‘ไทย’ มีบรรพชนเป็น ‘ชาวเขา’ บริเวณจีนตอนใต้ เรียก ‘โซเมีย’ เหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ รวบรวมมารายงาน
‘ไทย’ มีบรรพชนเป็น ‘ชาวเขา’ บริเวณจีนตอนใต้ เรียก ‘โซเมีย’ เหนือสุดของ อุษาคเนย์โบราณ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ รวบรวมมารายงาน
แผนที่แสดงขอบเขตบริเวณ “โซเมีย” (ZOMIA) หรือ ที่สูงแห่งเอเชีย และพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีนอันเป็นหลักแหล่งของไท-ไต-ลาว-ไทย (ปรับปรุงตามคำแนะนำของ นิธิ เอียวศรีวงศ์) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือล้ำเข้าไปถึงเทือกเขาหิมาลัย ส่วนด้านเหนือไม่เกินแม่น้ำแยงซี และไม่ถึงมณฑลเสฉวน จะเห็นว่าห่างไกลมหาศาลกับเทือกเขาอัลไตที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนมานานมาก ขณะเดียวกันน่านเจ้าซึ่งอยู่เขตมณฑลยูนนานที่เคยถูกเหมาว่าเป็นไทยก็ “ไม่ไทย”
ทางใต้ของจีนทุกวันนี้เมื่อหลายพันปีมาแล้วไม่เป็นดินแดนจีน แต่เป็นดินแดนทางเหนือของอุษาคเนย์โบราณ
อาจพูดอีกอย่างหนึ่งได้อีกว่า “อุษาคเนย์สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว มีดินแดนเหนือสุดอยู่สูงขึ้นไปถึงจีนภาคใต้ปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่มณฑลยูนนาน, มณฑลกวางสี, มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งล้วนอยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซี”
ไทย (หมายถึงคนในภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต) มีบรรพชนกลุ่มหนึ่งเป็น “ชาวเขา” บริเวณที่เรียกโซเมีย (ZOMIA) ซึ่งเป็นที่สูงแห่งเอเชีย อยู่จีนตอนใต้ หรือเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณ ซึ่งเป็นพื้นที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่โตมาก พบหลักฐานโบราณคดีว่ามีวัฒนธรรมร่วมกับอุษาคเนย์ โดยมีแผนที่แสดงขอบเขตคร่าวๆ ของโซเมียตามคำอธิบายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
บรรพชนไทยกลุ่มนี้เมื่อหลายพันปีมาแล้วไม่เรียกตนเองว่า “ไทย” แต่เรียกกลุ่มของตนด้วยชื่อต่างๆ (ทางวัฒนธรรม) เช่น ลื้อ, จ้วง, ต้ง, ผู้นุง, ผู้ไท, ลาว ฯลฯ โดยพูดตระกูลภาษาเดียวกัน คือ ไท-กะได หรือ ไท-ไต แล้วถูกจีนเหยียดเหมารวมเป็นพวกป่าเถื่อน เรียก “เยว่”
กระทรวงวัฒนธรรม กับ กระทรวงศึกษาธิการ ควร “อัพเดต” ข้อมูลพร้อมหลักฐานโบราณคดีและมานุษยวิทยา เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดกว้างอย่างสากลโดยไม่ใช้อำนาจนิยมครอบงำและบังคับให้เชื่อประวัติศาสตร์แห่งชาติที่เสกสรรปั้นแต่งแบบ “นิยาย” กีดกั้นคนกลุ่มอื่นซึ่งมีมากอย่างที่ผ่านมา
คนป่าเถื่อนร้อยจำพวก มีไท-ไต บรรพชนคนไทย
บริเวณทางใต้ของจีน หรือ ทางเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นหลักแหล่งของคนป่าเถื่อนที่จีนเรียก “เยว่” (ออกเสียงคล้าย เหยอะ หรือ แหยะ ตรงกับเหวียดในชื่อเวียดนาม ตำนานไทย เรียก “อวด” แต่ในโคลงท้าวฮุ่งเรียก “แย้”)
