บางวิถีผู้ไท ในชาติพันธุ์อีศาน
อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน
นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
มักจะกล่าวกันว่า แผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแผ่นดินของชาติพันธุ์ลาว แท้จริงแล้วยังมีชาติพันธุ์ใหญ่น้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ นับแต่ชาติพันธุ์ญัฮกฺร บรูฮฺ ข่า แสก โส้ กะเลิง กุลา ญ้อ โย้ย เยอ กูย กวย เขมร และโดยเฉพาะชาติพันธุ์ผู้ไท ซึ่งมีประชากรรองลงมาจากชาติพันธุ์ลาว แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่อย่างหลากหลาย จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเรียกรวม ๆ ว่า “ชาติพันธุ์อีศาน” และอาจจะเรียกว่า “ประชาชาติอีศาน” ในโอกาสต่อไป
ประวัติความเป็นมาของชาวผู้ไท วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต มีเอกสารงานวิจัยรองรับไว้จำนวนมาก จึงไม่ยากที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม หากจะนำมากล่าวถึงอีกก็เป็นการฉายหนังซํ้า ข้าพเจ้าจึงได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิตจริงของชาวผู้ไทที่ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
ข้าพเจ้าได้ไปขอความรู้จากนายฤทธิรงค์ ซองศิริ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่, นางสาวพรพรรณ แก้วคำภาปลัดเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่, นางเพ็ญศรี นิลโสม นักวิชาการศึกษาเทศบาลเหล่าใหญ่, นางปานแก้ว แสบงบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขเทศบาลเหล่าใหญ่ และนายพินัย ดอกดู่ เจ้าหน้าที่ประจำเทศบาลเหล่าใหญ่บรรดาท่านทั้งหมดนี้ได้มอบเอกสารและให้ปากคำตามที่สอบถาม ดังต่อไปนี้
คำว่า “เหล่า” แปลว่า ป่า ป่าแห่งนี้กว้างใหญ่บรรพบุรุษจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “เหล่าใหญ่” และต่อมาก็เป็นชื่อตำบล “เหล่าใหญ่” ประกอบด้วยหมู่บ้านหลัก ๆ คือ บ้านเหล่าใหญ่, บ้านดองเหนือ, บ้านคำกั้ง, บ้านกุดฝั่งแดง, บ้านมะนาว, บ้านศรีปทุม, บ้านจอมทอง, บ้านโนนบุปผา และบ้านเลิศสวรรค์ สภาพภูมิประเทศของตำบลเหล่าใหญ่บริเวณทางตอนเหนือเป็นพื้นที่ภูเขา ที่ดอน และที่ราบลุ่ม ส่วนบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับพื้นที่ดอน ที่ตั้งและอาณาเขตตำบลเหล่าใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะห่างประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๙ ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือจรดตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง และตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู ทิศใต้จรดตำบลแจนแลน และตำบลนาขาม อำเภอกุฉินารายณ์ ทิศตะวันออกจรดตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ ทิศตะวันตกจรดตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่มีครัวเรือนทั้งสิ้น จำนวน ๑,๘๒๐ ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น ๗,๓๙๓ คน ชาย ๓,๖๒๐ คน หญิง ๓,๗๗๓ คน ประชากรร้อยละ ๘๕ เป็นชนเผ่าผู้ไท ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ เรื่อยมาตามลำนํ้าโขง แล้วมาขอพักอยู่กับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่เมืองบกเมืองวัง ต่อมาได้อพยพเรื่อยมาตามสายเครือญาติ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ซึ่งใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย รักสันโดษ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือภาษาผู้ไท และประชากรอีกร้อยละ ๑๕ เป็นชาติพันธุ์ลาว มีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เช่นกัน นอกจากการอพยพตามสายเครือญาติแล้ว ยังมีการอพยพด้วยเหตุผลทางการเมืองของชาวผู้ไท คือ การกวาดต้อนเพื่อสะสมกำลังคนระหว่างสยาม ลาว เวียดนาม (สมัยนั้น) หากอาณาจักรได้สะสมกำลังพลไว้มากย่อมได้เปรียบอาณาจักรอื่น ๆ ฉะนั้น จึงมีการกวาดต้อนชาวผู้ไทเข้าสู่อาณาจักรสยามดังนี้
