“แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล”

๔.

พลัง” ของแนวคิดสิทธิชุมชน

ผู้เขียนได้นำเสนอใน “ทางอีศาน” ฉบับก่อนว่า ฐานคิดเรื่องคุณค่าของแนวคิด “สิทธิชุมชน” มีความใกล้เคียงกับแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ที่มองชุมชนเป็นสถาบันสำคัญ มีกระบวนการภายในที่จะจัดการตนเองเพื่อความอยู่รอด แต่ในทางกระบวนการวิเคราะห์ชุมชนนั้น แนวคิดสิทธิชุมชนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาความขัดแย้งและการสร้างกติกาข้อตกลง การปรับดุลอำนาจภายในซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาของชุมชน ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์ใหญ่แห่งแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ได้กรุณาเขียนมาแนะนำแก่ผู้เขียนว่า ความเห็นดังกล่าวก็คือ “การผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างวัฒนธรรมชุมชนกับเศรษฐศาสตร์การเมือง” นั่นเอง ประเด็นขนาดนี้ก็คงต้องพึ่งบุญอาจารย์ใหญ่ช่วยอธิบายในโอกาสต่อไปครับ เพราะพัฒนาการเรื่องแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาจากมาร์กซิสต์-เศรษฐศาสตร์การเมือง และในที่สุดมาลงเอยที่ “วัฒนธรรมชุมชน” นั้น เป็นเสมือนประวัติของท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์โดยตรงก็ว่าได้

ในที่นี้ เราจะพิจารณาทำความเข้าใจกับแนวคิดสิทธิชุมชนซึ่งได้รับการประดิษฐ์ขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ของชาวบ้านชาวเมือง ในยุคที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนอยู่ในกระแสสูง โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับประเด็นการแย่งชิงทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ แนวคิดสิทธิชุมชนได้ใช้แนวคิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานคิดและเครื่องมือในการอธิบาย และในที่สุดกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นวาทกรรมที่มีพลัง และได้รับการบรรจุเป็นหลักหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ – ๒๕๕๐ ในปัจจุบัน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังผลักดันให้มีกฎหมายลูก คือ พรบ.สิทธิชุมชน อยู่ โปรดติดตาม

เรามาสำรวจดูกันว่านักคิดสำนักนี้เขามอง “พลัง” และบทบาทฐานะของ “สิทธิชุมชน” กันอย่างไร ก่อนที่เราจะไปพิจารณาการนำแนวคิดสิทธิชุมชนไปใช้ต่อสู้และเคลื่อนไหวของชาวบ้านในตอนต่อไป

๑. “สิทธิ” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่ แต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่ผ่านการต่อสู้ต่อรอง หรือมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิดังกล่าว (กฤษฎา บุญชัย, ๒๕๔๓) และเรื่องสิทธิ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะการอุปถัมภ์รับรองทางกฎหมายของรัฐเท่านั้น หากโดยแท้จริงเป็นผลสืบเนื่องมาจากเกิดการรวมตัวของกลุ่มชนเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์หรือสำนึกความเป็นตัวตนร่วมกัน และในที่สุดก็มีพลังความสามารถเพียงพอจะจัดตั้งระบบสิทธินั้นให้เป็นจริง เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมวงกว้างได้ (เสน่ห์ จามริก, ๒๕๔๗)

๒. สิทธิชุมชนเป็นสิทธิรวมหมู่ เป็นการสร้างพลังของกลุ่มหรือชุมชนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองถ่วงดุลอำนาจภายนอก เพราะในสังคมทุนนิยมและระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน “ปัจเจกชน” ไม่มีพลังเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาของตนเองหรือคุ้มครองสิทธิของตนเอง ขณะที่รัฐและกฎหมายไม่สามารถเป็นหลักประกัน มิหนำซ้ำบางกรณีรัฐกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิ รัฐกลายเป็นผู้มีตัวตนและผลประโยชน์เสียเอง (ประภาส ปิ่นตบแต่ง และคณะ, ๒๕๔๕)

