รายงานพิเศษ: จับตา ศาลโลกสั่งคดีปราสาทพระวิหารรอบ ๒
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๙
ปีที่ ๒ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖
คดีปราสาทพระวิหารรอบสอง จะกลับมาให้สนใจอีกหน เชื่อว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก จะรับ ‘ตีความ’ ตามคำร้องของกัมพูชาแล้วจะมีคำพิพากษาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้
นับแต่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลก (เม.ย. ๒๕๕๔) คือ (๑) ให้ศาลวินิจฉัยรับ ‘ตีความ’ คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารรอบแรก (๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕) เพราะความเห็นต่อ ‘บริเวณรอบ’ ปราสาทพระวิหารไม่ตรงกัน…
ประเทศไทยมีพันธกรณี…ถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลที่ประเทศไทยส่งไปประจำอยูที่ปราสาทหรือในบริเวณใกล้เคียงปราสาทในดินแดนกัมพูชา (ข้อบทปฏิบัติการที่ ๒) เป็นพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่องในการเคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา โดยเส้นบนแผนที่ภาคผนวก ๑ ที่ศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำพิพากษา [๑]
(๒) ขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน สั่งทหารไทยและเจ้าหน้าที่ไทยออกจากพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตร.กม. ผู้แทนประเทศไทยได้ยื่นคำแก้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งไปแถลงด้วยวาจาแล้วก็ไม่อาจยับยั้งได้ ศาลวินิจฉัยมีคำสั่งเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ขีดเส้นลงแผนที่ประมาณ ๑๗.๔ ตร.กม. เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว
นัดสำคัญคือการแถลงด้วยวาจาต่อผู้พิพากษาศาลโลก (๑๕-๑๙ เม.ย.๒๕๕๖) แม้ผู้แทนประเทศไทย (วีรชัย พลาศรัย) ยํ้าขอบเขตอำนาจศาลโลกต้องเป็นไปตามข้อ ๖๐ การ ‘ตีความ’ ต้องอยู่ในคดีเดิม แต่กัมพูชาขอตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร นอกขอบเขตคำตัดสินเดิมซึ่งไทยปฏิบัติไปแล้ว ถือเป็นสิ้นสุด
แต่แทบทุกเวทีสัมมนากะเก็งเชื่อว่า ศาลโลกจะรับ ‘ตีความ’
ประเด็นคือ แล้วจะตัดสินอย่างไร?
เฉพาะเวทีล่าสุด (๓ ต.ค. ๒๕๕๖) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พูดยํ้าเหมือนเวทีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (๓๐ ก.ย. ๒๕๕๖) เป็นไปได้ ๔ แนวทาง คือ
หนึ่ง ศาลโลกไม่รับเรื่องทบทวนคำตัดสินอีกครั้ง โดยยกให้เจรจาระดับทวิภาคีสองประเทศ
สอง เปลี่ยนการตีความตัดสินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายไทย
สาม ยืนตามคำตัดสินเดิมซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกัมพูชา
สี่ ศาลตัดสินเป็นกลาง อาจยกให้นำเรื่องไปไกล่เกลี่ยในเวทีอื่น เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)
