เก้าพิธีกรรมขอฝน (Nine Rain Rituals)

Rain is like nectar from heaven pouring the freshness, the abundance, the fertility and the bliss of life for the people of the world. If lack of rain or shortage occurred in any growing season, people would become despair and tried to determine what the reasons were that caused these anomalies. Our wise ancestors said it was caused by the fact that our people did not care to behave in line with the traditions, the morals and the regulations; the rulers were also corrupt and a moral. The country t h u s became troublesome and the weather anomalous.


ย้อนจากดึกดำบรรพ์จวบจนปัจจุบัน การดำรงชีวิตของมหาชนลุ่มอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการกสิกรรมเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากฟ้าในหน้ามรสุมตามฤดูกาล แม้ในหลายท้องที่มีเขื่อนมีระบบชลประทานผันน้ำเพาะปลูกได้หลายเที่ยวในรอบปีก็ตาม แต่หากขาดมรสุมผันน้ำฝนมาให้ไม่เพียงพอตามฤดูกาลแล้ว ระบบผันน้ำชลประทานก็กระเทือนเกิดปัญหามากมาย

ฉะนั้น น้ำฝนเป็นดั่งน้ำทิพย์จากสรวงสวรรค์ที่หลั่งความชุ่มฉ่ำ อุดมสมบูรณ์ ความปีติสุข เติมเต็มชีวิต และให้ชีวิตใหม่แก่ชาวโลกโดยแท้ หากฤดูเพาะปลูกปีใดแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง ฝนไม่มาถูกต้องตามฤดูกาลแล้ว มหาชนก็หดหู่สิ้นหวัง ต่างก็ค้นหามูลเหตุแห่งฟ้าฝนวิปริตที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลนั้น ปราชญ์บรรพชนของเราบอกว่า เกิดจากประชาชนย่อหย่อนต่อการประพฤติในศีลธรรมจารีตประเพณี ผู้นำ เจ้านาย เจ้าเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ขาดศีลธรรม ฉ้อฉล ฉ้อราษฎร์บังหลวง ขาดความสามัคคี นอกจากบ้านเมืองไม่สงบสุขแล้วยังทำให้ดินฟ้าอากาศวิปริตอาเพศไปด้วย

ต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์บอกว่า มนุษย์เราทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้แหล่งน้ำลำธาร สร้างมลภาวะต่าง ๆ เป็นปัจจัยทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” ขึ้น ส่งผลต่อดินฟ้าอากาศวิปริตแปรเปลี่ยนไป

เมื่อฝนไม่ตกเพราะเหตุดังกล่าว บรรพชนเราจึงคิดค้นพิธีกรรมขอน้ำฝนขึ้นมาตามความเชื่อของตน ขอน้ำฝนจากแถน เทพบุตร เทวดาองค์ที่มีหน้าที่ให้น้ำฝนน้ำฟ้าประทานแก่ชาวโลกทั้งมวลหากองค์ท่านไม่พึงพอใจก็ไม่ทำหน้าที่ ทำเป็นเฉยเมยไปเสีย ดังนั้น ปราชญ์บรรพชนเราจึงทำพิธีกรรมขอฝน ซึ่งที่เคยมีมาแล้วนั้นไม่น้อยกว่า ๙ พิธีกรรม ดังต่อไปนี้

๑. เต้าแม่นางด้ง

เป็นการเสี่ยงทายให้ความมั่นใจว่าฝนจะตกต้องตามฤดูหรือไม่ โดยการจัดหาอุปกรณ์ดังนี้
๑.กระด้งสานด้วยไม้ไผ่ ๒ ใบ
๒. ไม้คาน ๒ คู่
๓. กระจกเงา ๑ บาน
๔. หวี ๑ อัน
๕. ข้าวเหนียว ๑ ปั้น
๖. กำไลแขน ๑ อัน
(บางแห่งก็เพิ่มชนิดที่ ๗. แป้ง ด้วยก็ได้) ซึ่งจะต้องขอยืมมาจากบ้านแม่ม่ายเท่านั้น

มีค่าคายโดยการจัดขันธ์ห้า (คายขันห้า) เหล้าขาว ไข่ต้ม ๑ ฟอง และหลักไม้จำนวน ๒ ต้น หนึ่งแทนหลักแล้ง อีกต้นแทนหลักฝน โดย นำไปฝังห่างกันอยู่คนละฟาก

เวลาที่ทำพิธีส่วนมากจะประมาณ ๒๐.๐๐ น. สถานที่ทำพิธีเป็นลานที่กว้างพอสมควร เช่น ลานวัด สนามโรงเรียน หรือลานกลางบ้านก็ได้ หลังจากฝังหลักแล้งห่างจากหลักฝนไว้พอสมควรแล้วก็นำกระจกเงา หวี กำไลแขน แป้ง และปั้นข้าวเหนียวเอาไว้ข้างในกระด้ง ๒ ใบที่ประกบกันนั้นนำไม้คานทีละคู่ประกบกระด้งไว้ใช้เชือกมัดหัวท้ายให้แน่น ไม้คานอีกคู่ก็มาประกบทำเป็นกากบาทกับไม้คานคู่แรก แล้วใช้เชือกมัดให้แน่นหนาเช่นกันผู้นำประกอบพิธีนำพานขันธ์ห้า เหล้าขาว และไข่ต้ม มาป่าวสักเค (สัคเค) เทวดาอัญเชิญลงมาสู่พิธีจัดให้คน ๑ คู่ (จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้) เข้ามาจับที่หัวไม้คาน ๔ มุมพอดี แล้วจึงร้องนำคำเซิ้งทีละท่อน ผู้เข้าร่วมพิธีทั้งมวลก็ว่าตามจนจบ

