แนวคิด “สิทธิชุมชน” เสริมขยายพลังเคลื่อนไหวของชุมชน

“แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล”

๓.

แนวคิด “สิทธิชุมชน” เสริมขยายพลังเคลื่อนไหวของชุมชน

คำว่า “สิทธิชุมชน” นั้น เป็นคำที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายความหมายและคุณค่าอย่างหนึ่งที่เกิดและดำรงอยู่มาช้านานแล้ว เป็นวาทกรรมที่สร้างพลังให้กับการเคลื่อนไหวของ “ชุมชน” ที่ชาวชุมชนแสดงตัวตนชัดแจ้งในการปกป้องตัวเองจากภัยคุกคามจากภายนอกในยุคการพัฒนาในรอบกว่า ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นยุคแย่งชิงทรัพยากรอย่างแท้จริง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุของการรุกรานคุกคามสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรของชาวชุมชนท้องถิ่นอย่างหนัก ทั้งโครงการสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำ การประกาศพื้นที่ป่าทับที่ดินทำกินของประชาชน โครงการอพยพคนออกจากพื้นที่ทำกินเพื่อให้นายทุนเช่าปลูกไม้โตเร็ว การก่อมลพิษของภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ความขัดแย้ง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาเป็น “การละเมิดสิทธิ” ของชาวชุมชนท้องถิ่นที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมาก่อนอย่างชอบธรรม

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของชุมชนที่มีการจัดตั้งตัวเองเข้าต่อสู้ต่อรองกับรัฐและนายทุน ได้เกิดการสรุปประสบการณ์ พัฒนาองค์ความรู้โดยอิงหลักสิทธิมนุษยชนเผยให้เห็นการดำรงอยู่ของชุมชนบนฐานนิเวศทรัพยากร และบนฐานดังกล่าวเป็นที่ก่อเกิดวิถีชีวิตวัฒนธรรม และแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทั้งในระหว่างชาวชุมชนท้องถิ่นกันเอง และระหว่างชุมชนกับรัฐและทุน ความตระหนักนี้ได้เป็นมูลเชื้อการก่อรูปพัฒนาสร้างความรู้เกี่ยวกับ “สิทธิชุมชน” บนฐานบริบทสังคมไทยและสังคมตะวันออกขึ้นมา

ต่อมาหลัก “สิทธิชุมชน” ได้ถูกนำไปอธิบายครอบคลุมสู่มิติอื่น ๆ ทั้งสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในอัตลักษณ์-จารีตประเพณี และสิทธิในการพัฒนาตนเองอย่างอิสระของชุมชน และคำ “สิทธิชุมชน” นี้เป็นคำหลักซึ่งเป็นที่ยอมรับจนได้รับการบรรจุเป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ในเวลาต่อมา

“สิทธิ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า “อำนาจอันชอบธรรม”

ลำพังคำว่า “อำนาจ” นั้นในทางสังคมวิทยาหมายถึง ความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งสามารถกำหนดให้อีกบุคคลหนึ่งกระทำตามความต้องการของตน โดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการกระทำหรือไม่ หรือรู้สึกอย่างไร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมาย “อำนาจ” ว่า คือความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดได้

“สิทธิ” นั้นจึงไม่ใช่เพียงอำนาจหรือความมีอำนาจเท่านั้น แต่ “สิทธิ” ต้องเป็นอำนาจที่ถูกกำกับด้วย “ความชอบธรรม” อันหมายถึงอำนาจที่ถูกต้องตามหลักธรรม ตามหลักของคุณงามความดี ความถูกต้อง ความยุติธรรม เช่น หลักศาสนา หลักกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ประเพณีและเกณฑ์คุณค่าที่คนในสังคมหนึ่งๆ ยึดถือร่วมกัน ในภาษาอังกฤษ “สิทธิ” จึงตรงกับคำว่า  “right” ซึ่งแปลว่าความถูกต้อง ในบางตำราอาจใช้คำว่า “สิทธิอำนาจ” ในความหมายเดียวกัน

การที่คนผู้หนึ่งมี “สิทธิ” ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น จึงหมายถึงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนผู้นั้นพึงมีพึงได้อย่างถูกต้อง คนอื่นต้องยอมรับ จะขัดขวางหรือลิดรอนไม่ได้

คนเราจะมี “สิทธิ” ได้นั้นเพราะเขามี “ฐานะ” อย่างใดอย่างหนึ่งที่แน่นอน เช่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ถูกปกครอง ฯลฯ

