จากอีสานถึงเอมีเลีย
ปี ๒๕๖๒ นี้ เมืองไทยหายใจเป็นเรื่องกัญชา พรรคการเมืองก็ใช้หาเสียงและดูเหมือนจะได้ผลด้วย ศูนย์กลางความสนใจในนโยบายกัญชาอยู่ที่อีสาน ที่บุรีรัมย์ ที่สกลนคร
ผมเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้กัญชาเป็นยารักษาโรค เป็นสมุนไพร และปลดปล่อยกฎหมายให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าถึง ใช้ประโยชน์ ไม่ให้มีการผูกขาดโดยทุน โดยรัฐ ที่มักอ้างเหตุผลร้อยแปดเหมือนดูถูกสติปัญญาและสามัญสำนึกของประชาชน แต่แท้ที่จริงคือเรื่องอำนาจและผลประโยชน์
ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างลาว เขามีกฎหมายให้ต้มเหล้ากินได้เสรี ถ้าจะขายก็ขออนุญาต ก็ไม่เห็นเขาเมากันทั้งบ้านทั้งเมือง หรือตายเพราะเหล้าเป็นพิษ ไทยมีกฎหมายเหล้าผูกขาด คนเมาเช้าเมาเย็น เมาแล้วยังขับขี่ มีอุบัติเหตุตายอันดับต้น ๆ ของโลก คนลาวปลูกกัญชาใช้เองก็ไม่เห็นคนเมากัญชา เดินยิ้มหัวกันตามถนนหนทาง อย่างที่ชอบคาดการณ์ว่าจะเกิดถ้าหากไทยมีกัญชาเสรี
แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่า จะให้มี “กัญชาเสรี” ในเมืองไทยวันนี้ อย่างที่แคนาดาและหลายรัฐในอเมริกาเดินหน้าไปแล้ว เพราะคงต้องเตรียมการอะไรกันอีกมากนัก แต่ก็ขอให้เป็นสมุนไพรพร้อมกับการส่งเสริมดูแลที่เหมาะสมเท่านั้น
ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องกัญชา ไม่เชื่อว่าปลูกกัญชาคนละ ๕-๖ ต้นจะรวยกันเป็นแสนชาวบ้านเราถูกหลอกมานานมากแล้ว ชักชวนให้ปลูกพืชเดี่ยวทั้งหลาย อย่างมะม่วงหิมพานต์โครงการวัวพลาสติก มันสำปะหลัง ยางพารา ต่อมามีสบู่ดำ มะเขือเทศ พริก มะละกอ และอีกหลาย ๆ ตัวที่พ่อค้านายทุนหมุนเวียนกันไปหลอกชาวบ้าน โดยมีข้าราชการและนักการเมืองบางคนร่วมขบวนด้วย
ทางเลือกเพื่อการเกษตรมีหลายทาง อีสานมีปราชญ์ชาวบ้านมากมายที่ทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองไว้เป็นแบบอย่าง ตั้งแต่พ่อมหาอยู่สุนทรธัย พ่อเชียง ไทยดี ที่สุรินทร์ คุณสุทธินันท์ปรัชญพฤทธิ์ คุณคำเดื่อง ภาษี และอีกหลายคนที่บุรีรัมย์ และในทุกจังหวัดในภาคอีสาน
ยังไม่นับเครือข่ายลูกศิษย์ลุงเชียง ไทยดีอีกหลายร้อย สมาชิกเครือข่ายอินแปงอีกหลายพัน เครือข่ายพัฒนาชาวบุรีรัมย์ เครือข่ายอุ้มชูไทอีสานที่ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่นนครราชสีมา และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านทั่วอีสานที่คุณหมออภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ขอนแก่น ได้ประสานงานตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน
เรื่องการเกษตรผสมผสาน เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรทางเลือก จึงไม่ใช่เรื่องโรแมนติกของคนโลกสวย แต่เป็นเรื่องจริง ที่แม้ว่ายังเป็นทางเลือก เป็นกระแสรอง ยังไม่ได้ขยายไปกว้างไกลนัก วันนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น
คนรุ่นใหม่ คนกล้าคืนถิ่นกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น กำลังกลับบ้านสานต่องานการเกษตรของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่ใช่แบบเดิม ๆ ที่ทำไปก็ใช้หนี้ไม่พอ แต่ทำด้วยวิธีคิดแบบนักประกอบการยุคใหม่ ที่อาจไม่ร่ำไม่รวย แต่ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข และหลายคนก็รวยได้
เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราก็เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วมีการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวกลับไปทำการเกษตรเพราะอย่างไรเสียคนก็ยังต้องกินต้องดื่ม ต้องการอาหาร การเกษตรต้องการการจัดการที่ดี ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมยุคใหม่
ขอยกตัวอย่างแคว้นเอมิเลีย โรมาญา (Emilia Romagna) ตอนเหนือของอิตาลี มีเมืองโบโลญา เป็นศูนย์กลาง นับเป็นแคว้นที่น่าศึกษามากที่สุด ไม่ว่าเรื่องการเกษตร เรื่องสหกรณ์ เรือการประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก เป็นโมเดลที่ทั่วโลกสนใจไปศึกษา
แคว้นนี้มีประชากรอยู่เพียง ๔ ล้านคนหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแคว้นที่จนที่สุดและได้รับความสียหายจากสงครามมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่วันนี้คือแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดและพัฒนามากที่สุด เพราะมีรากฐานบนเศรษฐกิจชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงนั่นเอง
ลบล้างคำปรามาสของทุนนิยมและสังคมนิยมที่ว่า เศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจที่รอวันตาย
ด้วยประชากรเพียง ๔ ล้านคน แคว้นเอมีเลียมีวิสาหกิจการผลิตอยู่ ๙๐,๐๐๐ แห่ง กว่าร้อยละ ๙๐ เป็นขนาดเล็กขนาดจิ๋ว มีคนทำงานอยู่น้อยกว่า ๕๐ คน มีสหกรณ์อยู่กว่า ๑๕,๐๐๐ หรือหนึ่งในสามของสหกรณ์ของอิตาลีทั้งประเทศ สหกรณ์ของเขาเพียง ๙ คนก็เป็นสหกรณ์ได้
เอมีเลียเป็นแคว้นที่มีสหกรณ์มากที่สุดในโลก มีส่วนถึงร้อยละ ๔๐ ของจีดีพีของแคว้นนี้ประชากร ๒ ใน ๓ เป็นสมาชิกสหกรณ์ บางคนเป็นสมาชิกหลายสหกรณ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการบริการ สหกรณ์เกี่ยวกับเนื้อนม ไวน์ ผลไม้ ข้าวของเครื่องใช้ ผลผลิตกว่าครึ่งส่งออกไปต่างประเทศ
ศึกษาให้ดีจะพบว่า นอกจากประเพณีดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางหลายร้อยปี ที่มีภูมิปัญญาด้านศิลปะ งานหัตถกรรม การแปรรูปอาหาร การเกษตร หลังสงครามโลกก็มีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเกษตร หันกลับไปทำการเกษตรสืบสานต่อจากพ่อแม่ เป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี
ในเวลาเดียวกัน รัฐเองก็ส่งเสริมสนับสนุนในด้านกฎหมาย วิชาการ และด้านทุน ทำให้เกิดการประกอบการขึ้นมามากมาย และเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย (ที่เรียกว่า network หรือ cluster) ป้องกันการผูกขาดจากทุนใหญ่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย มีพลังสามารถแข่งขันในระดับสากลได้
แคว้นเอมีเลียส่งเสริมการศึกษาและประชาสังคม (civil society) มีฐานคิดมาจากทั้งสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมประชาธิปไตยและศาสนาคริสต์คาทอลิกนับร้อยปีก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นที่เมืองโบโลญา เมืองหลวงของแคว้นเอมีเลียเมื่อเกือบ๙๐๐ ปีก่อน