คำเซิ้งแม่นางด้ง :
“เต้าอี่แม่นางด้ง โล้งโค้ง
เสมอดั่งกงเกวียน
มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบ
มาคอบนี้ได้สองสามที
ตักตุลี่แมงมี่ตุลา
พาสาวหลงเข้าด้งกำแมด
มาสู้แดด หรือมาสู้ฝน
มากำฮนนำแม่เขียดไต้
เฮ็ดซักไซ้นั่นแม่นเขียดเหลือง
มีแต่เสียงนั่นแม่นเขียดจ่อง
ลอยอ่องล่องนั่นแม่นเขียดจ่านา
หลังซา ๆ แม่นพญาคันคาก
เชิญทั้งคกไม้บากมาซูนด้งเยอ
เชิญทั้งสากไม้แดงมาซูนด้งเยอ
เชิญทั้งแคงข้าวหม่าให้มาซูนด้งเยอ

ด้งน้อย ๆ ฮ่อนข้าวกินขาว อีสาวก็มี
มีทั้งหวีเขาควายป่ายปาย
มีทั้งหวีเขาควายป่ายเกล้า
มีทั้งเหล้าไหหลวงฮับไถ่
มีทั้งเหล้าไหใหญ่ฮับแถน
แขวนลงมาแต่เทิงวีด้ง
เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง
มาปิ่นวัดปิ่นเวียนเดียวนี้
ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคาเหมิดแล้ว
ฝนบ่มาข้าวนาตายแล้งเหมิดแล้ว
แฮ้งอยู่ป่าโฮมโคงเหมิดแล้ว
หมากกล้วยสุกคาเครือเหมิดแล้ว
น้ำใสขาวให้สูพากันอาบ
เห็นหอยตาบถิ้มขึ้นเมือบก
ฝนตกลงแต่เทิงภูค้อย
น้ำย้อยลงภูหอภูโฮง
กลิ้งกันลงสูพันกันลงเสมอดั่งพันสาด
ตาดแต่นี้เท่าฮอดเสอเพอ
เสมอกันแล้วฝนแก้วเลียนลำ
มานำกูนี้ให้ฝนฮวยลง
สาวไทเวียงเต้าแม่นางด้ง
เต้นเยอด้งเปอเสอเยอด้ง
เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง
มาเป่งน้ำเดือนหกใส่ข้าว
มาเป่งน้ำเดือนเก้าใส่นา
กุกกู กุกกู (กุ๊กกู๊ กุ๊ก ๆ กู๊)”

ครั้นร้องนำและร้องรับคำเซิ้งจนจบ แต่กระด้งไม่ขยับเลย แสดงว่าแม่นางด้งไม่ชอบคนจับคู่นี้ ก็ต้องเปลี่ยนคู่ใหม่ไปเรื่อย ๆ และร้องนำคำเซิ้งใหม่สังเกตง่าย ๆ หากคู่ใดเป็นที่ถูกใจ พอร้องมาถึงท่อนที่ว่า “เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง” กระด้งจะกระดุกกระดิกทันที บางทีถึงกับพาคนที่ถือวิ่งไปตีที่หลักเลย ดูแล้วน่าแปลกจริง ๆ ถ้านางด้งไปตีที่หลักแล้ง ก็จะแล้ง แต่หากไปตีที่หลักฝน ฝนก็จะตก ถ้าคึกคะนองตีที่หลักฝนสลับไปสลับมาเขาว่าฝนจะมาตกเร็ว ๆ นี้

อนึ่ง การเต้าแม่นางด้งนี้ นอกจากเสี่ยงทายทำนายฝนแล้ว ยังทำพิธีขับไล่ภูตผีปิศาจก็ได้ หรือสิ่งของหายไม่ทราบว่าใครเอาไป ก็เต้าแม่นางด้งไปค้นหาจนเจอได้สิ่งของคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ

๒. เต้าแม่นางแมว หรือแห่นางแมว

ด้วยมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์เก้าชีวิต เสียงแมวร้องเปรียบเสมือนว่า “เป็นเสียงร้องขอ โลกมนุษย์กำลังเดือดร้อน” ทวยเทพจึงดลบันดาลให้เกิดฝนตกเพื่อให้ความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำ จึงได้มีการแห่นางแมวไปตามบ้านเรือนให้คนเอาน้ำสาด อีกความเชื่อหนึ่งบอกว่า แมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่า จะเป็นเหตุให้ฝนตกจริง ๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทำให้แมวร้องมากที่สุดจึงจะเป็นผลดี และเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแห่นางแมวแล้วฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน และตามคำเซิ้งแห่นางแมวนั้น