“สิทธิมนุษยชน” ก็คือสิทธิในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ “สิทธิพลเมือง” ก็คือสิทธิในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ

“สิทธิชุมชน” จึงเป็นสิทธิของหน่วยทางสังคมที่เรียกว่า “ชุมชน” เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ชุมชนพึงมีพึงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ผู้อื่นต้องยอมรับ จะละเมิดหรือลิดรอนมิได้

“ชุมชน” ในความหมายดั้งเดิม หมายถึง “หมู่ชน กลุ่มคน ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน” (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๕) แต่ในความหมายที่กว้างขวางออกไปในสังคมสมัยใหม่ ปรากฏเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ที่สมาชิกอาจมิได้อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน แต่มีความผูกพัน มีผลประโยชน์เดียวกัน มีชะตากรรมร่วมกัน สมาชิกแต่ละคนนิยามตนเองว่าเป็นหนึ่งในวงสัมพันธ์นั้น และสังคมก็รับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น เช่น ชุมชนทางอากาศ ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เดือดร้อนจากการพัฒนา คนพิการ กลุ่มผู้บริโภค ฯลฯ ดังนั้น “ชุมชน” จึงหมายถึง วงสัมพันธ์ในลักษณะที่กว้างขวางออกไปดังกล่าวด้วย

ระบบภายในของสิทธิชุมชน

ดังกล่าวแล้วว่า “สิทธิชุมชน” เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว “สิทธิชุมชน”เป็นอุดมการณ์ที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนมาอย่างยาวนาน จากการใช้ชีวิตร่วมกันของชาวชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข เกิดความเอื้ออาทรและผูกพัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้มีการคิดค้นหาวิธีการจัดการภายในให้ลุล่วงไป

ความเป็นไปของชุมชนในลักษณะดังกล่าว พัฒนาให้เกิด “กฎเกณฑ์” ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นข้อบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมชนยึดถือร่วมกัน แฝงอยู่ในวิถีชีวิตชุมชน เกิดการผลิตซ้ำ เกิดการพัฒนาเป็นแบบแผนที่แข็งแรง ข้อบัญญัติดังกล่าวของชุมชนเป็นข้อบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “ขอบเขตอำนาจ” ที่สมาชิกแต่ละคนแต่ละฐานะพึงมี พึงได้รับ ท่ามกลางการดำเนินชีวิตด้วยกัน อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่ทุกคนยอมรับภายใต้ “คุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน” เป็นอำนาจที่มีความชอบธรรม เราสามารถเรียกได้ว่าสิ่งนี้คือ “ระบบสิทธิ” ของชุมชน

“คุณค่าที่ชุมชนยึดถือร่วมกัน” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยชีวิตชุมชน เช่น ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ, ผีปู่ตา, การเคารพผู้อาวุโส คุณค่าแห่งความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติและบุพการี การเคารพและให้คุณค่าในผลประโยชน์และทรัพย์สินส่วนรวม ฯลฯ หรืออาจเป็นคุณค่าที่ชุมชนรับจากภายนอกมาผสมผสานเป็นคุณค่าของชุมชน เช่น หลักธรรมทางศาสนา กล่าวได้ว่า คุณค่าเหล่านี้เป็น “หลักทางศีลธรรม” ซึ่งทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ และยังเป็นพลังยึดเหนี่ยวสำคัญของชุมชนในการจัดการ-จัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และกำกับอยู่ในทุกระบบของชุมชน ระบบเศรษฐกิจ ระบบการดูแลสุขภาพ ระบบการศึกษา ระบบการปกครอง ระบบยุติธรรมวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ฯลฯ ในระบบเหล่านี้ ชุมชนได้สร้าง “ข้อตกลงร่วม” หรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นที่เข้าใจและยอมรับกันของสมาชิกชุมชน กฎเกณฑ์เหล่านี้ล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมอันเป็นคุณค่าที่สมาชิกชุมชนยึดร่วม มีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนและมีกลไกการจัดการที่แน่นอน

