พราหมณ์ พุทธ ผี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในอุษาคเนย์ จากสังคมชุมชนขนาดเล็กจนมาถึงการสร้างบ้านแปงเมืองเป็นนครรัฐขนาดใหญ่ เกิดการปรุงปรับรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งจากบริบทภายในและภายนอก จนนครรัฐนั้นมีพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเริ่มต้นสถานะใหม่ของประมุขในพระราชอาณาจักร ที่เรียกกันว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เชื่อว่ามีเค้าโครงหลักมาจากพิธีศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ต่อมามีการเพิ่มพิธีกรรมในศาสนาพุทธเข้าไปผสมผสาน แต่ถึงกระนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ไม่ได้ทิ้งประเพณีดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์ที่มักเรียกว่าศาสนาผี อันจะเป็นประเด็นสำคัญในการเปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้
พระราชครูวามเทพมุนี (หว่าง รังสิพราหมณกุล) เจ้ากรมพราหมณ์พิธีกำลังประกอบพิธีโหมกูณฑ์อยู่ในโรงพิธีพราหมณ์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พิธีการเริ่มต้นสถานะใหม่ด้วยน้ำ
อภิเษก แปลว่า การรดน้ำ ถูกนำมาใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนสถานะของคนในสังคมไม่ได้มีเฉพาะการเปลี่ยนสถานะบุคคลให้เป็นกษัตริย์ในพระราชพิธีที่เรียกว่า “บรมราชาภิเษก” หรือเปลี่ยนสถานะให้เป็นพระเถระให้มียศสูงขึ้นในพิธีที่เรียกว่า “เถราภิเษก” เท่านั้น แต่พบว่า ในวัฒนธรรมอินเดียใช้น้ำในพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะในความหมายอื่นอีกด้วย โดยน้ำได้ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงการชำระล้างและสร้างความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นสถานะใหม่ ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละพิธีกรรม* เช่น ปฐมาภิเษก คือการรดน้ำครั้งแรกในพิธีโกนผมไฟ หรือพิธีลงท่า
ราชาภิเษก คือการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งเป็นกษัตริย์
สังคราภิเษก คือการรดน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนออกทำศึกสงคราม
อาจารยภิเษก คือการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์
พิธีพราหมณ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามอย่างธรรมเนียมครั้งบ้านเมืองยังดีคือเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองเป็นมหาอำนาจศูนย์กลางความเจริญในอุษาคเนย์
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงใน พ.ศ.๒๓๑๐ พราหมณ์ในราชสำนักต่างหลบหนีลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีแล้วจึงทรงเรียกพราหมณ์เหล่านั้นกลับมาเพื่อฟื้นฟูพระราชพิธี แต่ก็เป็นการยากเพราะตำราถูกทำลายไปเมื่อเสียกรุง**
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในปีขาล พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว ทรงเห็นว่าการขึ้นครองราชย์สมบัติครั้งนั้นเป็นพระราชพิธีโดยสังเขป ใน พ.ศ.๒๓๒๖ จึงทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีการเรียบเรียง “ตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา” ใน พ.ศ.๒๓๒๘ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง ณพระที่นั่งอัมรินทราภิเษกมหาปราสาท จึงได้เป็นแบบแผนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เชื่อว่าพิธีบรมราชาภิเษกของสยามรับมาจากอินเดีย ในมหาภารตะ (ศานติบรรพ) กล่าวว่า การราชาภิเษกพระราชาธิบดีเป็นปฐมกิจของชาวเมืองในพะเวท (ไอยตเรยะพราหมณะ) ได้แสดงว่า เทวดาได้กระทำพิธีนี้เมื่อสมมติพระอินทร์เป็นท้าวเทวราชจอมสวรรค์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเป็นการเลียนแบบพิธีที่เทวดาทำให้พระอินทร์ เป็นการยกสถานภาพกษัตริย์บนโลกให้สูงส่งประหนึ่งพระอินทร์ผู้เป็นจอมสวรรค์ โดยต้นแบบของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสยามมาจาก “พิธีราชสูยะ” ซึ่งประกอบด้วยการอภิเษก การกระทำสัตย์และการถวายราชสมบัติ3 ซึ่งผู้ประกอบพิธีล้วนเป็นหน้าที่ของพราหมณ์