หานางแมวตัวหนึ่ง (สีดำ บางท้องถิ่นสีอะไรก็ได้และอาจมากกว่า ๑ ตัว) ใส่กระทอหรือเข่งที่มีฝาปิดอยู่ข้างบน มีไม้คานให้สองคนหาม เวลาที่ทำส่วนมากเป็นช่วงบ่ายคล้อย ทุกครัวเรือนอยู่บ้านผู้นำทำพิธีโดยมีขันธ์ห้า ป่าวสักเคเทวดาลงมาอธิษฐานขอน้ำฝน แล้วแห่นางแมวไปให้ทั่วทุกครัวเรือน ไปถึงเรือนใดก็มาเทหรือวิดน้ำใส่ บางท้องถิ่นไม่ให้โดนตัวแมว บางท้องถิ่นให้ถูกตัวแมวได้ผู้นำทำพิธีก็ร้องนำคำเซิ้ง ขบวนแห่ก็ว่าตาม

คำเซิ้งแห่นางแมว :
“เต้าอีแม่นางแมว แมวมาขอไข่
ขอบ่ได้กะขอฟ้าขอฝน
ขอน้ำมนต์หดแมวให้แน่
บ่ได้ค่าจ้างเอาแมวข้อยมา
บ่ได้ปลาเอาหมูกับข้าว
บ่ได้ข้าวเหล้าเด็ดก็เอา เหล้าโทก็เอา
แม่เถ้าเอ้ยอย่าฟ้าวขายลูก
ข้าวเพิ่นปลูกลูกน้อยเพิ่นแพง
ตาเว็นแดงฝนเทลงมา
ตาเว็นตกฝนตกลงมา
ดังเค็ง ๆ ข้ามดงมานี้
แบ้นบักเลิกแบ้นพ่ออี่เถิง
ห่งเปิง ๆ ฝนเทลงมา
ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคาเหมิดแล้ว
ฝนบ่ตกข้าวนาตายแล้งเหมิดแล้ว
ฝนบ่ตกกล้าแห้งตายพายเหมิดแล้ว
ตกลงมาฝนตกลงมา
เท่งลงมาฝนเท่งลงมา
เทลงมาฝนเทลงมา
กุกกู กุกกู กุกกู กุกกู กุกกู”

ก็ร้องนำร้องตามไปเรื่อย ๆ จนรอบหมู่บ้านผู้คนที่แห่ไปด้วยนั้นก็มีกิจกรรมทอดแห ถือสวิงช้อนปลาช้อนน้ำ จับกบจับเขียด ถือฉมวกแทงปลาไปเรื่อย ๆ …เป็นที่สนุกสนาน จนมืดค่ำก็กลับบ้านใครบ้านมัน

๓. สูตรคาถาปลาค่อ (ปลาค่อ = ปลาช่อน)

ความเชื่อมาจากนิทานชาดกเล่าว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาปลาค่อซึ่งอาศัยอยู่ที่ห้วยแห่งหนึ่ง ไม่เคยกินปลาสัตว์เล็กสัตว์น้อยเลยกินตะไคร้น้ำและสาหร่ายอย่างอื่น อยู่มาปีหนึ่งเกิดแห้งแล้งกันดารหนัก น้ำในลำห้วยก็แห้งขอดฝูงปลา สัตว์น้ำทั้งหลายกำลังจะตาย พญาปลาค่อพยายามตะเกียกตะกายโผล่จากตมขึ้นมา แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เปล่งสัจวาจาขึ้นว่า “ดูรา ฟ้าฝน ข้าพเจ้าทนทุกข์ยากลำบาก ด้วยอาศัยอยู่กับฝูงปลาทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าผู้มีศีลได้รับความลำบากเช่นนี้ เหตุใดหนอท่านจึงไม่ตกลงมาข้าพเจ้ากำเนิดในเผ่าพันธุ์ปลา แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเคี้ยวกินเนื้อปลาเลย แม้แต่ตัวเล็ก ๆ ประมาณเท่าเมล็ดข้าวสาร ทั้งไม่ได้กินสัตว์อื่นใดที่มีชีวิตแม้สักครั้งเดียว ด้วยคำสัจนี้ขอให้ฝนตกลงมา ให้เหล่าสัตว์น้ำผ่านพ้นทุกขเวทนานี้ด้วยเทอญ” ทั้งนี้ ด้วยพลังอำนาจแห่งคุณธรรม สัจบารมีของพญาปลาค่อ ฟ้าฝนก็ตกลงมาสร้างความชุ่มชื่น ฝูงสัตว์น้ำก็รอดพ้นจากความตายไปได้โดยดี การสูตรคาถาปลาค่อจึงสืบต่อมีมาจนถึงทุกวันนี้

พิธีกรรม จัดขันธ์ห้า นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือจำนวนคี่ (๗ รูป, ๙ รูป) เจริญพระพุทธมนต์สวดมงคลให้ครบ ๓ วัน (บางท้องถิ่นถือ ๗ วัน) คาถาสวดใช้ในเจ็ดตำนานฉบับย่อ แล้วจึงสูตรคาถาปลาค่อจำนวน ๑๐๘ รอบทุกวันได้ยิ่งดี (บางท้องถิ่นถือวันละ ๓ รอบก็พอ) แต่ถ้าไม่ได้ก็ให้สูตรคาถาปลาค่อตามกำลังวันดังนี้ วันอาทิตย์ ๖ รอบ (จบ) วันจันทร์ ๑๕ รอบ วันอังคาร ๑๐ รอบ วันพุธ ๑๗ รอบ วันพฤหัสบดี ๑๙ รอบ วันศุกร์๒๑ รอบ และวันเสาร์ ๗ รอบ