เช่นนี้ เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า ชุมชน ล้วนมีระบบการจัดการภายในโดยธรรมชาติอยู่แล้วเพื่อความอยู่รอดและเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ และนั่นเป็นอย่างเดียวกับการจัดการตนเอง หรือการปกครองตนเอง นั่นเอง ในทัศนะของผู้เขียน ฐานคิดเรื่องคุณค่าของแนวคิดสิทธิชุมชนมีความใกล้เคียงกับแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ถือเป็นหลักอิงอันเดียวกัน ที่มองชุมชนเป็นสถาบันสำคัญ มีกระบวนการภายในที่จะจัดการตนเองเพื่อความอยู่รอด แต่ในทางกระบวนการวิเคราะห์ชุมชนนั้น แนวคิดสิทธิชุมชนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาความขัดแย้งและการสร้างกติกาข้อตกลง การปรับดุลอำนาจภายใน ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาของชุมชน

“สิทธิชุมชน” ในฐานะหน่วยสังคมภายใต้รัฐ

ขณะเดียวกัน ชุมชนก็ดำรงอยู่ในสังคมใหญ่ อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ และอยู่ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจการตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับอำนาจภายนอกก็เป็นระบบสิทธิหนึ่งเช่นกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์กับฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมใหญ่ “สิทธิของชุมชน” จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับ “ศักยภาพของชุมชน” ที่จะถ่วงดุลกับภายนอก และยังขึ้นอยู่กับโอกาสตามกฎหมายของประเทศ และวุฒิภาวะของสังคมที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงตัวตนมีระบบการจัดการทรัพยากรของตัวเองหรือการกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน และข้อสรุปอันสำคัญที่ชี้ให้เห็นพลังที่แท้จริงของสิทธิชุมชนก็คือที่ อาจารย์เสน่ห์ จามริก กล่าวไว้ว่า “เรื่องสิทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะการอุปถัมภ์รับรองทางกฎหมายของรัฐเท่านั้น หากโดยแท้จริงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดกลุ่ม เกิดการรวมตัวของกลุ่มชนเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์หรือสำนึกความเป็นตัวตนร่วมกัน และที่สุดก็มีพลังความสามารถเพียงพอที่จะจัดตั้งระบบสิทธิ์นั้นให้เป็นจริง เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมวงกว้างได้”

รูปธรรมที่ชัดเจนที่ชาวชุมชนในสังคมไทยได้แสดง “สิทธิชุมชน” เช่น การอธิบายการจัดการป่าชุมชน โฉนดชุมชน การเรียกร้องสิทธิ์ของชาวชนเผ่าและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำแห่งนี้ รวมทั้งการจัดการบริหารภายในของชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กองทุนชุมชน วิสาหกิจชุมชน สวัสดิการชุมชน เป็นต้น โดยสองเรื่องแรกนั้นค่อนข้างชัดเจนในกระบวนการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชุมชนกับรัฐเสียใหม่ โดยนิยามใหม่ว่าผู้ที่มีสิทธิ์ในการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติคือชุมชนท้องถิ่น มิใช่รัฐดังที่เคยเป็นมา แต่เป็นสิทธิชองชาวชุมชนอย่างชอบธรรม ถึงแม้ว่าในทางระเบียบกฎหมายของประเทศยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน แต่ในทางสังคมแล้วถือว่า ป่าชุมชน เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ ในแนวคิดของรัฐเองก็ให้การยอมรับหลักคิดใหม่และเปิดโอกาสให้ชุมชนที่พร้อมในทุกที่จัดการป่าชุมชน กล่าวทางด้าน “พื้นที่ทางสังคม” ของแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนแล้ว นับว่าคุณค่าความเป็น “ชุมชน” ได้รับการยอมรับอย่างสูงทีเดียว ผ่านรูปธรรมของกิจกรรมและการจัดตั้งในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ได้มิใช่เป็นการหยิบยื่นให้โดยปรานีจากรัฐ หากเป็นได้ด้วยกระบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนในสถานการณ์ที่ขัดแย้ง ต่อสู้ต่อรองจนเกิดระเบียบข้อตกลงใหม่ขึ้นและเป็นเช่นนั้นได้ก็ด้วยการที่ชุมชนจัดตั้งตัวเองให้เข้มแข็ง และใช้สิทธิ์ที่ได้มานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการได้โดยตนเองได้จริง เมื่อไหร่ที่ชุมชนอ่อนแอ ไม่สามารถจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเกิดการแทรกแซงครอบงำจากรัฐหรือสังคมภายนอก

