ปราสาทพนมรุ้ง เทพสถานอีสานใต้
สมัย “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ยังสถิตอยู่ที่ชิคาโก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมที่ประดิษฐานดั้งเดิม จึงอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้าปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
นักโบราณคดีระบุว่าชื่อมาจากคำว่า “วฺนํ รุง” (อ่านว่า วนัมรุง) คำว่า “วนัม” ตรงกับคำว่า “พนม” ในภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาส่วนคำว่า “รุง” หมายถึง ความรุ่งเรือง ใหญ่โตกว้างขวาง รวมความแล้ว เราอาจแปลได้ว่าเขาใหญ่ ภูเขาที่เจริญรุ่งเรือง
ยังมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า พนมรุ้งเดิมเป็นภูเขาไฟ น่าจะหมายถึงภูเขาที่มีเปลวไฟพุ่งออกมาก็ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานยังไม่มีข้อยุติใด ๆ
นักโบราณคดีถึงกับลงมติใจว่า ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นศาสนบรรพตที่งามที่สุดในประเทศไทย
คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะองค์ปราสาทมีความสวยงามสมบูรณ์ทั้งตัวอาคาร ประวัติศาสตร์ที่นักโบราณคดีสืบค้น และอาณาบริเวณยังมีทิวทัศน์สวยงามเหมาะกับการเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง ช่วงเวลาที่คนไปเยี่ยมเยือนกันมาก ๆ นั้น คือวันที่พระอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทางทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตกปรากฏการณ์นี้ในแต่ละปีมี ๔ ครั้งคือ ในเดือนมีนาคม เมษายน กันยายน และตุลาคม ในจำนวน๔ ครั้งนี้ บางเดือนอาจไม่ชัดเจนสวยงาม เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ
แต่ละปี จังหวัดบุรีรัมย์จะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง” ในเดือนเมษายน เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีโบราณอันเป็นเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไป เป็นงานใหญ่ที่คนให้ความสำคัญมาก
นั่นเป็นเรื่องของทางการ ส่วนที่ไม่เป็นทางการคือ หากเราไปเที่ยววันธรรมดา บริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันตก เราจะพบแม่ค้าชาวบ้านนำเอาพืชผลตามฤดูกาลมาขาย นับเป็นบรรยากาศที่ย้อนอดีตได้ดียิ่ง ผลไม้ป่าเป็นต้นว่า ตะคร้อ รสแสนจะเปรี้ยว แต่เมื่อได้น้ำปลาหวานฝีมือปรุงดี ๆ เราค่อย ๆ แกะตะคร้อให้เผยเนื้อสีเหลืองเข้ม ๆ ออกมา จิ้มน้ำปลาหวานเบา ๆ ส่งเข้าปากเคี้ยวช้า ๆ ความเปรี้ยวประสานกับความหวาน นอกจากได้รสชาติของตะคร้อแล้วคนบ้านนอกอย่างผู้เขียนยังได้ดื่มรสชาติวันเยาว์ไปด้วย สมัยเด็ก ๆ แม้ตะคร้อจะเปรี้ยวเวลาส่งเข้าปากต้องหลับตาปี๋อย่างไร แต่ก็ยังเป็นของดีที่หากินได้อยู่นั่นเอง
ผ่านลานขายของชาวบ้านเข้าไปในแนวของเสานางเรียง บ้างเรียกว่า“เสานางจรัล” สองข้างทางเดิน ฝีมือกรมศิลปากรบูรณะได้อย่างสวยงาม ไต่บันไดขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็เข้าสู่องค์ปราสาท ความหมายของ “ปราสาท” ที่สร้างไว้จุดประสงค์คือใช้เป็น เทวสถานของศาสนาฮินดูหรือที่เราเรียกกันถนัดปากว่า “พราหมณ์”
คติความเชื่อในการสร้างปราสาท แท้จริงจำลองมาจาก “เขาไกรลาส” ที่สถิตของทวยเทพในศาสนาพราหมณ์ ไม่ว่าจะเป็นพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ในความเชื่อของพราหมณ์ เหล่าทวยเทพท่านสถิตอยู่บนเขาไกรลาส ดังนั้น เมื่อคนนับถือศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ ต้องการสร้างสถานที่ให้เทพที่นับถือสถิตก็ต้องจำลองเขาไกรลาสลงมาไว้บนโลก
ปราสาทขอมโบราณในศาสนาพราหมณ์แม้จะจำลองมาจากเขาไกรลาส แต่มักสร้างไว้บนเขาด้วยความเชื่อว่า เขาคือส่วนที่สูงบนโลกสามารถเชื่อมต่อกับทวยเทพได้ จึงเรียกขานกันว่า ศาสนบรรพต
เมื่อปราสาทในศาสนาพราหมณ์คือตัวแทนของเขาไกรลาส รูปจำหลักต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาประดับ ก็แล้วล้วนแต่เป็นสิ่งที่เชื่อว่าอยู่ที่เขาไกรลาสด้วย ไม่ว่าจะเป็นนางอัปสรผู้มีหน้าที่ฟ้อนรำให้เหล่าทวยเทพชื่นชม คนธรรพ์ผู้มีหน้าที่บรรเลงดนตรี และที่สำคัญที่ควรสังเกตประการหนึ่งคือ ปราสาทองค์ไหนมีเทพใดเป็นประธาน จะต้องมีเครื่องหมายแสดงความเกี่ยวข้องกับเทพองค์นั้น ๆ ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน
ปราสาทไหนมีเทพใดเป็นประธาน ขึ้นอยู่กับพราหมณ์ หรือกษัตริย์ผู้สร้างว่า นับถือศาสนาพราหมณ์ในลัทธิใด ถ้าเป็นไศวนิกายลัทธินี้นับถือพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นใหญ่ปราสาทที่สร้างขึ้นก็ต้องมีพระอิศวรเป็นประธาน ถ้านับถือไวษณพนิกาย ลัทธินี้นับถือพระนารายณ์ หรือพระวิษณุเป็นใหญ่ ปราสาทที่สร้างก็ต้องมีพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นประธาน
สำหรับปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระอิศวร ในฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อธิบายเรื่องนี้ว่า “ปราสาทพนมรุ้งจัดเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยดูได้จากหลักฐานทางศิลปกรรมสำคัญ ที่เป็นรูปเล่าเรื่องทางศาสนา โดยเฉพาะที่ทับหลังด้านหน้าของห้องครรภคฤหะนั้น เป็นรูปของฤๅษี ๕ ตน รวมทั้งรูปของพระอิศวรในพรตของฤๅษี ซึ่งสัมพันธ์กับจารึกที่กล่าวถึง
นเรนทราทิตย์ที่มาบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษี ณ ที่แห่งนี้ รวมทั้งในจารึกหลายหลักยังได้กล่าวถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ในลัทธิไศวนิกายอีกด้วย”
ชัดเจนแล้วว่า เทพผู้เป็นใหญ่แห่งปราสาทหินพนมรุ้งคือ พระอิศวร
ด้วยเหตุนี้เองภาพจำหลัก นารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงต้องมาบรรทมอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้า ไม่ได้สถิตอยู่ในจุดสำคัญขององค์ปราสาท