ประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน ยุคใกล้กึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๒๕)
ประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน ยุคใกล้กึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๒๕)
กล่าวนำ
เมื่อจะเขียนถึงประวัติศาสตร์การเมืองอีสานยุคใกล้ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๐๐ และระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นช่วงกึ่งพุทธกาล อันมีเหตุสำคัญผันแปรเกิดขึ้นมากมายหลายครั้งในทางการเมืองของประเทศไทยเรา ความรู้สึกแรกที่เกิดกับผู้เขียนคือ มันเป็นเรื่องใหญ่มีผลสะเทือนลึกซึ้งยาวไกล และแทบทุกเหตุการณ์ก็เกี่ยวพันมาถึงการเมืองอีสานอย่างแยกไม่ออก นักการเมืองและผู้นำคนสำคัญของอีสานได้รับอานิสงส์ไปกับเขาด้วยทุกครั้ง !
นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว แต่ลูกหลานและเครือญาติยังสามารถสืบสาวราวเรื่องได้ จะเขียนอย่างไรจึงจะครอบคลุมเรื่องราวเหล่านั้น โดยเฉพาะปมปัญหาหรือประเด็นสำคัญที่ยังคลุมเครือในความรับรู้ของคนรุ่นหลัง ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนจิตใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป
การเขียนประวัติศาสตร์คือการมองย้อนไปในรอยเท้าของบรรพบุรุษบนเส้นทางที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมมีทั้งชัดเจนเห็นได้ กับมีทั้งเลือนลางจางหาย ผู้บันทึกไว้ก็อาจบันทึกเท่าที่ตัวเองเห็นเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา หรือเท่าที่มีเอกสารหลักฐาน ผู้เขียนแต่ละคนก็อาจเขียนตามความคิดเห็นเป็นไปตามข้อสันนิษฐานหรือวิเคราะห์ออกมา ประวัติศาสตร์จึงมีหลายแง่ให้คิด มีหลายมุมให้มอง เรื่องเดียวกัน “พูดให้ผิดกันก็ได้ พูดให้ถูกกันก็ได้” ขึ้นอยู่กับ “ทีทรรศน์วัจนะ” ว่าจะมองและพูดด้วยท่าทีอย่างไร
มีผู้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์คือนิยายที่ถูกเขียนขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน สะท้อนวาทกรรมของแต่ละฝ่าย ส่วนมากถูกเขียนโดยฝ่ายชนะหรือฝ่ายที่เหนือกว่า ซึ่งอยู่ในฐานะครอบงำ ปากเสียงของผู้ชนะดังกึกก้องยาวนานในประวัติศาสตร์ขณะที่ปากคำของผู้แพ้เบาแผ่วแล้วเลือนหาย ไม่มีใครอยากได้ยินได้ฟัง
นี่คือปมเงื่อนสำคัญปมหนึ่งของปัญหาในรัฐชาติที่ยังมีการดูถูกเหยียดยามกันทางเชื้อชาติ รัฐชาติที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้สิทธิของพลเมืองได้ไม่เต็มที่ ยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะรัฐชาติที่ยังหนาแน่นไปด้วยความอยุติธรรมจนกล่าวได้ว่าเบื้องหลังของอำนาจที่ครอบงำสังคมคือละครมายาคติจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะพลิกปมเงื่อนในประวัติศาสตร์ขึ้นมาพินิจใหม่ ด้วยสายตาที่เที่ยงธรรมแท้ แม้เป็นเพียงบางมุมมอง
แต่เมื่อจะเขียนก็ต้องเขียนเต็มความสามารถด้วยสำนึกของคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีพันธกิจที่จะตรวจสอบและคลี่ปมปัญหาทางการเมืองซึ่งยังค้างคาใจให้กระจ่างขึ้นอีกทางหนึ่งเสริมส่วนที่คนอื่น ๆ ได้ทำไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจร่วมกันของคนในชาติ
ผู้เขียนขอขอบคุณท่านผู้เป็นเจ้าของข้อเขียนเอกสารหลักฐานที่ผู้เขียนได้ใช้ค้นคว้าอ้างอิงตลอดถึงท่านผู้ให้คำสัมภาษณ์ ให้ข้อคิดเห็น และให้คำปรึกษาหารือ ถ้ามีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงประการใด ๆ ผู้เขียนขออภัยและพร้อมแก้ไขทันที กรุณาแจ้งไปที่นิตยสาร “ทางอีศาน” ได้ตลอดเวลา.