ดุลยภาพของสิทธิภายในของชุมชนและดุลอำนาจระหว่างชุมชนกับอำนาจภายนอกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรงของสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีอันเป็นแบบแผนการพัฒนากระแสหลักของสังคมโลกเวลานี้ ได้ก่อผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งรุนแรง ทั้งด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่ถูกใช้แบบล้างผลาญ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท คนรวยกับคนจน วิถีชีวิตอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นชนบทและชนกลุ่มน้อยถูกบั่นทอนและคุกคาม และเกิดปัญหาทางสังคมอีกนานาประการที่แก้ยากขึ้นทุกวันสถานการณ์ใหม่นี้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนมากมาย เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐและทุน และยังกระตุ้นให้คนภายในชุมชนและท้องถิ่นขัดแย้งกันเองอย่างหนัก ภาคชุมชนได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ต่อสู้ ต่อรอง เพื่อปรับดุลความสัมพันธ์ทางอำนาจกับภายนอก ขณะเดียวกันก็เกิดการปรับตัวเอง สร้างความเข้มแข็งสร้างภูมิคุ้มกันภายใน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจนำมาซึ่งชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตาและหยดเลือด แต่เป็นปฏิบัติการที่ได้ให้บทเรียนและความรู้ใหม่ ๆ แก่สังคมในการแสวงหาทางเลือกเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า

“สิทธิชุมชน” ในมิติความรู้และบริบทสากล

แม้ระบบสิทธิของชุมชนจะปรากฏอยู่ในทุกมิติของชีวิตชุมชน แต่ที่ในวงวิชาการให้ความสนใจและศึกษาอย่างเป็นระบบมากที่สุดก็คือ “สิทธิในทรัพย์สิน” หรือลักษณะกรรมสิทธิ์ ซึ่งการศึกษา “พัฒนาการของสิทธิการถือครองที่ดินในสังคมโบราณ” ของ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ตั้งแต่ปี ๑๙๐๙ (๒๔๕๒) พบว่าสังคมต่าง ๆ ได้จำแนกแยกแยะสิทธิ์ในทรัพย์สินออกเป็นประเภทต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่กรรมสิทธิ์เอกชน กรรมสิทธิ์ของรัฐและกรรมสิทธิ์ของชุมชน บนพื้นฐานของ “สิทธิในความเป็นเจ้าของ” (Right of ownership) โดยมักจะปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการในกฎหมาย แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปถึงการจัดสรรที่เป็นจริงในสังคมต่าง ๆ กลับพบว่า การจัดการเกี่ยวกับการถือครองที่ดินมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก แต่ละสังคมไม่ได้ยึดใน “สิทธิความเป็นเจ้าของ” อย่างเดียวหากยังใช้หลักการอื่นผสมผสานอยู่ด้วย เช่น หลักของ “สิทธิการใช้” (Usufruct Right) ซึ่งหมายถึงให้ผู้ที่กำลังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นมีสิทธิครอบครอง แต่จะสูญเสียสิทธิ์นั้นไปเมื่อเลิกใช้ที่ดิน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์แทนที่ หรือกรณีบนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของผู้หนึ่ง ผู้นั้นใช้ประโยชน์ในบางฤดู หลังจากนั้นเพื่อนบ้านก็สามารถใช้เป็นที่หากิน ที่เลี้ยงสัตว์ได้ ดังที่ อานันท์ กาญจนพันธ์ เรียกว่า “สิทธิเชิงซ้อน”

ระบบสิทธิที่หลากหลายซับซ้อนของสังคมชุมชนดังกล่าวเป็น “สิทธิตามจารีตประเพณี” (Customary right) ซึ่งมักจะแตกต่างขัดแย้งกับสิทธิตามกฎหมาย (Legal right) ทั้งนี้เพราะสิทธิตามจารีตประเพณีมักจะตั้งอยู่บนหลักของ “สิทธิทางศีลธรรม” อย่างเคร่งครัด ขณะที่สิทธิตามกฎหมายนั้นจะผสมผสานหลักการทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของการสร้างองค์ความรู้ แนวคิดทฤษฎีเรื่อง“สิทธิ” จนคลี่คลายมาถึง “สิทธิชุมชน” ในปัจจุบันนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากการพัฒนาปรัชญาการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ซึ่งให้ความสำคัญกับ “สิทธิของปัจเจกชน” ในฐานะ “สิทธิของพลเมือง” และ “สิทธิทางการเมือง” อันเป็นที่มาของระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตย และระบอบทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือกรรมสิทธิ์เอกชน อันเป็นหัวใจทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเติบโตงอกงามต่อมา แต่ก็ถูกท้าทายและวิพากษ์จากนักคิดสายสังคมนิยมซึ่งเห็นว่าสิทธิปัจเจกชนและระบอบทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นที่มาของความเสื่อมทรามทางศีลธรรม เป็นที่มาของการขูดรีดทางชนชั้นและลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงควรให้ความสนใจแก่ “สิทธิกลุ่ม”, “สิทธิร่วม” และแทนที่จะมีเพียงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องมี “สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม” ด้วย