การอพยพครั้งที่ ๑ สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑-๒๓๒๒ เมื่อกองทัพสยามซึ่งมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้นำกองทัพสยามตีหัวเมืองลาวตั้งแต่จำปาศักดิ์ถึงเวียงจันทน์เอาไว้ได้ แม่ทัพสยามได้ให้กองทัพหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ (ญวน เรียก ซือหวี), เมืองมวย ซึ่งเป็นเมืองของชาวผู้ไทดำได้ทั้งสองเมือง แล้วกวาดต้อนชาวผู้ไทดำ (ลาวทรงดำ)เป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี นับเป็นชาวผู้ไทรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย, การอพยพครั้งที่ ๒ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชใน พ.ศ. ๒๓๓๕ กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตกและจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งกรุงเทพฯ กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถงและเมืองพวนซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนชาวผู้ไทดำและลาวพวนเป็นเชลยส่งมากรุงเทพฯ และทรงมีรับสั่งให้ชาวผู้ไทดำไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรีอีกครั้ง, การอพยพครั้งที่ ๓ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ และเกิดสงครามระหว่างสยามกับเวียดนามในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๗๖-๒๓๙๐ มีการตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม ทั้งฝ่ายไทยและเวียดนามต่างกวาดต้อนประชากรในดินแดนลาวมาไว้ในดินแดนของตน
ประชากรในลาวที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ในอาณาจักรสยามจะมีทั้งผู้ไท กะเลิง โซ่ ญ้อ แสก โย้ย ข่า ถูกกวาดต้อนมาไว้ในภาคอีสาน ส่วนลาวพวน ลาวเวียง กวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานทั้งในภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย แถบฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น การอพยพครั้งนี้เป็นการอพยพประชากรครั้งใหญ่ที่สุดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในอาณาจักรสยาม จึงเห็นชาวผู้ไทได้อาศัยอยู่ตามเมืองต่าง ๆ และโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชาวผู้ไทก็ยังคงสืบทอดและอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีของตนไว้จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดนเด่นจนถึงวันนี้
ชาวผู้ไทในเขตเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพรอง คือหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การทอผ้าพื้นเมือง ตัดเย็บเสื้อผ้า แปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น เสื้อเย็บมือ หมอนลายขิด ผ้าห่ม ผ้าถุงหมี่ไหม หมี่ฝ้าย การทอผ้าที่ขึ้นชื่อ คือ การทอผ้าลายเก็บจก ลายขิด และการทอผ้าฝ้าย ผ้าพื้นหลากหลายสี การจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณปัจจุบันก็ยังอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้โดยการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และมีการส่งขายแก่ชุมชนใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
กิจกรรมกลุ่มนำมาซึ่งความสามัคคีและความเข้มแข็งของชาวผู้ไท