๓. อุดมการณ์สิทธิชุมชนวางอยู่บนหลักการพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม คำนึงถึงการอยู่รอดร่วมกันของชุมชนกับสังคมส่วนรวม ในการจัดการทรัพยากรหรือสิทธิด้านอื่น ๆ ล้วนต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วม สามารถเข้าถึงและมีการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และมีวิธีการใช้ที่เปิดโอกาสให้มีการทดแทนทางธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อไปได้ใช้ แตกต่างจากระบบ “สิทธิปัจเจก” ที่เน้นการครอบครอง การใช้ที่มุ่งประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่ “สิทธิของรัฐ” กลับจัดการทรัพยากรเพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างล้างผลาญ (กฤษฎา บุญชัย, ๒๕๔๓)

๔. สิทธิชุมชนเป็นสิทธิในการต่อสู้เพื่อดำรงรักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของชนทุกกลุ่ม สิทธิชุมชนเป็นระบบคิดที่มีเหตุผล ผ่านการตรวจสอบและพิสูจน์ในชีวิตจริงมาเป็นเวลาช้านาน ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรม ระบบความเชื่อต่าง ๆ ของชุมชนนั้นถือเป็น “ระบบคุณค่า” และสะท้อนให้เห็นถึง “อุดมการณ์อำนาจ” ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม ความเชื่อนี้เป็นพื้นฐานของการวางระเบียบข้อบังคับและจารีตประเพณีต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อุดมการณ์อำนาจในรูปของความเชื่อดังกล่าวมีการ “ผลิตซ้ำ” ผ่านสมาชิกของชุมชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใหม่ตามสถานการณ์และเงื่อนไขใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

สำคัญ มุมมองด้านวัฒนธรรมยังเป็นการให้ความเคารพต่ออัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ยศ สันตสมบัติ, ๒๕๔๖)

๕. สิทธิชุมชนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยรากหญ้า ที่เกิดขึ้นในบริบทโครงสร้างทางอำนาจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมศูนย์อำนาจ ครอบงำทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมเดียว (Monoculture) ที่ดูดกลืนชายขอบ สิทธิชุมชนจึงเป็นการต่อสู้เพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ สร้างตำแหน่งแห่งที่ให้ชุมชน ให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงมีการเคารพความหลากหลาย ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการกำหนดกติกา กำหนดวิถีชีวิตเศรษฐกิจ แบบแผนการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์และวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยรัฐต้องสนับสนุนให้เกิดนโยบายและมีกฎหมายรองรับ

นัยของสิทธิชุมชนดังกล่าวมีความลึกซึ้งกว้างขวางกว่าคำว่า “กระจายอำนาจ”, “การมีส่วนร่วม”, “ประชาสังคม”, “ธรรมรัฐ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายล่องลอย (floating significance) ที่รัฐหรือทุนหยิบมาใช้โดยขาดวิญญาณเพื่อประชาชนคนชายขอบอย่างแท้จริง (กฤษฎา บุญชัย, ๒๕๔๓)

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขบวนการ “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” มิใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์เฉพาะแต่ในสังคมการเมืองไทยเท่านั้น หากยังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก นับเป็นอีกมิติหนึ่งของสถานการณ์ “โลกาภิวัตน์จากส่วนล่าง” คู่ขนานไปกับโลกาภิวัตน์จากเบื้องบน (เสน่ห์ จามริก, ๒๕๔๗)

๖. สิทธิชุมชนมีลักษณะของการมีส่วนร่วม หรือดึงภายนอกเข้ามาร่วมจัดการ มิได้กีดกันการมีส่วนร่วมจากภายนอกชุมชน แต่ต้องการให้ภายนอกมาร่วมสนับสนุน ถ่วงดุลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สาธารณะ และระดับรัฐ

สิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนสิทธิปัจเจกและสิทธิรัฐ ซึ่งเจ้าของใช้สิทธิ์ของตนกีดกันการเกี่ยวข้องจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ เศรษฐกิจชุมชน หรือการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องการการสนับสนุนจากเครือข่ายท้องถิ่น ประชาสังคม และรัฐ อย่างไรก็ดี ชุมชนก็ได้สร้างเงื่อนไข กติกา ที่มีการควบคุมการใช้จากภายนอก ป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งกล่าวได้ว่า สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่กินดูแลทรัพยากร เพื่อความอยู่รอดของชุมชนเป็นอันดับแรก คนภายนอกจะมาอ้างสิทธิเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนเมืองให้อยู่เหนือการมีชีวิตรอดของชุมชนไม่ได้ ระดับของการมีส่วนร่วมจึงลดหลั่นกันไปตามความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตและสังคม อย่างไรก็ตาม ลักษณะการกีดกันคนภายนอกอาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือการแย่งชิงทรัพยากร หรือในโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม แต่โดยทั่วไปสิทธิชุมชนมักมีลักษณะการมีส่วนร่วมจากภายนอกมากกว่าการกีดกัน

หลักการสำคัญของ “การมีส่วนร่วม” ก็คือ เป้าหมายของสิทธิชุมชนมิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะส่วนของชุมชนเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย การดูแลรักษาป่า การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม (กฤษฎา บุญชัย, ๒๕๔๓)

๗. สิทธิชุมชนเป็นรูปแบบสิทธิเชิงซ้อนและมีเนื้อหาหลากหลาย สิทธิเชิงซ้อนหมายถึง การดำรงอยู่ของสิทธิของหน่วยทางสังคมหลายหน่วยและสิทธิหลายแบบบนพื้นที่เดียวกัน เช่น ป่า – ที่ดินที่อยู่ใน “สิทธิครอบครอง” ของรัฐ แต่ชุมชนมี “สิทธิในการจัดการและควบคุม” ขณะที่ชาวบ้านมี “สิทธิการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์” การคำนึงถึงสิทธิเชิงซ้อน จะช่วยให้มีทางเลือกและความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ (อานันท์ กาญจนพันธุ์, ๒๕๔๔)

ส่วนความหลากหลายในเนื้อหานั้น สิทธิชุมชนดำรงอยู่ในทุกส่วนของชีวิตชุมชน ทั้งสิทธิด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง ระบบยุติธรรม ระบบสุขภาพ การศึกษา ด้านประเพณี พิธีกรรม อัตลักษณ์ของชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้ มีผู้ทดลองแบ่งสิทธิชุมชนเป็น ๓ ด้านใหญ่ๆ คือ ๑) สิทธิการจัดการทรัพยากร ๒) สิทธิในอัตลักษณ์ และ ๓) สิทธิในการพัฒนาและการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง (ไพโรจน์ พลเพชร, ๒๕๔๗) มิติเนื้อหาหลายด้านนี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่า ชุมชนเป็นระบบสังคมระบบหนึ่งที่มีการดูแลจัดการตนเอง หรือ “การปกครองตัวเอง” อยู่แล้วนั่นเอง

๘. “สิทธิ” เป็นสองด้านของเหรียญที่อยู่ตรงข้ามกัน ด้านหนึ่งของเหรียญคือ “อำนาจ” อีกด้านหนึ่งคือ “หน้าที่” ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีทั้งอำนาจ – หน้าที่ภายในชุมชน และอำนาจ – หน้าที่ระหว่างชุมชนกับภายนอก (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ๒๕๔๖) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้มีอำนาจย่อมต้องมี “หน้าที่” หรือความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน และหน้าที่นั้นก็มีฐานคิดที่มีศีลธรรมความถูกต้องนั่นเอง ดังพบว่าในพิธีกรรมคำสอน วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน มักมุ่งสอน “หน้าที่” แก่สมาชิกชุมชน หน้าที่ของคนหนึ่งจะเป็นตัวบ่งบอก “สิทธิ” ของอีกฝ่ายหนึ่งในคู่ความสัมพันธ์ไปพร้อมกัน