บทที่หนึ่ง
อีสาน ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ก่อนจะเขียนถึงประวัติศาสตร์การเมืองอีสานยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ตามหัวเรื่องที่ตั้งไว้ ควรจะทบทวนวามเป็นมาของคนไทยเชื้อสายลาวในแผ่นดินอีสานปัจจุบันซึ่งมีจำนวนกว่า ๒๐ ล้านคนเสียก่อน เพื่อที่จะทราบว่าปัญหาหลายปัญหาที่เกิดกับพลเมืองไทยภูมิภาคนี้ในเวลาต่อมา มีต้นตอบ่อเกิดเกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังจะได้นำเสนอต่อไป
จำนวนประชากร – ความยากจนกับผลกระทบทางการเมือง
ประชาชนชาวอีสานส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาว ลาวผู้ผสมกลมกลืนกับคนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมกับลาวและชนเผ่าเล็กเผ่าน้อยที่ถูกกวาดต้อนให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านช่องข้ามโขงมาอยู่ทีหลังตามวิสัยของศึกสงครามในยุคศักดินา – ล่าเมืองขึ้น เรื่องนี้จะนำเสนอในหัวข้อต่อไป
นั่นคือที่มาคร่าว ๆ พอสังเขป คนอีสานปัจจุบันจึงเกิดจากการผสมผสานของคนหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดังว่า และพันธุ์เทศอย่างจีนผสมลาว ลาวผสมฝรั่ง ฯลฯ
แต่จำนวนประชากรอันมหึมานั้นทำให้เกิดจินตภาพ หรือเกิดความคิดเห็นกันไปได้หลายด้านหลายทาง
ทางหนึ่งคือมองด้วยสายตาเยาะหยันว่า คนอีสานมีลูกมากจึงยากจน กลับกันคนอีสานยากจนจึงมีลูกมาก เหมือนคำพูดย้อนเย้ยของนายนาคนางาม กับเจ้านายที่อำเภอ ในเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมของ “ลาวคำหอม” ชื่อ “เขียดขาคำ” ในชุด “ฟ้าบ่กั้น” ที่ว่า “มันจนนายเอ๊ย มันจน เลยเอาเมียทำผ้าห่ม และลูกก็หลั่งไหลออกมา”
ที่ว่าย้อนเย้ย คือเย้ยนโยบายเพิ่มประชากรในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ และก็เย้ยตัวเจ้านายเองนั่นแหละที่ไม่รู้มีกี่เมียกี่ลูก !