คาถาปลาค่อ :

มหาการุณิโก นาโถ อัตถายะ สัพพะปานีนัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิ มุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ เทโว วัสสะตุ ธัมมะโต ๑
มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปานีนัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิ มุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ เทโว วัสสะตุ กาละโต ๑
มหาการุณิโก นาโถ สุขายะ สัพพะปานีนัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิ มุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ เทโว วัสสะตุ ถานะโส ๑
สุพูโต จะมหาเถโร มหากาโยมะโหตะโร
นีละวันโน มหาเตโช ปวัสสันตุวะลาหะกา
อะพิตถะนะยัง ปะชุนนะ นิทิง กากัสสะ นาสะยะ
กากัง โสกายะ รันเทหิ มัจเสโสกา ปะโมจะยะ ๑ ฯ

๔. โยนครกโยนสาก หรือดึงครกดึงสาก

เกี่ยวเนื่องความเชื่อการละเล่นที่ใช้เครื่องเพศมาเล่นในการขอฝนนั้น อาจมีอิทธิพลมาจากพราหมณ์ก็เป็นได้ แต่การใช้ครกและสากมาเล่นก็เป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นดี การโยนครกโยนสากนี้บางท้องถิ่นยังเป็นการละเล่นสนุกสนานของหนุ่มสาวในเทศกาลสงกรานต์มาก่อน

เริ่มพิธีกรรมโดยผู้นำทำพิธีแต่งขันธ์ห้า ป่าวสักเคเทวดาลงมา แล้วอธิษฐานขอให้ฝนตก อาจมีการเสี่ยงทายว่า ถ้าฝ่ายชายชนะฝนจะตก หรือฝ่ายหญิงชนะฝนจะตก หรืออธิษฐานอย่างอื่นว่าการดึงครกดึงสากครั้งนี้ ขอความเมตตาประทานฝนตกลงมาเทอญก็ได้

อุปกรณ์มีเชือกยาว ๒ เส้น ใช้ผูกครก และสากไว้ตรงกลางเชือก แบ่งสองฝ่ายเป็นฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน ๒ ชุด ก็เป็นการเล่นชักคะเย่อกันธรรมดานี่เอง ฝ่ายใดชนะก็ว่ากันไป มีความสนุกสนานกันในการเล่น เช่น ขณะที่ดึงฝ่ายหนึ่งก็ปล่อยให้อีกฝ่ายล้มระเนระนาดเป็นที่หัวเราะสนุกสนาน ก็เล่นจนทุกคนพึงพอใจ หรือเหน็ดเหนื่อยไม่มีแรงกันนั่นเอง แต่ที่สำคัญ ในความสนุกนั้นยังได้ขอฝนให้มาตกอีกด้วย

๕. การแห่ข้าวพันก้อน

การจัดขบวนแห่ข้าวพันก้อนมีอยู่ ๒ แบบ คือในเทศกาลบุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ ๑ แห่ในพิธีขอฝนฟ้า ๑

การแห่ข้าวพันก้อนเพื่อให้ฝนตกนั้น ครั้นถึงเวลาตกกล้าทำนาปีแล้ว แต่ฟ้าฝนยังไม่ตกลงมาต้องตามฤดูกาล ดังนั้น ชาววัดและชาวบ้านจึง

พร้อมใจกันจัดปั้นข้าวเหนียวพันก้อน และธูปเทียนไปขอฝนจากโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ที่หมู่บ้านนั้นนับถือศรัทธา พอขบวนแห่ไปถึงก็มีการสวดมนต์สมาทานศีล กราบไหว้พระ และป่าวสักเคเทวดาลงมา ขอน้ำฝนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสร็จแล้ว ก็แห่ข้าวพันก้อนกลับเข้าหมู่บ้าน

พอขบวนแห่มาถึงที่ตีนบ้าน เหล่ากลุ่มชาวบ้านที่เฝ้าเรือนก็จัดขบวนออกมาต้อนรับ มีการร้องไถ่ถามและโต้ตอบในภารกิจที่ไปขอน้ำฝนเป็นอย่างไร มีข่าวดีมาบอกไหม อะไรต่าง ๆ นานาที่เป็นสิ่งที่ดีและฝนจะตกต้องอย่างอุดมสมบูรณ์ฝ่ายที่แห่ข้าวพันก้อนไปขอฝนกลับมาก็จะบอกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาอารักษ์ท่านเมตตาจะดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกลงมาเร็ว ๆ นี้อย่างอุดมสมบูรณ์พูนสุขอะไรก็ว่าไป เสร็จแล้วก็ร่วมแห่ข้าวพันก้อนเข้าไปในวัด แห่รอบศาลาวัดหรือศาลาการเปรียญครบ ๓ รอบ ก็ขึ้นไปบนศาลาฯถวายข้าวพันก้อนแด่พระสงฆ์พร้อมกับรับการสวดอวยพร เป็นเสร็จพิธี

๖. เทศน์พญาคันคาก (คันคาก = คางคก)

