนั้นทำให้ขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์จักรีผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ กว้างไกลครอบคลุมแผ่นดินลาวทั้งหมด รวมทั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตลอดถึงนครเชียงรุ่งแสนหวีฟ้าอีกด้วย