๙. ความเป็นพลวัตของสิทธิชุมชน ระบบสิทธิหรือแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชนกับภายนอกนั้น มีลักษณะของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ขัดแย้งต่อสู้ ต่อรอง ช่วงชิง ประนีประนอม ประสมประสาน และการปรับดุลความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ในรูปของการสร้างข้อตกลงใหม่ กติกาใหม่ ด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืนในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ชุมชนอยู่รอด มีความมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก ดังแผนภาพ

ดังนั้นข้อตกลงร่วมของ “คนภายในชุมชน” จึงมีการปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงของฐานทรัพยากร ระบบการผลิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และปัจจัยอื่น ๆ ภายในชุมชน ซึ่งอาจมีความเปลี่ยนแปลงจากภายในหรือถูกกระตุ้นท้าทายจากปัจจัยภายนอก อีกด้านหนึ่งดุลอำนาจระหว่างชุมชนกับสังคมภายนอก (รัฐและทุน) ก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อสู้ ต่อรอง ที่แต่ละฝ่ายกระทำต่อกัน

๑๐. สิทธิชุมชนในกระบวนการด้านนิติศาสตร์ สิทธิชุมชนถือเป็นระเบียบกฎหมายระดับชุมชน เป็นกฎหมายแบบจารีตประเพณีซึ่งยังมีบทบาทสำคัญต่อการยึดถือปฏิบัติในวิถีชุมชนทั่วไป ในหลาย ๆ เรื่องมีอิทธิพลมากกว่าระเบียบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเสียอีก

แต่การเกิดขึ้นของ “รัฐชาติ” ยังผลให้รัฐและสังคมให้ความสำคัญและความชอบธรรมเฉพาะต่อกฎหมายลายลักษณ์อักษร ทิศทางที่ควรจะเป็นในปัจจุบันคือ ต้องรื้อฟื้นและส่งเสริมระเบียบสังคมชุมชนตามจารีตประเพณีให้เข้มแข็งขึ้น มิฉะนั้นแล้วระบบนิติศาสตร์ก็จะต้องตกเป็นจำเลยที่ละเมิดลิดรอนสิทธิของชุมชนเสียเอง (เสน่ห์ จามริก, ๒๕๔๗)

ถึงแม้ว่าเราจะมีการบรรจุเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือต่อไปจะมีพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนก็ตาม คงต้องคำนึงว่าชีวิตจิตใจของ “สิทธิชุมชน” นั้นดำรงอยู่อย่างแท้จริงในจารีตประเพณีและในวัฒนธรรมของสังคม คู่กับการเกิด การเปลี่ยนแปลงของชุมชน จะมีกฎหมายรับรองอย่างไรก็ตาม มิได้มีหลักประกันว่าสิทธิชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ถ้าชุมชนและประชาสังคมไม่ลุกขึ้นมาสร้างให้มันอยู่ในวิถีของชุมชน และให้เกิดการยอมรับจริงในสังคม

การเคลื่อนไหวสิทธิชุมชนจึงต้องกระทำในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นต้องตระหนักในสิทธิอำนาจที่มีอยู่ แล้วเกิดการจัดตั้งตัวเอง ระดับพื้นที่ทางสังคมก็ต้องพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ให้ลุ่มลึก สร้างวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนให้มีพลัง ควรต้องมีการเคลื่อนไหวระดับสากลที่อาจเรียกว่า “ท้องถิ่นลอดรัฐ” หรือ “โลกาภิวัตน์ภาคประชาชน”

เพื่อสถาปนา “สิทธิชุมชน” ให้เข้มแข็ง และยืนต้านการคุกคามจากรัฐและทุนได้อย่างสมศักดิ์ศรี.