ได้มีความเชื่อมาจากนิทานชาดกเล่าว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคากในชมพูทวีป พระราชบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าเอกราช พระราชมารดาทรงพระนามว่า พระนางสีดา เมื่อทรงเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้น พระราชบิดาทรงมอบราชสมบัติให้ปกครอง ต่อมาได้เกิดฝนแล้งผู้คนสัตว์ได้อดอยากล้มตายกันมาก พญาคันคากจึงสั่งให้พญานาคเอาหินก่อขึ้นไปเมืองแถน สั่งให้ปลวกเอาดินฉาบทาไม่ให้หินพัง ทำเป็นทางไปรบพญาแถน ทำอยู่ ๓ เดือนถึงเสร็จ จึงได้เกณฑ์พลอากาศมี หงส์ แตน ต่อ ผึ้ง มอด งู แมงป่อง ทางน้ำคือ เต่า ปู ปลา กบ เขียด อึ่งอ่าง ทางบก คือ ช้าง ม้า วัว ควาย ทำสงครามรบกันอยู่ประมาณสองปีพญาคันคากจึงมีชัยชนะต่อพญาแถน แล้วมีบัญชาให้พญาแถนส่งฝนมาตกตามฤดูกาล

พิธีกรรม ขุดสระมีขนาดพอสมควร ตักน้ำมาเทลง เอาจอก แหน บัวมาปลูก เอาปู ปลาและเต่ามาปล่อยลงไป ที่ขอบสระปั้นรูปช้าง ม้า วัว ควาย ผึ้ง ต่อ แตน กบ เขียด อึ่งอ่าง แล้วจัดเครื่องร้อย หมากร้อยจอกหนึ่ง เมี่ยงร้อยจอกหนึ่ง ข้าวตอกร้อยจอกหนึ่ง (อย่างละ ๑๐๐ ชิ้นรวมเข้าใส่ในจอกขนาดใหญ่พอบรรจุได้ เช่น ข้าวตอกร้อยหนึ่งจอกหมายถึงว่า มีข้าวตอกจำนวนร้อยดอก (เม็ด) ใส่ไว้ใน ๑ จอก เป็นต้น) น้ำส้มป่อยหนึ่งขัน จัดขันธ์ห้าขันธ์แปด นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือจำนวนคี่ (๗ รูป, ๙ รูป) ชาวบ้านที่ร่วมพิธีโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ นุ่งขาวห่มขาวบวชชีพราหมณ์มาร่วมฟังพระเทศน์จากหนังสือพญาคันคากอยู่ ๓ วัน ๓ คืน ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานขอให้ฝนตก ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล

๗. พิธีเต้าแม่นางข้อง

ข้อง หมายถึงเครื่องจักสานไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับบรรจุสัตว์เมื่อเวลาไปหาอาหาร เช่น จับกบ จับปลา และจับแมลง วิธีทำเซียงข้องนั้นเริ่มต้นจากการนำข้องมาตกแต่งให้มีรูปกายคล้ายคน โดยใช้ไม้เสียบกะลาปักตรงปากข้องทำเป็นรูปศีรษะใช้ผ้าแดงผูกที่ปากข้องทำเป็นเสื้อผ้า แล้วหาไม้ ๒ อัน ปักก้นข้องทำเป็นขาสองขา เมื่อทำเซียงข้องเสร็จแล้วก็ใช้ไม้ยาวเสียบเข้ากลางข้องให้ปลายโผล่ออกสองด้านเพื่อใช้จับ

เตรียมเครื่องบูชาเทวดาใส่พาน เครื่องบูชาเทวดานั้นคือ คายขันธ์ห้า หัวหน้าพิธีจะป่าวสักเคเทวดา เชิญเทวดามาสิงในเซียงข้องเพื่อไล่ผีแม่แล้งเมื่อเทวดาลงมาสิงข้องนั้นจะสั่นหรือกระตุก เซียงข้องจะนำคนจับไปยังจุดที่ผีแม่แล้งอยู่และจะขับไล่ผีแม่แล้งให้ออกไปจากหมู่บ้าน การเต้าแม่นางข้องบางครั้งก็ใช้เวลานานเกือบตลอดวัน แต่บางครั้งก็ใช้เวลาสั้นเพียงสองชั่วโมง ชาวอีสานมีความเชื่อว่าหลังจากที่แม่นางข้องไล่ผีแม่แล้งออกไปจากหมู่บ้าน อีกไม่นานฝนก็ตก

การเต้าแม่นางข้องเพื่อขอคำทำนายว่า ข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์หรือไม่นั้น ใช้วิธีเสี่ยงทายว่าหากข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์ขอให้แม่นางข้อง “สูน” ก็คือให้สั่น หากข้าวปลาอาหารจะไม่บริบูรณ์ก็ขอให้นิ่งเฉย

พิธีเต้าแม่นางข้องของชาวอีสาน นอกจากจะกระทำเพื่อจุดประสงค์สองประการที่กล่าวมาแล้วชาวอีสานยังทำเพื่อจับขโมยและไล่ผีปอบอีกด้วย

