“ไพบูลย์ บุตรขัน” ร้อยปีมีหน คนเพลงมหัศจรรย์

ผมเกิดและเติบโตในเมืองกรุง จะได้เห็นชนบทก็ตอนปิดเทอม ได้ไปเที่ยวบ้านก๋ง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อ ณ ริมคลองบางพระ ฉะเชิงเทรา  ชาวบ้านย่านนั้นส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ คำว่า “บ้านนอกคอกนา” ที่แท้จริง จึงไม่มีในจินตภาพของผมเลย

จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นจึงมีภาพจำของคำว่า “บ้านนอก” จากการชมภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” ผลงานครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้กำกับที่ทำให้คนไทยได้ดู “หนังเพลง”  (Musical) แบบไทย ๆ หลังจากที่หนังเพลงรางวัลออสการ์ คือ “มนต์รักเพลงสวรรค์” หรือ The Sound of Music เข้ามานั่งอยู่ในหัวใจคนไทย และโกยรายได้ไปมหาศาล

แน่นอน หนังเพลงต้องมีจุดเด่นที่เพลง โรเบิร์ต ไวส์ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่มี ริชาร์ด ร็อดเจอร์ส และ ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ แต่งเพลงให้ ในทำนองเดียวกัน มนต์รักลูกทุ่งจะไม่ดังระเบิดและถูกนำมาสร้างเป็นหนังและละครซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าครูรังสีไม่มีนักแต่งเพลงคู่ใจ อย่าง ครูไพบูลย์ บุตรขัน ประพันธ์เพลงให้

ทำให้คนไทยได้ประจักษ์ว่า เพลงเอกจาก “มนต์รักลูกทุ่ง” คือเพลงที่บรรยายภาพท้องถิ่นไทยในชนบทได้อย่างไพเราะและงดงามอย่างที่สุด จนน่าสงสัยว่า ครูเพลงท่านนี้สะสมคำสวย ๆ ไว้ในคลังคำได้อย่างไร

“หอม…ดินเคล้ากลิ่นไอฝน ครวญระคนหอมแก้มนงคราญ ขลุ่ยเป่าแผ่วพลิ้วผ่านทิวแถวต้นตาล มนต์รักเพลงชาวบ้านลูกทุ่งแผ่วมา ได้คันเบ็ดสักคันพร้อมเหยื่อ มีน้องนางแก้มเรื่อนั่งเคียงตกปลา ทุ่งรวงทองของเรานี้มีคุณค่า มนต์รักลูกทุ่งบ้านนา หวานแว่ว แผ่วดังกังวาน”

จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว คำร้องเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผมและใครต่อใครไม่รู้ลืม จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ มีคนไทยค่อนประเทศหลั่งน้ำตาขณะร้องเพลง “ค่าน้ำนม” โดยไม่รู้ว่าเป็นผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน เช่นกัน และอีกหลาย ๆ เพลง อาทิ มนต์เมืองเหนือ กลิ่นโคลนสาบควาย ฝนเดือนหกสามหัวใจ โลกคือละคร รังรักในจินตนาการ ฯลฯ 



ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นชาวอำเภอสามโคก ปทุมธานี ต้นตระกูลทั้งฝ่ายบิดาและมารดา เป็นชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญ ชนชาติที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นในงานศิลปะแทบทุกแขนง ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผา การทำอาหาร ไปจนกระทั่งเพลงการงานดนตรี

ครูไพบูลย์เข้าสู่วงการเพลงอย่างจริงจัง ในราวปี ๒๔๘๑ ขณะเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว่องสิว แล้วย้ายไปทำงานโรงไฟฟ้าสามเสน ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนได้รับการชักชวนให้เป็นนักประพันธ์เพลงร่วมคณะละคร  “จันทโรภาส” ของ ครูพรานบูรพ์ ซึ่งโด่งดังมากอยู่ในช่วงนั้น ทำให้ได้รับประสบการณ์ทั้งด้านการเรียนรู้ชีวิต สังคม และเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญด้านงานประพันธ์เพลงและบทละคร ภายใต้การบ่มเพาะเคี่ยวกรำจากศิลปินบรมครูอย่างพรานบูรพ์ และการกลั่นกรอง ขัดเขลาจากประชาชนคนฟังจำนวนมาก

เพลงเอกจากภาพยนตร์ “มนตร์รักลูกทุ่ง” ทำให้ครูได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประจำปี ๒๕๑๔ และทำให้ครูปรากฏตัวสู่สังคมอีกครั้ง หลังจากเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน ด้วยโรคร้ายเกี่ยวกับผิวหนังที่เป็นมานาน จนถูกเรียกขานว่าเป็น “คีตกวีเพลงผู้อาภัพ” ครูเพลงในเงามืดผู้ส่งนักร้องคนแล้วคนเล่าขึ้นไปเฉิดฉายบนเวที นับจาก ทูล ทองใจ, ชาญ เย็นแข, คำรณ สัมปุณณานนท์ จนถึง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ฯลฯ

ครูไพบูลย์ บุตรขัน จากโลกและวงการเพลงไปเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๕ ทิ้งผลงานเพลงอันยิ่งใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงสุภาพบุรุษนักประพันธ์เพลง ผู้ยิ่งยงคนนี้ไว้เป็นนิรันดร์

ครูไพบูลย์ บุตรขัน  เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๑ ดังนั้น ๔ กันยายน ปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่าน อันควรค่าที่คนไทยจะร่วมกันแสดงมุทิตาจิตแก่ครูเพลงคนสำคัญท่านนี้ยิ่งนัก

ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมรำลึกถึง ครูไพบูลย์ บุตรขัน  ในงานเสวนา วันเสาร์ ที่ ๑๘ สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ หอศิลป์ร่วมสมัย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร แม้หัวข้อของการเสวนาจะตั้งไว้ว่า “มีอาเซียนในเรา มีเราในอาเซียน” แต่ตอนท้ายของการเสวนาจะมีรายการรำลึก ครูไพบูลย์ บุตรขัน ชาวอาเซียนเชื้อสายมอญ ชนชาติที่ไม่มีประเทศแต่มีพลังทางศิลปะอันใหญ่ยิ่ง

งานนี้จะมี “ข้าวแช่ชาววัง” อาหารวิเศษของชาวมอญ ตำรับชาวมอญเกาะเกร็ดให้ทุกท่านชิม โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งผมขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้


Related Posts

แทนน้ำนมแม่ สำนึกของลูกอีสาน
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์
มุ่งสู่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com