ทางที่สองมองด้วยสายตานักประวัติศาสตร์ก็ได้ความตามที่ผู้เขียนนำเสนอไว้พอสังเขป แต่เพิ่มเติมว่าการกวาดต้อนคนลาวและชาวเผ่าต่าง ๆ เข้ามาสู่อาณาจักรสยาม มีด้วยกันหลายระลอกเนื่องด้วยในอดีตแผ่นดินยังกว้างใหญ่ไพศาลเขตแดนก็ยังไม่มี เขาตีแย่งเอาคนและทรัพย์สินมากกว่าแย่งเอาดินถิ่นที่ส่วนทางที่สาม เป็นข้อสันนิษฐานและการวิเคราะห์ด้วยทรรศนะของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และนักโบราณคดี ว่าคนอีสานนั้นมีบรรพบุรุษอยู่บนพื้นแผ่นดินอีสานและตามสองฝั่งลำน้ำโขง ตลอดถึงดินแดนสุวรรณภูมิมานานนับพันปี มีภาพเขียนตามผนังถ้ำตามหน้าผา เช่น ที่ผาแต้มมีโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ขุดพบใต้ผืนดิน มีโบราณสถานโบราณวัตถุหลายแห่งปรากฏเป็นหลักฐาน บรรพบุรุษของคนลาวนอกจากอยู่บนแผ่นดินล้านนาหรือภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน และทั้งที่ตั้งมั่นในดินแดนล้านช้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นบรรพชนของคนลาวในสปป. ลาว ปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ฉบับเก่าของคนไทยที่เคยเป็นแบบเรียนเด็กชั้นประถมว่า ไทยถูกจีนรุกรานจึงถอยร่นหนีภัยลงมายึดแผ่นดินสุวรรณภูมิปัจจุบันเลยไปก็ตกทะเล และกล่าวถึงขุนบรมเมืองหนองแส ซึ่งประวัติศาสตร์ลาวก็กล่าวถึง “ขุนบรม” เช่นกัน แต่มิได้เขียนว่าถูกจีนรุกรานแต่อย่างใด ทั้งที่ดินแดนลาวก็อยู่ติดกับพรมแดนจีน และไม่ปรากฏว่าจีนเคยยึดครองลาวมาก่อน
เมื่ออยู่มานมนาน ลูกหลานก็เต็มบ้านเต็มเมือง ความอัตคัดฝืดเคืองในการดำรงชีวิตก็เกิดขึ้นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ก็คับแคบลง จำนวนประชากรและความยากจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่รัฐต้องดูแลแก้ไข นักการเมืองอีสานจับปัญหานี้มาแต่เริ่มเปลี่ยนการปกครอง ดังจะได้กล่าวถึงในบทต่อ ๆ ไป
การลุกขึ้นสู้กับการเป็นกบฏ
มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ระหว่างชาติเพื่อนบ้านในอินโดจีน จะเห็นความเป็นมาเกี่ยวพันกันไม่ขาดสาย บ้างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน บ้างมีความขัดแย้งถึงขั้นเกิดสงคราม
การศึกระหว่างสยามกับลาวซึ่งมีผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ แม่ทัพกรุงธนบุรีคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อาศัยความอ่อนแอของราชอาณาจักรลาวซึ่งแตกแยกกันเป็น ๓ อาณาจักรและมีความไม่ลงรอยกัน เข้าตีกรุงเวียงจันทน์จนพ่ายแพ้ กวาดต้อนคนลาวลงมาเป็นเชลยศึก ผู้เป็นเชื้อเจ้าเช่นเจ้าอนุวงศ์เองลงมาเป็น “องค์ประกัน” ขนเอาทรัพย์สินอันมีค่า เก็บเอาตำรับตำราต่าง ๆ ขนใส่หลังช้าง พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่น ๆ อันเปรียบเสมือนศูนย์ร่วมศรัทธาปสาทะ หรือ “กล่องดวงใจ” ของคนลาวลงมาด้วย จะให้คนลาวลืมเรื่องนี้ได้อย่างไรแต่มองอีกแง่หนึ่ง การที่คนลาวติดตามมาด้วยก็เท่ากับตามมาปกปักรักษาองค์พระแก้วอันประเสริฐ