๘. การบ๋านางธรณี

บ๋า ในภาษาอีสานหมายถึง การบนบานบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจให้ช่วยเหลือในยามตกทุกข์ได้ยาก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอีสานไปบนบานได้แก่ เทวดา หลักเมือง ปู่ตา ผีบรรพบุรุษ ต้นไม้ใหญ่ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูป เจ้าป่าเจ้าเขา การบ๋านางธรณีก็คือการบนบานขอความช่วยเหลือจากแม่พระธรณีเพื่อขอให้ฝนตก ชาวอีสานมีความเชื่อว่าแม่พระธรณีสามารถบันดาลให้ฝนตกได้ เพราะในสมัยที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้นางธรณีได้มายืนรีดมวยผมเพื่อช่วยพุทธองค์ปราบมาร น้ำที่ไหลออกมาจากผมแม่พระธรณีก็ท่วมบรรดามารทั้งหลาย ชาวอีสานจึงถือว่าแม่พระธรณีเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถบันดาลสิ่งที่เป็นมงคลแก่ผู้ที่ไปบนบานได้

พิธีบ๋าแม่พระธรณี ไม่มีพิธีการที่ยุ่งยากอะไรเพียงแต่นำหมากพลู บุหรี่ ดอกไม้ ธูป เทียน และขันน้ำไปบูชาแม่พระธรณีโดยนั่งลงในที่ที่เราอยู่จะเป็นบริเวณบ้านหรือบริเวณวัดก็ได้ กรวดน้ำไปถึงแม่พระธรณีเพื่อบอกกล่าวให้ทราบ พร้อมกับตั้งอธิษฐานว่า ขอให้ฝนตกเพื่อจะได้ทำนา หากสมปรารถนาแล้วจะนำเครื่องคาวหวานมาปลง (มามอบให้)

๙. บุญบั้งไฟ

เป็นงานบุญขนาดใหญ่ ผู้คนทุกผู้ทุกนามในหมู่บ้านต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมบุญบั้งไฟ มีการเตรียมงานเป็นหลายเดือน เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคี ฝึกฝนทำงานเป็นกลุ่มเป็นคุ้มโดยเฉพาะการตำบั้งไฟให้แน่นนั้น แต่ละคุ้มต้องระดมหนุ่มฉกรรจ์มาตอกมาตำทุกวันทุกคืน ส่วนฝ่ายแม่บ้านก็ทำอาหารการกินเลี้ยงดู นอกจากนั้นยังฝึกซ้อมลำเซิ้งบั้งไฟอีกด้วย แต่ปัจจุบันนี้ บุญบั้งไฟเป็นธุรกิจการพนันไปเสียแล้ว มีคณะจัดงานบุญบั้งไฟมืออาชีพ บั้งไฟทำจากท่อพลาสลอนอัดดินปืนด้วยระบบไฮโดรลิกซ์ได้วันละหลายบั้งตลอดงานมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมาทดแทนทุกอย่างกองทุนหมู่บ้านรอรับเงินพัฒนาหมู่บ้านอย่างเดียวแต่ผู้เข้ามาเที่ยวชมงานต้องเสียค่าหัว โดยเฉพาะวันจุดบั้งไฟมีการพนันขันต่ออย่างครึกโครม ในภาคอีสานเขาว่ามีสนามจุดบั้งไฟตลอดทั้งปี นักพนันบั้งไฟรู้กันดีว่ามีที่ไหนส่งข่าวได้รู้กันทางมือถือสะดวกและรวดเร็วทันใจ

มีรากเหง้าความเชื่ออย่างไร ทำไมจึงจุดบั้งไฟขอฝน ?

ประเพณีการจัดงานบุญบั้งไฟ สามารถแบ่งแยกตามความเชื่อออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

๑. ความเชื่อมาจากเรื่องพญาคันคาก และผาแดงนางไอ่ อันเป็นความเชื่อภาคต่อขยายจากนิทานชาดกเรื่องพญาคันคากในข้อที่ ๖ ว่า เมื่อพญาคันคากมีชัยชนะต่อพญาแถน แล้วมีข้อตกลงว่า พอถึงฤดูทำนาปีชาวโลกมนุษย์จะส่งสัญญาณให้พญาแถนรู้โดยการจุดบั้งไฟขอให้พญาแถนส่งฝนมาตก และพอสิ้นฤดูไม่ต้องการน้ำฝนอีกแล้วก็จะส่งสัญญาณเป็นเสียงสะนูว่าวให้รู้ว่าจะเข้าฤดูเก็บเกี่ยวแล้วให้หยุดน้ำฝนไปเสีย และได้อ้างอิงถึงบรรพชนว่ามีการทำบั้งไฟจุดแข่งขันกันมาตั้งแต่นมนานมาแล้วตามวรรณคดีเรื่องผาแดงนางไอ่จนสืบทอดเป็นฮีตสิบสองคองสิบสี่ กลายเป็นจารีตประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

๒. ความเชื่อสืบสานกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ลัทธิฮินดูในอินเดียภาคใต้ ที่จุดบั้งไฟเพื่อเป็นการบูชาเจ้าแม่กาลีและพระศิวะ ซึ่งพราหมณ์จากอินเดียได้เผยแพร่เข้ามาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ครั้งยุคโบราณกาล