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

กฤษฎา บุญชัย และพรพนา ก๊วยเจริญ. ฐานคิดและยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนในสายธารโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, ๒๕๔๓.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. พิมพ์ครั้งที่ ๕ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

ชลธิรา สัตยาวัฒนา (บรรณาธิการ). พลวัตสิทธิชุมชน : กระบวนทัศน์ทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๔๖.

ประภาส ปิ่นตบแต่ง และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ นโยบายรัฐกับการละเมิดสิทธิชุมชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ๒๕๔๕.

ไพโรจน์ พลเพชร, “บันทึกการอบรมกฎหมายรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิชุมชน” โดย โครงการสิทธิชุมชนศึกษาภาคอีสาน จัดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ๑๔ – ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗.

ยศ สันตสมบัติ. ท่าเกวียน : บทวิเคราะห์เบื้องต้นว่าด้วยการปรับตัวของชุมชนชาวนาไทยท่ามกลางการปิดล้อมของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ, ๒๕๓๙.

เสน่ห์ จามริก. “บทสังเคราะห์งานวิจัย : สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” ใน สิทธิชุมชนท้องถิ่นภาคอีสาน. บรรณาธิการวิชาการโดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา. กรุงเทพ ฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๗.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. วิธีคิดเชิงซ้อนในการวิจัยชุมชน พลวัตและศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย, ๒๕๔๔.

**

ประวัติย่อ สนั่น ชูสกุล

การสมรส

แต่งงานกับ นางวิจิตรา ชูสกุล มีบุตร ๒ คน คือนายนาคร ชูสกุล และ นางสาววรรณลีลา ชูสกุล อาศัยอยู่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเลขที่ ๑๐๕/๖ หมู่บ้านธารธนา ถนนโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.สุรินทร์

การงาน

– ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ ประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปี ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ : กองบรรณาธิการฝ่ายสังคมศึกษาสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช (กทม.)

– ปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗: งานพัฒนาชุมชนโครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สุรินทร์

– ปี ๒๕๒๘ – ๒๕๓๔ : ผู้ประสานงานโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม (อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์)

– ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘ : ฝ่ายข้อมูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

– ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒ : บรรณาธิการวารสารดอกติ้วป่า

– ปี ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการโครงการทามมูล

– ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙ : หัวหน้าโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคอีสาน

– ปี ๒๕๔๔ – ปัจจุบัน : บรรณาธิการโครงการหนังสือดอกติ้วป่า, บรรณาธิการ www.esaanvoice.net

– เป็นอาจารย์พิเศษโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ม.ราชภัฏสุรินทร์

– เป็นคอลัมนิสต์ วารสารสุรินทร์สโมสร, นิตยสาร “ทางอีศาน”

– ทำสวน ทำนา ปลูกป่า พื้นที่ ๑๐ ไร่ ที่บ้านแจรน ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์

ผลงานเขียน

๑. งานวิจัย

– ภาวะหนี้สินชุมชนอีสานใต้ (๒๕๓๑) สนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสานใต้

– กรณีศึกษาการปลูกมะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน ตามโครงการสี่ประสาน (๒๕๓๕)

– ระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ายุ่งป่าทาม-กรณีป่าทามราศีไศล จ.ศรีสะเกษ (๒๕๓๘) สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

– วิจัยภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรในป่านุ่งป่าทาม (๒๕๔๕) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนลุ่มน้ำมูล (๒๕๕๐) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ฯลฯ

๒. กรณีศึกษาและงานค้นคว้าทางวิชาการ

– ยูคาลิปตัสบนแผ่นดินอีสาน (๒๕๓๙) ประกอบการประชุมวิชาการและเผยแพร่โดยเครือข่ายป่าที่ดินอีสาน

– เมื่อลุ่มน้ำมูลถูกพัฒนา (๒๕๔๗) เอกสารการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ปี ๒๕๔๙ โดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย

– เขื่อนราษีไศล : รายจ่ายแสนแพงเพื่อความเป็นข่าว (๒๕๔๕) ประกอบการสัมมนาทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และจัดพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”

– จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่การค้นหาสังคมทางเลือก (๒๕๕๐) นำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฯลฯ

๓. หนังสือที่เขียนและเป็นบรรณาธิการ

– หนังสือ “ป่าทาม ป่าไทย” (กองทุนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

– บทเรียนรู้นโยบายสาธารณะ พื้นที่ชุ่มน้ำ (สสส., ๒๕๔๙)

– ป่าชุมชนอีสาน (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– ประสบการณ์วนเกษตร (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– คู่มือการจัดการป่าทามโดยองค์กรชุมชน (โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคอีสาน, ๒๕๔๖)

– ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำโลก (โครงการทามมูล, ๒๕๕๐)

ฯลฯ

๔. บทความ – สารคดี

– บทความ บทรายงาน สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม งานพัฒนาชุมชน เผยแพร่ในนิตยสารวารสารและเวบไซต์ต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐ ชิ้น

๕. นวนิยายที่จัดพิมพ์แล้ว

– “ผู้คุ้มครอง” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๑)

– “อีกโค้งหนึ่งก็ถึงแล้ว” (สำนักพิมพ์ดอกติ้วป่า, ๒๕๔๕)

๖. หนังสือรวมเรื่องสั้น

– “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” (สำนักพิมพ์อิงฟ้า, ๒๕๔๓)ได้รับรางวัล

ากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงนสัปดาห์หนังสือแ

– “บริษัทไทยไม่จำกัด” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (S.E.A Write Award) ปี ๒๕๕๑

– “พันธุ์อุดมการณ์” (สำนักพิมพ์อินทนิล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พฤษภาคม ๒๕๕๗)

๗. รางวัลวรรณกรรมที่ได้รับ

– รางวัลช่อการะเกด (๒๕๓๖) จากเรื่องสั้น – ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – หิมพาล (๒๕๓๗)

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – ถนนไปชายเล (๒๕๓๘)

ฯลฯ

ประกาศเกียรติคุณที่ได้รับ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา ได้รับรางวัลเป็นงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๐ ของ สกว.

– รางวัลวรรณกรรม ๖ รางวัล

– ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ใน ๗๗ คนในวาระ ๗๗ ปีมหาวิทยาลัยฯ (๒๕๕๔)

– ศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๕๖

– รางวัล สันติประชาธรรม (พิเศษ) สำหรับบุคคลที่อุทิศตัวเพื่อสังคมตามแนวทางอาจารย์ป่วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นสมาชิกองค์กรและบทบาททางสังคม

– เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน (๒๕๓๘-ปัจจุบัน)

– ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา

– อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ และคณะทำงานเรื่องทรัพยากรน้ำ สำนักนายกรัฐมนตรี

– คณะอนุกรรมการด้านการจัดการที่ดิน น้ำ ทรัพยากรฯในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย

– กรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเขื่อนหัวนา, เขื่อนราษีไศล-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ฯลฯ

วาระสุดท้าย

สนั่น ชูสกุล เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ด้วยอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และมีไข้สูง คุณหมอได้ตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเพื่อส่งไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสนั่นได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ผลการพิสูจน์ชิ้นเนื้อไม่พบว่าเป็นอะไร คุณหมอได้แน่ะนำว่าอาจต้องพิสูจน์ชิ้นเนื้ออีกรอบ ครอบครัวจึงตัดสินใจพาสนั่นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. ซึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์อีกรอบ พร้อมทั้งการเจาะไขสันหลัง จึงพบว่าสนั่นเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ครอบครัวตัดสินใจพาสนั่นกลับบ้าน มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และสนั่นได้สิ้นใจในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ นับเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา ๑ เดือน รวมสิริอายุได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com