เยว่เป็นชื่อรวมๆ เรียกคนหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน จึงถูกจีนเรียก “ไป่เยว่” หมายถึง เยว่ร้อยเผ่า หรือเยว่ร้อยจำพวก ประกอบด้วยคนต่างภาษาที่พูดตระกูลภาษาต่างๆ กัน ได้แก่ จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต, ม้ง-เมี่ยน, มอญ-เขมร, จ้วง-ต้ง หรือ ไท-ไต ฯลฯ
[กว่าจะเป็นไทย คนในภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต กว่าจะเรียกตนเองว่าไทย ต้องใช้เวลาอีกนาน และต้องผสมกลมกลืนกับบรรพชนคนกลุ่มอื่นอีกมาก ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ได้แก่ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, จีน และ ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่รัฐอยุธยา]
เยว่ร้อยเผ่า “ไม่ฮั่น” พบหลักฐานสนับสนุนหลายอย่างทั้งเอกสาร, เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากทองสำริด, พิธีกรรมความเชื่อจากภาพเขียนบนเพิงผา, และอื่นๆ
เอกสารจีน “หมานซู” เล่าเรื่องคนป่าเถื่อน “ไม่ฮั่น”
เอกสารจีน “หมานซู” แต่ง พ.ศ. 1410 กรมศิลปากรแปลเป็นภาษาไทย แล้วพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2512
เอกสารจีนเล่มสำคัญชื่อ “หมานซู” แต่งเป็นภาษาจีน พ.ศ. 1410 (ตรงกับไทยสมัยวัฒนธรรมทวารวดี) บอกเล่าว่าคนพื้นเมืองป่าเถื่อนหลายจำพวกซึ่งไม่ใช่ฮั่น อยู่ทางใต้ของจีน ตั้งแต่มณฑลยูนนานถึงฝั่งทะเลสมุทรอุษาคเนย์
ดังนี้ เท่ากับเป็นที่รู้กันนับพันปีแล้วว่าทางใต้ของจีน “ไม่จีน” และ “ไม่ฮั่น” ซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่ของคนในวัฒนธรรมอุษาคเนย์
จีนเรียกตนเองว่า “ฮั่น” มีดินแดนอยู่ทางเหนือหรือบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห ส่วนคนกลุ่มอื่นที่ “ไม่ฮั่น” ถูกจีนเหมารวมเรียกด้วยถ้อยคำดูถูกเป็นพวกคนป่าคนเถื่อนว่า “ฮวน”, “หมาน”, “เยว่” ฯลฯ
กลองทองของคนป่าเถื่อนทางใต้
กลองทอง 2,500 ปีมาแล้ว ในพิพิธภัณฑ์คุนหมิง มณฑลยูนนาน มีประติมากรรมสำริดแสดงพิธีกรรมบูชายัญแม่ข้าวเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ก่อนฤดูทำนา
กลองทอง 2,500 ปีมาแล้ว เป็นเครื่องโลหะในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ซึ่ง “ไม่จีน” หรือ “ไม่ฮั่น” พบมากในมณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสี (ต่อเนื่องถึงเวียดนาม)
จีนเรียกกลองทองว่า “หนานถ่งกู่” หมายถึง กลองของพวกป่าเถื่อนทางใต้
กลองทองเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาผีใช้ตีในพิธีกรรมเรียกขวัญของคน [กลองนี้เรียกหลายชื่อ เช่น กลองทองแดง, กลองทองสำริด แต่เฉพาะในไทยเรียกกลองมโหระทึก (โดยขอยืมชื่อเรียกกลองอินเดียในกฎมณเฑียรบาล)]
นับถือหมาและกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
หมา, กบ (คนทำท่ากบ) เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพชนเพื่อขอฝน บนภาพเขียนผาลาย 2,500 ปีมาแล้ว ที่มณฑลกวางสี
หมาและกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคนหลายเผ่าพันธุ์ทางใต้ของจีน จึงพบภาพเขียนขนาดมหึมาบนเพิงผามากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ที่มณฑลกวางสีและพื้นที่ต่อเนื่องถึงไทย