ชุมพร ปัจจุสานนท์ [๒] ประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นข้อโต้แย้งฝ่ายไทยมีนํ้าหนักกว่าฝ่ายกัมพูชา ซึ่งไม่เคยค้านเส้นตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย (๑๐ ก.ค.๒๕๐๕) ซึ่งรวมพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร จึงเชื่อว่าไทยจะไม่เสียหายมากกว่าที่ล้อมรั้วตามมติดังกล่าว
สุรชาติ บำรุงสุข ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าฝ่ายไทยจะ “แพ้นิดหน่อย” แล้วโยนให้อาเซียนเข้ามาแก้ปัญหา
ส่วนเวทีประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ ๙ (๑๙ ส.ค.๒๕๕๖) “คดีปราสาทพระวิหาร : เบื้องลึกเบื้องหลังและแนวโน้มของข้อยุติ” [๓] ท่านทูตวีรชัยฯ ได้เน้นยํ้าให้มั่นใจต่อแนวทางและข้อมูลชี้แจงต่อศาล
ถัดมา เวทีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่( ๒๓ ส.ค. ๒๕๕๖) วีรชัย พลาศรัย ระบุแนวโน้ม ๔ ลักษณะคือ
(๑) ศาลตัดสินไม่มีอำนาจตีความ
(๒) ศาลตัดสินให้พื้นที่ตามคำขอกัมพูชาหรือใกล้เคียง
(๓) ตัดสินเข้าข้างฝ่ายไทย และ
(๔) กำหนดเส้นเบ่งเขตขึ้นมาใหม่โดยฝ่ายไทยไม่เสียพื้นที่มากกว่ากัมพูชาร้องขอ
แต่สำหรับฝ่ายคัดค้านแนวทางรัฐ จัดสัมมนาเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ [๔] หม่อมหลวง วัลย์วิภาจรูญโรจน์ ประเมินล่วงหน้าก่อนผู้แทนไทยจะไปแถลงด้วยวาจาในศาลโลกว่าจะออกมา ๓ ทาง
(๑) ตัดสินให้พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ๔.๖ ตร.กม. เป็นของกัมพูชาเกี่ยวเนื่องกับแผนที่ มาตรา ๑ ต่อ ๒ แสน
(๒) ให้กำหนดอาณาเขตพื้นที่รอบปราสาทกันต่อไป
(๓) ให้ปักปันเขตแดนโดยผ่านกลไกคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา
แต่ทั้ง ๓ ข้อไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย เพราะยอมให้ใช้แผนที่ ๑ ต่อ ๒ แสน (ฝรั่งเศสทำแผนที่ขึ้นฝ่ายเดียว) มากำหนดอาณาเขตทางบก จะเท่ากับจงใจสละอธิปไตย เพราะประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕ หมื่น จะทำให้เส้นเขตแดนเคลื่อนเข้ามาในฝั่งไทยมาก ใครมีส่วนทำให้เสียดินแดนจะเข้าข่ายเป็น ‘กบฏ’ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ประเมินใกล้เคียงกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่ระบุชัดเจนกว่า คือ ๔ แนวทาง
(๑) ศาลไม่รับการตีความ
(๒) ศาลรับและตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่ากับไทยล้อมรั้วไว้ตามมติ ครม. (๑๐ ก.ค. ๒๕๐๕)
(๓) ศาลรับและตีความว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารคือ ๔.๖ ตร.กม. ตามแผนที่ระวางดงรัก และ
(๔) ศาลตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเกินฝ่ายไทยล้อมรั้วไว้ แต่อาจไม่ถึง ๔.๖ ตร.กม.
ซึ่งข้อ (๑) เรียกว่าฝ่ายไทยชนะ ข้อ (๓) และ (๔) ฝ่ายไทยเจ๊ง โอกาสเจ๊าหรือเสมอตัวคือตามข้อ (๒)
ฅนหลุดปาก ‘ฟันธง’ แต่ต้นว่าไทยมีแต่ ‘เจ๊ง กับ เจ๊า’ คือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) พ้องกับสำนักผลิตข้อมูลให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็มีมูลตามนั้น