คุณไผท ภูธา สรุปไว้ในหนังสือ “ความเป็นมาคนอีสาน ในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์” หน้า ๑๑๘ ถึงการที่สยามกวาดต้อนคนลาว น่าสนใจอย่างยิ่ง “ด้วยว่า ด้านหนึ่งเป็นการแผ่ขยายวัฒนธรรมที่มีมูลเชื้ออันดีงามของคนลาวไปสู่ดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา อีกด้านเป็นการเพาะมูลเชื้อการต่อสู้ให้เกิดขึ้นทั่วภาคอีสานในอีกหลายสิบปีต่อมา และเชื่อมเป็นสายพานส่งไปถึงการต่อสู้ของผู้คนอินโดจีน ที่ต่อสู้กู้เอกราชในระยะต่อมาอีกด้วย”
คนอีสานซึ่งตกเป็นหัวเมืองส่วยอีสาน พร้อมกับคนลาวเผ่าอื่น ๆ ต้องส่งส่วยเสียภาษี ทั้งส่วยที่เป็นคนไปเป็นข้าทาส และส่วยทรัพย์สินเงินทองให้สยามอย่างหนัก ถูกจับสักเลกเหมือนพิมพ์รูปพรรณสัตว์ ทำให้ลาวชั้นล่างที่ถูกรีดนาทาเร้นอย่างพวก “ข่า” ในดินแดนลาวใต้ทนไม่ไหว คิดต่อต้านก่อการลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นอิสระถึงสามครั้ง แม้ทัพสยามจะปราบลงได้ง่ายดาย แต่ก็ได้ฝังมูลเชื้อแห่งการต่อสู้ไว้ในใจลูกหลาน จากรุ่นพ่อผู้กล้าหาญเสียสละซึ่งทางการสยามถือว่าเป็นกบฏ
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๘ – ๒๓๗๒ สมเด็จเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทรงลุกขึ้นกอบกู้เอกราชเพื่อความเป็นอิสระจากสยาม แต่ความพยายามนั้นไม่สำเร็จ ทัพของพระองค์ถูกปราบลง พระองค์ถูกควบคุมตัวลงมาทรมานจนสวรรคตที่กรุงเทพฯการศึกครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นความพ่ายแพ้ที่ทำให้ลาวสูญเสียอย่างใหญ่หลวง กรุงเวียงจันทน์แตกและถูกเผาจนแทบราบเป็นหน้ากลอง ทรัพย์สินเงินทองของมีค่าถูกเก็บกวาดขนสู่กรุงเทพฯแทบหมดเกลี้ยง ที่ขาดไม่ได้คือการกวาดต้อนเชลยศึกคนลาวจากเมืองต่าง ๆ รวมทั้งคนลาวจากเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง เอาเป็นข้าทาสใช้แรงงาน ทำนา ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังรกร้าง คนจากนครพนมให้ไปอยู่พนัสนิคม พนมสารคาม และสนามไชยเขต จากสกลนครให้ไปอยู่ประจันตคามกบินทร์บุรี นอกจากนั้นกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในภาคกลาง รอบ ๆ กรุงเทพฯ เลยไปถึงเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ภาคกลางตอนบน เช่น อุทัยธานี อ่างทอง ชัยนาท กระทั่งถึงนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลาวอ้อยต้อย เมื่อร่วมกับคนลาวรุ่นก่อน เสียงลำกลอนต้อนฮับขับพิณแคนคงดังระงมชมแซว
ยุคนั้น คนคือปัจจัยสำคัญในการสร้างและรักษาอาณาจักร แต่ความคับแค้นขมขื่นย่อมเกิดขึ้นในจิตใจของคนที่ถูกพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนเป็นอเนกอนันต์
สมัยผู้เขียนเป็นเด็กก็เคยได้ยินคำผญาปลุกปลอบใจเมื่อครั้งเวียงจันทน์ล่มว่า “เวียงจันทน์เศร้า สาวเอยอย่าฟ้าวว่า มันสิโป้บัดล่า แตงค้างหน่วยปลาย”
ในระยะต่อมา (ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ – ๒๓๘๗) ทางการสยาม ซึ่งเห็นภัยจากการรุกคืบเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างฝรั่งเศส และเพื่อเพิ่มกำลังไพร่พลในดินแดนอีสาน ก็เที่ยวกวาดต้อนคนลาวเผ่าต่าง ๆ เช่น ภูไท กะเลิง โซ่ แสก ย้อ ฯลฯ จากเมืองพิณ นอง กะบอง และเซโปน ข้ามโขงมาให้กระจายอยู่ตามหัวเมืองอีสาน กว่า ๙ จังหวัดในปัจจุบัน เช่นที่ ธาตุพนม เรณูนคร คำชะอีเลิงนกทา