แคว้นเอมีเลียโด่งดังเรื่องการเกษตรและการสหกรณ์ มีผลผลิตอาหารที่ส่งออกไปทั่วโลกแต่คนในแวดวงยานยนต์ก็รู้ดีว่า บรรดารถสปอร์ต รถแข่ง ยี่ห้อดังอย่าง Ferrari, Lamborghini, Maserati, Ducati ก็มีฐานผลิตอยู่ในแคว้นนี้ ที่เมืองพาร์มา, โมเดนา, โบโลญา
เขียนเรื่องอิตาลีเพราะมีบทเรียนที่เมืองไทยสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศนี้ ที่มีหลายอย่างคล้ายกับบ้านเรา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ โดยเฉพาะการเกษตร ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากชุมชนเท่านั้น แต่มาจากการส่งเสริมที่เหมาะสมและจริงจังของรัฐด้วย
เมืองไทยอยากเป็น “ครัวไทยสู่ครัวโลก” แต่ดูเหมือนจะถูกผูกขาดจากทุนใหญ่ไม่กี่เจ้าชาวบ้านเป็นเพียงแรงงานเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีศักยภาพที่จะทำได้เองมากมาย ถ้าหากได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ ให้มีกฎหมายเอื้ออำนวย และมีทุนสนับสนุนอย่างเหมาะสม
ประมาณสิบกว่าปีก่อน ผมได้รับเชิญไปพูดในการประชุมร่วมระหว่างอาเซียนกับประชาคมยุโรป หรือ EU เป็นโครงการเพื่อพัฒนานโยบายสำหรับนักการเมือง การประชุมนั้นมีขึ้นที่เมืองเวนิซ ไทยส่ง ส.ส.หนุ่มจากพรรคต่าง ๆ ไปร่วมด้วย ๕-๖ คน ที่ผมจำชื่อคนหนึ่งได้ดี คือ คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่อง “วิสาหกิจชุมชน” ประสบการณ์ของประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นได้มีพรบ.วิสาหกิจชุมชนออกมาแล้ว (ต้นปี ๒๕๔๘) ผู้พูดอีกคนหนึ่งเป็นชาวอิตาเลียน พูดเรื่อง SMEs ของอิตาลี
เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมไม่ได้ติดต่อกับนักการเมืองที่ไปด้วยกันอีกเลย ที่เขียนถึงวันนี้เพราะอยากฝากถึงคุณศักดิ์สยามและนักการเมืองที่ไปงานนั้นว่า ถ้ายังจำเนื้อหาการสัมมนากันในปีนั้นได้ก็ขอให้คิดหาทางส่งเสริมเรื่องวิสาหกิจชุมชนต่อไปด้วย
ผมได้ไปให้ข้อมูลและคำอธิบายร่าง พรบ.นี้ที่สำนักงานกฤษฎีกา เลขาธิการขณะนั้นถามผมว่า ประเทศอื่นเขามีกฎหมายวิสาหกิจชุมชนแบบนี้ไหม ผมตอบว่า ไม่มีครับ เลขาธิการก็พูดเสียงดังว่า แล้วเสนอมาทำไม น่าแปลกใจว่าตรรกะหรือวิธีคิดแบบไหนที่ทำให้คนระดับนั้นตั้งคำถามแบบนี้
ผมพยายามอธิบายว่า ประเทศอื่นเขามีกฎหมายสหกรณ์ที่มีมากว่าร้อยปี และมีพัฒนาการที่ครอบคลุมกิจกรรมต่าง ๆ ของเขาได้หมด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายวิสาหกิจชุมชน กฎหมายสหกรณ์ของเราไม่ตอบสนองปัญหาของบ้านเรา เหมือนรถบัสรถทัวร์ที่วิ่งไปตามถนนใหญ่ ระหว่างเมืองใหญ่
ไม่สามารถไปถึงตำบลหมู่บ้าน ถึงได้เกิดมีรถตู้นั่งได้ ๑๐-๑๒ คน รับผู้โดยสารจากบ้านในกรุงเทพฯ ไปส่งถึงบ้านที่หมู่บ้านในชนบท โดยไม่ต้องเสียเวลาเสียค่าแท็กซี่ เดินทางหลายต่อ
แต่วิสาหกิจชุมชนที่เป็น พรบ. นั้น ได้ตัดข้อเสนอเบื้องต้น ๓ ข้อที่สำคัญที่สุดออกไป คือการเป็นนิติบุคคล การมีกองทุนสนับสนุน และการมีสถาบันส่งเสริมด้านวิชาการ
แต่วิสาหกิจชุมชนที่เป็น พรบ. นั้น ได้ตัดข้อเสนอเบื้องต้น ๓ ข้อที่สำคัญที่สุดออกไป คือการเป็นนิติบุคคล การมีกองทุนสนับสนุน และการมีสถาบันส่งเสริมด้านวิชาการ