การตั้งบ้านเรือน มีการตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบใกล้เชิงเขา แถบเทือกเขาภูพาน ภูโหล่ย ภูนํ้าจั้น ภูถํ้าพระ ภูขี้เสือ ภูไม้ป้อ ภูน้อย ภูดิน ซึ่งเป็นป่าเขาที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารและพืชผักหลายชนิดที่นำมารับประทานได้ ช่วงปลายฤดูหนาว มีการขึ้นภูเขาเก็บผักหวาน ดอกกระเจียว ติดจักจั่น ช่วงฤดูฝน มีพืชผักนานาชนิด หน่อไม้ เห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสัตว์ป่านานาพันธุ์
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ข้าพเจ้าไปชมกลุ่มทอผ้า เสื้อเย็บมือซึ่งเป็นบ้านของคุณใครศรี โสภาคะยัง ณ สถานที่ที่นี่ไม่เพียงแต่สุภาพสตรีมารวมกันทอผ้าและเย็บเสื้อเท่านั้น หากยังมีกลุ่มผู้สูงอายุได้มารวมกันทำงานจักสานอีกด้วย การทอเสื้อ เย็บผ้าและการจักสานนั้น มีบรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องราคาพืชผลไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว ราคายาง ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองอีกด้วย สังเกตเห็นว่าความคิดเห็นที่แสดงออกนั้นต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจนหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียว หรือเป็นมติได้อย่างกลาย ๆ ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีต่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในการเจรจาพาทีกับผู้มาเยือนและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี งานทอผ้า เย็บเสื้อและจักสานเป็นงานทำมือที่ต้องอาศัยความอดทนจนเกิดความประณีต ฟังดูสินค้า (เสื้อตัวหนึ่งหรือสไบผืนหนึ่ง) เหมือนราคาแพง แต่กว่าจะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัยเวลาพอสมควรและถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการพึ่งพาตนเอง
เราเดินทางต่อไปยังภูน้ำจั้นเนินเขาที่ไม่สูงนักอยู่ในเขตพื้นที่บ้านดงเหนือ นํ้าจั้น (นํ้าซับ) มีชื่อกล่าวขานตามภาษาถิ่นว่า นํ้าจั้น นํ้าจั้นเป็นแหล่งนํ้าธรรมชาติที่มีนํ้าไหลใสสะอาดออกมาจากซอกหินลงสู่ห้วยยางและลำพะยังตลอดปี เสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวตำบลเหล่าใหญ่ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ที่นี่เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์จนชาวบ้านเรียกว่า “เค็ด” เคยมีบุคคลไปเก็บเกล็ดปลามาที่บ้าน นอนฝันคืนแรกบอกว่า “ให้เอาเกล็ดปลาโบราณไปคืน” แต่ก็ไม่เอาไปคืน ฝันติดต่อกันอย่างนี้ ๓ คืนก็ยังไม่เอาไปคืน จนกระทั่งนอนไหลตายในคืนต่อมา แต่บริเวณที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่มีการสร้างอาคารหรือศาลและทำพิธีอัญเชิญให้สิ่งศักดิ์สิงสถิตอยู่ คงมีแต่อาคารของพระธุดงค์ แต่แล้วพระธุดงค์ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะ “เค็ด” นั่นเอง
นํ้าจั้นที่ภูนํ้าจั้น ด้านทิศเหนือของบ้านดงเหนือ ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์บริเวณภูนํ้าจั้นที่มีการขุดพบซากปลาเลปิโดเทส
ซากปลาเลปิโดเทสเก็บไว้ที่วัดโพนสวาง อ.เขาวง
บริเวณภูนํ้าจั้น มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์คนโบราณเล่าขานว่าเป็นเกล็ดงูทรวง ต่อมามีการค้นพบ โดยพระอาจารย์ศักดิ์ดา ธัมมรโต เจ้าอาวาสวัดพุทธบุตร บ้านโพนสวาง อำเภอเขาวง ตรวจสอบเบื้องต้นโดย ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยา เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ พบว่า เป็นซากปลาโบราณ มีชื่อเรียกปลาเลปิโดเทส อายุประมาณ ๑๕๐ ล้านปีต่อมาเปลี่ยนชื่อปลาตามชื่อผู้ค้นพบ คือ “ไทยอิกธีส พุทธบุตรเอนซีส ปลาสายพันธุ์ไทย แห่งวัดป่าพุทธบุตร” ปลาเลปิโดเทสที่พบมักอยู่เป็นคู่ ๆ ตัวหนึ่งลำตัวเรียวยาว ตัวหนึ่งลำตัวป้าน ตัวที่เรียวอาจเป็นตัวผู้ ตัวที่ป้านอาจเป็นตัวเมีย อาจเป็นไปได้ที่เราได้ค้นพบพฤติกรรมการครองคู่ของปลาที่แม้ตายก็ขออยู่คู่กัน หรือเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น