กุฉินารายณ์ กุสุมาลย์ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ฝรั่งเศสเข้ายึด “โคชินจีน” หรือเวียดนามใต้ไว้ในครอบครอง ปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๔๐๖ ก็เข้ายึดครองกัมพูชา ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของสยามพร้อมกับลาวมาก่อน จากนั้นค่อย ๆ แผ่อิทธิพลเข้ามาในลาว เป้าหมายไม่เพียงจ้องยึดดินแดนลาวทั้งหมดเท่านั้น หากแต่หวังข้ามโขงเข้ามาฮุบดินแดนภาคอีสานของสยามทั้งหมดด้วย ขณะที่ทางตะวันตกของไทย อังกฤษก็รุกเข้ายึดดินแดนส่วนต่าง ๆ ของพม่า
สถานการณ์อันล่อแหลมและอันตรายรอบประเทศเช่นนี้ ทำให้แต่ละรัชกาลทรงหาทางปรับปรุงหรือปฏิรูปการปกครองภายในอย่างเร่งด่วน ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ฝรั่งเศสตีเอาเวียดนามเหนือได้ เวียดนามทั้งหมดตกอยู่ในครอบครองของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง ความฮึกเหิมของนักล่าเมืองขึ้นเพิ่มทวี โดยรุกเข้ามาในดินแดนลาวเรื่อย ๆ ทางการสยามต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้มงวดตรวจตราในดินแดนภาคอีสาน ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสไม่ได้ปิดบังความต้องการของตน หากส่งคนมาสำรวจภูมิประเทศและความเป็นไปของผู้คนอย่างเปิดเผย อย่างจะบอกว่าข้าจะเข้ามาเหยียบแผ่นดินนี้ในไม่ช้าที่สุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสก็สำแดงธาตุแท้ของผู้รุกราน โดยส่งเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทย ยื่นคำขาดบีบบังคับให้ทางการสยามปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเขา รัฐบาลสยามพยายามเจรจาและหาวิธีดำเนินการทางการทูตกับชาติตะวันตกเพื่อยับยั้งฝรั่งเศส แต่หาเป็นผลไม่ในเมื่อชาติตะวันตกอย่างอังกฤษก็เข้าข้างพวกตะวันตกด้วยกัน ฝรั่งเศสรุกไทยทั้งทางเรือและทางบก ในที่สุดก็เกิดการปะทะเพื่อรักษาราชอาณาจักรไว้ ผู้นำสยามจำต้องยอมให้ฝรั่งเศสยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไว้ทั้งหมด รวมทั้งดินแดนฝั่งขวาบางส่วน กับทั้งเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงด้วย
จากสัญญาที่เซ็นกันในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ นั้น ภาคอีสานตกเป็นของสยามแต่นั้นมาแต่แม้ได้ตามประสงค์ การเผชิญหน้าระหว่างฝรั่งเศสกับรัฐสยามก็หาได้ยุติลงไม่ ต่างฝ่ายต่างรู้ความต้องการและกลศึกซึ่งกันและกัน การตระเตรียมสรรพกำลัง เสบียงกรัง คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ และการเกณฑ์ไพร่พลเข้ากองทหารเตรียมไว้สู้รบ เป็นความจำเป็นพอ ๆ กับการจัดเก็บส่วยภาษีที่ไม่ลดละลงแม้แต่น้อย ชาวอีสานชั้นผู้น้อยด้อยข้า และชาวข่าลาวเทิงต่างได้รับความเดือดร้อนโดยทั่วหน้า การหาทางลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นอิสระจึงเป็นหนทางที่จำต้องเลือกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
จากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าชะตากรรมของคนสองฝั่งโขงเชื่อมโยงกันมาโดยมิอาจแยกขาดจากกันได้ สายน้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอินโดจีนมายาวนาน ผ่านการต่อสู้หลายครั้งหลายหน ผ่านการหลั่งเลือดและน้ำตาคละเคล้ากัน ดิ่งลึกเป็นผลึกแห่งชีวิตจิตวิญญาณอันฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมดสิ้น
หลังจากฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนามกัมพูชา และลาว ผู้นำคนสำคัญของสามชาตินั้นได้ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชนั้นก็มาบรรจบกับการลุกขึ้นสู้ของคนลาวและชาวเผ่าที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่อีสาน ในรูปของขบวนการ “ผู้มีบุญ” ซึ่งกระจายกันออกหลายสาย ผู้มีบุญฝั่งซ้ายต่อสู้กับฝรั่งเศส ผู้มีบุญฝั่งขวาต่อสู้กับรัฐสยาม ซึ่งเป็นความจำเป็นทางวิถีชีวิตและเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ คือถ้าไม่อยากสิ้นชาติและสูญเผ่าพันธุ์ก็ต้องร่วมกันลุกขึ้นสู้…
ขบวนผู้มีบุญในภาคอีสานเริ่มเคลื่อนไหวหนักในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ต่อเนื่องมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๕ กระจายไปในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดในภาคอีสาน เป็นตำนานของผู้กล้า แม้ถูกทัพสยามปราบลงก็ยังคงถูกเล่าขานกันต่อมา และส่งผลสะเทือนมาถึงการเมืองอีสานในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
อคติทางเชื้อชาติและความอยุติธรรม
ปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจคนไทยเชื้อสายลาวโดยเฉพาะชาวอีสานปัญหาหนึ่งก็คือ การรับรู้ถึงการดูถูกเหยียดหยามของคนที่ถือพวกตนเป็น “ไทยแท้” คำว่า “ลาวตาขาว” ก็ดี หรือคำพูดเชิงดูถูกของชนชั้นผู้เป็นนายว่า “คนอีสานขี้เกียจสันหลังยาว” ก็ดี ตอกย้ำสำนึกของคนอีสานมาโดยตลอด โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษามีโอกาสได้สัมผัสกับพวกเจ้านาย อย่างพวกนักการเมืองอีสานรุ่นแรก ๆ ในรัฐสภา ปัญหาอคติทางเชื้อชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปรียบเสมือนแผลติดเชื้อเรื้อรังข้ามยุคข้ามสมัยมาตราบเท่าปัจจุบัน
ถ้าจะย้อนสำรวจดูก็รู้ต้นตอได้ไม่ยากนัก มันไม่ใช่ชะตากรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากแต่มันถูกสร้างขึ้นโดยผู้ครองรัฐที่ชนะสงคราม กระทำต่อคนของรัฐที่แพ้สงครามซึ่งบังคับกวาดต้อนมาเป็นข้าทาสบริวาร เป็นข้อยข้าม้าใช้ ต้องเหยียบย่ำซ้ำเติมให้รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า จะได้ไม่เผยอหน้าขึ้นมาเท่าเทียมตนได้
และไม่จำต้องมีใครปลุกปั่นยุยง มันรู้ได้เองโดยการสัมผัสสัมพันธ์กับคนต่างชั้นเหล่านั้น
คนอีสานชั้นหลัง ๆ ที่ยังไม่ตระหนักในปัญหานี้ก็พลอยรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้า แทบไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองเป็น “ลาว” ถึงไม่ลืมกำพืดก็ไม่อยากพูดภาษาพ่อภาษาแม่ให้ใครได้ยิน
แต่ที่ยังมีสำนึกลึกซึ้งต่อสายโลหิตจิตวิญญาณอันสูงส่งของบรรพบุรุษก็ไม่หยุดตัวเองไว้แค่ปัญหาเล็กน้อยนี้ แต่จะก้าวข้ามสำนึกทางเชื้อชาติไปสู่สำนึกทางชนชั้น…
และด้วยสำนึกทาง “ชนชั้น” เท่านั้นจึงขจัดอคติทางเชื้อชาติ และความอยุติธรรมใด ๆ ได้
นักการเมืองอีสานรุ่นแรกหลายคนได้แบกรับภารกิจนี้เต็มสองบ่า…