หมาเป็นสัตว์นำทางขวัญของคนตายขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้า แล้วนำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงไปให้มนุษย์ปลูกกิน
กบเป็นสัตว์นำน้ำฝนจากฟ้าให้มนุษย์ทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล
ภาพเขียนและความเชื่อเหล่านี้พบในอุษาคเนย์ รวมทั้งไทย
ไทย-จีน ติดต่อกัน 2,500 ปีมาแล้ว
ไท-ไต บรรพชนกลุ่มหนึ่งของไทยหลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของเยว่ซึ่งใกล้ชิดจีน ด้วยเหตุดังนั้นวัฒนธรรมจีนจำนวนหนึ่งจึงถ่ายทอดผ่านเยว่สู่ไท-ไต สืบเนื่องถึงลาวและไทยทุกวันนี้ เช่น หม้อสามขา, เครื่องสำริด, ความเชื่อขวัญ, แม่ปีลูกปี เป็นต้น พบในไทย
(ซ้าย) หม้อสามขา วัฒนธรรมฮั่นลุ่มน้ำฮวงโหในจีนภาคตะวันออก ไม่เกิน 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบครั้งแรกที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันพบมากตั้งแต่ทิวเขาทางทิศตะวันตก ต่อเนื่องลงไปภาคใต้ของไทย และทางเหนือของมาเลเซีย (ขวา) ภาชนะสำริดวัฒนธรรมฮั่น ราว 2,000 ปีมาแล้ว พบที่ อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ [ภาพจากหนังสือ เมืองราดฯ ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555 หน้า 74]
เชื่อเรื่องขวัญ (ในศาสนาผี) คล้ายคลึงกับจีนเชื่อเรื่องหวั่น (กวางตุ้ง), ฮุ้น (แต้จิ๋ว) [พระยาอนุมานราชธน อธิบายในหนังสือไทย-จีน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2479)]
ปุ่มนูนมีหลายแฉกเป็นรูปจอมขวัญบนกลางกระหม่อมของคน อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ
[ภาพกลองทอง (มโหระทึก) พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร]
แม่ปีลูกปี ในล้านนาได้ต้นแบบจากปฏิทิน “กานจือ” ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว (คำอธิบายโดยสรุปของ เจีย แยนจอง นักปราชญ์จีนเรื่อง ไท-ไต) แม่ปี หมายถึง ศก มี 10 ศก ได้แก่ กาบ, ดับ, ลวาย, เมิง, เปิด, กัด, กด, ลวง, เต่า, ก่า ลูกปี หมายถึง นักษัตร มี 12 นักษัตร ได้แก่ ใจ้, เป้า, ยี่, เม้า, สี, ใส้, สง้า, เม็ด, สัน, เล้า, เส็ด, ไก๊ [ปีนักษัตรทางภาคกลาง เรียกชื่อปีด้วยหลายภาษา เช่น ชวด (ภาษาจีน), ขาล (ภาษาเขมร), จอ (ภาษากุย) เป็นต้น]
โซเมีย (ZOMIA) “ที่สูงแห่งเอเชีย” หลักแหล่งของพวกไท-ไต จากบันทึกของ นิธิ เอียวศรีวงศ์
“ที่สูงแห่งเอเชีย” เป็นพื้นที่สูงกว้างใหญ่ไพศาลกลางทวีปเอเชียค่อนมาทางใต้ จากด้านตะวันตกของเวียดนาม (และย้อยลงมาในกัมพูชา) ไปจนถึงด้านตะวันออกของอินเดีย รวมรัฐเล็กรัฐน้อยในเทือกหิมาลัยด้วย มีพื้นที่มากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร และอยู่ในระดับความสูงประมาณ 300 เมตรเหนือน้ำทะเลขึ้นไป
แต่เมื่อพูดถึงผู้คนซึ่งอยู่ในที่สูงแห่งนี้ (เช่นเมื่อเรียกดินแดนนี้ว่า Zomia – มาจากคำ Zomi ในภาษาทิเบต-พม่า แปลว่า ประชากรบนที่สูง) ก็มักไม่นับรวมเสฉวน ซึ่งถูกผนวกเข้าไปในจักรวรรดิจีนมานานแล้ว และไม่รวมรัฐในเทือกเขาหิมาลัย เพราะไม่มีประวัติที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนบน Zomia อื่นๆ
