คำของ ‘ท่านกูฏ’ อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนที่ ๓
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ เดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง
Column: Sweet Smelling Vegetables
อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
“ถ้าไปเรียนต่อกรุงเทพฯ ก็ไปพักด้วยกันก็ได้”
ด้วยคำพูดประโยคนี้ประโยคเดียวแท้ ๆ ที่ทำให้ชีวิตของผมโลดแล่นห่างไกลจากเมืองอุบลฯ บ้านเกิด
จากการเล่น ๆ เรียน ๆ ของผม ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง กลัวจะเรียนไม่จบ ม.๖ สิ่งที่ตอกย้ำความห่วงใยของท่าน คือ การที่ผมสอบตกและต้องเรียนซ้ำชั้น ม. ๕ ท่านจึงจับผมบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสุปัฏวนาราม โดยให้เรียนทางโลกควบคู่กับทางธรรม โรงเรียนทางโลกคือโรงเรียนอุบลวิทยาคม ซึ่งก็ตั้งอยู่ภายในวัดสุปัฏฯ ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสมเด็จดังนั้น ทั้งโรงเรียนทางโลกและทางธรรมก็อยู่ในบริเวณเดียวกันนั่นเอง
ที่นี่ผมได้พบกับคนมีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี ถึง ๒ คน คนแรกคือ อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือที่คนในวงการศิลปะเรียก “ท่านกูฏ” ศิษย์รุ่นแรกของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอีกท่านคือ ศิลปชัย ชาญเฉลิม หรือ “นายหนหวย” นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ และยังเป็นนักจัดรายการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากท่านทั้งสองมาบวชที่วัดสุปัฏวนาราม และเป็นโอกาสดีที่ผมได้เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดท่านทั้งสอง
ผมเป็นสามเณรอยู่ร่วมกุฏิกับอาจารย์ไพบูลย์อยู่กุฏิใหญ่ที่มีหลายห้อง โดยในกุฏิมี ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสพระเดชพระคุณ พระศาสนดิลก รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมา พระเดชพระคุณได้เจริญสมณศักดิ์ถึงชั้นธรรม รับตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา และมรณภาพที่นั่นส่วนท่านศิลปชัย อยู่รูปเดียวที่กุฏิเล็กข้างโบสถ์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของกุฏิใหญ่
เป็นเหมือนบุญจัดสรรให้ได้มาพบและรู้จักรับใช้ใกล้ชิดท่านทั้งสอง ผมได้ความรู้เรื่องศิลปะจากอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เมื่อเรียนให้ท่านทราบว่าผมชอบและสนใจในการประพันธ์กาพย์กลอนท่านก็เมตตา บรรยายชี้ให้เห็นถึงความงดงามสุนทรีย์ของภาพจิตรกรรม ประติมากรรม และสุนทรีย์ของภาษา
อาจารย์ไพบูลย์นั้น นอกจากจะเป็นจิตรกรใหญ่แล้ว ยังมีงานการประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่กล่าวขาน คือ “ส้มป่อยดอกเหลือง” เป็นการเรียงร้อยสร้อยภาษาที่เรียกว่า กลอนเปลือย ที่แสดงสุนทรียภาพแห่งภาษา ส่วน “นายหนหวย” ขณะที่บวชท่านก็กำลังแปลนวนิยายจีนเรื่อง “เลียดก๊ก”
พอตกกลางคืน ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสจำวัดแสงไฟในห้องของท่านดับลง ผมจะค่อย ๆ เปิดมุ้งและย่องไปที่กุฏิท่านศิลปชัย ซึ่งทำงานอยู่จนดึกดื่น อาศัยจำวัดชดเชยเอาตอนหลังฉันเพล ผมเข้าไปบีบนวดและชงกาแฟดำให้ท่าน ซึ่งท่านก็ได้กรุณาสอนการประพันธ์ เรื่องสั้น เรื่องยาวให้บางครั้งท่านจะเอนหลังบนเก้าอี้นอน และบอกให้ผมเขียน ทำให้ผมได้ลงลึกในศิลปะการประพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผมในภายหลัง
ที่นี่…มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ผมไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องบุญหรือเป็นบาป แต่ก็คงจะเป็นบาปมากกว่า
เรื่องมีอยู่ว่า คืนหนึ่งหลังจากที่ผมย่องออกจากมุ้ง และมาอยู่กับท่านศิลปชัย พักใหญ่ ๆ ท่านเจ้าคุณก็ลงมาส่องไฟฉายตามมุ้งสามเณร ซึ่งกางมุ้งนอนเรียงกันที่ชั้นล่าง เมื่อผมมองจากกุฏิท่านศิลปชัยไปเห็นเข้าก็ใจหาย เห็นท่านเจ้าคุณฉายไฟเดินตรวจไปทีละมุ้ง ๆ จนถึงมุ้งผม ซึ่งมีแต่มุ้งเปล่า ๆ
ท่านหยุด และเรียกด้วยเสียงอันดัง แม้ผมอยู่อีกกุฏิก็ได้ยินชัดเจนว่า
“เณร ๆ ๆ ๆ”
เมื่อไม่มีเสียงขานรับ ท่านก็หันไปถามเณรในมุ้งที่กางขนาบมุ้งผมทั้งซ้ายและขวา ว่า
“เณรสงครามไปไหน”
“คงจะไปห้องน้ำขอรับ” สามเณรตอบ
เมื่อเห็นเหตุการณ์ชักจะไปกันใหญ่ ผมจึงค่อย ๆ ทำตัวลีบ แล้วย่องลงจากกุฏิท่านศิลปชัยแฝงความมืดไปที่ห้องฟืนข้างโรงครัว พลันความคิดเอาตัวรอดก็กรายขึ้นมา ผมนั่งลงกับพื้นห้องฟืนซึ่งมีฝาสามด้าน ส่วนด้านหน้าเปิดโล่ง แล้วขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งท้ายตรง ดำรงสติมั่น หลับตาลงเบา ๆ หายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออก “โธ” ตามตำราอานาปานสติ ทั้ง ๆ ที่ใจเต้นไม่เป็นส่ำ สายตาเหลือบชำเลืองตามแสงไฟฉาย
ท่านเจ้าคุณกับสามเณรอุปัฏฐากของท่านฉายไฟไปที่ส้วม ซึ่งเป็นทั้งห้องอาบน้ำและห้องปลดทุกข์ เมื่อไม่เจอ ดูท่านลังเลชั่วครู่ ก่อนที่จะพูดกับสามเณรอุปัฏฐากว่า
“เอ… หรือว่ามันหนีเที่ยว ไหนลองไปดูที่ห้องฟืนซิ”
พูดจบก็ฉายไฟเดินมาทางห้องฟืน ผมขนลุกเกรียว รู้สึกเย็นยะเยือกตั้งแต่ปลายผมลงไปจนถึงพื้นเท้า เสียงอุทานดังอึกทึกในใจ
“ตายละหวา ตายแน่ ๆ”
เสียงฝีเท้าย่ำใกล้เข้ามา มันเหมือนเสียงยักษ์เดินกระทืบพื้นจนพื้นสะเทือนสนั่นหวั่นไหว แล้วก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าผม จนรู้สึกมีแสงไฟส่องหน้าผมจัดการปิดตาลงให้แน่นกว่าเดิม ทำทีเป็นว่ากำลังสงบลึกจนไม่รู้สึกตัว
ท่านหยุดฉายไฟ และเงียบไปครู่ใหญ่ ขณะที่คำภาวนา หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” ของผมเริ่มเปลี่ยนเป็นหายใจเข้า “ตาย” หายใจออก “แน่”… ตาย-แน่ ตาย-แน่ ตาย-แน่… จนหูของผมได้ยินเสียงพระเดชพระคุณ
“เออดี ๆ ดึกแล้วนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปเรียนหนังสือ เอาแต่พอดี สี่-ห้าทุ่มแล้ว”
แล้วท่านพร้อมกับสามเณรอุปัฏฐากก็เดินกลับกุฏิ
วีรกรรมวีรเวรในครั้งโน้น คิดขึ้นมาครั้งใดก็เสียววาบทุกที จนบัดนี้ ผมยังแลเห็นแสงไฟฉายวาบ ๆ อยู่ตรงหน้าอยู่เล
กระผมกราบขออโหสิกรรมที่ได้ล่วงเกินพระเดชพระคุณ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญามา ณ ที่นี้
เมื่อวันออกพรรษามาถึง และหลังจากอยู่วัดต่อคนละ ๓ วัน ๗ วัน ท่านทั้งสองก็ทยอยลาสิกขาบทกลับไปทำหน้าที่ของปุถุชนต่อไป
ผมรู้สึกใจหาย และอาลัยอาวรณ์พวกท่านอยู่นาน และก่อนออกจากวัด ท่านอาจารย์ไพบูลย์ได้กล่าวกับผมว่า
“ถ้าไปเรียนต่อกรุงเทพฯ ก็ไปพักด้วยกันก็ได้”
ผมซาบซึ้งจนแทบจะก้มลงกราบ แต่คิดได้ว่าตัวเองเป็นสามเณร และท่านก็เป็นคฤหัสถ์แล้ว จึงได้แต่กล่าวคำขอบคุณท่าน
ในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ผมก็จบ ม.๖ จนได้จากนั้นก็ลาสิกขาเพื่อไปเรียนต่อ คุณพ่อได้ฝากฝังผมกับท่านศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเคยเป็นครูของพ่อ และท่านศึกษาฯ ก็รับปากว่าจะช่วยให้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี
ผมฟังพ่อเล่าเรื่องที่ท่านขอกับท่านศึกษาฯ แล้วพยักหน้าแบบเข้าใจ แต่ใจของผมนั้นลอยไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว ใจของผมเวลานั้น ถ้าเรียนต่ออยากเรียนเพาะช่าง ที่กรุงเทพฯ เพื่อจะได้ใช้เวลาว่างเข้าสู่วงการเพลง ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่เกิดกับผมตั้งแต่ครั้งร่วมรำวงรำโทนที่ลานบ้านพักครูบ้านนาเอือดแล้ว ความปรารถนาที่อยากเข้าสู่วงการเพลงมันเกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างเงียบเชียบและเมื่อเขียนกลอนเป็น มันก็ยิ่งเรียกร้องหนักขึ้น ๆ ในที่สุด ไฟปรารถนาก็สร้างความรุ่มร้อนขึ้นในใจจนสุดจะทนทาน
ในวันรายงานตัวเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพ่อแม่ให้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าลงทะเบียน ค่าหนังสือ และเสื้อผ้า ซึ่งในช่วงนั้น พ่อแม่ได้กลับเข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลเหมือนเดิมแล้ว หลังจากที่เจ๊งแทบล่มจมอีกครั้งจากการทำไร่อ้อย โดยกลับไปปักหลักที่บ้านดอนใหญ่ ซึ่งบ้านดอนใหญ่เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของพวกท่าน เป็นที่แรกพบ เป็นจุดเริ่มต้นของความรัก ที่แต่งงาน และเป็นที่ให้กำเนิดผม – ลูกคนแรก
การเดินทางเข้าตัวจังหวัด ต้องเดินเท้าออกจากบ้านดอนใหญ่ เพื่อไปลงเรือโดยสารที่แล่นระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหาร กับท่าตลาดเมืองอุบลราชธานี โดยลงเรือที่ท่าเรือบ้านท่าปากห้วยระยะทางจากท่าปากห้วยถึงเมืองอุบลฯ ๔๐ กิโลเมตรเศษ ขึ้นเรือที่ท่าปากห้วยราว ๘ โมงเช้าถึงอุบลฯ ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องก็ราวๆ ๔ โมงเย็น เรือโดยสารเป็นเรือฉลอม ดัดแปลงต่อเติมเป็นสองชั้นมีห้องส้วมอยู่ท้ายเรือใกล้กับหางเสือใหญ่ มีนายท้ายผู้ชำนาญคอยคัดท้ายเวลาจอดรับผู้โดยสารตามท่า หัวเรือมีเสาไม้สำหรับคล้องเชือกโยงกับเรือกลไฟที่เป็นเรือลากจูง
ทุก ๆ ครั้งที่โดยสารเรือ ไม่ว่าเข้าเมืองหรือกลับบ้าน ผมจะมีความสุขกับสองฟากฝั่งลำน้ำมูลซึ่งเป็นช่วงที่กระแสน้ำไหลไปบรรจบกับลำน้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม บ้านเกิดเมืองนอนของผมธรรมชาติ หาดทราย สายน้ำ สวนผัก เรือหาปลา ไร่นาสาโท พาให้เกิดจินตนาการที่งดงามตรึงอยู่ในความทรงจำเสมอ และภายหลังก็เกิดเป็นบทเพลง และนวนิยาย ที่มีแม่น้ำมูลเป็นฉากของเรื่อง อย่าง “มนต์รักแม่น้ำมูล”
“ถ้าไปเรียนต่อกรุงเทพฯ ก็ไปพักด้วยกันก็ได้”
คำพูดของท่านอาจารย์ไพบูลย์ผุดขึ้นกลางสายน้ำมูลขณะโดยสารเรือเที่ยวสำคัญเที่ยวนั้นผมเพ่งมองสายน้ำแล้วรำพึงในใจเหมือนอยู่ต่อหน้าเจ้าของคำพูด แล้วผมจะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ ได้อย่างไร เพราะผมกำลังนั่งเรือเพื่อที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครู
(อ่านต่อฉบับหน้า)