เมืองไทยวันนี้มีวิสาหกิจชุมชน ๘๐,๐๐๐ กลุ่ม ไปลงทะเบียนกับเกษตรอำเภอจังหวัด ส่วนใหญ่ก็หวังให้รัฐช่วย โดยไม่ได้เข้าใจปรัชญาแนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชน ซึ่ง “การเรียนรู้เป็น
หัวใจ เป้าหมายคือการพึ่งตนเอง” จนกระทั่งไม่นานมานี้ สำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ๕ ปีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สนใจที่จะเอาร่างพรบ.เดิมกลับมา คืน ๓ อย่างในร่าง เดิมให้วิสาหกิจชุมชน แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่เห็นว่ามีการปรับปรุง พรบ.นี้ รัฐมนตรีที่ดูแลอ้างว่า รัฐบาลเห็นด้วย แต่ สนช.มีคนค้านมาก
พรรคการเมืองจะทำเรื่องกัญชาก็ทำไป แต่ก็อยากให้สนใจกระบวนการที่ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากกัญชาจริง ๆ ทั้งการเข้าถึง ทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ ถึงไม่ได้เงินเป็นแสนเป็นล้าน แต่ก็ให้ได้ประโยชน์จากผลผลิตของตนเองอย่างยั่งยืน
ยั่งยืน แปลว่าพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ ของนักการเมือง ของนายทุนชาวบ้านจึงต้องรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเป็นสหกรณ์เข้มแข็ง ที่เกิดได้ถ้านักการเมืองที่กำกับนโยบายเข้าใจและให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ทั้งที่อีสานและทั่วประเทศ มีวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งที่มีการประกอบการที่ดี มีผลงาน มีผลผลิตทางการเกษตร และมีผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตร ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมระดับโอทอปหลายดาว ได้รับการยอมรับระดับโลก มีศักยภาพที่จะพัฒนาไม่แพ้ที่เอมีเลีย ถ้าหากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม
สหกรณ์ของเอมีเลียสรุปไว้ว่า เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่ “กำไร” แต่เป็น “คน” คือสมาชิก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การแบ่งปัน การรักษาความเชื่อมั่นไว้ใจกัน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมทุนที่สำคัญที่สุดของการรวมกลุ่มกันทำการประกอบการให้มั่นคงยั่งยืน โดยไม่ได้เอา “มั่งคั่ง” มาเป็นเป้าหมายอันดับต้น แต่เป็นผลพลอยได้มากกว่า (ไม่เช่นนั้นคงต้องทำกำไรแบบเอาเป็นเอาตายทุกวิถีทางอย่างทุนนิยมสามานย์)
เอมีเลียโมเดล มีลักษณะคล้ายกับจีนโมเดล คือ เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (Socialist Market Economy) เพียงแต่เอมีเลียเป็นลูกผสมระหว่างทุนนิยมกับคุณค่าหลายประการของสังคมนิยม ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่น่าสนใจในการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของอีสาน ซึ่งมีฐานคุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง
ถ้า ส.ส. กรรมาธิการเกษตรจะไปดูงานก็แนะนำให้ไปที่แคว้นเอมีเลีย โรมาญา นำความรู้ แนวคิดแนวทางของเขามาประยุกต์ใช้การเกษตรของอีสานน่าจะเข้มแข็ง ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ คล้ายกับที่คนแคว้นเอมีเลียทำได้ หลังจากที่อดอยากยากจนมาหลายสิบปีหลังสงคราม