———-
“ที่สูงแห่งเอเชีย” นี้มีชื่อเสียงขึ้นเพราะงานศึกษาของ James C. Scott ในเรื่อง “ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง” (คนบนที่สูงในพื้นที่นี้ ตั้งใจจะไม่อยู่ในรัฐ และต้องใช้ศิลปะหลายอย่างเพื่อให้รัฐ “อ่าน” เขาไม่ออก) เขาเรียกพื้นที่นี้ว่า Zomia (Zomi เป็นคำในภาษาทิเบต-พม่า แปลว่าประชากรซึ่งอยู่บนที่สูง) ตามอย่างนักภูมิศาสตร์เยอรมันคนหนึ่ง เพราะมันตรงกับประเด็นของเขาคือคนบนพื้นที่สูง
———-
พวกที่ถูกจีนเรียกว่าเยว่ รวมทั้งพวกไท-ไตด้วย ต่างเป็นประชากรบนที่สูง หรือ โซเมียนี้ (เราเป็นชาวเขาอีกประเภทหนึ่งเกือบตลอดประวัติศาสตร์ของเรา) รัฐที่ตั้งอยู่ใต้พื้นที่สูงนี้ นับตั้งแต่สุโขทัยลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ล้วนตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่แปลกปลอมสำหรับคนไท-ไต หากไม่มี “ครู” อันได้แก่ แขก, มอญ, เขมร, มลายู, พม่า, จีน, ฯลฯ พวกไท-ไตไม่น่าจะมีอำนาจขึ้นมาในดินแดนอันเป็นที่ราบตรงนี้ได้เลย ถึงมีก็ไม่น่าจะรักษาต่อมาได้เป็นเวลานานๆ
นวัตกรรมของไท-ไต ในโซเมีย
[จากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559 หน้า 38-40]
พวกไท-ไตสร้างนวัตกรรมขึ้นสองอย่างใน Zomia
หนึ่งคือ นาดำ ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มชนอื่นๆ บนที่สูงของ Zomia
ทางสังคม นาดำลดการอพยพเคลื่อนย้ายลง สะดวกที่จะจัดองค์กรทางสังคมที่จะเพิ่มกำลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกตน
ทางการเมือง นาดำเอื้อประโยชน์ต่อรัฐ เพราะเก็บส่วย (ทั้งผลผลิตและแรงงาน) ได้ง่าย
สองคือ เครือข่ายทางการเมืองระดับที่เหนือชุมชน
ในตำนานของพวกไตในสิบสองจุไท พวกเจ้าเดินทางร่อนเร่ไปสร้าง “เมือง” ขึ้นตามหุบเขา แต่ “เมือง” ในตำนานก็ไม่ใช่หน่วยทางการเมืองใหม่แท้ๆ ในสิบสองจุไท เพราะพวกเจ้าได้พบเมืองของชนชาติอื่น ต้องรบกันบ้าง ต้องแต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองเหล่านั้นบ้าง แสดงว่ามีหน่วยทางการเมืองเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ———-
ความเป็นหน่วยทางการเมืองบนที่ราบหุบเขา ซึ่งมีอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมสูง ทำให้พวกไท-ไตสามารถขยายวัฒนธรรมของตนไปสู่ชนชาติอื่นบนที่สูงได้ มีผู้คนอพยพโยกย้ายลงมาอยู่ในเมืองของพวกไท-ไตมากขึ้น ทำให้เมืองของพวกไท-ไตเป็นแหล่งชุมชนประชากรที่หนาแน่นกว่าชุมชนของชนชาติอื่นบนที่สูง จึงเหมาะจะเป็นตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องใช้ภาษาไท-ไตเป็นภาษากลางสำหรับกิจกรรมนั้น
มีคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต พูดภาษาไตได้หรือพอรู้เรื่อง ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้ประเพณีพิธีกรรมแบบไต เพื่อเพิ่มเกียรติยศให้แก่ตนเองจำนวนมากขึ้น จนทำให้กลุ่มไตกลายเป็นกลุ่ม “ชาติพันธุ์” ที่ใหญ่ แต่ผสมปนเปเป็นอย่างยิ่งใน Zomia มาตั้งแต่โบราณ
ที่มา : https://www.matichon.co.th/columnists/news_2306932