จนต่อมาในปี ๒๔๙๑ เมื่อสหประชาชาติประกาศ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” จึงต้องประกาศ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” ควบคู่ไปกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และต่อมาได้เปิดพรมแดนสู่มิติของสิทธิที่มีความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้เกิดความสนใจเรื่อง “สิทธิชุมชน” อย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน

ในยุคของการพัฒนารอบกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา เกิดการละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยคนชายขอบและผู้ด้อยโอกาสหนักข้อขึ้นทุกที มีการแข็งขืนลุกขึ้นต่อสู้ต่อรองอยู่ทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาในแนวทุนนิยมถูกตั้งคำถามมากขึ้นทุกทีเกี่ยวกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม การทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้เหลือเพียงความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เกิดความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งลัทธิเสรีประชาธิปไตยที่ให้ค่ากับความเป็นปัจเจกจนหาขอบเขตที่เหมาะสมของเสรีภาพไม่ได้ โลกกำลังแสวงหาทางเลือกใหม่ที่สามารถสร้างความเสมอภาค การอยู่ร่วมอย่างสันติสุข สังคมที่สมดุล ธรรมชาติที่ยั่งยืน ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีภราดรภาพแท้จริง นักคิดนักเคลื่อนไหวต่างมองเห็นตรงกันว่า ทางรอดของโลกคือ เราต้องสร้างการอยู่ร่วมของมนุษย์ในหน่วยสังคมเป็น “ชุมชน” เล็ก ๆ ที่มีระบบการจัดการกิจการภายในของตนได้

นั่นหมายถึงสังคมต้องมีการกระจายอำนาจ ชุมชนท้องถิ่นต้องมีการปกครองตนเอง พลเมืองต้องตื่นรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ บรรดาความรู้ แนวคิดใหม่ ๆ ที่เกิดจากการสังเคราะห์ความรู้เดิมหรือภูมิปัญญาผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ อันจะมีบทบาทต่อการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและชี้นำสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีจึงเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง “สิทธิชุมชน” ที่เราพูดถึงในที่นี้.

**

ประวัติย่อ สนั่น ชูสกุล

การสมรส

แต่งงานกับ นางวิจิตรา ชูสกุล มีบุตร ๒ คน คือนายนาคร ชูสกุล และ นางสาววรรณลีลา ชูสกุล อาศัยอยู่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเลขที่ ๑๐๕/๖ หมู่บ้านธารธนา ถนนโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.สุรินทร์

การงาน

– ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ ประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปี ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ : กองบรรณาธิการฝ่ายสังคมศึกษาสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช (กทม.)

– ปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗: งานพัฒนาชุมชนโครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สุรินทร์

– ปี ๒๕๒๘ – ๒๕๓๔ : ผู้ประสานงานโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม (อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์)

– ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘ : ฝ่ายข้อมูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

– ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒ : บรรณาธิการวารสารดอกติ้วป่า

– ปี ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการโครงการทามมูล

– ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙ : หัวหน้าโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคอีสาน

– ปี ๒๕๔๔ – ปัจจุบัน : บรรณาธิการโครงการหนังสือดอกติ้วป่า, บรรณาธิการ www.esaanvoice.net

– เป็นอาจารย์พิเศษโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ม.ราชภัฏสุรินทร์

– เป็นคอลัมนิสต์ วารสารสุรินทร์สโมสร, นิตยสาร “ทางอีศาน”

– ทำสวน ทำนา ปลูกป่า พื้นที่ ๑๐ ไร่ ที่บ้านแจรน ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์

ผลงานเขียน

๑. งานวิจัย

– ภาวะหนี้สินชุมชนอีสานใต้ (๒๕๓๑) สนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสานใต้

– กรณีศึกษาการปลูกมะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน ตามโครงการสี่ประสาน (๒๕๓๕)

– ระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ายุ่งป่าทาม-กรณีป่าทามราศีไศล จ.ศรีสะเกษ (๒๕๓๘) สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

– วิจัยภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรในป่านุ่งป่าทาม (๒๕๔๕) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนลุ่มน้ำมูล (๒๕๕๐) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ฯลฯ

๒. กรณีศึกษาและงานค้นคว้าทางวิชาการ

– ยูคาลิปตัสบนแผ่นดินอีสาน (๒๕๓๙) ประกอบการประชุมวิชาการและเผยแพร่โดยเครือข่ายป่าที่ดินอีสาน

– เมื่อลุ่มน้ำมูลถูกพัฒนา (๒๕๔๗) เอกสารการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ปี ๒๕๔๙ โดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย

– เขื่อนราษีไศล : รายจ่ายแสนแพงเพื่อความเป็นข่าว (๒๕๔๕) ประกอบการสัมมนาทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และจัดพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”

– จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่การค้นหาสังคมทางเลือก (๒๕๕๐) นำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฯลฯ

๓. หนังสือที่เขียนและเป็นบรรณาธิการ

– หนังสือ “ป่าทาม ป่าไทย” (กองทุนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

– บทเรียนรู้นโยบายสาธารณะ พื้นที่ชุ่มน้ำ (สสส., ๒๕๔๙)

– ป่าชุมชนอีสาน (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– ประสบการณ์วนเกษตร (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– คู่มือการจัดการป่าทามโดยองค์กรชุมชน (โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคอีสาน, ๒๕๔๖)

– ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำโลก (โครงการทามมูล, ๒๕๕๐)

ฯลฯ

๔. บทความ – สารคดี

– บทความ บทรายงาน สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม งานพัฒนาชุมชน เผยแพร่ในนิตยสารวารสารและเวบไซต์ต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐ ชิ้น

๕. นวนิยายที่จัดพิมพ์แล้ว

– “ผู้คุ้มครอง” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๑)

– “อีกโค้งหนึ่งก็ถึงแล้ว” (สำนักพิมพ์ดอกติ้วป่า, ๒๕๔๕)

๖. หนังสือรวมเรื่องสั้น

– “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” (สำนักพิมพ์อิงฟ้า, ๒๕๔๓)ได้รับรางวัล

ากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงนสัปดาห์หนังสือแ

– “บริษัทไทยไม่จำกัด” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (S.E.A Write Award) ปี ๒๕๕๑

– “พันธุ์อุดมการณ์” (สำนักพิมพ์อินทนิล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พฤษภาคม ๒๕๕๗)

๗. รางวัลวรรณกรรมที่ได้รับ

– รางวัลช่อการะเกด (๒๕๓๖) จากเรื่องสั้น – ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – หิมพาล (๒๕๓๗)

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – ถนนไปชายเล (๒๕๓๘)

ฯลฯ

ประกาศเกียรติคุณที่ได้รับ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา ได้รับรางวัลเป็นงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๐ ของ สกว.

– รางวัลวรรณกรรม ๖ รางวัล

– ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ใน ๗๗ คนในวาระ ๗๗ ปีมหาวิทยาลัยฯ (๒๕๕๔)

– ศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๕๖

– รางวัล สันติประชาธรรม (พิเศษ) สำหรับบุคคลที่อุทิศตัวเพื่อสังคมตามแนวทางอาจารย์ป่วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นสมาชิกองค์กรและบทบาททางสังคม

– เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน (๒๕๓๘-ปัจจุบัน)

– ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา

– อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ และคณะทำงานเรื่องทรัพยากรน้ำ สำนักนายกรัฐมนตรี

– คณะอนุกรรมการด้านการจัดการที่ดิน น้ำ ทรัพยากรฯในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย

– กรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเขื่อนหัวนา, เขื่อนราษีไศล-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ฯลฯ

วาระสุดท้าย

สนั่น ชูสกุล เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ด้วยอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และมีไข้สูง คุณหมอได้ตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเพื่อส่งไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสนั่นได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ผลการพิสูจน์ชิ้นเนื้อไม่พบว่าเป็นอะไร คุณหมอได้แน่ะนำว่าอาจต้องพิสูจน์ชิ้นเนื้ออีกรอบ ครอบครัวจึงตัดสินใจพาสนั่นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. ซึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์อีกรอบ พร้อมทั้งการเจาะไขสันหลัง จึงพบว่าสนั่นเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ครอบครัวตัดสินใจพาสนั่นกลับบ้าน มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และสนั่นได้สิ้นใจในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ นับเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา ๑ เดือน รวมสิริอายุได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com