การราชาภิเษกของกษัตริย์ มี ๕ ประการ เรียกว่า “ปัญจราชาภิเษก”**** ประกอบด้วย
๑. อินทราภิเษก มี ๓ ลักษณะ คือ พระอินทร์นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์มาถวาย เสี่ยงทายบุษยพระพิชัยราชรถมาจรดฝ่าพระบาทด้วยวาสนา เหาะเหินมาโดยนพดลอากาศมีฉัตรทิพย์โอภาสมากางกั้นพิธีการนี้สะท้อนถึงการเป็นเทวราชของพระมหากษัตริย์
๒. โภคาภิเษก คือ เป็นชาติตระกูลพราหมณ์มหาศาลมีโภคยไอศุริยสมบัติอันบริบูรณ์ สมควรที่จะเป็นพระมหากษัตริย์
๓. ปราบดาภิเษก คือ เป็นตระกูลกษัตริย์ขัตติยราช มีฤทธิอำนาจรบพุ่งหักหาญได้ราชฐานบ้านเมือง
๔. ราชาภิเษก คือ ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระบิดาพระมารดาที่ทรงพระชรามากแล้ว
๕. อุภิเษก คือ พระบิดามารดามากระทำมงคลวิวาหะอภิเษกให้ปกครองกันตามพระราชวงศา
แต่เดิมพระราชพิธีเบื้องต้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๓ วัน พราหมณ์จะบูชาเพลิง เรียกว่า “โหมกูณฑ์” โรงพิธีพราหมณ์มีเบญจาทองตั้งเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระลักษมีพระพรหม พระเทวกรรม พระพิฆเนศ ตั้งโต๊ะเทวดานพเคราะห์และตั้งโต๊ะเบญจครรภ์นพวรรคคือตั้งหม้อกุณฑ์ ๙ หม้อ อยู่เบื้องขวาเตียงมณฑล ตั้งเตาโหมกูณฑ์อยู่เบื้องซ้าย มีเครื่องพลีกรรมตามลัทธิพราหมณ์ เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา พราหมณ์เริ่มประกอบพิธีร่ายเวทบูชาอัฐทิศและพระผู้เป็นเจ้าแล้วจุ่มใบไม้ลงในหม้อน้ำ ร่ายเวทเพื่อทำน้ำมนต์ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วนำน้ำผึ้งและน้ำมันวางบนกองเพลิงพร้อมร่ายเวท เสร็จแล้วจึงหลั่งน้ำสังข์ดับกองเพลิง
พิธีพราหมณ์อีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญก่อนวันบรมราชาภิเษกคือ การถวายน้ำพระมหาสังข์และถวายใบสมิทธิให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปัดพระองค์ประกอบด้วย ใบมะม่วง ๒๕ ใบเพื่อปัดภยันตราย ๒๕ ประการ ใบทอง ๓๒ ใบเพื่อปัดอุปัทวันตราย ๓๒ ประการ และใบตะขบ ๙๖ ใบ เพื่อปัดโรคันตราย ๙๖ ประการ จากนั้นพราหมณ์นำใบสมิทธิไปกระทำศาสตรปุณยาชุปโหมเพลิงที่โรงราชพิธีพราหมณ์
เมื่อถึงวันพระฤกษ์ พราหมณ์จะกราบบังคมทูลเสด็จสรงพระมูรธาภิเษก แล้วทรงฉลองพระองค์ครุยทอง เสด็จประทับเหนือ “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” พราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ ทักษิณาวัฏ น้ำกลศ ทรงรับมาสรงพระพักตร์แล้ว
เสวยหน่อยหนึ่ง ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์แล้ว พระมหาราชครูประคองขึ้นประทับ “พระที่นั่งภัทรบิฐ” แล้วพระมหาราชครูอ่านพระเวทสรรเสริญศิวาลัยไกรลาส เชิญพระอิศวรมาสถิตองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พราหมณ์ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธและเครื่องราชูปโภคประกอบด้วยวิษณุเวทอิศวรมนต์
จะเห็นว่า รูปแบบพิธีและที่มาในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีฝ่ายพราหมณ์ ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชาธิบายถึงความสำคัญของพิธีพราหมณ์และการบรมราชาภิเษกไว้ว่า
“การบรมราชาภิเษกนั้นทำได้แต่พราหมณ์พวกเดียว ถ้าผู้อื่นทำเป็นการจัญไร ทั้งผู้ทำและผู้รับพราหมณ์ต้องเป็นผู้อุ้มพระเจ้าแผ่นดินขึ้นบนพระภัทรบิฐ พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นเองไม่ได้ เมื่อนั้นพราหมณ์ต้องถวายพระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระมหามงกุฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ พระเจ้าแผ่นดินจึงรับมาสอดทรงแล้วพราหมณ์ต้องกราบทูลถวายแผ่นดินเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นผู้ประกาศเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินด้วยรับพระบรมราชโองการเป็นปฐม ถ้าพราหมณ์ยังไม่ได้รับพระราชโองการก่อนคนอื่นด่วนรับก็ถือว่าเป็นจัญไร…”*****
พระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พิธีพุทธ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีขั้นตอนหลายพิธีที่มีพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งพิธีกรรมฝ่ายพุทธได้เข้ามามีบทบาทมากนับตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา อาจเป็นเพราะพิธีพราหมณ์ขาดหายไม่อาจสืบค้นได้ตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยา ทำให้พิธีพราหมณ์ลดความสำคัญลง ส่วนพิธีฝ่ายพุทธได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เพิ่มพิธีเบื้องต้นโดยให้มีการ “ประกาศเทวดา” หรือ “ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ซึ่งแต่เดิมไม่มี โดยพระราชาคณะองค์ที่จะสวดขัดตำนานจะยืนบนผ้าขาวท้ายอาสนสงฆ์เบื้องซ้ายพระสยามเทวาธิราช คล้องสายสิญจน์ที่โยงมาจาก “ยันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้วอ่านประกาศซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอัญเชิญเทพยดาให้มาร่วมเป็นสักขีพยานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และอำนวยสวัสดีมงคลแก่พระมหากษัตริย์และพระราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ก่อนการประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๓ วัน จะมีการเลี้ยงพระเจริญพระพุทธมนต์ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการเตรียมพระราชพิธีโดยการโยงสายสิญจน์จากพระแท่นมณฑลไปที่พระแก้วมรกตแล้วทำพิธีวงด้ายสายสิญจน์รอบมณฑลพิธี ทำพิธีสวดมนต์ปลุกเสกเครื่องบรมราชาภิเษก เรียกว่า “พิธีตั้งน้ำวงล้อมด้าย” เพิ่มอีก ๑ วัน รวมเป็นการเตรียมพระราชพิธีเบื้องต้น ๔ วัน และลดลงเหลือ ๑ วันในสมัยรัชกาลที่ ๙ โดยตัดพิธีตั้งน้ำวงล้อมด้าย และลดการเจริญพระพุทธมนต์เหลือเพียงวันเดียว******
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชวินิจฉัยบางประการเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า เป็นพิธีฝ่ายพราหมณ์เป็นสำคัญ ความว่า
“การราชาภิเษกถ้าจะทำโดยไม่มีพิธีสงฆ์เลยก็นับว่าเป็นอันสำเร็จกิจได้ แต่ถ้างดพิธีพราหมณ์เสียแล้วจะเป็นอันสำเร็จกิจไม่ได้เลยเป็นอันขาด การสวดมนต์และสวดภาณวารนั้นอันที่จริงเป็นสิ่งสำหรับกับการเฉลิมพระราชมณเฑียรแท้ ๆ และพิธีสวดมนต์และภาณวารก็มิได้ใช้แต่เฉพาะสำหรับราชาภิเษกการอื่น ๆ ก็มีสวดภาณวารได้ แต่พิธีราชาภิเษกของพราหมณ์จะเอาไปใช้ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย”*******
พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคตามเสด็จพระราชดำเนิน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)
พิธีผี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พื้นที่พิธีกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มไปด้วยการนำเข้าแบบแผนพระราชพิธีจากฝ่ายชมพูทวีป ทั้งในส่วนของพิธีพราหมณ์และพิธีพุทธยังพบว่า มีร่องรอยพิธีกรรมพื้นบ้านปรากฏอยู่ในตอนท้ายของพระราชพิธี นั่นคือ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนั้นเป็นพระราชพิธีคู่กันกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการเฉลิมพระยศพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ส่วน พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นการเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวงของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ในอดีต พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อาจจะไม่ได้จัดต่อเนื่องกันกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ได้ พบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบางคราวที่จัดห่างกันหลายปี โดยหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระมหากษัตริย์ยังประทับในพระราชวังเดิมก่อน
ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อได้พระฤกษ์เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี แตร สังข์ พิณพาทย์ มโหรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินสู่พระมหามณเฑียร มีนางชำระพระบาท ๒ คน และมีขัติยานีพรหมจารี ๖ นาง อัญเชิญของมงคล ได้แก่ วิฬาร (แมว) พานข้าวเปลือก พานถั่ว พานงา จั่นหมาก ผลฟักเขียว และศิลาบด ตามเสด็จ โดยของมงคลต่าง ๆ มีความหมายดังนี้
วิฬาร เป็นสัตว์ที่ไม่ทิ้งถิ่นอาศัย หมายถึง การเข้าอยู่บ้านใหม่อย่างผาสุกไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน
พานเมล็ดพันธุ์พืช หมายถึง ความเจริญงอกงาม
จั่นหมาก หมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย
ผลฟักเขียว หมายถึง ความอยู่เย็นเป็นสุข
ศิลาบด หมายถึง ความหนักแน่น
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจึงเปรียบเหมือนพิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนพิธีนี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์หรือพุทธจากชมพูทวีป แต่ปรากฏเป็นแบบแผนพิธีพื้นบ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันในแต่ละท้องถิ่น แม้ว่าจะแตกต่างในรายละเอียดสิ่งของมงคล แต่โดยนัยยะสำคัญแล้วทุกท้องถิ่นมีพิธีการนำของมงคลเข้าบ้านในพิธีขึ้นบ้านใหม่
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรหรือการขึ้นบ้านใหม่ของพระมหากษัตริย์นี้ จึงสะท้อนให้เห็นคติชนจากศาสนาผีที่มีอยู่ก่อนในดินแดนอุษาคเนย์ และถูกนำเข้ามาผนวกปรุงปรับให้เข้ากับพระราชพิธีของพระผู้ผ่านพิภพขึ้นปกครองนครรัฐ
จึงจะเห็นได้ว่า แบบแผนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ปรากฏตกทอดมาในสยามประเทศ ล้วนเป็นการผสมผสานคติชนทั้งจากภายในและภายนอก ปรุงปรับขึ้นเป็นแบบแผนพิธีที่ประกอบขึ้นด้วยความเป็น พราหมณ์ – พุทธ – ผี ฉะนี้แล…
**
เชิงอรรถ
* นภาพร เล้าสินวัฒนา. ๒๕๔๙. การเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธี คติ ความหมาย และสัญลักษณ์แห่ง
“สมมติเทวราช”. กรุงเทพ : มิวเซียมเพรส. หน้า ๑๐.
** สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (แปล). ๒๕๖๒. พระราชพิธีแห่งกรุงสยาม ตั้งแต่โบราณกาลถึง พ.ศ.๒๔๗๕.
กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด. หน้า ๖๒ – ๖๓.
*** วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. ๒๕๕๕. สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเฑียรบาล. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
ศิลปากร. หน้า ๙๒.
**** ๒๕๔๖. รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วย
ยศเจ้า. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลอากาศตรีจำนง ผุสสราค์มาลัย ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๖. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ : เอดิสันเพรสโพรดักส์. หน้า ๑ – ๒.
***** พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๕๑๖. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระ
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องพระราชประเพณีการตั้งพระมหา
อุปราช. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นายพงษ์เจริญ ส่งศิริ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖. กรุงเทพ : โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า ๒๐ – ๒๒.
****** โรม บุนนาค. ๒๕๖๑. เถลิงกษัตราธิราช. กรุงเทพ : บุ๊ค ด็อท คอม. หน้า ๘๖.
******* พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (มปป). เรื่องพระศุนหเศป. หน้า ง. วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. (๒๕๕๕). สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเฑียรบาล. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า ๙๓.