อย่างไรก็ตาม จากสามความเชื่อทั้งผีพราหมณ์ และพุทธนั้น ชาวอุษาคเนย์ได้ผสมผสานเป็นตำนานความเชื่ออย่างคนละเรื่องเดียวกัน จนไม่สามารถแยกแยะออกจากกันชัดเจนได้ว่าอะไรมีต้นตอมาจากอะไร ด้วยในงานบุญบั้งไฟ มีทั้งนับถือแถน (ผี) ทำอวัยวะเพศชายหญิงแสดงการสมสู่ (พราหมณ์) และทำบุญบูชาพระรัตนตรัย (พุทธ) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็สรุปลงตรงที่เป็นฮีตสิบสองคองสิบสี่ เป็นจารีตประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน การจัดงานบุญบั้งไฟเป็นฮีตที่หก เป็นงานบุญเดือนหก เพื่อบูชาพระรัตนตรัยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ขอน้ำฝนให้อยู่เย็นเป็นสุขในวันวิสาขบูชา

ในกระแสโลกาภิวัตน์นี้ ยุคทุนนิยมไร้พรมแดน การส่งเสริมการท่องเที่ยว และขายวัฒนธรรม รวมทั้งอิทธิพลแห่งการพนันขันต่อ ได้พัฒนางานบุญบั้งไฟให้มีขึ้นตลอดปี ตลอดศกและตลอดไป ปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ก่อเกิดขึ้น คือในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่เคยและไม่สามารถจัดงานบุญบั้งไฟมาก่อนเลยนั้น บัดนี้สามารถจัดงานบุญบั้งไฟได้อย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้บ้านเมืองใหญ่โตกันเสียแล้ว มีหมู่บ้านทำบั้งไฟไว้จำหน่ายตลอดปี มีทีมงานจัดงานบุญบั้งไฟมืออาชีพกระจายไปทั่วภาคอีสาน ซึ่งรวมทั้งภัยจากผีพนันบั้งไฟทำให้หลายครอบครัวหมดตัวบ้านแตกสาแหรกขาด เกิดปัญหาสังคมขึ้น ผู้สันทัดกรณีบอกว่า ต้นแบบนี้มีกำเนิดมาจากลุ่มแม่น้ำซีมูลในจังหวัดยโสธรและศรีสะเกษ

สถานการณ์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ ป่าละเมาะ ป่าเสื่อมโทรมต่าง ๆ และท้องไร่ท้องนาลดเหลือน้อยลงทุกขณะ เพราะถูกจับจองสร้างที่อยู่อาศัย ขยับขยายหมู่บ้านและเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กำลังเป็นตัวเลขผกผันกับขนาดของบั้งไฟของไทยภาคอีสานที่พัฒนาขึ้น การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง และลอยในท้องฟ้าอากาศนานที่สุดเป็นผู้ชนะ ขนาดบั้งไฟที่เมื่อก่อนมีแต่บั้งไฟหมื่น (ตามปริมาณที่ใช้ดินประสิวมาทำดินปืนบรรจุ ๑๒ กิโลกรัม = ๑ หมื่น) แต่ปัจจุบัน ถ้าต้องการประกาศศักดาว่าเป็นงานมโหฬารอภิมหายิ่งใหญ่ให้ผู้คนแห่มาดูมาชมมาก ๆ แล้วละก็ ต้องมีบั้งไฟแสน (๑๐ หมื่น = ๑ แสน คือใช้ดินประสิวหนักไม่น้อยกว่า ๑๒๐ กิโลกรัม) หรือบั้งไฟล้าน (๑๐ แสน = ๑ ล้าน คือใช้ดินประสิวหนักไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ กิโลกรัม – แต่เมื่อปฏิบัติตัวจริงแล้ว หากใช้ดินประสิวเกิน ๑ แสนหรือ ๑๒๐ ก.ก. แล้วก็เรียก “บั้งไฟล้าน”ทันที) ทำให้น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้มาเที่ยวชมงานเป็นอย่างยิ่ง

แต่สำหรับ กรมวรรณคดีและวัฒนธรรมมหาชน ของ สปป.ลาว ได้ออกระเบียบมาควบคุมการจัดงานบุญบั้งไฟ โดยมีรายละเอียดดังนี้

หมวดที่หนึ่ง : ขอบเขตการจัดงานบุญบั้งไฟ

มาตรา ๑ งานบุญบั้งไฟต้องจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือนหกเท่านั้น หากล่วงเลยไปถือว่าหมดเขตการจัดงานบุญบั้งไฟ

มาตรา ๒ ขนาดของบั้งไฟใหญ่ที่สุดไม่เกิน ๑ หมื่น (ใช้ดินประสิวหนัก ๑๒ กิโลกรัม)

มาตรา ๓ บั้งไฟต้องทำด้วยไม้ไผ่ปล้อง เช่น ไม้ไผ่บ้าน ไม้ไผ่ซางไพ และไม้ไผ่ปล้องชนิดอื่น ๆ

มาตรา ๔ ห้ามสร้างบั้งไฟด้วยวัสดุแข็ง เช่น โลหะต่าง ๆ และไม้เนื้อแข็งโดยการเจาะกลึงเอา

มาตรา ๕ ห้ามถือบุญบั้งไฟเป็นประเพณีการแข่งขันเล่นการพนัน

หมวดที่สอง : การอนุรักษ์ และการส่งเสริม

มาตรา ๖ บั้งไฟที่นำมาจุดเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา และงานบุญอื่น ๆ ต้องเป็นใช้บั้งไฟพลุ บั้งไฟตะไล บั้งไฟม้า บั้งไฟช้าง และบั้งไฟดอกไม้ขนาดเล็ก ที่ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้มาชมงาน