ในบริเวณที่เป็นภูนํ้าจั้นในปัจจุบันนี้ เมื่อ ๑๕๐ ล้านปีก่อนเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มาก นํ้าลึกกว่า ๓ เมตร มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากบึงที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับเกิดความแห้งแล้งขึ้นฉับพลัน นํ้าแห้งลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ที่เดินหรือคลานได้พากันอพยพไปที่อื่น ส่วนปลาต่าง ๆ ก็พยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด โดยมุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้โคลนก้นบึงแต่ก็ต้องตายลงทั้งหมดเพราะท้ายที่สุดแล้วนํ้าได้เหือดแห้งไปสิ้น หลายพันปีต่อมาพื้นที่นี้ทรุดตัวลงไปเรื่อย ๆ กลายเป็นท้องแม่นํ้า เกิดกระบวนการสะสมตะกอนต่อเนื่องตามมาด้วยการยกตัวของเทือกเขาภูพานบริเวณ อ.เขาวง บีบดันจนชั้นหินมีลักษณะเป็นโครงสร้างรูปประทุนซึ่งมีปลายเรียวทั้งสองข้างมุดลงใต้ดินคล้าย ๆ กับเรือแจวที่มีหลังคาประทุนเรียกกันว่า โครงสร้างรูปกุฉินารายณ์ ต่อมาบริเวณตอนกลางที่เสมือนหลังคาประทุนที่โป่งขึ้นมาถูกกัดเซาะจนกลายเป็นหุบเขาทำให้เห็นวงของภูเขารอบด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชั้นหินที่ออกจากศูนย์กลาง
อัตลักษณ์ประการหนึ่งของชาวผู้ไทที่ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึงก็คือ “ประเพณีการแต่งงาน” ชาวผู้ไทแต่เดิมไม่นิยมแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ แต่จะแต่งงานในหมู่ชาติพันธุ์เดียวกันและที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน สิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ความเป็นชาวผู้ไทนั้นรักสงบ สันโดษ ไม่สุงสิงหรือสร้างสัมพันธภาพกับสังคมภายนอก ประสบการณ์ของชาวผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนหรือถูกคุกคามจากชาติพันธุ์อื่นที่เข้มแข็งกว่า ล้วนเป็นภาพอันทารุณ โหดร้ายยากลำบาก จึงเป็นภาพความทรงจำที่สืบทอดกันมาเป็นสาย ขณะเดียวกันชาวผู้ไทมีวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามของตนอยู่แล้ว การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของตนกับวัฒนธรรมอื่น อาจทำให้ความแข็งทางวัฒนธรรมลดความเข้มข้นลงได้และอาจทำให้มีปัญหาต่อการปรับตัวของคู่สามีภรรยา ถ้าแต่งงานกับบุคคลในหมู่บ้านเดียวกันนั้น ต่างฝ่ายต่างเห็นกันมาตั้งแต่เป็นเด็กและอยู่ในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ (อิตาอินาย) จนรู้นิสัยใจคอกันดีว่าเป็นคนอย่างไร เหมาะที่จะเป็นเขย เป็นสะใภ้หรือไม่ และเมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่, อิตาอินายแล้วก็สามารถปฏิบัติตามได้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนไม่หย่าร้างหรือทิ้งครอบครัวไปที่อื่นเสีย จารีตประเพณีการแต่งงานนั้น เจ้าบ่าวจะต้องสร้าง “เฮินสู่” หรือ “เรือนหอ” ที่บริเวณบ้านของเจ้าสาว หากเป็นเจ้าบ่าวที่อยู่ในหมู่บ้านก็สามารถสร้าง “เฮินสู่” ได้ง่าย เพราะมีญาติพี่น้องและมิตรสหายมาช่วยเหลือ อาจจะช่วยทั้งแรงงานและแรงทรัพย์ เช่น ช่วยบริจาควัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ภูมิปัญญาการสร้าง “เฮินสู่” นี้ เป็นการรับประกันถึงความมั่นคงของครอบครัวใหม่ ค่าสินสอดทองหมั้นนั้นไม่แพงนัก แต่เมื่อแต่งงานแล้วคู่สามีภรรยาใหม่ก็มีบ้านอยู่อาศัยทันที คือ เจ้าสาวจะออกจากเรือนพ่อแม่ไปอยู่ “เฮินสู่”กับสามี ซึ่งปลูกอยู่ในอาณาเขตใกล้เคียงกันนั่นเอง หากเจ้าบ่าวเป็นคนหมู่บ้านอื่นหรือชาติพันธุ์อื่น ไม่เป็นที่คุ้นเคยหรือไม่มีใครรู้จักมาก่อนและเจ้าบ่าวก็ไม่รู้จักมักคุ้นกับใครในหมู่บ้านนั้นเหมือนกันก็อาจยากลำบากในการสร้าง “เฮินสู่” คือ ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร แม้เจ้าบ่าวจะมีเงินทองมากมายก็ตาม
