คนละเรื่อง

“ทองรัตน์” ลูกเขยพ่อเฒ่าละ มีถิ่นกำเนิดอยู่ภาคกลาง แต่มาบรรจุเข้ารับราชการอยู่จังหวัดทางภาคอีสาน หนุ่มทองรัตน์ได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวอีสาน เกี่ยวกับความเป็นอยู่และวิถีทางวัฒนธรรม จนสามารถปรับตัวเข้ากับครอบครัว และชาวบ้านในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี จนรู้ถึงกึ๋นของคนอีสานว่า “จั๊กแหล่ว แล้วแต่หมู่ กูว่าแล้ว!” เพราะทองรัตน์เคยถามพ่อเฒ่าละ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มักจะได้รับคำตอบจากพ่อเฒ่าละว่า “จั๊กแหล่ว” อยู่เสมอ…บางครั้งก็มีเพื่อนบ้านหลายคน มาปรึกษาขอความเห็นแล้วแต่บังเอิญว่างานนั้นเกิดมีปัญหา พ่อเฒ่าละก็จะซ้ำเติมว่า “กูว่าแล้ว!” ทุกที…

 

วันหนึ่ง พ่อแม่ลูกสาวและลูกเขยอยู่กัน พร้อมหน้า ก็คุยกันตามประสาคนในครอบครัว อยากพูดอยากคุยเรื่องใดก็แสดงความคิดเห็น หรือสอบถามกัน ทองรัตน์ได้คุยถึงความแตกต่าง ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นของคนภาคกลาง ว่ามีความ ต่างจากผู้คนทางอีสาน ที่มีการปฏิบัติตนตาม “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” อยู่หลายอย่าง ทองรัตน์ เปรยกับแม่ยายว่า

 แม้ผมเป็นคนภาคกลาง อยู่จังหวัดสระบุรี แต่ผมว่าประเพณีวัฒนธรรมของชาวอีสานนี่ก็ดีนะ มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง คนอีสานหนักเอาเบาสู้ ผู้รู้ผญา มีอารมณ์ขัน รักมั่นท้องถิ่นถวิลวัฒนธรรม นักแก้วิกฤตเป็นโอกาส”

 พ่อเฒ่าละได้ยินลูกเขยอธิบายเป็นเชิง วิชาการได้อย่างแจ่มชัด ก็นึกชมอยู่ในใจว่าได้ ลูกเขยดี มีวิสัยทัศน์ แล้วลูกเขยทองรัตน์ก็ถาม แม่เฒ่าอ่อนทาบ้าง

 

“แม่ พื้นเพแม่เป็นคนจังหวัดไหนครับ?”

แม่เฒ่าอ่อนทาตอบ

“แม่เป็นคนตาก!”

ทองรัตน์หันหน้าไปถามพ่อเฒ่าละบ้าง

“พ่อเฒ่าล่ะครับ?”

พ่อเฒ่าละไม่ทันได้ตั้งตัว ได้ยินแว่ว ๆ ว่า

แม่เฒ่าอ่อนทาเป็นคนตาก ก็ตอบไปทันทีว่า

“กูเป็นคนซัก! มึงก็รู้ ไม่น่าถาม!”

Related Posts

แหล่งตัดหินสร้างประสาทของขอมโบราณในอีสานใต้
“หมอลำหลวง” เมืองอุบลฯ
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com