ย้อนไปดูศาลโลก พ.ศ. ๒๕๐๕ มีพฤติการณ์อิงการเมืองชัดเจน เพราะแม้ฝ่ายไทยแสดงหลักฐานกัมพูชาผลิตแผนที่ปลอม ลงเส้นสันปันนํ้า ‘โอตาเซ็ม’ เป็นเท็จ (คำพิพากษาศาลฯ คดีปราสาทพระวิหาร. กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, มิ.ย.๒๕๐๕. หน้า ๑๙๕, ๑๙๗) และชี้แจงเหตุผลได้กระจ่าง (ดังคำบรรยายของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยและคำพิพากษาเอกเทศยกขึ้นอธิบาย) แต่ก็ตัดสินให้ไทยพ่าย โดยยึดหลัก “กฎหมายปิดปาก”
การสู้คดี พ.ศ. ๒๕๕๖ แม้นฝ่ายไทยจะมีน้ำหนักเพียงใด ท้ายสุดขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาซึ่งก็คือ ‘ฅน’ ย่อมมีอคติอยู่นั่นเอง จะวางใจมิได้
ข้อที่ผู้แทนไทยชี้เป็น ‘ไม้เด็ด’ คือประมุขกัมพูชา(เจ้าสีหนุ)เสด็จขึ้นทางบันไดหักสู่ปราสาทพระวิหาร (๕ ม.ค. ๒๕๐๖) เห็นรั้วลวดหนามแล้วกล่าวว่า “รั้วลวดหนามนี้อาจลํ้าเข้ามาหลายเมตรแต่ก็ไม่สำคัญ” (ตรวจสอบแล้วลํ้าเพียง ๐.๐๗ ตร.กม.) ปีเดียวกันก็ทรงแถลงไม่มีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารอีก…อันเป็นข้อต่อสู้ทำนองเดียวกับกัมพูชาอ้างว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งศาลใช้เป็นเหตุผลสำคัญตัดสิน ‘ปิดปาก’
แต่ผู้แทนประเทศไทยไม่ยืนยันคำประกาศสงวนสิทธิ์ (ไม่มีอายุความ [๕] นอกจากไทยประกาศยกเลิกเป็นทางการ) ยืนยันเฉพาะเส้นตามมติ ครม. ดังกล่าว
ดังนั้น ‘หลักธง’ ฝ่ายไทยตั้งไว้จึงไม่น่าจะถูกต้อง กล่าวคือทำเสมือนยอมรับอำนาจศาลการเมืองโลกโดยปริยาย (ทั้งที่ประกาศถอนตัว ๕๐ ปีแล้ว) และถ้าศาลตัดสินให้เป็นเนื้อที่ตามมติ ครม. (๑๐ก.ค. ๒๕๐๕) ก็เสมือนฉีกคำประกาศสงวนสิทธิ์จะทวงคืนปราสาทพระวิหารไปโดยปริยาย ซึ่งครั้งต่อ ๆ ไปจะตอกยํ้าการสละสิทธิอธิปไตยอย่างหนักแน่นเพิ่มอีก
แถมมีสัญญาณไมสู่ดี้ระหวา่ งพิจารณาคดี ๑ ใน ๑๕ คณะผู้พิพากษา (อับดุลชาวี อาห์เหม็ด ยูซุฟ) ขอให้คู่กรณีส่งแผนที่ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นข้อกังวลอาจนำไปล็อบบี้เพื่ออ้างเหตุผลตีความกำหนด ‘เฉลี่ย’ พื้นที่ก็เป็นไปได้
ส่วนจะตัดสินให้ถึง ๔.๖ ตร.กม. หรือไม่ นักกฎหมายชี้ว่าการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศเป็นหน้าที่คณะกรรมการปักปันเขตแดน ‘ไม่ใช่’ อำนาจศาล จึงอาจโยนไปให้เจรจาภายใต้กลไกที่มีอยู่ หรือใช้เวทีอาเซียนไกล่เกลี่ย ดังที่เคยทำมาช่วงสู้รบกันนั่นเอง
______________________________________________________
๑ นับแต่เป็นคดีความรอบแรก ประเทศไทยไม่รับแผนที่ภาคผนวก ๑ (มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒ แสน หรือระวางดงเร็ก) แต่กลับพลาดลงนามเอ็มโอยู ๒๕๔๓ รับแผนที่นี้แทบท้าย. รายละเอียดดู : ทางอีศาน เล่ม ๑๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๖.
๒
httpv://www.youtube.com/watch?v=dtpPJwsq3Bw.
๓ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM056WTNNVE0zTUE9PQ==&subcatid=
๔ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000009842
๕ เตช บุนนาค. รายการตอบโจทย์, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๖
httpv://www.youtube.com/watch?v=o7gwwDvNu_U..