หมวดที่สาม : ขั้นตอนการจัดงานบุญบั้งไฟ

มาตรา ๗ ก่อนจะจัดงานบุญบั้งไฟต้องได้ยื่นใบคำร้องจากคุ้มบ้านไปที่วัฒนธรรมเมือง เพื่อให้ได้รับการอนุมัติแล้วจึงจัดงานบุญ

มาตรา ๘ การจัดงานบุญบั้งไฟต้องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน และคณะรับผิดชอบในการจุดบั้งไฟ คณะกรรมการงานบุญต้องประกอบด้วยเถ้าแก่แนวร่วม นายบ้าน พ.ส.ล.วัด ป.ก.ส.บ้านและสามองค์การจัดตั้งมหาชนภายในบ้านเข้าร่วมถ้าจัดงานบุญบั้งไฟระดับเมือง ต้องประกอบด้วยหัวหน้า ป.ก.ส.เมือง พ.ส.ล.เมือง เป็นผู้รับผิดชอบและมีสิทธิแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อรักษาความสงบสุขในงานบุญดังกล่าว ถ้าทำในระดับแขวง (รวมทั้งกำแพงนครเขตพิเศษ) ต้องประกอบด้วย แนวร่วมชั้นแขวง พ.ส.ล.แขวง เป็นผู้รับผิดชอบ และมีสิทธิแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อรักษาความสงบสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในงานบุญนั้น

หมวดที่สี่ : สิทธิขอบเขตในการจุดบั้งไฟ

มาตรา ๙ ก่อนจะจุดบั้งไฟ คณะรับผิดชอบจะต้องได้ตรวจตราสถานที่เสียก่อน กล่าวคือ จะหันหัวบั้งไฟไปทิศทางใด เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้บั้งไฟไปตกถูกบ้านเรือน รั้วสวน สัตว์ต่าง ๆ ผู้คนและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ตลอดจนการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

มาตรา ๑๐ ถ้าบั้งไฟไปตกถูกบ้านเรือน รั้วสวน สัตว์ต่าง ๆ ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของมวลชน ได้รับความเสียหาย เสียชีวิต คณะผู้รับผิดชอบงานบุญดังกล่าว ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นโดยตรง

มาตรา ๑๑ ให้จัดพิธีปัดบั้งไฟ (พิธีเสียพิษบั้งไฟ-ไม่ให้เป็นอันตราย) อยู่ข้างล่างของร้านจุดหลังจากพิธีปัดแล้วจึงนำบั้งไฟขึ้นร้านเพื่อจุด

มาตรา ๑๒ ผู้ที่จุดบั้งไฟนั้น ไม่ให้ขึ้นไปจุดที่บนร้าน ต้องทำสายชนวนยาวต่อลงมาที่พื้นดินแล้วจึงใช้ไฟจุดได้

มาตรา ๑๓ เวลาเล่นบุญบั้งไฟ เช่น การแห่บั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟ หรือเวลาจุดบั้งไฟ ไม่ให้ทำวุ่นวาย ไม่ผลัก หรือหามนายช่างบั้งไฟลงไปแอ่งโคลนตมที่เปรอะเปื้อน

มาตรา ๑๔ กาพย์กลอนเซิ้งบั้งไฟต้องได้รับอนุญาตจากกรมวรรณคดีและวัฒนธรรม เสียก่อนจึงนำไปใช้ได้

มาตรา ๑๕ การแต่งตัวในขณะแห่บั้งไฟ เซิ้งบั้งไฟ หรือเล่นตามบ้านเรือน และสถานที่ต่าง ๆ ในงานบุญบั้งไฟนั้น ไม่ให้ทำโลดโผน หรือลามกอนาจาร เช่น ใช้รูปศิวลึงค์ หรือรูปโยนีแขวนเอวหรือการแสดงอื่น ๆ ที่สังคมไม่ยอมรับ

ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้พิธีกรรมขอน้ำฝนที่นิยมทำกันในลุ่มอุษาคเนย์เพียง ๙ พิธีกรรม โดยให้ได้ในแง่มุมที่หลากหลายแผกแตกต่างออกไปจากที่ท่านได้ทราบมา

พลังอำนาจแห่งฝนนั้นมีพลานุภาพอเนกอนันต์พรรค์ทุกผู้ทุกนามที่อยู่ใต้โค้งฟ้ากว้างไกลนี้มิได้หลุดรอดไปจากพลานุภาพพระพิรุณนี้ได้เลยเผยหากมิได้รับผลโดยตรงก็โดยอ้อมนั่นแล้วเสน่ห์ คุณค่าเพริศแพร้ว และลุ่มลึกอุดมรุ่มรวยแห่งสายฝนฟั่นแฝงกลไว้ด้วยภยันตรายร้ายนักจักแล้วแต่ชะตากรรม ค้ำโชคชะตาทั้งมวลมหาสมดุลทุนสรรพสิ่งมิ่งมงคลท้นเทอญ.

Related Posts

บทร้อยกรองของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ๒๕-๒๘
พระมงคลวัฒนคุณ (“หลวงพ่อเพิ่มบารมี”)
บทกวี: จุดบั้งไฟยังไล่ล่า…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com