อีกประการหนึ่ง จารีตประเพณีการแต่งงานของผู้ไทนั้น จะมีบุคคลสำคัญเหนือกว่าพ่อแม่ของตนเป็นคนดูคู่สามีภรรยา บุคคลสำคัญนั้นเรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องมี “พ่อล่ามแม่ล่าม” หากเป็นคนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันก็หา “พ่อล่ามแม่ล่าม” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าเจ้าบ่าวเป็นคนบ้านอื่นหรือชาติพันธุ์ก็อาจหา “พ่อล่ามแม่ลาม” ไม่ได้จนฝ่ายเจ้าสาวต้องหาให้ แต่การรับเป็น “พ่อล่ามแม่ล่าม” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากเหมือนการรับลูกของคนอื่นมาเป็นลูกของตนเอง เพราะ “พ่อล่ามแม่ล่าม” คือพ่อแม่คู่ที่ ๒ แต่สำคัญกว่าพ่อแม่คู่ที่ ๑ คือจะเป็นผู้ดูแล ประคับประคอง อบรมสั่งสอน แนะนำครอบครัวใหม่จนกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” จะล้มหายตายจากนั่นเอง คุณสมบัติพ่อล่ามแม่ล่ามนั้นต้องมีอายุมากกว่าเจ้าบ่าว ไม่เป็นญาติของเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาว เป็นบุคคลที่ครองรักครองเรือนมาอย่างงดงามและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ เจ้าบ่าวเปรียบเสมือนลูกชายแท้ ๆ ของ “พ่อล่ามแม่ล่าม” ส่วนเจ้าสาวก็เปรียบเสมือนเป็นลูกสะใภ้ของ “พ่อล่ามแม่ล่าม” สรุปว่า เมื่อชาวผู้ไทแต่งงานแล้ว แต่ละฝ่ายเหมือนมีพ่อ ๒ คน มีแม่ ๒ คน ฉะนั้น การหย่าร้างในครอบครัวจึงเป็นไปได้ยากมาก หากสามีภรรยามีปากเสียง ระหองระแหง ไม่ลงรอยกันด้วยเรื่องใดและมีการ “เว้าความหรือว่าความ” โดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นอิตาอินาย หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คู่สามีภรรยาต้องผ่านด่านพ่อแม่แท้ ๆ ของตัวเองเสียก่อน จากนั้นจึงผ่านด่าน “พ่อล่ามแม่ล่าม” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนสรุปว่า “ลูกชายและลูกสะใภ้เชื่อฟังพ่อล่ามและแม่ล่ามยิ่งกว่าพ่อแม่แท้ ๆ ของตนเสียอีก” เมื่อ “พ่อล่ามแม่ล่าม”ตัดสินอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามอย่างนั้น ฉะนั้น บุคคลที่เป็น “พ่อล่ามแม่ล่าม” จึงเป็นบุคคลที่สำคัญมาก เป็นผู้ที่ครองชีวิตอยู่ในศีลธรรมอันดี เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป หากเป็นคนไม่มีศีลธรรม ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีก็จะไม่มีใครเลือกมาเป็น “พ่อล่ามแม่ล่าม” แต่การแต่งงานของชาวผู้ไทในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชาติพันธุ์ผู้ไทเปิดตัวเองยอมรับโลกภายนอกมากขึ้น จึงมีการแต่งงานกับบุคคลภายนอกชาติพันธุ์ แต่ประเพณีการแต่งงานก็ยังยึดถืออยู่อย่างเคร่งครัด
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะกล่าวถึงชาติพันธุ์ผู้ไทที่กระจายกันอยู่ถึง ๙ จังหวัดในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาอันหลากหลาย และท้าทายให้ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าในระดับลึกลงไปเพื่อให้เข้าถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของชาวผู้ไท ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณบุคคลสำคัญของชาวผู้ไทที่ให้ข้อมูลนำเสนอ ณ โอกาสนี้